บทเพลงล่าสุดของ Arca อย่าง ‘Fetiche’ จู่โจมเราด้วยภาพเปิดที่หลุดไปจากความเซอร์เรียลหลอนประสาทอันเป็นลายเซ็น—ช่อดอกไม้สีบางเบาอ่อนใสวางอยู่บนพื้น มองเข้าไปใกล้ๆ เจอน้ำเมือกใสไหลเยิ้มออกมา แล้วบุคคลไม่ระบุเพศในส้นสูงสีนู้ดก็เดินเข้ามาเหยียบย่ำกระทำชำเราช่อดอกไม้นั้นระหว่างที่ดนตรีรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สลับกับเสียงหัวเราะชวนหลอน จนถึงจุดพีคแล้วก็ทิ้งเราเอาไว้กับจอว่างสีชมพูช็อกกิ้งพิงค์ให้อึนกับดนตรีของเขาไปจนจบ

Arca คือนักดนตรี/โปรดิวเซอร์ฝีมือร้ายกาจ ที่ทำเพลงให้กับศิลปินเบอร์ท็อปอย่างบียอร์ก (Björk) เอฟเคเอ ทวิกส์ (FKA Twigs) คานเย่ เวสต์ (Kanye West) และแฟรงค์ โอเชียน (Frank Ocean) งานที่เขาร่วมโปรดิวซ์หรือเขียนเพลงให้ศิลปินมักมีความกลมกล่อมระหว่างการทดลองที่ไม่เหมือนใคร บวกกับความป๊อบเข้าถึงได้ แต่ถ้าเป็นงานส่วนตัวของเขาเองนั้นต่างออกไปสุดขั้ว มันคือความสุดโต่งที่ใครไม่ชอบก็อาจจะเกลียดไปเลยก็ได้ 

อัลบั้ม Mutant น่าจะนิยามลายเซ็นของเขาได้ดี ดนตรีของ Arca ให้ภาพเหมือนมนุษย์กลายพันธุ์หรือสิ่งมีชีวิตต่างมิติจากหนังไซไฟ และนอกจากซาวด์ดนตรีแล้ว การแสดงสดรวมถึงงานวิชวลอาร์ตที่พ่วงมาด้วย ก็ล้วนมีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นน่าสนใจ

Arca มีชื่อจริงว่า อเลฮานโดร เกอร์ซี่ (Alejandro Ghersi) เขาเกิดเมื่อปี 1989 ที่การากัส เมืองหลวงของประเทศเวเนซูเอล่า ครอบครัวเกอร์ซี่อาศัยอยู่ในชุมชนปิดที่มีการเรียนการสอนกันเองภายใน (gated community) ที่นั่นเขาได้เรียนเปียโน ก่อนที่จะลองโหลดโปรแกรมซอฟท์แวร์ทำดนตรีมาเรียนรู้เอง นอกจากความชอบในดนตรีป๊อปและอาร์แอนด์บีแล้ว อเลฮานโดรยังได้รู้จักดนตรีมืดหม่นรุนแรง อย่างแอฟเฟคส์ ทวิน (Aphex Twin) และไนน์ อินช์ เนลส์ (Nine Inch Nails) จากพี่ชายของเขา และแน่นอนว่าอีกคนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งกับเขาก็คือบียอร์ก

ก็เหมือนกับเหล่านักดนตรีมิลเลนเนียลหลายคน อเลฮานโดรเริ่มต้นอาชีพทำเพลงของตัวเองที่บ้านด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ช่วงแรกเขาออกเพลงของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า ‘Nuuro’ เป็นเพลงอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปแดนซ์หวานแหวว มีเนื้อร้องเป็นทั้งภาษาอังกฤษและสเปน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในเวเนซูเอล่า และอัลบั้มแรกที่ทำในนาม Nuuro ก็ได้ผลตอบรับที่ไม่เลวร้ายนักในบ้านเกิดของเขา

ในปี 2012 เขาเริ่มสร้างงานในชื่อ Arca และได้ปล่อยอัลบั้มอีพีออกมาถึงสามอัลบั้ม ได้แก่ Baron Libre, Stretch 1 และ Stretch 2 ทั้งสามอัลบั้มเริ่มออกห่างจากดนตรีป๊อปและแสดงให้เห็นสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ดนตรีมีกลิ่นอายความเป็นบีทฮิปฮอป แต่เล่นกับรายละเอียดยิบย่อยของเสียงเป็นจำนวนมาก ทั้งการบิดเบือนผสมเสียง Samp ของผู้คน การใช้เสียงซินธ์ Glitchy โทนแหลม รวมถึงการไหลไปมาของจังหวะที่ไม่อาจคาดเดาได้

ต่อมาในปี 2013 ซึ่งนับได้ว่าเป็นปีสำคัญของ Arca เขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการได้รับเครดิตว่าร่วมโปรดิวซ์ในอัลบั้ม Yeezus ของ คานเย่ เวสต์ รวมถึงโปรดิวซ์และร่วมแต่งเพลงในอัลบั้ม EP2 ของ ศิลปินสาวสวยเวียร์ด เอฟเคเอ ทวิกส์ ที่สำคัญคือในปีเดียวกันนี้เอง Arca ได้ปล่อยมิกซ์เทป &&&&& ออกมา

ในโปรเจคต์นี้เขาได้ร่วมงานกับเจซซี่ คันดะ (Jesse Kanda) ศิลปินวิชวลอาร์ติสต์ลูกครึ่งญี่ปุ่นผู้แปลงเสียงของ Arca สร้างออกมาเป็นภาพได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกว่าถ้า แอฟเฟสส์ ทวิน มีคริส คันนิ่งแฮมที่ช่วยตีความเสียงออกมาเป็นภาพ Arca เองก็มีเจสซี่ คันดะเป็นวิชวลอาร์ติสต์คนสำคัญ ซึ่งวิชวลที่เจซซีทำออกมามักมีรูปร่างเป็นเนื้อเยื่อหรือสิ่งมีชีวิตที่บิดเบี้ยว รูปทรงไม่คงที่ เข้ากันดีกับดนตรีแปรปรวนของ Arca ทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วยกันในลอนดอนและยังคงร่วมงานกันในเกือบทุกโปรเจคต์รวมถึงคอนเสิร์ตแสดงสดจนถึงทุกวันนี้

Arca ออกอัลบั้มเต็มของตัวเองครั้งแรกชื่อว่า Xen ในปี 2014 อัลบั้มนี้ตัวตนของเขาเริ่มก่อเป็นรูปร่างชัดเจน ซาวด์ดนตรีบิดไหลลื่นไปมายิ่งกว่าเดิม กลิ่นอายบีทฮิปฮอปเริ่มหายไป มีความแอ็บสแตรกต์มากขึ้น เสียงย่านแหลมกระตุกไปมา บางครั้งก็ทำให้นึกถึงพวกเครื่องสายอย่างไวโอลินในดนตรีโมเดิร์นคลาสสิค แต่ก็บิดเบี้ยวและฟังดูอิเล็กทรอนิกส์เกินกว่าจะอยู่ในวงออร์เคสตรา

โครงสร้างเพลงเหมือนการเอาชิ้นส่วนของเสียงเล็กๆ มาประกอบรวมกัน แต่ไม่ได้ต่อมันให้ออกมาเป็นภาพเดียวกันแบบจิกซอว์ คล้ายกับว่ายึดมันไว้อย่างหลวมๆ แล้วปล่อยมันลงทะเลไหลไปตามคลื่นมากกว่า ส่วนบรรยากาศของอัลบั้มก็แสนมืดหม่นไซไฟจนแทบจะใส่เป็นซาวด์แทรคให้กับหนังเรื่อง Under the Skin ได้ แต่ Arca คงเป็นมนุษย์ต่างดาวที่อารมณ์พลุ่งพล่านและเฟียร์ซกว่าสกาเลต โจแฮนสัน แน่นอน

นอกจากการทดลองเชิงศิลปะ อัลบั้มนี้ยังมีความสำคัญกับเขาในแง่ของจิตวิญญาณด้วย

ตอนวัยรุ่นอเลฮานโดรเคยมีปัญหากับการยอมรับความเป็นเกย์ของตัวเอง ในช่วงนั้นเอง เวลาจดบันทึกไดอารี่เขามักจะลงชื่อตัวเองว่า Xen เกอร์ซี่เคยให้สัมภาษณ์ว่า Xen เป็นอะไรที่มากกว่าร่างแยก (alter ego) ของเขา มันคือตัวตนไร้เพศ เป็นการรวมความซับซ้อนหลายๆ ด้านในตัวเองไว้ด้วยกัน และปฏิเสธที่จะถูกนิยามจัดประเภทให้อยู่ใน category ใดๆ

อาจเรียกได้ว่า Xen เป็นเหมือนการก้าวพ้นเพศสภาพ และทำลายพรมแดนของเสียงดนตรีที่คุ้นเคย สร้างสิ่งมีชีวิตแบบใหม่ขึ้นมา ภาพจากงานของเจซซี่ที่ทำเป็นมิวสิควิดีโอประกอบหลายเพลงในอัลบั้มนี้ยิ่งช่วยให้ตัวตนของ Xen หรือ Arca รวมถึงอเลฮานโดรจับต้องได้ยิ่งขึ้น มันอาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไหลลื่นรูปร่างของตัวเองไปตามเสียงดนตรี เคลื่อนไหวอยู่ระหว่างการเป็นเนื้อเยื่อไร้รูปทรงและโครงร่างของสิ่งมีชีวิตสักเพศหนึ่ง ที่เต้นรำอยู่ในแสงกระพริบระหว่างความมืดกับแสงสว่าง

ต่อเนื่องมาถึงปี 2015 ที่ Arca ได้ร่วมโปรดิวซ์อัลบั้ม Vulnicura ของ บียอร์ก นับเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของทั้งคู่ โดยบียอร์กรู้จัก Arca จาก มิกซ์เทป &&&&& เมื่อปี 2013 หลังจากนั้นเธอก็ชวนเขามาดีเจให้อาฟเตอร์ปาร์ตี้ระหว่างทัวร์อัลบั้ม Biophilia และนั่นก็ถือเป็นโอกาสที่เยี่ยมยอดสำหรับ Arca ผู้ชื่นชอบบียอร์กถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า การมีตัวตนของเธอในฐานะมนุษย์มีอิทธิพลอย่างมากกับการมีตัวตนของเขาฐานะมนุษย์ (The way she exists as a human is a big influence on the way I exist as a human)

ในปีเดียวกันนั้นเอง Mutant อัลบั้มเต็มลำดับที่สองของเขาก็ถูกปล่อยออกมา ในการทดลองหนักยิ่งกว่าเดิม ดุเดือดเต็มที่ด้วยเพลง 20 แทรคในเวลากว่าชั่วโมง กลิ่นอายดนตรีคลาสสิคที่เคยปรากฎเริ่มหายไป หรือไม่ก็อาจจะถูกบิดเบือนจนสาวหาต้นตอไม่ได้อีกแล้ว เราจะเห็นว่าร่องรอยดนตรีที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานของ Arca ค่อยๆ จับต้องได้ยากขึ้น ทั้งบีทฮิปฮอป ดนตรีคลาสสิค ไปจนถึงอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ นั่นหมายถึงเสียงของเขาเริ่มกลายพันธุ์หรือวิวัฒนาการไปสู่อะไรที่ใหม่ยิ่งกว่า

หลายคนนิยามซาวด์ของ Arca คือความเป็นเอเลี่ยนต่างมิติ มันมาจากที่อื่น แต่จริงๆ แล้วไม่แน่ว่ามันอาจเริ่มต้นมาจากสิ่งมีชีวิตของโลกใบนี้ แล้วค่อยกลายพันธ์ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่

ในอัลบั้ม Mutant ทำให้เห็นภาพการค่อยๆ กำเนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นได้อย่างงดงาม เสียงที่เราได้ยินตลอดอัลบั้มเป็นบีทที่จังหวะเคลื่อนที่ไปมาแทบไม่มีช่วงหยุดนิ่งหรือเสถียร ซาวด์สังเคราะห์เย็นเยือกฟังดูเหมือนจักรกลโลหะไฟฟ้า บางทีมีเสียงคล้ายกับลมหายใจ และอยู่ดีๆ ก็จะมีเมโลดีประหลาดเปี่ยมด้วยอารมณ์ลอยเข้ามา

เพลงแรกที่ชื่อ Alive บอกเล่าคาแรคเตอร์ของอัลบั้มได้ดีมาก มันเริ่มด้วยการกระตุกของเสียงคล้ายเครื่องจักร คลอด้วยเสียงแอมเบียนท์อารมณ์อ่อนไหว หลังจากนั้นทุกอย่างเริ่มเร็วขึ้น บิดไปมา คล้ายกับภาพเซลล์แตกตัวเวลามองผ่านกล้องจุลทรรศน์ แล้วค่อยๆ ช้าลงแต่ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่เป็นช่วงๆ สามารถรู้สึกตามชื่อเพลงได้เลยว่าสิ่งนี้กำลังจะมีชีวิตขึ้นมา เมื่อลองฟังทั้งอัลบั้มต่อเนื่องกันจะแทบแยกรอยต่อระหว่างเพลงไม่ออก คล้ายกับทั้งอัลบั้มคือการแสดงให้เห็นขั้นตอนการเกิดหรือกลายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่ผสมระหว่างเครื่องจักรกับเนื้อเยื่อ และไม่แน่ว่ามันอาจจะมีหน้าตาเหมือนตัวสีแดงที่เราเห็นบนปกอัลบั้มกับในงานอาร์ตเวิร์คที่ออกแบบโดยเจซซี่ก็เป็นได้

Arca ออกอัลบั้มล่าสุดของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว (2017) ในชื่อว่า Arca ถือว่าเหนือความคาดหมายอยู่ที่ทั้งอัลบั้มเป็นเพลงที่มีเสียงร้องซึ่งร้องโดยเขาเอง มันไม่ใช่แค่การ Sampling เสียงเอามาตัดปะแล้วบิดไปมาอย่างที่เคยทำ แต่เป็นการร้องเพลงจริงๆ ด้วยเนื้อร้องภาษาสเปน งานส่วนดนตรียังคงทดลองบิดเบี้ยว สัดส่วนไหลลื่นไปมาอยู่ แต่ก็ถูกลดทอนให้มินิมอลมากขึ้นส่งให้เสียงร้องเป็นพระเอก มันไม่ใช่การร้องแบบเพลงป๊อปปกติเหมือนที่เขาเคยทำใน Nuuro แต่เหมือนการครวญเพลงสวดจากวงประสานเสียง (Choir) มากกว่า

Arca เผยว่าการใช้เสียงร้องของเขาในอัลบั้มนี้ เหมือนเป็นการกลับไปคุยกับตัวเองตอนเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง ในส่วนของเนื้อเพลงถึงเขาจะบอกว่าอิมโพรไวซ์ซะเยอะ แต่พบว่าเนื้อเพลงทั้งอัลบั้มแทบจะมีธีมเดียวกัน คือการเปลือยอารมณ์โรแมนติกมืดหม่น อย่างเช่นในเพลง Anoche ที่มีท่อนหนึ่งแปลออกมาได้ว่า “เมื่อคืนฉันฝันถึงการตายไปพร้อมกันของเรา ฉันร้องไห้ออกมาอย่างเปี่ยมสุข ความรู้สึกนั้นช่างประหลาด”

ถ้าหาก Mutant คือการกลายพันธุ์ที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ อัลบั้ม Arca ก็คล้ายกับการที่สิ่งมีชีวิตนั้นกลับไปสำรวจและดึงบางอย่างจากต้นตอของตัวเองกลับมาด้วย ส่วนผสมระหว่างเสียงร้องและเนื้อเพลงที่อ่อนไหวกับดนตรีอันบ้าคลั่งทำให้อัลบั้มนี้ผสานทุกอย่างที่เป็นตัวตนของคนทำ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาใช้ชื่อของตัวเองเป็นชื่ออัลบั้ม นอกจากนั้นหลังจากอัลบั้มนี้ถูกปล่อยการแสดงสดของ Arca ก็ยิ่งมีพลังขึ้นด้วยการใช้เสียงร้องของเขา กับลีลาบนเวทีที่เผ็ดร้อนเสมอมา

Arca ยังคงมีผลงานอย่างหลากหลายต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ ทั้งร่วมโปรดิวซ์รวมถึงทำดนตรีใน Utopia อัลบั้มล่าสุดของบียอร์ก ร่วมโปรเจคต์กับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Hood By Air หรือกระทั่งตีความใหม่เพลงของนักดนตรีชาวญี่ปุ่นผู้เป็นตำนานอย่าง ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) ในโปรเจคต์ async Remodels ที่ริวอิจินึกสนุกชวนนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายมาร่วมตีความเพลงจากอัลบั้ม async ของเขาเสียใหม่

และเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา Arca ก็ได้ปล่อยเพลงล่าสุดในชื่อ Fetiche ที่มีความเป็น loop กว่าอัลบั้มก่อนๆ เสียงร้องเพลงเศร้าหายไป ถูกแทนด้วยเสียงหัวเราะหลอนประสาทและเสียงคนพูดไม่เป็นภาษา ทั้งหมดถูกหั่นมาผสมคลุกเคล้าในบีทดนตรีที่มีจังหวะย้ำกว่าเดิม แต่การไหลลื่นของเพลงยังคงมีอยู่ แทรคนี้มาพร้อมกับวิดีโอสุดหลอนอย่างที่เล่าไปตอนต้น

คงจะพูดได้ว่าทุกงานที่เขาปล่อยออกมาเหนือความคาดหมายเสมอ ไม่ว่าจะเวิร์กบ้างหรือไม่เวิร์กบ้างสำหรับผู้ชม แต่ถ้าเราไล่เรียงผลงานที่ผ่านมาโดยตลอดจะเห็นว่าตัวเขาไม่เคยหยุดทดลองกักตัวเองอยู่ในกรอบใดๆ เลย

Arca ได้ทำอย่างที่เขาตั้งใจ คือไม่จัดประเภทหรือจำกัดความตัวเองอย่างตายตัว และในข้อนั้นเขาประสบความสำเร็จอย่างที่สุดแล้ว

ภาพถ่ายประกอบสกู๊ปสัมภาษณ์ในนิตยสาร Dazed

ภาพแฟชั่นประกอบสกู๊ปสัมภาษณ์จากนิตยสาร Another Men

 

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Arca_(musician)
https://en.wikipedia.org/wiki/Jesse_Kanda

https://www.theguardian.com/music/2014/oct/31/arca-bjork-kanye-west
https://pitchfork.com/features/update/9525-arca/
https://pitchfork.com/reviews/albums/19836-arca-xen/

https://pitchfork.com/reviews/albums/21231-arca-mutant/

https://pitchfork.com/reviews/albums/23063-arca/
https://pitchfork.com/news/listen-to-arcas-new-remix-of-ryuichi-sakamotos-song-async/
http://www.dazeddigital.com/music/article/22973/1/arca-xen-master

https://www.youtube.com/watch?v=RmsKkUKturk
https://www.youtube.com/watch?v=3SA8qhEpSTg

Tags: , , , , ,