มีงานศิลปะประเภทหนึ่งที่ไม่ได้แสดงอยู่ในพื้นที่ทางศิลปะตามแบบแผนอย่าง หอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์ แบบที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกัน หากแต่มีที่ทางอยู่ตามท้องถนน บนผนัง กำแพงอาคารบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่อง หรือแม้แต่สถานที่ราชการ

ศิลปะประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า สตรีตอาร์ต (Street art) และหนึ่งในประเภทของสตรีตอาร์ตที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดีที่สุดก็คืองานแบบที่เรียกว่า กราฟฟิตี้ (Graffiti) นั่นเอง

แรกเริ่มเดิมที กราฟฟิตี้ ถูกทำบนพื้นที่สาธารณะให้คนทั่วไปได้เห็น มันถูกทำในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเขียนถ้อยคำธรรมดาๆ บนผนัง ไปจนถึงภาพวาดอันประณีตบนกำแพง กราฟฟิตี้มีรากเหง้าสืบสาวไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ อย่างภาพวาดบนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงภาพบนกำแพงสุสานอียิปต์ ศิลปะฝาผนังของกรีก และอาณาจักรโรมันโบราณ

ในยุคสมัยใหม่ งานกราฟฟิตี้มักนิยมทำด้วยสีสเปรย์ หรือปากกามาร์คเกอร์ โดยทั่วไปกราฟฟิตี้มักเป็นงานศิลปะแบบนอกคอก นอกกฎหมาย นอกสถาบัน และนอกวงการศิลปะ โดยมากมักจะทำบนพื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในหลายประเทศถือเป็นการก่อกวนและทำลายทรัพย์สินชาวบ้านและทรัพย์สินสาธารณะ และถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งในแง่หนึ่ง งานศิลปะประเภทนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการแสดงออกของคนที่ไร้อำนาจวาสนา ไม่มีปากมีเสียงในสังคม และเป็นการขัดขืนดื้อแพ่งต่อกฎหมายและท้าทายอำนาจรัฐในรูปแบบหนึ่ง

แต่ในบางครั้งบางที ศิลปินกราฟฟิตี้บางคนก็ใช้งานกราฟฟิตี้เป็นใบเบิกทางสู่การเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะกระแสหลัก ศิลปินกราฟฟิตี้บางคนก็กลับเข้ามาแสดงงานในพื้นที่ทางศิลปะแบบหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์กับเขาได้เหมือนกัน

ในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ก็ยังมีศิลปินคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากการเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ และก้าวมาเป็นศิลปินดาวรุ่งผู้มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์ในวงการศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat)

ศิลปินอเมริกันผิวดำ เชื้อสายตาฮีเตียนและปอร์โตริกัน เขาเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20

เขาทำงานศิลปะที่ผสมผสานสื่ออันหลากหลาย ไร้ขอบเขต ทั้งงานกราฟฟิตี้ งานจิตรกรรม วาดเส้น สื่อผสม ภาพปะติด บทกวี ศิลปะแสดงสด ดนตรี และศิลปะที่ทำจากเครื่องถ่ายเอกสาร (Xerox art)  เขามีชื่อเสียงในระดับสากล ในฐานะศิลปินผู้เปี่ยมพรสวรรค์ ที่ไม่ได้เล่าเรียนศิลปะมาจากสถาบันไหนๆ

เกิดในปี 1960 ณ เมืองบรูคลิน แมนฮัตตันตอนล่าง ในนิวยอร์ก ช่วงวัยเด็ก เขาเป็นเด็กที่ฉลาดเกินอายุ เขาอ่านหนังสือได้เร็วกว่าเด็กอื่นๆ และมีพรสวรรค์ทางศิลปะโดดเด่นตั้งแต่อายุได้ 4 ขวบ ตอนอายุ 6 ขวบ เขาถูกรถชนตอนเล่นบาสเก็ตบอลจนแขกหักและอวัยวะภายในบาดเจ็บจนต้องผ่าตัดม้ามออก ในช่วงที่เขานอนอยู่โรงพยาบาลนานเป็นเดือน แม่ของเขาเอาหนังสือกายวิภาคมาให้เขาอ่าน หนังสือเล่มนี้นี่เองที่ทำให้เขาหลงใหลองค์ประกอบภายในร่างกายที่ถูกวาดให้เป็นเส้นสายอันเรียบง่ายสะอาด ในเวลาต่อมาเขาสนใจในตัวอักษรภาพ หรือเฮียโรกลิฟฟิคของอียิปต์ เมื่ออายุ 11 ปี เขาสามารถพูดและเขียนภาษาฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วแตกฉาน บาสเกีย ชอบเขียนเรียงความ เรื่องสั้น และบทกวี ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้นี่เองที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่องานศิลปะของเขาในเวลาต่อมา

แต่ในช่วงวัยรุ่นเขากลายเป็นเด็กหนุ่มใจแตกและออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 เขาหนีออกจากบ้านตอนอายุ 17 และไปอาศัยอยู่กับเพื่อนในบรูคลิน และหาเลี้ยงชีพด้วยการขายเสื้อยืด และทำงานพาร์ทไทม์ในโรงงานผลิตเสื้อผ้า

ในปี 1978 นิวยอร์กอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย บนท้องถนนเต็มไปด้วยอาชญากรรมและความรุนแรง โดยเฉพาะในย่านเสื่อมโทรมอย่างบรองซ์ ที่เต็มไปด้วยตึกที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ทำงานชั้นดีของมือกราฟฟิตี้ทั้งหลาย บาสเกียจับมือกับเพื่อนซี้ร่วมโรงเรียน อัล ดิอาซ (Al Diaz) สร้างคาแรคเตอร์ SAMO© (เป็นตัวย่อของคำว่า “same old shit”) ทำงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคม ด้วยกราฟฟิตี้ ที่ประกอบด้วยภาพวาด, บทกวี, หรือวลีสั้นๆ แต่แสบสัน บนกำแพงตึกร้าง หรือตามท้องถนน

กราฟฟิตี้ SAMO (1980), ภาพจาก http://je.ec56.org/rubrique.php?p=48  

ถึงแม้เมืองนิวยอร์กในยุคนั้นจะท่วมท้นไปด้วยผลงานกราฟฟิตี้ แต่ผลงานของ SAMO© ก็เตะตาด้วยความโดดเด่น แปลกตา และแตกต่าง เต็มไปด้วยเนื้อหาที่เปี่ยมปฏิภาณไหวพริบ จนจับความสนใจของคนในวงการศิลปะนิวยอร์ก จนได้ลงนิตยสารชื่อดังอย่าง Village Voice แต่ในที่สุดทั้งคู่ก็ยุติการทำงานร่วมกันในเวลาไม่ถึงปี ถึงกระนั้นทั้งคู่ก็ยังคงใช้ชื่อนี้สร้างผลงานในอีกหลายปีให้หลัง

นอกจากงานกราฟฟิตี้ บาสเกียยังทำงานจิตรกรรม สื่อผสม และยังทำงานศิลปะกับเพื่อนๆ ในรูปแบบโปสการ์ด ด้วยการทำผลงานคอลลาจจากพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ เศษขยะตามถนน ก้นบุหรี่ และใบปลิวโฆษณา แล้วเอาไปถ่ายเอกสารสีลงกระดาษเอสี่ พ่นสเปรย์กาวติดกับกระดาษแข็ง แล้วตัดแบ่งออกเป็นโปสการ์ดสี่แผ่น เอาไปขายตามท้องถนนในราคา 1 เหรียญ โดยมักจะไปเร่ขายหน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ให้คนที่ไปชมงานที่นั่น ซึ่งพวกเขามักจะโดน รปภ.ของพิพิธภัณฑ์ไล่ตะเพิดอยู่บ่อยๆ

ในปี 1979 บาสเกียได้พบกับ แอนดี้ วอร์ฮอล ศิลปินผู้เป็นฮีโร่ของเขาเป็นครั้งแรก โดยบาสเกียลอบตามวอร์ฮอลและภัณฑารักษ์ของเขา ที่ไปกินอาหารเที่ยงที่ภัตตาคารในย่านโซโห และรวบรวมความกล้า เข้าไปอวดผลงานของตัวเองให้ทั้งคู่ดู ถึงแม้ภัณฑารักษ์ของวอร์ฮอลจะปรามาสว่าบาสเกีย “ยังละอ่อนเกินไป” แต่วอร์ฮอลก็ถูกใจในตัวเขา และซื้อโปสการ์ดของบาสเกียมาแผ่นนึง

ในปี 1981 บาสเกียได้แสดงผลงานภาพวาดของเขาเป็นครั้งแรก ในนิทรรศการกลุ่ม New York/New Wave ที่หอศิลป์ P.S.1 ของสถาบัน The Institute for Art and Urban Resources, Inc., ในลอง ไอแลนด์

ท่ามกลางผลงานกว่า 1,600 ชิ้นโดยศิลปินหน้าใหม่ และศิลปินชื่อดัง กว่า 100 คน (รวมถึง แอนดี้ วอร์ฮอล ด้วย) ผลงานภาพวาดบนผืนผ้าใบ ที่ผสมผสานวัสดุอันหลากหลายอย่างกระดาษ ไม้ เศษเหล็ก โฟมยาง และหลอมรวมศิลปะกราฟฟิตี้ การ์ตูน ภาพวาดกึ่งนามธรรมลายเส้นอิสระ สีสันสดใส เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ก็กลายเป็นผลงานโดดเด่นเตะตาทั้งผู้ชม ศิลปินที่ร่วมแสดงงาน ไปจนถึงนักสะสม นักค้างานศิลปะ และเหล่าบรรดานักวิจารณ์ศิลปะ จนส่งให้ชื่อเสียงของเขาส่องประกายเป็นที่จับตา แม้ก่อนหน้านี้จะแทบจะไม่มีใครรู้จักเขาเลยก็ตาม

ฌอง-มิเชล บาสเกีย, ภาพจากหนัง Downtown 81 (1981) © New York Beat Films LLC. the Estate of Jean-Michel Basquiat, ถ่ายภาพโดย Edo Bertoglo, ภาพจาก https://www.fondationlouisvuitton.fr/en/events/event/downtown-81.html, https://www.schirn.de/en/magazine/context/downtown_81/, http://redbullarts.com/newyork/exhibition/rammellzee-racing-thunder/programming/

ในปี 1982 บาสเกียก็มีโอกาสได้รับเชิญไปเยี่ยมเยือนโรงงานศิลปะของวอร์ฮอลเป็นครั้งแรก ในวันเดียวกันนั้น เขารีบกลับไปที่สตูดิโอของตัวเอง เพื่อวาดภาพ Dos Cabezas (แฝดสองหัว) ซึ่งเป็นภาพคู่ของวอร์ฮอลกับวิกผมที่เป็นเอกลักษณ์ กับตัวเขาที่มีผมเดรดล็อค แล้วเอากลับมาให้วอร์ฮอลในเวลาแค่สองชั่วโมง (เรียกว่าสียังเปียกๆ อยู่เลยอ่ะนะ)

วอร์ฮอลเองก็ถูกใจในตัวบาสเกียอย่างมาก จนถึงกับเช่าอพาร์ตเมนต์ให้ และร่วมกันทำงานศิลปะด้วยกันกับเขาหลายชิ้น รวมถึงแสดงนิทรรศการร่วมกันหลายครั้ง จนทำให้วงการศิลปะหันมาจับตาเจ้าหนุ่มคนนี้ ในฐานะศิลปินอเมริกันเลือดใหม่ที่ร้อนแรงและ ‘ขายดี’ ที่สุดในช่วงยุค 80s และมอบฉายา ‘The Radiant Child’ (เจ้าหนูผู้เรืองรอง) ผู้โดดเด่นและฉายแสงเจิดจ้าที่สุดในวงการศิลปะร่วมสมัยยุคนั้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1985 นิตยสารที่โด่งดังและทรงอิทธิพลอย่าง The New York Times เอาบาสเกียขึ้นปก แต่ก็อดแขวะไม่ได้ว่าเขาเป็น “ตุ๊กตามาสคอต” ของวอร์ฮอล (ประมาณว่าเขาโด่งดังขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยบารมีของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตอะไรเทือกนั้น) แต่อันที่จริงทั้งสองมีมิตรภาพอันดีและให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างมาก วอร์ฮอลเองก็เป็นคนแรกๆ ที่มองเห็นอัจฉริยภาพในตัวบาสเกียด้วยซ้ำไป แถมในช่วงที่ทั้งคู่ทำงานด้วยกัน บาสเกียยังยุให้วอร์ฮอลหวนกลับมาทำงานวาดภาพด้วยมือ ในขณะที่เขาก็ลองทำงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ซึ่งเป็นเทคนิคสร้างชื่อของวอร์ฮอลอีกด้วย

Untitled (Skull) (1981) Copyright: © The Estate of Jean-Michel Basquiat. Licensed by Artestar, New York ภาพโดย The Eli and Edythe L. Broad Collection ภาพจาก http://fashionislands.com/the-life-and-works-of-jean-michel-basquiat-a-supersized-new-book-from-taschen/

Dos Cabezas (1982) ภาพจาก https://www.christies.com/lotfinder/Lot/jean-michel-basquiat-1960-1988-dos-cabezas-5371726-details.aspx

Untitled (Two on Gold) (1982) Copyright: © The Estate of Jean-Michel Basquiat. Licensed by Artestar, New York ภาพจาก http://fashionislands.com/the-life-and-works-of-jean-michel-basquiat-a-supersized-new-book-from-taschen/

Boy and dog in a Johnnypump (1982) ภาพจาก https://mejoresfotos.eu/33-best-art-expressionism-images-expressionism-painting-art.html

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของบาสเกียคือ การจับคู่เปรียบของสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว อย่างเช่น ความรวย กับ ความจน, ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับ ความแบ่งแยก (เชื้อชาติ, สีผิว), ประสบการณ์ภายใน และ ภายนอก, และมักหยิบเอาศิลปะต่างแขนงเข้ามาผสมผสานกัน ทั้งภาพวาด, กราฟฟิตี้, บทกวี และภาพลายเส้น รวมถึงหลอมรวมตัวหนังสือ ถ้อยคำ, ภาพการ์ตูน, เข้ากับภาพวาดแบบนามธรรม และผสมผสานข้อมูลทางประวัติศาสตร์เข้ากับการวิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัยอย่างเจ็บแสบ โดยใช้มันเพื่อเป็นเครื่องมือในการขุดลึกเข้าไปยังแก่นแท้ความเป็นจริงของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็โจมตีโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมในสังคม และระบบทางการเมืองที่กดขี่เหยียดหยามและแบ่งแยกชาติพันธุ์ บาสเกียเป็นศิลปินที่ยืนหยัดต่อสู้กับอคติและการเหยียดสีผิวที่รุนแรงอย่างมากในยุคนั้น

ผลงานของเขายังเป็นตัวอย่างของศิลปินอเมริกันในช่วงยุค 1980s ผู้สามารถฝ่ากระแสความนิยมสุดขีดของศิลปะอันเรียบง่ายลดทอนจนแทบไม่เหลืออะไรให้ดูเลยอย่าง มินิมอลลิสม์ และศิลปะที่ให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าตัวงานอย่าง คอนเซ็ปชวลอาร์ต ด้วยภาพวาดร่างกายมนุษย์ลายเส้นสีสันรุนแรงทรงพลังที่สร้างบทสนทนาเชื่อมโยงไปถึงงานศิลปะเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อีกด้วย

ในช่วงปลายยุค 80s ฌอง-มิเชล บาสเกีย เป็นหนึ่งในศิลปินอายุน้อยที่สุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัย แต่น่าเศร้าที่ความสำเร็จและชื่อเสียงเงินทองนั้นก็มาพร้อมๆ กับหายนะที่มีชื่อว่า ‘เฮโรอีน’ เขาเริ่มถลำลึกสู่เส้นทางที่ทำลายตัวเองด้วยยาเสพติด จนในที่สุด ในวันที่ 12 สิงหาคม 1988 เขาก็เสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาดด้วยอายุเพียง 27 ปี เท่านั้น เหลือทิ้งไว้แต่เพียงชื่อเสียง และบรรดาผลงานอันล้ำเลิศส่งแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลสู่คนรุ่นหลัง

ข้อมูลจาก

http://www.basquiat.com

https://en.wikipedia.org/wiki/Jean-Michel_Basquiat

https://www.sothebys.com/en/articles/21-facts-about-jean-michel-basquiat

https://www.youtube.com/watch?v=fjdKQ2TpWvo

https://www.theartstory.org/artist-basquiat-jean-michel.htm

Tags: , , , ,