ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์​ ประเทศไทยเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ชวนสลดขึ้น หลังคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงประชาชน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งที่วัดป่าศรัทธารวม และที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 31 ราย (รวมผู้ก่อเหตุ) และได้รับบาดเจ็บจำนวน 58 ราย โดยชนวนเหตุสำคัญ มาจากการโกงค่านายหน้าบ้านสวัสดิการกองทัพบกของ ‘ผู้พัน’ และตามมาด้วยคำสัญญาจาก พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่จะ ‘รื้อ’ ระบบสวัสดิการทั้งหมดของกองทัพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

แต่จนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปครบ 1 ปีพอดี แม้กองทัพบกจะยืนยันว่าแก้ปัญหาหลายอย่างไปแล้ว แต่ในสายตาของ ‘คนใน’ และ ‘คนนอก’ ต่างเห็นร่วมกันว่าความพยายามหลายอย่างของกองทัพอาจไม่มากพอ บางเสียงถึงขั้นวิจารณ์ว่า กองทัพบก แทบไม่ได้ทำอะไรเลย

The Momentum จึงได้ชวน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พูดถึงการสังคายนา ‘กองทัพบก’ ต้นเหตุของเรื่องว่าไปถึงไหนแล้วบ้าง มีอะไรที่ยังตกหล่นหรือยังไม่ได้ทำ และบทเรียนในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่คนไทยได้รับจากเหตุการณ์นี้คืออะไร

1. การดูแล ‘อาวุธหนัก’ ยังต้องตั้งคำถาม / ค่ายทหารที่อยู่ใกล้เมือง

สำหรับเรื่องความบกพร่องของเจ้าหน้าที่และผู้ละเลยการตรวจตราจนทำให้เกิดปัญหา จำนวนทั้งหมด 13 คนนั้น ถูกลงโทษ ‘โดยการประจำ’ เพราะมีความผิดที่เรียกกันในภาษาทหารว่า ‘ประจำ 007’ (ซึ่งจะใช้เรียกนายทหารที่กระทำความผิด หรือบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ตำแหน่งประจำ ตำแหน่งสำรองราชการ) พร้อมทั้งงดบำเหน็จ ส่วนเรื่องการไม่ระมัดระวังในการรักษาความปลอดภัยสถานที่ต่างๆ ได้มีการแก้ไขปรับปรุง อีกทั้งยังเก็บรวบรวมข้อมูลช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อีก ซึ่งทุกหน่วยได้มีการเพิ่มมาตรการดูแลคลังอาวุธหนักเป็นพิเศษมากยิ่งขึ้น

แต่ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการเบิกจ่ายอาวุธ ระบบการรักษาความปลอดภัยอาวุธของกองทัพบกไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแต่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกเรื่องที่สัมพันธ์กันคือ ที่ตั้งของกองทหารต่างๆ นั้น อยู่ใกล้กับพื้นที่ของประชาชน โดยที่ตั้งกองทัพจะตั้งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก และมีแทบทุกจังหวัด ซึ่งในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข และต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงระบบในระยะยาว

สำหรับค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ต้นทางของคลังอาวุธที่จ่าสิบเอกจักรพันธ์ไปขนปืนออกมา ห่างจากพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช เพียง 13 กิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่ในกรุงเทพฯ กองทหาร ค่ายทหารใหญ่หลายแห่ง ยังคงอยู่ใจกลางเมือง และแม้พลเอกอภิรัชต์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก จะเคยระบุว่าเตรียมย้ายค่ายทหารออกนอกกรุงเทพฯ ทั้งหมด แต่ก็ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก

2. การทำธุรกิจในกองทัพ การสืบสวนที่สาวไม่ถึง ‘ต้นเหตุ’

สำหรับผู้ก่อเหตุและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 4 คนประกอบด้วย จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ผู้ก่อเหตุ, พันเอก อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์, อนงค์ มิตรจันทร์ และพิทยา แก้วพรหม จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนปลดประจำการถอดยศแม้เสียชีวิตไปแล้ว รวมไปถึงจะไม่ได้รับสิทธิบำเหน็จตกทอดตามระเบียบทั้งจ่าสิบเอกจักรพันธ์ และพันเอกอนันต์ฐโรจน์ ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาประจำหน่วยโดนคาดโทษ และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการช่วยรบที่ 2 ในขณะนั้น จะถูกปรับตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและยศไม่ขึ้น

ในประเด็นนี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล วิพากษ์ถึงปัญหาของการทำธุรกิจในกองทัพที่ไม่เป็นธรรมจนทำให้ทหารชั้นผู้น้อยอย่าง จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา ต้องออกมาก่อเหตุอุกอาจในครั้งนี้เอาไว้ว่า

“อย่างกรณีของคุณจ่ากับผู้บังคับบัญชา ปัญหามาจากการทำธุรกิจที่ผู้บังคับบัญชาใช้ตำแหน่งไปทำธุรกิจกับผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วใช้ความเป็นผู้บังคับบัญชาไปกดขี่ข่มเหง เอาผลประโยชน์จากผู้ใต้บังคับบัญชาใช่หรือไม่

“คำถามคือ วันนี้กองทัพทั้งหมด และกระทรวงกลาโหมได้เข้าไปตรวจสอบหรือยัง ว่ามีผู้บังคับบัญชาทำธุรกิจแล้วเอาลูกน้องไปใช้งาน หรือเอาลูกน้องมาเป็น ‘ลูกค้า’ ที่ถูกกดขี่อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นนายทหารชั้นประทวนหรือพลทหารก็ดี ซึ่งในกรณีคุณจ่าคือเขาถูกรู้สึกเอารัดเอาเปรียบแล้วร้องเรียนไม่ได้ ตรงนี้ต้องมีการตรวจสอบ”

3. ปฏิรูปสวัสดิการกองทัพ มีคลุมเครือและลึกลับ

ในเมื่อชนวนเหตุสำคัญมาจากปัญหาการ ‘โกงเงิน’ ที่ได้จากการกู้ซื้อบ้านและค่านายหน้า ที่มีการซื้อขายที่ดินผิดสัญญากันเรื่องผลตอบแทน จึงทำให้ได้ทำการเซ็น MOU กับกรมธนารักษ์ว่าจะปรับปรุงธุรกิจเชิงพาณิชย์บนที่ดินราชพัสดุ ซึ่งกองทัพมี 40 กว่าแห่ง โดยจะดึงเอกชนเข้ามาบริหารงานแทน และจะนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ปัจจุบันมีเพียงโรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดเชียงราย และสวนสนประดิพัทธ์ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น ที่มีการจ้างเอกชนมาบริหารธุรกิจ

“ต้องยอมรับว่ากองทัพถือท้องที่ราชพัสดุที่นำไปทำสวัสดิการเชิงธุรกิจจำนวนมาก ซึ่ง พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น บอกว่ามี 40 กว่าโครงการที่จะมอบให้กรมธนารักษ์ดูแล จัดเก็บรายได้และจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาให้กองทัพบก แต่ในความเป็นจริง กองทัพบกดำเนินการสำเร็จไปน้อยมาก” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกลระบุ

ในความเห็นของวิโรจน์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกองทัพบกขณะนี้ กลับไม่มีความชัดเจนว่าส่งมอบให้ธนารักษ์เป็นผู้ดูแลหรือยัง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีการเปิดเผยจากกรมธนารักษ์ ว่ารายได้ที่จัดสรรกลับมาให้กับกองทัพบกนั้นเป็นอย่างไร แต่ละสวัสดิการเชิงธุรกิจสร้างรายได้ที่เป็นเงินนอกงบประมาณให้กับเท่าไหร่ ก็ยังไม่มีความโปร่งใส

“ผมอยากชวนให้คิดว่า ปกติจะทำความสะอาดบ้าน เราต้องรู้ก่อนว่าบ้านรกตรงไหน มีอะไรที่เป็นปัญหา มีอะไรที่เป็นกองขยะ แต่วันนี้กองทัพบกบอกกับเราว่า จะโอนสวัสดิการเชิงธุรกิจให้กับกรมธนารักษ์ แต่ก็ไม่เคยเปิดเผยว่าโอนไปแล้วเท่าไร แล้วส่วนใหญ่ขั้นตอนเป็นอย่างไร รวมไปถึงสัดส่วนในการจัดสรรรายได้ ใช้หลักเกณฑ์อย่างไร ก็ยังไม่ได้เปิดเผย ทั้งที่เป็นเรื่องสาธารณะที่ประชาชนควรจะรู้ แล้วแบบนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่บ้านถึงจะสะอาดสักที

“เรื่องนี้ผมเองก็เป็นคนที่ยื่นแก้ไข พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่เปิดให้ทำข้อตกลงไว้ด้วย กระทรวงอื่น ก็ยังต้องตราพระราชบัญญัติที่ต้องเปิดเผยบัญชีเพื่อตรวจสอบได้ แต่สำหรับกองทัพ ไม่ต้องมีพระราชบัญญัติ แค่ตั้งข้อตกลงระหว่างกองทัพกับกระทรวงการคลังก็พอแล้ว ซึ่งประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ผมจึงยื่นแก้ไขไปว่าห้ามทำเอ็มโอยู แล้วเสนอว่า หากกองทัพจะเก็บเงินนอกงบประมาณไว้เองโดยที่ไม่คืนคลัง ก็ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้ตรวจสอบได้ ส่วนอันไหนที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็เปิดเผยให้ประชาชนดูว่าถึงขั้นไหนแล้ว”

4. สายด่วนผู้บัญชาการทหารบก หรือ ‘ใบมรณบัตร’ ออนไลน์?

หลังจากที่พบว่าสาเหตุในโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดจากความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นระหว่างทหารชั้นผู้น้อยและผู้บังคับบัญชา ทำให้กองทัพบกได้ทำการการเปิดสายด่วนให้กำลังพลร้องเรียนถึง ผู้บัญชาการทหาร (ในขณะนั้นคือ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์) โดยตรง เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกำลังพลให้รวดเร็ว โดยมีสโลแกนว่า ‘ทุกเรื่องคือความลับ ทุกเรื่องถึงผู้บัญชาการทหารบกทั้งหมด’

ในเรื่องนี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้พูดถึงปัญหาของสายด่วนดังกล่าวไว้ว่า “ที่พลเอกอภิรัชต์ บอกจะเปิดคอลเซ็นเตอร์ ทุกวันนี้ยังมีอยู่ไหมที่ถึงผู้บัญชาการทหารบก หรือมันละลายหายไปกับพลเอกอภิรัชต์ ด้วยแล้ว

“แถมยังมีการระบุด้วยว่า ในขณะที่พลเอกอภิรัชต์ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ ไม่มีเรื่องร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์เลย เรื่องนี้มีที่มาที่ไป นายทหารชั้นประทวนหลายคนกระซิบบอกผมว่า มันไม่ใช่ระบบคอลเซ็นเตอร์ แต่มันเป็นระบบ ‘ใบมรณะบัตรออนไลน์’ ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อไหร่ที่คุณไปเขียนร้องเรียนผู้บังคับบัญชาคุณ เรื่องราวร้องเรียนของคุณ จะถูกส่งไปถึงผู้บังคับบัญชา ซึ่งคุณก็จะรู้อยู่แล้วว่าจะเจออะไรบ้าง คุณรู้อยู่แล้วว่ากฏระเบียบของกองทัพมันไม่สามารถปกป้องได้เลย”

“ผมมองว่าเป็นระบบที่ต้องแก้ให้ได้ เพราะเวลามีใครร้องเรียนผู้บังคับบัญชา มันจะมีกระบวนการนอกระบบเพื่อจัดการคนที่ร้องเรียนอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับคนอื่น เหมือนเป็นการเชือดให้ดู”

ส่วน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่านี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของชนชั้นทหาร ระหว่างทหารชั้นประทวนและทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งประเทศไทยไม่เคยให้ความสนใจในเรื่องสิทธิ สวัสดิการระหว่างชั้นทหาร ทั้งๆ ที่ลำดับขั้นของชั้นทหารห่างกันไม่มาก แต่สวัสดิการกลับแตกต่างกันมาก

“ในระบบทหาร เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพมันแตกต่างออกไป เพราะลำดับขั้นถูกล็อกด้วยระบบสัญญาบัตร มีการผูกขาดระบบการเลื่อนลำดับชั้น โดยการมีโรงเรียนนายร้อยแค่แห่งเดียว แม้ว่าทางกองทัพจะมีการเพิ่มจำนวนข้าราชการพลเรือน แต่ข้าราชการพลเรือนเหล่านี้ กลับไม่สามารถขึ้นไปในระดับสายบังคับบัญชา ผู้บังคับการ หรือเป็น 5 เสือได้ เพราะโอกาสเลื่อนลำดับชั้นมีน้อยมากหากไม่ได้จบการศึกษาผ่านโรงเรียนนายร้อย”

5. ประชาชนอยู่เหนือกองทัพ อาจเป็น ‘คำตอบสุดท้าย’

ด้าน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจถึงการปฏิรูปหลังเหตุการณ์กราดยิงว่าปัญหาของกองทัพบกไทยนั้นติดขัดอยู่ตรงไหนบ้าง

“ผมไม่ได้คิดว่าผู้บัญชาการทหาร นายทหารระดับสูง หรือผู้ต้องรับผิดชอบทั้งหลายมีเจตนาที่เลวร้าย เพียงแต่ผมมองว่าระบบโครงสร้างของกองทัพมันทำให้เรื่องเหล่านี้ล่าช้า และกองทัพเองมีปัญหาในการสื่อสารกับประชาชน เพราะทหารไม่เคยถูกฝึกให้สื่อสารกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ส่วนมากทหารจะสื่อสารผ่านวาทกรรมชาตินิยม คือการกล่าวหาศัตรูตลอดเวลา นี่เป็นกรณีของ เทอมินอล 21

“การปฏิรูปกองทัพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีแรงกดดันในระดับมหาศาล เพราะกองทัพไม่สามารถปฏิรูปได้มากกว่าที่เขากำหนดเอง ไม่สามารถปฏิรูปไปมากกว่าเรื่องจำนวนกำลังพล และแน่นอนว่ากองทัพไม่สามารถไปถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหารหากขาดแรงกดดันระดับมหาศาล

“แม้ทหารจะมีความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพ พยายามลดกำลังพล จัดทำกองทัพให้ดีขึ้น แต่การลดจำนวนนายพลลง ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ขณะเดียวกัน แม้จะมีการเพิ่มข้าราชการพลเรือนไปแทนนายทหาร แต่ก็อาจถูกมองได้ว่าสุดท้าย กองทัพอาจพยายามขยายภารกิจของตัวเองออกไปหรือไม่”

ขณะเดียวกัน สิ่งที่มองเห็นอีกอย่างผ่านท่าทีของผู้บัญชาการทหารบกคนล่าสุด คือการที่ทหารไม่สามารถอธิบายได้ว่า ‘อาวุธยุทโธปกรณ์’ สำคัญอย่างไรในสถานการณ์และสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

“จริงๆ แล้วกองทัพ ไม่ได้อยากเป็นที่รังเกียจของประชาชน เพียงแต่ว่ากองทัพรู้สึกไม่มั่นคงทุกครั้งที่มีประชาธิปไตยเพราะมองว่าการปฏิรูปกองทัพคือการทำให้นักการเมือง ‘อยู่เหนือ’ กองทัพ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือการทำให้ประชาชนอยู่เหนือทุกกลุ่ม แล้วให้ประชาชนตรวจสอบทั้งกองทัพและนักการเมือง”

เขายังบอกอีกว่า สิ่งที่ต้องเร่งปฏิรูปกองทัพ คือเหตุการณ์โควิด-19 ทั้งกรณีของสนามมวย การลักลอบเข้าประเทศ และการที่กองทัพไปให้ความสำคัญกับการเปิด-ปิดเมือง

“ประเด็นสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปกองทัพกลับมาอีกครั้งคือ รัฐประหารพม่า เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อกองทัพรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียบทบาททางการเมืองไป สิ่งที่เขาเลือกจะทำคือการรัฐประหาร นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ภายใต้การปฏิรูปการเมืองในปัจจุบัน ที่ต้องเร่งให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญและทำให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองลดลง” พิชญ์สรุป

Tags: , , ,