ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ เป็นผู้ค้นพบการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย (cancer immunotherapy) มีจำนวน 2 คนจาก 2 ประเทศ คือ เจมส์ พี. แอลลิสัน (James Allison) นักวิจัยชาวอเมริกันที่ศูนย์ศึกษาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน มหาวิทยาลัยเท็กซัส และ ทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) แพทย์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต

คณะกรรมการรางวัลโนเบลบอกว่างานของทั้งคู่ “ปฏิวัติการรักษามะเร็ง และเปลี่ยนวิธีที่ทำให้เรามองมะเร็งว่าสามารถจัดการได้อย่างไร”

แอลลิสันศึกษาโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งในระบบภูมิคุ้มกันและศักยภาพของการปล่อยตัวยับยั้งนี้ ส่วนทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) ค้นพบโปรตีนในเซลล์ภูมิคุ้มกันว่ามันสามารถยับยั้งมะเร็งได้ แต่ด้วยกลไกทำงานที่ต่างออกไป

ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อ T-cells ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า T-cells มีตัวยับยั้งและตัวเร่ง ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับผู้บุกรุกและไม่เป็นอันตรายกับเซลล์ในร่างกายได้  ถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้ T-cells ซึ่งมีตัวรับที่สามารถแยกเซลล์ของร่างกาย (self-cell) ออกจาก เซลล์ที่แปลกปลอม (non-self) ได้ รู้ว่าเซลล์มะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะทำให้มีวิธีใหม่ในการรักษามะเร็ง

ช่วงทศวรรษ 1990 แอลลิสันศึกษาตัวรับที่เป็นตัวยับยั้งใน T-cells ที่ชื่อว่า CTLA-4  เขาสงสัยว่าหากเปลี่ยนจากการเพิ่มสมรรถนะของตัวรับ เป็นการปิดกั้น มันจะเกิดอะไรขึ้น T-cells น่าจะแข็งแรงขึ้นและทำลายเซลล์มะเร็งได้ เขาคิดถูก เมื่อทดลองกับหนูแล้วพบว่าได้ผล ตอนแรกอุตสาหกรรมยายังไม่สนใจ แต่แอลลิสันก็ยังไม่หยุดค้นคว้า

ในเวลาเดียวกัน ฮอนโจก็ศึกษา T-cells อีกตัวหนึ่งที่ชื่อ PD-1 แล้วก็พบว่าการปิดกั้นการทำงานของ PD-1 ก็ทำให้ T-cell ทำลายมะเร็งได้เช่นกัน และ PD-1 ยังใช้ได้กับมะเร็งหลายประเภทด้วย

หลังจากเกือบสองทศวรรษ การทดลองทางการแพทย์ในช่วงทศวรรษ 2010 ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าการค้นพบของทั้งคู่ถูกต้อง การรักษาด้วย PD-1 มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งปอด ผิวหนัง การผสมผสานทั้งสองวิธีก็ยิ่งได้ผลมากขึ้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนัง

ปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีนี้เรียกว่าการยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors) ขณะที่วิธีการรักษามะเร็งวิธีอื่นๆ มีผลข้างเคียง แต่ผลข้างเคียงจากการใช้ T-cells จัดการได้

คณะกรรมการตัดสินระบุว่า ทั้งแอลลิสันและฮอนโจ แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการยับยั้งในระบบภูมิคุ้มกันสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้อย่างไร การค้นพบของทั้งคู่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อสู้กับมะเร็ง

 

ที่มา:

 

ที่มาภาพ: Jonathan NACKSTRAND / AFP

Tags: , ,