นักวิจัยจาก Norway’s Polar Institute ได้ติด GPS เพื่อติดตามสุนัขจิ้งจอกวัยไม่ถึง 1 ขวบตัวนี้ไว้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วก่อนจะปล่อยสู่ธรรมชาติในฝั่งตะวันออกของเกาะสปิตส์เบอเกน หนึ่งในเกาะของแผ่นดินใหญ่อย่างหมู่เกาะสวาลบาร์ดในมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งอยู่ระหว่างรัสเซียและนอร์เวย์
หลังจากนั้นเมื่อเปิดดูการเดินทางของ GPS ก็ได้พบว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ได้เดินทางไปยังฝั่งตะวันตกเพื่อหาอาหารก่อนจะไปถึงกรีนแลนด์ในเวลา 21 วัน ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ 1,512 กิโลเมตร จากนั้นมันก็เดินทางต่อไปยังเกาะเอลสเมียร์ ของประเทศแคนาดา เป็นระยะทางอีกเกือบ 2 พันกิโลเมตร โดยใช้เวลา 76 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตะลึงเป็นอย่างมากที่สุนัขจิ้งจอกซึ่งโดยปกติจะไม่เดินทางได้เร็วและยาวไกลขนาดนั้น โดยเจ้าสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 46 กิโลเมตรต่อวัน และบางวันมันเดินทางไกลถึง 155 กิโลเมตรเลยทีเดียว
“เราแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองในตอนแรก เราคิดว่าบางทีมันอาจจะตายหรือถูกขนส่งไปด้วยเรือ แต่ไม่มีเรืออยู่ในพื้นที่ละแวกนั้น นั่นทำให้เราค่อนข้างสับสน” เอวา ฟูเกล จากสถาบัน Norway’s Polar Institute กล่าว
โดย เอวา ฟูเกล (Eva Fuglei) ทำงานร่วมกับ (อาร์นัวด์ ทาร์รูซ์) Arnaud Tarroux นักวิจัยจากสถาบัน Norwegian Institute for Nature Research เพื่อติดตามดูพฤติกรรมของสุนัขจิ้งจอกในการจัดการชีวิตในช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลของอาร์กติก
“ในฤดูร้อนมีอาหารเพียงพอ แต่ในฤดูหนาวมันอาจจะยากหน่อย ซึ่งสุนัขจิ้งจอกอาร์กติกมักจะอพยพไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อหาอาหารเพื่อความอยู่รอด แต่สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ไปไกลกว่าตัวอื่นๆ ที่เราเคยติดตามมาก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษของสิ่งมีชีวิตตัวน้อยนี้” เอวากล่าว
ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าในช่วงฤดูหนาวสุนัขจิ้งจอกอาจจะใช้วิธีจำศีลนอนขดตัวในหิมะในช่วงที่สภาพอากาศย่ำแย่ ซึ่งเป็นไปได้เพราะมันมีขนที่หนามากพอ หรือไม่ก็ใช้วิธีการหาอาหารในแหล่งน้ำเหมือนดังเช่นนกทะเล โดยไม่คิดว่ามันจะใช้วิธีเดินทางไกลขนาดนี้เพื่อไปหาอาหาร ซึ่งสุนัขจิ้งจอกจากสวาลบาร์ดคงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเองเมื่อไปเกาะเอลสเมียร์ เพราะสุนัขจิ้งจอกที่เกาะเอลสเมียร์จะกินสัตว์เล็กเป็นอาหารมากกว่าแทนที่จะจำศีลเหมือนสุนัขจิ้งจอกบนเกาะสวาลบาร์ด
ตามข้อมูลของนักวิจัย การลดลงของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก พวกมันอาจจะไม่สามารถเดินทางไปไอซ์แลนด์ได้อีกต่อไปแล้วและแน่นอนว่านั่นอาจจะทำให้ประชากรสุนัขจิ้งจอกในสวาลบาร์ดและในไอซ์แลนด์แยกตัวออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสุนัขจิ้งจอกจากสวาลบาร์ดจะต้องอพยพออกไปหาอาหารนอกพื้นที่ของมันทั้งหมด เพราะนักวิจัยบอกว่าอาจจะยังความหวังเพื่อป้องการการย้ายถิ่นฐานอยู่ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นพวกมันอาจจะได้พบซากกวางเรนเดียร์หรือซากสุนัขจิ้งจอกที่ตายได้มากขึ้นเพื่อกินเป็นอาหาร
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/blogs-news-from-elsewhere-48824181?
ภาพ : Norwegian Polar Institute
Tags: ไอซแลนด์, arctic, สุนัขจิ้งจอก, อาร์กติก