ถ้าใครเป็นคอศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะเยอรมันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คงจะดูหนังเรื่อง Never Look Away (2018) ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินเอาการ เพราะเรื่องราวของตัวละครเอกในหนังอย่าง เคิร์ต บาร์นาร์ด นั้นได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter) นั่นเอง 

ภาพจากหนัง Never Look Away (2018) Sony Pictures Classics

แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ เป็นจิตรกรชาวเยอรมันผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาทำงานภาพวาดทั้งในแบบจิตรกรรมเหมือนจริง จิตรกรรมนามธรรม และกึ่งนามธรรม, ภาพถ่าย และศิลปะจัดวาง ฯลฯ

เขาทำงานควบคู่ไปกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เฟื่องฟูในยุคปลายศตวรรษที่ 20 อย่าง แอบสแตรคเอ็กเพรสชั่นนิสม์ , ป๊อปอาร์ตของอเมริกันและอังกฤษ, มินิมอลลิสม์ และคอนเซ็ปชวลอาร์ต ถึงแม้เขาจะซึมซับรับอิทธิพลจากแนวคิดของกระแสศิลปะเหล่านี้มา แต่ก็ยังคงความคิดและปรัชญาการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างชัดเจน

ผลงานของเขามักเป็นการสำรวจการแสดงออกถึงความเป็นจริงในภาพต่างๆ ทั้งการแสดงความหมายโดยตรงและความหมายแฝงนัยยะอันซับซ้อนคลุมเครือ เขามักเล่นกับเส้นบางๆ ของความแตกต่างระหว่างภาพวาดเหมือนจริงแบบภาพถ่าย และความไม่เหมือนจริงแบบภาพวาดนามธรรม และตั้งคำถามถึงพลังอำนาจของ ‘ภาพ’ ในฐานะ ‘ภาพแทนความเป็นจริง’ ทั้งในภาพจิตรกรรม ภาพถ่าย และภาพในสื่อต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“ภาพถ่ายเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิธีการมองและการคิดไปโดยสิ้นเชิง มันถูกมองว่าเป็นความจริงแท้ ในขณะที่ภาพวาดกลายเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา ภาพวาดไม่ได้รับความเชื่อถืออีกต่อไป เพราะมันนำเสนอสภาวะอันนิ่งงันที่ไม่อาจเคลื่อนไหวได้”

เขามักจะหยิบยืมภาพจากหนังสือพิมพ์ และภาพจากอัลบั้มภาพถ่ายเก่าๆ ของครอบครัวของเขามาใช้เป็นแบบวาดภาพ โดยมักจะวาดภาพถ่ายบุคคลหรือสิ่งของในภาพวาดให้เบลอและเลือนราง เพื่อแสดงอุปมาถึงความเป็นไปไม่ได้ของศิลปินที่จะแสดงออกถึงความเป็นจริงของสิ่งที่อยู่ในภาพออกมาได้อย่างแท้จริง 

Ema (Nude on a Staircase) (1966), ผลงานชิ้นโด่งดังของริตช์เตอร์ ที่อ้างอิงไปถึงภาพวาด Nude Descending a Staircase, No. 2 (1912) ของ มาร์แซล ดูชองป์, ภาพจาก https://bit.ly/2URFRgo

Betty (1988) ภาพวาดลูกสาวของริตช์เตอร์, ภาพจาก www.gerhard-richter.com

แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ เกิดในปี 1932 ในเมืองเดรสเดิน, เยอรมนี ในช่วงเวลาที่พรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจ ญาติของเขามีส่วนร่วมโดยตรงกับกระแสเคลื่อนไหวของพรรคนาซี เขามีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปฝึกงานเป็นนักวาดฉากให้โรงละคร แต่การปะทุขึ้นของสงครามสร้างประสบการณ์อันเลวร้ายให้กับเขาอย่างมาก ลุงของเขาตายในสงคราม พ่อของเขาก็ตกงาน ความทุกข์ยากในครอบครัวและการฝึกฝนทางศิลปะภายใต้อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้เขามักจะเสาะหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะจากธรรมชาติ มากกว่าแนวคิดทางการเมือง ศาสนา หรือปรัชญาอะไรก็ตาม

ในช่วงปี 1951 เขาเข้าเรียนที่สถาบันศิลปะ Kunstakademi ที่เมืองเดรสเดิน และหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังและป้ายโฆษณาอุดมการณ์ทางการเมือง ในช่วงนั้นเองที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจในเยอรมันตะวันออก กำหนดให้ศิลปะ โซเชียลเรียลลิสม์ (Social Realism) เป็นแนวทางหลักของนักศึกษาศิลปะทุกคน ซึ่งเป็นนโยบายที่เปลี่ยนศิลปะให้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้รัฐบาลแบนนิทรรศการศิลปะป๊อปอาร์ตอเมริกัน และผลงานของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าของอเมริกาและยุโรปอย่าง ฟลักซัส (Fluxus) ที่ขัดกับอุดมการณ์รัฐ สิ่งนี้ส่งผลให้ริตช์เตอร์ต้องถูกบังคับให้ทำแต่งานศิลปะในรูปแบบอันจำกัดจำเขี่ย อย่างการวาดภาพภูมิทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะโรแมนติกเท่านั้น

แต่ในปี 1959 เขาได้ไปเยือนเยอรมันตะวันตก และได้ดูผลงานของศิลปินสมัยใหม่ที่มาแสดงที่นั่นอย่าง แจ็คสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) และ ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ร่องรอยสาดกระเซ็นของสีสันอันรุนแรงบนผืนผ้าใบของพอลล็อก และการกรีดผืนผ้าใบทะลุเป็นช่องของฟอนตานา สั่นสะเทือนความคิดเขาอย่างมาก และกระตุ้นให้เขาหันมาตั้งคำถามว่า เหตุใดภาพวาดเหมือนจริงจึงไม่อาจจับเอาพลังความรู้สึกของความเป็นจริงและจิตวิญญาณอันเสรีของศิลปะได้เช่นเดียวกับงานศิลปะนามธรรมของศิลปินอเมริกันและยุโรปเหล่านั้น หนำซ้ำ ผลงานภาพเหมือนจริงของเขาดูเหมือนจะล้มเหลวในการสะท้อนถึงแก่นแท้ของความเป็นจริงอันทรงพลังออกมาได้ด้วยซ้ำไป

ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลังจากนั้นในช่วงปี 1961 เขาจึงเริ่มหันมาทำงานศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ด้วยกระบวนการที่เป็นการทบทวนเกี่ยวกับการทำงานศิลปะของเขาเอง เขาถึงกับทำลายผลงานที่ทำในช่วงเวลาก่อนหน้าไปหลายชิ้น ถึงแม้ต่อมาเขาจะกลับมาวาดภาพเหมือนจริงที่มีต้นแบบมาจากภาพถ่ายต่างๆ โดยฉายภาพถ่ายเหล่านั้นด้วยโปรเจ็กเตอร์ลงบนผืนผ้าใบแล้ววาดตาม แต่ด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจในการไล่ตามหาความสมบูรณ์แบบของความเหมือนจริง ริตช์เตอร์พัฒนาการวาดภาพแนวทางใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวาดภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเบลอภาพให้ดูสั่นเทา เลือนราง ขูดขีด และทาสีทับหลายชั้น จนทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลในภาพเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ชมต้องพิจารณารายละเอียดพื้นฐานของภาพวาดเหล่านั้น อย่างองค์ประกอบ โทนสี มากกว่าจะถูกชี้นำโดยเรื่องราว เนื้อหา หรืออารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้าของบุคคลในภาพ

ในปี 1966 – 70 เขาวาดภาพชุดสีเทา (Grey Paintings) ที่แสดงถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของการวาดภาพ มากกว่าจะนำเสนอความเหมือนจริงของสิ่งที่วาด ด้วยการใช้ฝีแปรงหนาหนัก หรือใช้ลูกกลิ้งและแปรงปาดสีอย่างรุนแรงจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร ด้วยการวาดภาพแบบนี้ ริตช์เตอร์ลดแรงปะทะทางสายตาของภาพเหมือนจริง และสร้างพื้นที่ลวงตาจากร่องรอยจากการวาดภาพอันรุนแรงขึ้นมา

ในช่วงปี 1971 เขาไปไกลหนักข้อขึ้นอีกกับผลงานภาพวาดชุด Colour Charts ที่เขาวาดสีโทนต่างๆ เป็นช่องสี่เหลี่ยมเรียงกันเป็นตารางขนาดใหญ่บนผืนผ้าใบ จนดูคล้ายกับตารางสีแพนโทนยังไงยังงั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการที่เขาปฏิเสธที่จะอยู่ในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะไหนๆ และจากการที่ผลงานของเขาไม่แสดงความแยแสสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองอันเป็นผลกระทบจากระบอบนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแบบเดียวกับศิลปินร่วมยุคสมัยเดียวกันกับเขา

ในช่วงปี 1976 เขาทำงานในชุด Abstract Painting ภาพวาดนามธรรมที่เป็นรูปทรงและร่องรอยสีสันอันไร้ที่มาที่ไป และปล่อยให้ผู้คนตีความเอาเองโดยที่เขาไม่อธิบายอะไรเลย

แต่ในปี 1977 เขากลับมาวาดภาพบุคคลในผลงานชุด Baader-Meinhof ที่บันทึกเหตุการณ์เสียชีวิตอันอื้อฉาวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวเยอรมันในคุกสตัมไฮม์ ซึ่งมีต้นแบบมาจากภาพถ่ายของเหล่าบรรดาผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงปีกซ้ายแห่งกองทัพแดง (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Baader-Meinhof) ภาพวาดที่เลือนราง แฝงนัยยะถึงปริศนาที่ยังไม่คลี่คลายของการฆ่าตัวตายหมู่ในคุกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น

Man Shot Down 1 (1988), ภาพวาดในชุด Baader-Meinhof, ภาพจาก www.gerhard-richter.com 

Confrontation 1 (1988), ภาพวาดในชุด Baader-Meinhof, ภาพจาก www.gerhard-richter.com 

ในช่วงยุค 1980 และ 1990 ริตช์เตอร์ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จากผลงานภาพวาดนามธรรมที่ดูเผินๆ เหมือนเป็นภาพวาดแบบแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ แต่ความจริงภาพวาดของเขาแสดงออกถึงกระบวนการในการวาดภาพด้วยร่องรอยของสีสันและฝีแปรง ต่างกับการแสดงออกถึงสภาวะทางอารมณ์ หรือจิตวิญญาณและความรู้สึกภายในของศิลปินแบบเดียวกับศิลปินแอบสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ผลงานของเขาตัดขาดจากสิ่งเหล่านั้น และแสดงออกถึงความรื่นรมย์ทางสายตาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง 

ในช่วงปี 2000 เขาขยับขยายขอบเขตของการวาดภาพ ด้วยการทดลองทำงานจิตรกรรมนามธรรมบนพื้นผิวอันลื่นไหลด้านหลังของกระจก ไปจนถึงศิลปะจัดวางจากกระจก หรือแม้แต่ศิลปะกระจกสีในโบสถ์

ในฐานะศิลปิน ริตช์เตอร์ท้าทายกระแสเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ศิลปะ อย่างโซเชียลเรียลลิสม์ ด้วยผลงานจิตรกรรมอันก้าวล้ำ หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่กระแสศิลปะแบบหัวก้าวหน้าอันแปลกใหม่หวือหวาอย่างคอนเซ็ปชวลอาร์ต แผ่อิทธิผลไปทั่วยุโรป และอเมริกาจนเบียดบังศิลปะในรูปแบบเดิมๆ ที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานอย่างงานจิตรกรรม จนถูกมองว่าตายไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น ริตช์เตอร์ก็ยังแสดงให้เห็นว่า งานจิตรกรรมหรือการวาดภาพ ก็ยังคงเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามถึงความเป็นจริงของ ‘ภาพ’ ต่างๆ ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ไม่ว่าภาพเหล่านั้นจะมีที่มาจากภาพถ่ายครอบครัว, ภาพข่าว, ภาพยนตร์ ไปจนถึงโฆษณา หรือแม้แต่ภาพอินเตอร์เน็ต ที่มีอยู่ในทุกหนแห่งก็ตามที

ในยุคสมัยของงานศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ ที่มองการปรารถนาความงามและสุนทรียะเป็นเรื่องเฉิ่มเชย ล้าสมัย และน่าอับอาย แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ ก็พลิกฟื้นคืนชีวิตให้แนวความคิดในการใฝ่หาความงามและสุนทรียะในการทำงานศิลปะ กลับมาเปี่ยมเสน่ห์น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง

อนึ่ง ชื่อของ แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ ถูกรวมอยู่ในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Capitalist Realism ที่เกิดขึ้นในเยอรมัน ซึ่งมีความใกล้เคียงกับป๊อปอาร์ตของอเมริกัน ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1963 โดยศิลปินเยอรมัน ซิกม่า โพลเคอ (Sigmar Polke) และมีสมาชิกคนสำคัญอย่าง แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter) และ คอนราด ลุค (Konrad Lueg) โดยศิลปินในกลุ่มนี้มุ่งเน้นในการนำเสนอภาพของลัทธิบริโภคนิยมและความฉาบฉวยเหลือทนของสังคมทุนนิยมร่วมสมัย ด้วยการหยิบเอาเรื่องราวจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม รวมถึงนำสุนทรียศาสตร์แบบสื่อมวลชนและงานโฆษณามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความเป็นไปได้เชิงสร้างสรรค์ในการผลิตซ้ำของเครื่องจักรกลในระบบอุตสาหกรรมด้วยการวาดภาพเลียนแบบภาพและข่าวในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ ของโพลเคอ หรืองานจิตรกรรมที่วิเคราะห์และชำแหละสื่อสมัยนิยมอย่างภาพถ่ายของริตช์เตอร์ นั่นเอง

ในหนัง Never Look Away ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินเยอรมันคนสำคัญอีกหลายคน อาทิตัวละครรูมเมทและเพื่อนร่วมชั้นของตัวเอกในสถาบันศิลปะแห่งดุสเซลดอร์ฟ นั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก กุนเธอร์ อุคเคอร์ (Günther Uecker) ประติมากรชาวเยอรมันผู้มักทำงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางจากตะปู ถึงแม้ตัวละครทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนชื่อให้แตกต่างไปจากตัวจริง แต่ถ้าสังเกตจากงานก็พอจะดูออกได้ว่ามีที่มาจากใคร

ตัวละครที่สำคัญในหนังอีกคนก็คือ ศาสตราจารย์แอนโทเนียส ฟาน แฟร์เทน ที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินเยอรมันผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะอย่าง โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) เพราะหนังก็อปปี้ทั้งหน้าตา คาแรคเตอร์ ยูนิฟอร์ม และสไตล์การทำงานของบอยส์มาแทบจะทั้งหมด 

กุนเธอร์ อุคเคอร์ ที่ดุสเซลดอร์ฟ ปี 2011 ภาพถ่ายโดย Oliver Mark, ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/G%C3%BCnther_Uecker 

ตัวละครศาสตราจารย์แอนโทเนียส ฟาน แฟร์เทน ในหนัง Never Look Away ที่ได้แรงบันดาลใจจาก โจเซฟ บอยส์, ภาพโดย Caleb Deschanel. Sony Pictures Classics ที่มา https://bit.ly/323zJpq  

มีฉากหนึ่งในหนังที่พระเอกผู้เป็นศิลปินหนุ่มไฟแรงกำลังเห่อไปกับกระแสงานศิลปะหัวก้าวหน้า หรือ อะวองการ์ด ที่กำลังเฟื่องฟูในยุโรปยุคนั้นจนหลงลืมความเป็นตัวของตัวเอง ก็ได้ศาสตราจารย์ผู้นี้นี่แหละ ที่มาเตือนสติด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ปริศนาใต้หมวกขนสัตว์’ ที่เขาสวมติดหัวมาตลอด ไม่ยอมถอดให้ใครเห็นเลย ซึ่งเรื่องราวที่ว่านั้นก็คือเรื่องราวจริงๆ ในชีวิตของ โจเซฟ บอยส์ นั่นเอง

หลายคนที่รู้จัก โจเซฟ บอยส์ คงทราบดีว่า เขามักจะใช้ ผ้าขนสัตว์ (Felt) และ ไขมันสัตว์ (Grease) เป็นวัตถุดิบหลักในการทำงานบ่อยๆ เหตุผลสำคัญที่เขาเลือกใช้วัตถุดิบสองอย่างนี้มีมากกว่าความถนัดและความชื่นชอบ หากแต่เป็นเพราะมันมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับประสบการณ์แห่งความเป็นความตายในชีวิตของเขา

โจเซฟ บอยส์ กับผลงาน Fat corner (1969), ภาพจาก https://whenattitudesbecomeform.tumblr.com/post/80266705076/joseph-beuys-fettecke-fat-corner-smeared-in 

เรื่องของเรื่องก็คือ ในขณะที่เขาเป็นทหารอากาศลาดตระเวนในสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินของเขาถูกยิงตกในคาบสมุทรยูเครน และจมในกองหิมะ เขาได้รับการช่วยเหลือออกจากซากเครื่องบินโดยชนเผ่าเร่ร่อน Tatar ผู้นำร่างที่บาดเจ็บสาหัสและหนาวเหน็บของเขามาเยียวยารักษาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของเผ่า คือการพอกบาดแผลด้วยไขมันสัตว์และห่อร่างกายของเขาด้วยผ้าขนสัตว์ จนเขาอาการทุเลาเป็นปกติ

หลังจากนั้น โจเซฟ บอยส์ จึงใช้สองสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบหลักในการทำงานศิลปะของเขาบ่อยครั้ง เพื่อแสดงออกถึงประสบการณ์อันสำคัญในชีวิตของเขา และพลังในการเยียวยาและปกป้องชีวิตของวัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้

อ้อ หนังยังกล่าวถึงนโนบาย Degenerate art ของพรรคนาซี หรือการประนามและประจานศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) ว่าเป็น ‘ศิลปะเสื่อมทราม’ ที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างและควรถูกกำจัดให้หมดไปอีกด้วย

สิ่งละอันพันละน้อยในหนังเรื่องนี้ตอกย้ำให้ศิลปินหนุ่มในหนังเรื่องนี้ รวมถึงผู้ชมอย่างเราให้ตระหนักว่า ท้ายที่สุดแล้ว วัตถุดิบและเรื่องราวที่ทรงพลังที่สุดที่ศิลปินจะใช้สื่อสารในงานศิลปะของเขานั้น หาได้มาจากกระแสความเคลื่อนไหว แฟชั่น ความแปลกแหวกแนว ความเท่ เก๋ไก๋ หรือความนิยมอื่นใดไม่ หากแต่ได้มาจากสิ่งที่พวกเขารู้จักคุ้นเคยดีที่สุด 

นั่นก็คือ ‘ชีวิต’ นั่นเอง.

 

ข้อมูล

www.gerhard-richter.com 

https://en.wikipedia.org/wiki/Gerhard_Richter 

https://www.theartstory.org/artist/richter-gerhard/artworks/

Tags: , ,