เพื่อให้ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ในตอนนี้เราจะขอพูดถึงผลงานของศิลปินอีกคนที่เข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในโลกอีกงานหนึ่งอย่าง มหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นในเมืองคาสเซล (Kassel) ประเทศเยอรมนี ในปี 2017 ที่ผ่านมา และผลงานชิ้นนี้ก็มีความโดดเด่นเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดชิ้นหนึ่งในมหกรรมครั้งนี้ เป็นผลงานของศิลปินหญิงผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของอาร์เจนตินา ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

มาร์ตา มินูคีน (Marta Minujín)

หนึ่งในศิลปินคอนเซ็ปชวลและศิลปะการแสดงสด ผู้บุกเบิกงานศิลปะแนวป๊อป ศิลปะการแสดงสด แฮปเพนนิ่ง ประติมากรรมมีชีวิต และศิลปะจัดวาง มินูคีน รื้อโครงสร้างทางศิลปะเพื่อจะสร้างมันขึ้นมาใหม่ ด้วยผลงานอันก้าวร้าวท้าทาย และไม่คงทนถาวร เพื่อพยายามใช้สื่อต่างๆ ในการส่งสารและทำงานศิลปะที่ตอบสนองผู้ชมอย่างฉับพลันในเวลาจริง (Real time)

ภาพจาก http://www.diariodecultura.com.ar/cine-y-artes-visuales/el-bellas-artes-presenta-una-muestra-de-arte-argentino-de-los-anos-80-y-90/

เกิดในปี 1943 ที่กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา หลังจากจบการศึกษาที่สถาบัน Escuela de Bellas Artes Manuel Belgrano และ Escuela Superior de Bellas Artes เธอเป็นตัวแทนของประเทศอาร์เจนตินา เข้าร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยปารีสเบียนนาเล่ ก่อนที่จะได้ทุนกลับมาที่ปารีสอีกครั้งในปี 1963 เพื่อศึกษาด้านจิตรกรรม

มินูคีนเริ่มต้นด้วยการทำงานจิตรกรรมแนวป๊อป ที่ได้แรงบันดาลใจจากกลุ่ม Nouveau réalisme อันเลื่องชื่อของฝรั่งเศส เธอเริ่มใช้วัสดุที่ไม่ค่อยมีใครหยิบเอามาทำงานศิลปะมาใช้ทำงาน

เช่นเดียวกับศิลปินป๊อปคนอื่น มินูคีนได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมสมัยนิยมและวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ อย่างงานโฆษณา, หนังฮอลลีวูด และดนตรีป๊อป เธอมักจะใช้วัสดุอย่างกล่องและลังกระดาษที่มีลายพิมพ์ และมักจะใช้โลโก้ ภาพโฆษณา และตัวหนังสือที่อยู่บนพื้นผิวของกล่องเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะของเธอ

จุดเปลี่ยนในการทำงานครั้งใหญ่ของมินูคิน เกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาสิ้นสุดของทุนการศึกษาของเธอในปารีส ในปี 1963 มินูคีนตัดสินใจทำลายงานของเธอในช่วงระยะเวลาสามปีที่อยู่ที่นั่นลงทั้งหมด ในผลงานศิลปะแสดงสดชื่อ La destrucción (The Destruction) (1963) ที่เชื้อเชิญเพื่อนศิลปินมาร่วมแสดงนิทรรศการที่สตูดิโอกลางแจ้ง และร่วมกันเผางานของเธอทิ้ง

La destrucción (1963) ภาพถ่ายโดย Shunk-Kender ภาพจาก https://www.widewalls.ch/artist/marta-minujin/

La destrucción (1963) สมบัติของศิลปินและ Henrique Faria Fine Art, นิวยอร์ก ภาพจาก https://www.tate.org.uk/kids/explore/who-is/who-marta-minujin

มินูคีนต้องการทำลายผลงานของเธอด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของคนอื่น โดยศิลปินทุกคนที่ถูกเชื้อเชิญมาต้องนำชิ้นส่วนจากงานของพวกเขา และไม่ใช่แค่ชิ้นส่วนอะไรก็ได้ หากแต่เป็นชิ้นส่วนที่แสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาได้ดีที่สุด มาร่วมกันดัดแปลงเป็นผลงานใหม่และท้ายที่สุด แล้วใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาผลาญผลงานของเธอ ด้วยสัญลักษณ์แห่งการทำลายล้างนี้ มินูคีนต้องการเผาผลาญตัวตนของเธอให้หมดสิ้นไป เพราะสำหรับมินูคีนแล้ว เธอคิดว่าพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั้งหลายนั้นเป็น ‘สุสานทางวัฒนธรรม’ ที่ซึ่งศิลปะได้จบชีวิตลง และถูกกลบฝังเอาไว้ในกำแพงของพิพิธภัณฑ์ตลอดกาล ซึ่งเธอไม่ต้องการเช่นนั้น เมื่อนั้นแล้ว การเผาทำลายผลงานของตัวเองจนสิ้นซาก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของเธอ

ด้วยแรงบันดาลใจจากเพื่อนศิลปินร่วมชาติของเธออย่าง อัลแบร์โต เกรโก (Alberto Greco) เธอเริ่มดัดแปลงวัสดุเก็บตกเหลือใช้อย่างลังกระดาษ ฟูกนอน ฯลฯ ให้กลายเป็นรูปทรงและโครงสร้างที่เป็นอะไรที่คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ เธอประกอบชิ้นส่วนวัสดุเหล่านั้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่คนสามารถปีนป่ายหรือเกลือกกลิ้งไปมาข้างบนหรือข้างในนั้น

ดังเช่นในผลงาน Revuelquese y Viva! (Revolt and live!) (1964) ประติมากรรมที่ทำจากฟูกนอนเพ้นต์หลากสีสันที่เชิญชวนให้ผู้ชมมุดเข้าไปเล่นข้างในของมัน

Revuelquese y Viva! (1964 -1985) ผลงานแสดงย้อนหลังในปี 2011 ภาพจาก https://lucianamarin.com/2017/09/10/marta-minujin-the-mad-genius/

ในปี 1965 เธอได้รับเชิญให้สร้างผลงานสำหรับพิพิธภัณฑ์ของสถาบัน Torcuato di Tella Institute ในบัวโนสไอเรส แทนที่เธอจะทำผลงานศิลปะธรรมดาๆ ให้ผู้ชมดูห่างๆ อย่างเกรงใจเหมือนงานศิลปะทั่วๆ ไป เธอกลับสร้างพื้นที่ศิลปะที่ผู้คนสามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ ‘ข้างใน’ งานศิลปะได้ ผลงานนี้มีชื่อว่า La Menesunda (The Mayhem) (1965) ที่เธอสร้างเป็นเขาวงกตที่นำไปสู่ห้องที่มีสภาพแวดล้อม 16 แบบ ในแต่ละแบบจะมอบประสบการณ์อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงให้แก่ผู้ที่เข้าไปข้างใน พวกจะไม่มีทางรู้ว่าพวกเขาต้องเจออะไรประหลาดๆ ในห้องถัดไป ไม่ว่าจะเป็นห้องเย็นที่แขวนเนื้อสดเอาไว้ข้างใน (เป็นเนื้อปลอมที่ทำจากผ้าน่ะนะ) หรือห้องกระจกที่ติดแบล็กไลต์ หรือห้องที่มีเศษกระดาษหลากสีโปรยปรายพร้อมกับกลิ่นของทอดโชยมาเตะจมูก

La Menesunda (1965) ภาพจาก http://mapadelasartes.com/notas/la-menesunda/

La Menesunda (1965) ภาพจาก http://mapadelasartes.com/notas/la-menesunda/

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สถานที่ที่เธอแสดงงานแห่งนี้ เดิมทีเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่แสดงงานแบบซีเรียสจริงจังเอาการ ดังนั้น ผู้ชมหลายคนที่เข้ามาดูงานนี้ของมินูคีน ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดาที่ไม่เคยเหยียบย่างเข้าไปในพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ไหนเลยมาก่อนด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับต่อคิวรอเข้าชมผลงานของเธอยาวเหยียดไปถึงถนนจนมีผู้ชมมากกว่า 30,000 คน ที่เข้าไปเยี่ยมชมและเล่นสนุกในผลงานนี้ของเธอ

องค์ประกอบในผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสนุกสนาน ขี้เล่น และความแปลก แหกขนบของเธอได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ มันแสดงให้เห็นว่า ผลงานศิลปะของเธอไม่ได้ทำขึ้นแค่เพื่อคนรักศิลปะเท่านั้น หากแต่ทำขึ้นมาเพื่อทุกคนต่างหาก

ผลงานของมินูคีนล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการที่ผู้ชมได้ใกล้ชิดและเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ เธอสร้างผลงานที่ไม่ใช่แค่ให้คนดูด้วยตา แต่เข้าไปสัมผัสจับต้องและคลุกคลีกับมันได้โดยตรง เธอต้องการให้ผู้คนประหลาดใจและช็อก รู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน หรือแม้แต่อึดอัด กระดากกระเดื่อง และสงสัยใคร่รู้ เธอมักจะกระตุ้นเร้าสีสันในชีวิตของผู้คน ด้วยการทำให้พวกเขาสัมผัสกับประสบการณ์ที่พวกเขาไม่เคยลิ้มลองมาก่อน

ในช่วงปี 1966 มินูคีนย้ายไปอาศัยในนิวยอร์ก และได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมฮิปปี้และวัฒนธรรมไซเคเดลิกอันเปี่ยมอิสระเสรี ที่ตรงกันข้ามกับบรรยากาศอันกดดันและไร้เสรีภาพของรัฐบาลเผด็จการทหารในบ้านเกิดของเธออย่างสิ้นเชิง ในช่วงนี้นี่เองที่เธอสนิทสนมกับ แอนดี้ วอร์ฮอล และได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากเขาอย่างมาก

ในปี 1967 เธอทำผลงานศิลปะเชิงโต้ตอบ (Interactive art) ชื่อ Minuphone ซึ่งเป็นตู้โทรศัพท์สาธารณะที่เมื่อคนเข้าไปข้างในและกดหมายเลข ก็จะปรากฏเอฟเฟกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แสงสี ควัน หรือลมเบาๆ พัดออกมา

Minuphone (1967) ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Marta_Minuj%C3%ADn

ในช่วงนี้เองที่เธอเริ่มตั้งคำถามกับกระบวนการสะสมงานศิลปะ นั่นเป็นเหตุผลที่เธอเลือกใช้วัสดุที่ไม่คงทนถาวรอย่างกระดาษลัง ผ้า หรือแม้แต่อาหาร เธอหันมาสร้างงานศิลปะที่มีขนาดใหญ่โต ที่ได้แรงบันดาลใจจากอนุสาวรีย์ หรือโครงสร้างสถาปัตยกรรมโบราณ หากแต่ใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่ายหรือรับประทานได้ อย่างเช่น ขนมปัง ไอศครีม หรือ ชีส มาทำ ดังเช่นในผลงาน El Obelisco de Pan Dulce (Sweet Bread Obelisk) (1979) ที่เธอสร้างเสาโอเบลิสก์ (เสาสี่เหลี่ยมสูงปลายแหลมที่มีต้นกำเนิดจากอียิปต์โบราณ) ที่ทำขึ้นจากขนมปังหวาน ผลงานชิ้นนี้เป็นความพยายามในการแสดงถึงสัญลักษณ์ประจำชาติผ่านมุมมองในชีวิตประจำวัน ด้วยวัสดุธรรมดาสามัญและไม่คงทนถาวรอย่างขนมปังหวานนั่นเอง

El Obelisco de Pan Dulce (1979) ภาพจาก https://traumstation.wordpress.com/debatte-das-einnehmen-des-oeffentlichen-raumes/

ในปี 1983 อาร์เจนตินากลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย มินูคีนเริ่มหันมาสนใจประติมากรรมสาธารณะและโครงสร้างสถาปัตยกรรม ที่กระตุ้นให้เธอสร้างผลงานศิลปะกลางแจ้งขนาดมหึมาที่เป็นเสมือนหนึ่งอนุสาวรีย์แห่งเสรีภาพในการแสดงออกของเธอ

ดังเช่นในผลงานสร้างชื่อที่สุดของเธออย่าง The Parthenon of Books (El Partenón de libros) (1983) ที่เธอจำลองวิหารพาร์เธนอน วิหารโบราณบนเนินอะโครโพลิสในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ขึ้นมาใหม่จากหนังสือ โดยมันเป็นวิหารที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างเหล็กท่อขนาด 15 x 30 เมตร ความสูง 12 เมตร ที่ปกคลุมด้วยหนังสือจำนวน 20,000 เล่ม ไปทั่วทุกเสา คิ้วบัวใต้ชายคา และหน้าจั่วของวิหาร ตัววิหารตั้งอยู่บนพื้นที่กลางแจ้งกลางกรุงบัวโนสไอเรส (อ้อ ไม่ต้องกลัวว่าฝนตกแล้วหนังสือจะเปียกน้ำ เพราะเขาห่อพลาสติกกันอย่างดีแล้วน่ะนะ!)

มินูคีนเลือกหนังสือต้องห้ามที่ถูกแบนในช่วงที่ประเทศอาร์เจนตินาปกครองด้วยเผด็จการทหารในช่วงปี 1976 – 1983 ไม่ว่าจะเป็นหนังสือของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์, คาร์ล มาร์ซ, ฌอง ปอล ซาร์ต, อดัม สมิธ, เออร์เนสโต ซาบาโต, อันโตนีโอ กรัมชี, เฮเกล, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, ฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส, มาร์เกอริต ยูร์เซอนาร์ และ มีแชล ฟูโก ไปจนถึงหนังสืออ้างอิงอย่าง สารานุกรม และวรรณกรรมเยาวชนอย่าง เจ้าชายน้อย หนังสือเหล่านี้ถูกบริจาคโดยสำนักพิมพ์กว่าสามสิบห้าแห่ง

The Parthenon of Books (1983) ภาพจาก http://www.documenta14.de/en/calendar/1061/groundbreaking-for-the-parthenon-of-books

The Parthenon of Books (1983) ภาพจาก http://www.documenta14.de/en/artists/1063/marta-minujin

ผลงาน ‘วิหารแห่งหนังสือ’ ที่จำลองวิหารอันเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของกรีกโบราณชิ้นนี้ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นจากฝันร้ายอันยาวนานจากการกดขี่ของระบอบเผด็จการ และเป็นการเฉลิมฉลองการกลับคืนมาของประชาธิปไตยในบ้านเกิดของเธอ โดยมันถูกเปิดตัวขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 1983 เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตาม โครงการศิลปะอันสุดแสนจะยิ่งใหญ่และทะเยอทะยานชิ้นนี้ ก็มีอายุอยู่เพียงชั่วคราว และในท้ายที่สุดมันก็ถูกรื้อถอนไปในวันที่ 24 ธันวาคม หรือเพียงห้าวันให้หลัง โดยปล่อยให้สาธารณะชนเข้ามาหยิบหนังสือที่อยู่บนซากโครงสร้างวิหารไปได้ตามใจชอบ ส่วนหนังสือที่เหลืออยู่ก็ถูกมอบให้กับห้องสมุดสาธารณะต่างๆ ซึ่งความตั้งใจของมินูคีนก็คือการมอบหนังสือ (ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม) เหล่านี้คืนกลับไปให้ประชาชนนั่นเอง

ล่าสุด เธอสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นอีกครั้งในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ในปี 2017 ที่เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมนี โดยในคราวนี้เธอหยิบเอาหนังสือจำนวน 100,000 เล่ม ที่ถูกแบนและเผาทิ้งโดยเผด็จการนาซี โดยนอกจากจะมีหนังสือที่เธอหามาเองแล้ว เธอยังเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมแหล่งความรู้ที่เคยถูกแย่งชิงไปกลับคืนมา โดยให้พวกเขานำหนังสือของตัวเองเข้ามาร่วมแสดงอยู่ในงานชิ้นนี้ด้วย ซึ่งหนังสือที่ได้ก็มีทั้งหนังสือของ อเล็กซานเดอร์ โซลเซนิตซิน, โทมัส มานน์ หรือหนังสือ The Satanic Verses ของ ซัลมาน รัชดี ไปจนถึงนิยาย แฮร์รี่ พอตเตอร์, Tropic of Cancer และอื่นๆ อีกมากมาย (วันกันว่ามีคนเอาหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล ที่เคยถูกนำมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐประหารในประเทศไทย มาเติมในงานชิ้นนี้ด้วย)

The Parthenon of Books (2017) ภาพโดย Mathias Völzke, ภาพจาก http://www.documenta14.de/en/calendar/25112/the-parthenon-of-books-celebration-of-the-accomplishment-of-the-collection-of-forbidden-books

The Parthenon of Books (2017) ภาพโดย Maria Rushling, Mathias Völzke, Maxie Fischer, ภาพจาก http://www.documenta14.de/en/news/21124/marta-minujin-s-the-parthenon-of-books-is-taking-shape-in-kassel

The Parthenon of Books (2017) ภาพโดย Maria Rushling, Mathias Völzke, Maxie Fischer, ภาพจาก http://www.documenta14.de/en/news/21124/marta-minujin-s-the-parthenon-of-books-is-taking-shape-in-kassel

ผลงานของมินูคีนมักจะเป็นการสำรวจประเด็นและหัวข้ออันซับซ้อน ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนถึงนิยามของศิลปะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะในพื้นที่สาธารณะ) และหนทางที่ศิลปะจะถูกรับรู้และสัมผัสถึง และบางครั้งก็แสดงการวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีสังคม การเมือง วัฒนธรรมบริโภคนิยม หรือความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในวงการศิลปะอย่างเจ็บแสบ

อาทิเช่นในผลงาน Kidnapenning (1973) ที่เธอและคณะนักแสดง เข้าไปป่วนคอกเทลปาร์ตี้ในสวนประติมากรรมของ MoMA ด้วยการแต่งหน้าแต่งตาเลียนแบบภาพวาดของปิกัสโซ ร้องเพลงและเต้นรำเลียนแบบท่าทางในงานศิลปะกรีก และทำการลักพาตัวแขกบางคนในงานไปทัวร์ตามสถานที่ต่างๆ ในนิวยอร์ก

หรือผลงาน Payment of the Argentine Foreign Debt to Andy Warhol with corn, The Latin American Gold (1985-2011) ภาพถ่ายคู่ของเธอกับแอนดี้ วอร์ฮอล ที่แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในการจ่ายหนี้แทนประเทศบ้านเกิดของเธอด้วยข้าวโพดสีทองอร่าม

Kidnapenning (1973) ภาพจาก http://elinadvertido.blogspot.com/2010/12/

Payment of the Argentine Foreign Debt to Andy Warhol with corn, The Latin American Gold (1985-2011) ภาพจาก https://www.artbasel.com/catalog/artwork/27163/Marta-Minujin-Payment-of-the-Argentine-Foreign-Debt-to-Andy-Warhol-with-corn-The-Latin-American-Gold

เช่นเดียวกับศิลปินหัวก้าวหน้าทั้งหลาย มินูคีน เสาะแสวงหาหนทางอันสุดโต่งในการหลอมรวมศิลปะเข้ากับชีวิต ไม่ใช่แค่เพียงการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจอภิสิทธิ์ของสถาบันศิลปะเท่านั้น หากแต่ยังตีแผ่โครงสร้างอำนาจใหม่ๆ และปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมในยุคหลังสงครามอีกด้วย

มินูคีนมีความเชื่ออย่างแท้จริงว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นศิลปะ” เธอกล่าวว่า ศิลปะอยู่เหนือศาสนาและการเมือง เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ และเราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นศิลปิน เธอมักทำงานศิลปะของเธอบนพื้นที่สาธารณะกลางแจ้ง แทนที่จะเป็นห้องสี่เหลี่ยมในหอศิลป์ ด้วยความเชื่อที่ว่า งานศิลปะเป็นของคนทุกคน และอยู่ในทุกหนแห่ง

ถึงแม้เธอจะมีอายุ 75 ปีเข้าไปแล้ว แต่เธอก็ยังคงเสาะแสวงหาและทดลองทำงานศิลปะด้วยเทคนิคและวัสดุใหม่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีไร้สาย หรือโดรน

“ฉันยังคงทำงานศิลปะต่อไป เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของฉัน ฉันไม่อาจหยุดมันได้ และฉันจะทำงานไปจนตาย”

นั่นเป็นคำกล่าวของศิลปินหญิงชาวอาร์เจนตินาที่ไม่เคยอ่อนข้อให้กับการทำงานศิลปะผู้นี้

 

ข้อมูล

Tags: , ,