หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Maze Runner ภาคแรก คงพอจำได้ถึงภาพกำแพงยักษ์ที่เรียงตัววกวนสลับซับซ้อนจนยากที่จะหาทางออกเจอ ภาพนั้น ก็คล้ายกับ ‘คาบูล’ เมืองหลวงของอัฟกานิสถานที่เต็มไปด้วยกำแพงคอนกรีตหนาสูงใหญ่ มีสภาพคล้ายเขาวงกตวางซ้อนลงไปบนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่า 4.6 ล้านคน

อาร์ตลอร์ด (ArtLords) คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมอัฟกันอย่างสันติโดยใช้งานศิลปะ

ปัจจุบันพวกเขากำลังสื่อสารกับสังคมผ่านภาพวาดบนกำแพงกันระเบิด เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน ความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเรียกร้องสิทธิสตรี

กำแพงเหล่านี้สร้างขึ้นภายหลังจากกองกำลังนานาชาติซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา โค่นล้มการปกครองของตาลีบันลงในเดือนธันวาคมปี 2544 จากนั้น ตาลีบันถอยร่นไปอยู่ทางตอนบนของประเทศ และเริ่มเข้าโจมตีเมืองหลวงด้วยการก่อการร้ายและระเบิดฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง

กำแพงคอนกรีตหนาและสูงกว่า 3 เมตร เริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันความเสียหายจากแรงระเบิด โดยตั้งล้อมรอบที่ทำการของรัฐบาล บ้านพักเจ้าหน้าที่ระดับสูง ค่ายทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล สถานทูตต่างๆ ที่ทำการองค์กรระหว่างประเทศ อาคารสำนักงานเอกชน และบ้านพักคนที่มีฐานะร่ำรวย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการกำแพงกันระเบิดในคาบูลทวีสูงขึ้นเป็นเท่าตัวตามสถานการณ์การก่อการร้ายที่รุนแรงมากขึ้น มีการประเมินว่า ปัจจุบันคาบูลเป็นเมืองที่มีกำแพงกันระเบิดมากที่สุดในโลก

แม้กำแพงจะช่วยปกป้องอาคาร ชีวิต และทรัพย์สินไม่ให้ถูกทำลาย แต่กลับสร้างความโกรธแค้นแก่ชาวเมืองที่เป็นคนสามัญ

ทิวทัศน์ของภูเขาอันงดงามซึ่งมีหิมะปกคลุมบนยอดถูกความสูงของกำแพงบดบังจนหมดสิ้น กำแพงจำนวนมากมายที่ปิดกั้นถนน ทำให้การจราจรของเมืองเป็นอัมพาต การตั้งจุดตรวจสกัดและการมีอภิสิทธิ์ในการปิดถนนรอบบ้านพักบุคคลสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการปิดเส้นทางเพื่อรักษาความปลอดภัยให้คนของรัฐขณะเดินทาง ล้วนสร้างความเดือดดาลให้กับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่การติดตั้งกำแพงกันระเบิดเพิ่มมากขึ้น เหตุระเบิดแต่ละครั้งกลับมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์

พฤษภาคมปีที่แล้ว (2017) เกิดคาร์บอมบ์ใกล้สถานทูตเยอรมนีในคาบูล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 คน บาดเจ็บราว 460 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไป และเหตุระเบิดใหญ่เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มือระเบิดฆ่าตัวตายจุดระเบิดที่จุดตรวจค้นซึ่งมีผู้คนหนาแน่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 95 คน บาดเจ็บ 158 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนเช่นเดียวกัน

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้ชาวเมืองมองกำแพงคอนกรีตด้วยความเกลียดชัง ผู้คนพูดกันว่าผู้นำประเทศปกป้องแต่พรรคพวกของตัวเอง หรือมีแต่คนระดับสูงและคนร่ำรวยเท่านั้นที่จะได้รับการปกป้องจากกำแพง ส่วนประชาชนทั่วไป นอกจากต้องทนอยู่ในเมืองที่อัปลักษณ์แล้ว ชีวิตยังไร้ซึ่งความปลอดภัย

ขณะที่บางคนรู้สึกว่า กำแพงใหม่ๆ จะดึงดูดความสนใจจากผู้ก่อการร้าย และเมื่อใดที่เกิดระเบิดหรือการโจมตีด้วยอาวุธ อภิสิทธิ์ชนที่อยู่ด้านในของกำแพงมักไม่ได้รับอันตราย แต่ประชาชนที่อยู่ด้านนอกจะกลายเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทันที

โอเหม็ด ชารีฟี นักกิจกรรมทางสังคมและศิลปินผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาร์ตลอร์ด บอกว่า เขาผ่านยุคสมัยของทั้งมูจาฮีดีนและตาลีบัน แต่คาบูลก็ไม่เคยเป็นแบบนี้ เขาบอกว่าตอนนี้มันมีสภาพไม่ต่างไปจากคุก

โอเหม็ดบอกว่า ความขัดแย้งที่รุนแรงและความทุกข์ยากตลอดหลายปีมานี้ เกิดจากกลุ่มขุนศึกหรือผู้นำกองกำลังติดอาวุธและบรรดาพ่อค้ายาเสพติด แต่ปัจจุบัน คนเหล่านี้กลายมาเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองผู้ซึ่งมีอิทธิพลและได้รับการปกป้องจากกำแพง

“เรากำลังกระตุ้นให้ผู้คนมาร่วมกับเรา มาเปล่งเสียงของเราถึงเรื่องไร้สาระพวกนี้ รวมถึงการก่อการร้ายที่ไร้สาระซึ่งกำลังเกิดขึ้นในเมือง”

เป้าหมายของกลุ่มอาร์ตลอร์ด คือการจัดเตรียมเวทีสำหรับพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทั้งปัญหาการคอร์รัปชัน เรื่องของกลุ่มหัวรุนแรง ความเสมอภาคของผู้หญิง และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

ผลงานที่ทำให้อาร์ตลอร์ดเป็นที่รู้จักคือ ภาพวาดดวงตาคู่ยักษ์บนผนังกำแพงของกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ โอเหม็ดบอกว่าตาคู่นั้นเป็นการเตือนเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังทุจริตว่ามีคนจับตามองอยู่ แต่ผลงานชิ้นนั้นมีอายุได้ไม่ถึงสองเดือนก็ถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงสั่งให้ลบทำลาย

โอเหม็ดบอกว่า สิ่งที่เขาทำเป็นการให้คนสามัญที่ไม่มีสุ้มเสียงได้พูด การวาดภาพบนกำแพงที่น่าเกลียดทำให้ประชาชนพบวิธีที่จะพูดกับผู้มีอำนาจ ยกตัวอย่างการคอร์รัปชันที่กำลังแพร่หลายอยู่ในประเทศ เมื่อประชาชนออกมาที่ถนนพร้อมพู่กันในมือ พวกเขาบอกกับผู้มีอำนาจว่าพอได้แล้ว

“ผมอยากจะส่งข้อความถึงผู้มีอำนาจ ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เพื่อแสดงอำนาจ จริงๆ แล้วมันเป็นการแสดงว่าพวกคุณน่ะโกง ประชาชนรู้ว่าคุณกำลังขโมยเงินของพวกเราและเราจะเอามันกลับมา เราจะเอาคุณเข้าสู่การกระบวนการยุติธรรม นั่นก็คือที่สิ่งที่พวกเรากำลังทำ”

นอกจากภาพวาดเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมืองแล้ว อาร์ตลอร์ดยังวาดภาพของคนสามัญไว้บนกำแพงกันระเบิด เพื่อเป็นการยกย่องกลุ่มคนเหล่านี้ อาทิ คนกวาดถนน ตำรวจหญิง และนักฟุตบอล

ไฟซาล อิมรอน นักศึกษามหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งอัฟกานิสถาน ซึ่งร่วมวาดภาพกับกลุ่มอาร์ตลอร์ดบอกว่า งานศิลปะบนกำแพงมีความหมาย มันสามารถให้ความหวังกับผู้คนที่ชีวิตถูกจำกัดไว้โดยสงคราม เธอบอกว่าบนผนังกำแพงกันระเบิดอื่นๆ ยังมีกลุ่มคนที่กำลังมอบความหวังที่ดีกว่าด้วยความคิดที่อิสระผ่านงานศิลปะ

โอเหม็ดบอกว่า เขาและเพื่อนๆ อยากจะเอากำแพงพวกนี้ออกไป แต่ไม่สามารถขุดออกไปด้วยพลั่ว เขาบอกว่า สิ่งเดียวที่เราทำได้คือใช้การวาดภาพ

Tags: , , ,