ในโลกยุคที่ระบบชนชั้นและศักดินาเรืองอำนาจ ความคิดเกี่ยวกับการใช้ศิลปะมาเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง แทบจะเป็นเรื่องที่คนในยุคนั้นจินตนาการไม่ถึง เพราะศิลปะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่อยู่เลยพ้นชีวิตทั่วๆ ไป เป็นสิ่งที่สงวนเอาไว้สำหรับคนบางกลุ่มโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ยึดโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ข้องแวะกับการเมือง
แต่นับแต่ยุคสมัยใหม่ (Modern Era) เป็นต้นมา ศิลปะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองมากขึ้น แม้จะโดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญ การแหวกขนบธรรมเนียมประเพณีหรือค่านิยมเก่าๆ ทางสุนทรียศาสตร์ บางครั้งก็ส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ในขอบเขตของโลกศิลปะ หากแต่ส่งผลกระทบออกไปสู่สังคมและการเมืองอีกด้วย
เอดูอาร์ มาเนต์ กับงานที่ถูกคัดทิ้ง
ย้อนกลับไปในอดีต มีนิทรรศการหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีชื่อว่า Salon des Refusés หรือ นิทรรศการของพวกถูกคัดทิ้ง จัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินที่ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการของซาลง (Salon) ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงศิลปะในกรุงปารีสที่สนับสนุนโดยรัฐบาลและสถาบันศิลปะของฝรั่งเศสที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1667 ช่วงแรก การส่งงานให้ซาลงจำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะเท่านั้น ต่อมาในปี 1748 จึงมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผลงานขึ้น
เนื่องจากซาลงเป็นนิทรรศการสาธารณะเพียงงานเดียว ผู้ชนะจะได้รับการว่าจ้างงานจากรัฐบาล รวมถึงการว่าจ้างงานจากเศรษฐีมีทรัพย์ รางวัลจากซาลงจึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในอาชีพศิลปิน จนทำให้เกิดการแข่งขันดุเดือด
ศิลปินที่ถูกปฏิเสธหรือคัดออกเพราะงานหลุดจากกรอบ ไม่เข้าพวก อุจาด หรืออัปลักษณ์ในสายตาของคณะกรรมการเหล่านั้น จึงเกิดความไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วง ความไปถึงหูจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี 1863 พระองค์จึงดำริให้นำงานที่ถูกคัดทิ้งเหล่านั้นไปจัดแสดงขึ้นในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้ชาวปารีเซียงตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยตัวเอง แน่นอนว่า เป็นโอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถเหยียดหยามและเย้ยหยันงานศิลปะที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘ศิลปะชั้นเลว’ หรือ ‘อัปลักษณ์ศิลป์’ ได้อย่างเต็มที่
หนึ่งในภาพที่โดดเด่นในนิทรรศการในครั้งนั้น (นับเสียงเย้ยหยันที่ได้รับมากกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ) ได้แก่ผลงานที่มีชื่อว่า Le déjeuner sur l’herbe (1862-1863) หรือ The Luncheon on the Grass (มื้อกลางวันบนสนามหญ้า) ผลงานของ เอดูอาร์ มาเนต์ (Édouard Manet) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่ถือได้ว่าเป็นภาพเขียนที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งที่วงการศิลปะในยุคนั้นเคยพานพบมา
ภาพนั้นเป็นภาพการปิกนิกอันแปลกประหลาดที่มีชายชนชั้นกลางแต่งตัวเต็มยศใส่เสื้อนอกผูกไท นั่งเอกขเนกอยู่กับหญิงสาวร่างเปลือยเปล่าบนพื้นหญ้าในสวนสาธารณะ ไกลออกไปเป็นหญิงสาวกำลังซักชุดชั้นในอยู่ในทะเลสาบ มันเป็นภาพที่สร้างความตื่นตระหนกต่อสาธารณชนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยการจับผู้หญิงเปลือยเปล่าท่าทีเย้ายวนกามารมณ์ ให้มานั่งอยู่กับชายหนุ่มที่ใส่เสื้อผ้าเต็มยศที่มีท่าทีและอากัปกิริยาปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งดูเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างและขัดแย้งอย่างสุดขั้ว พิลึกพิลั่นอย่างที่ไม่เคยมีใครในยุคนั้นกล้าทำมาก่อน
สิ่งที่ทำให้ผู้ชมอึดอัดอีกประการก็คือ สายตาของหญิงสาวในภาพที่จับจ้องมายังพวกเขา โดยไม่ยี่หระต่อร่างกายอันเปล่าเปลือยไร้อาภรณ์ของตัวเองแม้แต่น้อย
เมื่อภาพนี้ถูกแสดงในนิทรรศการ สิ่งที่ได้รับคือเสียงหัวเราะเย้ยหยันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะมันเป็นภาพเปลือย เพราะก่อนหน้านั้นก็มีการวาดภาพเปลือยมาแล้วมากมาย หากแต่ภาพเปลือยเหล่านั้นก็เป็นภาพของเทพีเทพธิดาในนิยายปรัมปราหรือนางในตำนานเทพปกรณัม แต่ภาพของมาเนต์กลับเป็นภาพเปลือยของคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคนั้นรับไม่ได้
หนำซ้ำ หญิงสาวในภาพ ก็ไม่ใช่เป็นแค่คนธรรมดาทั่วไปเท่านั้น หากแต่เป็นโสเภณีที่ชาวปารีสต่างก็รู้กันดีว่าทำมาหากินอยู่ในสวนสาธารณะบัวส์ เดอ บูโลญจ์น (Bois de Boulogne) อันเป็นฉากหลังที่เห็นอยู่ในภาพ ซึ่งถือเป็นการตบหน้าชาวปารีสฉาดใหญ่ เพราะถึงจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้ๆ กัน แต่ก็เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่มีใครกล้าเอามาพูดในที่สาธารณะแบบนี้มาก่อน ยิ่งเอามาเขียนเป็นภาพแสดงในนิทรรศการแบบนี้ยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกชาวปารีสรุมโห่ฮาป่าและหัวเราะเย้ยหยันอย่างรุนแรง ทั้งที่ความจริงแล้วคนดูเหล่านั้นกำลังหัวเราะเย้ยหยันตัวเองมากกว่า
ถึงแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น แต่แนวคิดการดึงเอางานจิตรกรรมซึ่งเคยเป็นของสูงจนต้องปีนกระไดดูให้ลดตัวลงมาบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของคนทั่วไป หรือกระทั่งคนชายขอบที่สังคมไม่ยอมรับ รวมถึงสร้างแนวคิดที่ว่า จิตรกรรม ไม่ใช่หน้าต่างที่มองออกไปสู่โลกภายนอกอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่เป็นการสร้างโลกภายในและความหมายใหม่ขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ ภาพเขียนของจิตรกรที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) ผู้นี้ ได้รับการยอมรับและยกย่องในฐานะผลงานที่ปฏิวัติและล้มล้างค่านิยมและความเชื่อเก่าๆ ของศิลปะ และเป็นต้นธารที่นำไปสู่การถือกำเนิดของโมเดิร์นอาร์ตหรือศิลปะสมัยใหม่นั่นเอง
ภาพเขียนที่ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยในตอนแรก กลับได้รับความนิยมชมชอบและเป็นที่สนอกสนใจในหมู่สาธารณชน กลายเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้น รวมถึงพลิกค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมในยุคต่อมา และส่งผลมาจวบจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
โถฉี่ ดูชองป์ กับการทำลายขนบศิลปะอันเลอค่า
หรือในช่วงปี 1913 ที่ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่งอย่าง มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) คิดค้นศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า readymades นำเอาวัตถุและข้าวของธรรมดาที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้เป็นศิลปะ โดยมีผลงานที่โด่งดังที่สุดอย่าง Fountain (1917) ซึ่งเป็นโถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวธรรมดา หาซื้อได้ตามร้านขายสุขภัณฑ์ เอามาวางหงายบนแท่นโชว์
ดูชองป์ส่งผลงานชิ้นนี้เข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) ซึ่งประกาศว่า “รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด” โดยใช้ชื่อปลอมและเซ็นชื่อบนโถฉี่ใบดังกล่าวว่า R. Mutt
การกระทำเช่นนี้ของเขา นอกจากจะยั่วเย้ากรรมการของสมาคมและสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติในสมัยนั้นอย่างเจ็บแสบแล้ว (ซึ่งผลลัพธ์ก็คือมันถูกคัดทิ้งโดยทันทีทันควัน) ดูชองป์ใช้วัตถุที่ดูต่ำต้อยด้อยค่าที่ใช้รองรับสิ่งปฏิกูลอย่างโถฉี่ ท้าทายกรอบคิดและขนบอันคร่ำครึของวงการศิลปะ เขาทำลายคุณค่าและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะที่เคยเป็นของสูงเลอค่าซึ่งสงวนไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชนในสังคม ดึงมันให้ลงมาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของสามัญชนคนธรรมดาๆ ในที่สุด
เซอร์เรียลลิมส์ และจิตไร้สำนึก
ลัทธิศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1924 อย่าง เซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) ก็มีแนวคิดต่อต้านความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกะ และจิตสำนึก รวมถึงคัดค้านความเชื่อทางศาสนาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พวกเขามองว่า สิ่งเหล่านี้ี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงครามที่ฆ่าคนตายไปนับล้านและนำพาความทุกข์มาสู่ผู้คน ทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ก็คือการสำรวจเส้นทางของความคิดใหม่ๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอยู่ในเวลาที่จิตสำนึกและเหตุผลของเราหลับใหล หรือตอนที่เรากำลังฝันอยู่ ผนวกกับที่นักประสาทวิทยาผู้คิดค้นทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันลือลั่นในยุคนั้น อย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตไร้สำนึก’ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสภาพดั้งเดิมของจิตใจที่ไร้การควบคุม ไตร่ตรอง ไร้เหตุผล เต็มไปด้วยความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการทางเพศ ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้โดนใจชาวเซอร์เรียลิสม์อย่างแรง จนนำเอามาใช้เป็นแนวทางหลักของกลุ่ม งานของพวกเซอร์เรียลิสม์จึงมักจะเต็มไปด้วยอะไรที่ไม่คาดฝัน เรื่องราวไร้เหตุผล พิลึกพิลั่นเกินจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวทางเพศ นั่นแหละ
การเปิดโอกาสให้ศิลปินแสดงออกถึงแรงขับทางเพศอย่างเสรี และการปฏิเสธตรรกะและเหตุผลของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ที่ว่านี้เอง ก็ถือเป็นการขบถต่อค่านิยมของสังคมในเรื่องศีลธรรม จารีตประเพณี และจริยธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวและความมุ่งมั่นต่อภาระหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นเสาหลักในการดำรงไว้ซึ่งสังคมอันดีงามในยุคสมัยนั้นนั่นเอง
ประติมากรรมสังคม กับ โจเซฟ บอยส์
ถ้าจะพูดถึงศิลปินที่ทำงานศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วไม่พูดถึงศิลปินผู้นี้คงเป็นไปไม่ได้ โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ศิลปินชาวเยอรมันผู้เคลื่อนไหวในกระแสศิลปะของยุโรปและอเมริกา เป็นหนึ่งในศิลปินยุโรปในยุคหลังสงครามที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะ
บอยส์เป็นศิลปินที่ทำงานหลากสื่อหลายแขนง ตั้งแต่สื่อแบบประเพณีนิยมอย่าง จิตรกรรม ประติมากรรม วาดเส้น ไปจนถึงสื่อที่นำเสนอด้วยกระบวนการทางความคิด และสื่อแบบไทม์เบส (Time-based – สื่อศิลปะที่อาศัยเวลาเป็นตัวแปรในการนำเสนอผลงาน) อย่างงานศิลปะจัดวาง ศิลปะแสดงสด ศิลปะสถานการณ์ ผลงานส่วนใหญ่ของเขามีความเกี่ยวพันกับสังคมและการเมืองอย่างแนบแน่นลึกซึ้ง
ดังที่ปรากฏในผลงานศิลปะการแสดงที่อื้อฉาวที่สุดของเขา ที่ชื่อว่า I Like America and America Likes Me (1974) ในเดือนพฤษภาคม ปี 1974 บอยส์บินไป นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยนอนไปบนเปลหาม ห่อหุ้มตัวเองด้วยผ้าขนสัตว์ เขาโดยสารรถพยาบาลและถูกหามไปยังสถานที่แสดงงาน และอาศัยอยู่ในห้องปิดล็อคร่วมกับหมาป่าไคโยตี้ (coyote) วันละแปดชั่วโมง เป็นเวลากว่าสามวัน โดยมีรั้วตาข่ายเหล็กกั้นเขากับคนดูภายนอก ในนั้น เขายืนห่อตัวด้วยผ้าห่มผืนหนาที่ทำจากขนสัตว์สีเทา พยุงบนไม้เท้าอันใหญ่ของคนเลี้ยงแกะ และนอนบนกองฟาง เขาและหมาป่าต่างก็จดจ้องกันและกัน บางครั้งหมาป่าเดินวนไปมารอบๆ ตัวเขา และกระโจนเข้าขย้ำกัดฟัดเหวี่ยงผ้าห่มจนขาดเป็นชิ้นๆ และเขาตอบโต้ด้วยการทำท่าทางเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างการกระแทกไม้เท้ากับพื้น ห่อตัวด้วยผ้าห่มแล้วชูไม้เท้าเหนือศีรษะ หรือโยนถุงมือหนังของเขาไปที่หมาป่า สามวันผ่านไป หมาป่าเริ่มคุ้นเคยและหมดความระแวงในตัวเขา จนเขาสามารถถอดผ้าขนสัตว์ที่ห่อตัวออกและสวมกอดมันด้วยตัวเปล่าได้ หลังสิ้นสุดการแสดง เขาก็เดินทางกลับไปที่สนามบินโดยนอนไปบนเปลหามและโดยสารรถพยาบาล บินออกจากอเมริกาโดยไม่ได้เหยียบย่างเท้าลงบนผืนแผ่นดินอเมริกาแม้แต่เพียงก้าวเดียว
ผลงานชุดนี้ของเขา เปรียบเปรยถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างสองฟากฝั่งอารยธรรม ฝั่งหนึ่งเป็นอารยธรรมอันเก่าแก่อย่างยุโรป ที่มีความลุ่มลึกและมีมรดกตกทอดอันยาวนาน แต่ก็เสื่อมโทรมและต้องการการเยียวยารักษา (อุปมาด้วยการนอนไปบนเปลหามและห่อหุ้มตัวเองด้วยผ้าขนสัตว์) อีกฝั่งหนึ่งคืออเมริกา ทวีปที่เพิ่งเกิดใหม่ มีความป่าเถื่อนก้าวร้าว แต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา (เหมือนหมาป่าไคโยตี้) เมื่อสองฝั่งเผชิญหน้ากันจึงเกิดการปะทะกระทบกระทั่ง ขบกัด จนค่อยๆ ใช้เวลาสร้างความคุ้นเคย และจบลงด้วยความเป็นมิตรต่อกัน
ในช่วงท้ายของชีวิตการทำงาน บอยส์นำเสนอวิธีคิดที่นำศิลปะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ชุมชน สังคม และเรียกมันว่า ประติมากรรมสังคม (Social Sculpture)
บอยส์สร้างแนวคิดนี้ขึ้นเพื่อรวบรวมความรู้ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับศักยภาพของศิลปะที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ในฐานะที่เป็นงานศิลปะ ประติมากรรมสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานศิลปะอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น หากแต่รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่มุ่งมั่นที่จะจัดระบบและก่อร่างสร้างสังคมหรือสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ แนวความคิดหลักของประติมากรรมสังคมคือการที่ศิลปินสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางสังคม ด้วยการใช้ ภาษา ความคิด การกระทำ และวัตถุ
บอยส์เชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ ถ้าเขาเหล่านั้นใช้คุณสมบัติในเชิงสร้างสรรค์ในชีวิตส่วนตัว ก็ถือว่ามีคุณสมบัติเป็นศิลปิน บอยส์ต้องการเชิดชูพลังสร้างสรรค์ของปัจเจกชน เขาเชื่อว่า คนคนหนึ่ง นอกจากเป็นหน่วยหรือองค์ประกอบของจักรกลขนาดมหึมาอย่างสังคมแล้ว เขาเหล่านั้นยังเป็นผู้มีพลังในการเยียวยารักษา ตลอดจนรังสรรค์ให้ชีวิตส่วนตนและส่วนรวมงอกงามในทางสร้างสรรค์ บอยส์เชื่อว่าประติมากรรมสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนแต่ละคนตระหนักในศักยภาพในทางสร้างสรรค์ที่เป็นสากลของตัวเอง ซึ่งหมายถึง ทุกคนต่างรู้ว่า ตัวเองมีความสำคัญและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการสร้างสรรค์สังคมอันดีงาม
ประติมากรรมสังคมของบอยส์จึงไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมทางศิลปะที่ทำขึ้นในพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น หากแต่เป็นกิจกรรมทางสังคมที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะและสิ่งแวดล้อมในชุมชนและสังคมรอบข้างอย่างแนบแน่น
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในแนวทางนี้ของเขา คือกิจกรรมทางศิลปะที่เขาทำในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 7 ในปี 1982 ที่มีชื่อว่า 7000 Oaks – City Forestation Instead of City Administration บอยส์รณรงค์ให้ปลูกต้นโอ๊กจำนวน 7,000 ต้นในเมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่แสดงงานศิลปะเข้ากับการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ต้นโอ๊กทั้งหมดก็ยังคงยืนต้นงอกงามอยู่ในเมืองคาสเซิลจวบจนทุกวันนี้ (ต้นที่บอยส์เป็นผู้ปลูกจะมีเสาหินปักกำกับอยู่ข้างต้น)
หรือผลงานที่มีชื่อว่า Save the woods (1971) ที่บอยส์และลูกศิษย์จำนวน 50 คน เข้าไปทำกิจกรรม ประติมากรรมสังคม ด้วยการกวาดใบไม้ในป่ากราเฟนแบร์เกอร์ (Grafenberger) ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี เพื่อประท้วงเทศบาลเมืองที่วางแผนจะโค่นป่าพื้นเมืองแห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้างสนามเทนนิส
นอกจากนั้น เขายังจัดการบรรยายทางความคิดต่างๆ ไปจนถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการตั้งองค์กรทางศิลปะที่เผยแพร่แนวคิด ประติมากรรมสังคม ของเขาผ่านการรณรงค์ทางการเมืองและการเสริมสร้างประชาธิปไตย โดยใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมืออีกด้วย
อ้างอิง:
- หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์แซลมอน
- บทความ “ประติมากรรมสังคมของบอยส์กับนาวิน ปาร์ตี้” ผู้เขียน วรเทพ อรรคบุตร
- https://goo.gl/XoFhV3
- https://goo.gl/W3PQ6g
- https://goo.gl/S4Uphz