แข้งขานับร้อยคู่สัญจรพลุกพล่านบนทางม้าลายบนสี่แยกในชินจูกุ แสงไฟแห่งชีวิตหลากสีกระจายแวบแปลบวูบวาบอยู่รอบๆ คั่นก้าวจังหวะของหนุ่มสาวและวัยทำงาน อีกไม่นาน คนที่เดินกระฉับกระเฉงเหล่านี้จะต้องกลายเป็นผู้สูงอายุ
จุดสีเขียวบนไฟจราจรบอกให้คนข้ามกำลังลดลง จาก 5 เหลือ 4 เหลือ 3 จุด
จำนวนประชากรเกิดใหม่ในประเทศลดลง… ลดลง…
ขณะที่อายุของพวกเขาขยับจากเลข 4 ไป 5 ไป 6
และนี่คือญี่ปุ่น ประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ 35% มากเป็นอันดับต้นของโลก
คนสูงวัย ‘รุ่นใหม่’ ที่ดูแลตัวเองได้
หากเราคิดถึงชีวิตสูงวัยในประเทศไทย ภาพจำก็คงเป็นคุณตาคุณยายที่มีหลานๆ รายล้อม ตัวเลือกที่ต่างออกไปคือบ้านพักคนชราอย่างเช่น ‘บ้านบางแค’ สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งแบบสงเคราะห์หรือแบบเช่าอยู่อย่างหอพัก หรือคอนโดทางเลือกเพื่อผู้สูงอายุอย่าง ‘สวางคนิเวศ’ ของสภากาชาดไทยซึ่งขยับออกไปอยู่สมุทรปราการ
เหล่านี้คือที่พักในความดูแลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งที่ผ่านๆ มา ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ดูเหมือนจะถูกจัดให้เป็นบริการสาธารณะเสียส่วนใหญ่
แต่ภูมิทัศน์ธุรกิจตรงนี้เปลี่ยนไป เมื่อการสูงวัยโดยลำพังไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า แต่เป็นเรื่องปกติในสังคมสมัยใหม่ คนไทยทั่วๆ ไปเริ่มตระหนักถึงการใช้ชีวิตสูงวัยอย่างไม่พึ่งพิงลูกหลานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะพวกเขามีทัศนคติไม่ต้องการเป็นภาระ หรือเป็นเพราะประชากรจำนวนมาก ‘เลือก’ ที่จะไม่แต่งงาน หรือไม่มีลูกเสียตั้งแต่ต้น
สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนมาในอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงๆ ขณะที่อัตราผู้สูงอายุมากขึ้น คาดว่าอัตราการเติบโตของจำนวนผู้สูงอายุของไทยก็จะเพิ่มจาก 10% ในปี 2015 ไปสู่ 19% ในปี 2030 จนในที่สุดจำนวนนี้จะเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ ที่ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีผู้ดูแล และสภาวะที่ร่างกายกระฉับกระเฉงก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน เมื่อโรคภัยมาเยือน ลักษณะบ้านแบบเดิมๆ ก็ไม่สนับสนุนให้ใช้ชีวิตได้เต็มที่
ธุรกิจที่อยู่อาศัยซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเองของเอกชน จึงผุดขึ้นมามากมายในปัจจุบัน
AP เล็งกลุ่มใหม่ รองรับ Gen X ในเมืองที่จะพ้นวัยทำงาน
ที่อยู่สำหรับผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่สร้างชุมชนผู้สูงอายุมาอยู่รวมกัน หนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเดิมทีเน้นโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เริ่มมองเห็นตลาดของผู้สูงวัย ‘รุ่นใหม่’ ซึ่งหมายถึงคนทำงานเจเนอเรชัน X ในวันนี้ที่กำลังก้าวสู่วัยเกษียณในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะกลายเป็นกลุ่ม The Young Old ที่มีอายุ 60-75 ปี ผู้ไม่ได้ต้องการย้ายออกไปจากชีวิตในเมือง
“ช่วงเจน X ของคนไทย อายุสักประมาณ 37-57 ปี เป็นประชากรกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คือมีอยู่สัก 32% ของประชากรคนไทยทั้งหมด คนพวกนี้เอง อีกประมาณ 10-15 ปี จะเป็นคนกลุ่มใหญ่มากที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณพร้อมๆ กัน ซึ่งคล้ายๆ กับที่ญี่ปุ่นเจอในช่วงเบบี้บูมเมอร์ หลังจากที่ช่วงหลังสงคราม ซึ่งเขาปั๊มจำนวนประชากรมาเยอะมาก และตอนนี้กำลังกลายเป็นผู้สูงอายุ” วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์กล่าว พร้อมประกาศแนวคิดโครงการคอนโดนำร่องในทำเลสาทร-ตากสิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าวุฒากาศ ในปี 2563
“สำหรับเอพี เซกเมนต์ที่เราสนใจคือกลุ่มที่วันนี้ยังเป็นวัยทำงานอยู่ แต่ในอนาคตอันใกล้ อีก 4-5 ปี คนกลุ่มนี้ต้องพึ่งพาตัวเองในวัยเกษียณมากกว่าเจเนอเรชันก่อนๆ” วิทการกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจความเห็น คนเจเนอเรชัน X ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีความมั่นใจมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ว่าจะดูแลตัวเองได้ในยามชรา ไม่กลัวเทคโนโลยี และมีการวางแผนเพื่อวัยเกษียณมาดีเพราะเห็นบทเรียนจากพ่อแม่ เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และชอบเข้าสังคม กล่าวโดยสรุปคือเป็น active lifestyle ซึ่งโครงการเพื่อผู้สูงอายุอื่นๆ ในปัจจุบันยังไม่ได้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ เพราะมักมีทำเลอยู่ไกลเมือง และแยกเป็นสังคมเอกเทศออกจากเจเนอเรชันอื่น โดยเน้นที่อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งนั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งแรกที่คนเจเนอเรชันนี้ต้องการ
แม้ว่าคอนโดที่เป็นโครงการนำร่องนี้จะมีแนวโน้มในการใช้พื้นที่ผสมผสานกับที่อยู่อาศัยของคนหลายช่วงวัย แต่สำหรับการออกแบบพื้นที่ของผู้สูงวัย มีหลายเรื่องที่คนสร้างบ้านจะต้องเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อนเพื่อนำมาออกแบบให้เหมาะสม
เรียนรู้จากญี่ปุ่น ประเทศที่แก่ก่อนใคร
เทรนด์ที่อยู่อาศัยในสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้วในญี่ปุ่น และกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยนับแต่ปี 2556 เอพีร่วมมือกับกลุ่มมิตซูบิชิเอสเตท (MECG) จากญี่ปุ่น พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ในเขตเมือง ซึ่งก็มีธุรกิจไม่น้อยที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ MECG ในญี่ปุ่น ได้แก่
- Charm Premier Fukasawa เนิร์สซิงโฮมสไตล์แกลเลอรีศิลปะ ที่บริหารจัดการโดย Charm Care Corporation (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
- Wellness Square อาคารที่พักเพื่อผู้สูงวัยในเมืองอัจฉริยะ Fujisawa SST โดย Panasonic Corporation
- Mitsubishi Estate Home (MEH) ธุรกิจรับสร้างบ้านและรีโนเวทที่อยู่อาศัย
- NODA Corporation บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการอยู่อาศัยของผู้สูงวัย
ทั้ง 4 องค์กรนี้ ทำให้เราเห็นมุมมองในการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ไร้สิ่งกีดขวาง ซึ่งในญี่ปุ่นจริงจังถึงขั้นออกเป็นกฎหมาย ‘Barrier Free Law’ ‘(กฎหมายเพื่อการสนับสนุนการเคลื่อนที่และการเข้าถึงอย่างสะดวกสบายของผู้พิการและผู้สูงอายุ) บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2006
เพราะอัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็ว และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมกับชุมชนและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ จึงออกเกณฑ์มาตรฐานในการก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร รวมถึงการขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ เช่น กำหนดพื้นที่ของห้องน้ำ ลักษณะประตู ทางเดิน ขั้นบันได พื้นที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ
เห็นได้จาก Charm Premier Fukasawa เนิร์สซิงโฮมระดับหรูหราที่ใส่ใจตั้งแต่ลักษณะของประตูที่ต้องเป็นบานเลื่อน พื้นที่ราบเรียบต่อกันไม่สะดุดด้วยธรณีประตูและมีราวจับตลอดแนวทางเดิน อ่างอาบน้ำชนิดที่เข็นรถเข็นเข้าไปประกบกับตัวอ่างได้เลยโดยไม่ต้องแบกผู้สูงอายุขึ้น-ลงจากอ่าง
หรือการออกแบบและติดตั้งเครื่องเรือนที่คำนึงถึงผู้สูงอายุของ NODA Corporation ตั้งแต่ตำแหน่งสวิตช์ไฟที่สูงในระดับคนนั่งวีลแชร์กดถึง องศาและความกว้างของประตูที่วีลแชร์สามารถผ่านไปได้ สีของแผ่นไม้กับขั้นบันไดที่ต้องแตกต่างกันจนมองเห็นได้ชัดแม้สายตาฟ้าฟาง ขั้นบันไดที่สูงประมาณ 16 ซม. พอดีระยะก้าว รวมทั้งผิวไม้ที่ไม่ลื่นและมีคุณสมบัติป้องกันแอมโมเนียจากปัสสาวะ เพื่อให้ทำความสะอาดได้สะดวก ทั้งยังมีชั้นวัสดุซับแรงกระแทก หากเกิดการลื่นล้ม
นอกจากการสร้างบรรยากาศการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยแล้ว ผู้สูงวัยในญี่ปุ่น (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) จะได้รับการ์ดที่สามารถนำไปใช้บริการเกี่ยวกับสุขภาพ จำแนกผู้สูงอายุที่มีระดับ ‘การพึ่งพา’ ระดับต่างๆ ออกเป็น 5 ระดับ เพื่อนำไปยื่นใช้บริการเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 10% ส่วนที่เหลือรัฐจะเป็นผู้ออกให้
โครงการนี้เรียกว่าโครงการประกันสุขภาพระยะยาว (LTCI) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2000 เงินที่นำมาสนับสนุนนี้ มาจากการเก็บเงินจากผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปเข้ากองทุนเป็นประจำต่อเนื่อง และอีกส่วนมาจากเงินภาษี นี่เองจึงทำให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงบริการอย่างเนิร์สซิงโฮมหรือเนิร์สซิงแคร์ได้สบายกระเป๋า และผู้ให้บริการนั้นก็มีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน
อีกหนึ่งแนวคิดที่ภาครัฐสนับสนุน คือการกำหนดให้สถานพยาบาล ศูนย์ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ และกลุ่มชุมชนสนับสนุนการใช้ชีวิต มีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน และใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 30 นาที
นโยบายเชื่อมโยง 3 ปัจจัยสำคัญของผู้สูงวัยให้อยู่ห่างกันไม่เกิน 30 นาทีนี้ อาจพอนึกภาพออกเมื่อนึกถึงท้องถนนในญี่ปุ่น ที่แม้จะมีรถติดบ้าง แต่รถราก็ไม่ได้มากมาย และการเคลื่อนที่บนทางเท้าสะดวกและสะอาดพอที่ใครๆ ก็สามารถเดินได้
มากกว่าอาคาร คือเมือง
หลังจากการมาชมตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นแล้ว คงต้องรอดูกันต่อไปว่าโครงการนำร่องของเอพีนั้นจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร วิทการบอกว่ายังต้องศึกษาและออกแบบกันต่อ แต่ในเบื้องต้นจะอยู่บนสามแกนหลักดั้งเดิมของเอพี ได้แก่ Space Maximization – การใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า อยู่สบายในพื้นที่จำกัด Space Connect – โลเคชันที่เชื่อมต่อกับสถานที่โดยรอบ และ Privacy – ความเป็นส่วนตัว
“ทุกวันนี้ที่ดินแพงขึ้น ที่อยู่อาศัยมีขนาดเล็กลง การออกแบบพื้นที่ส่วนกลางคอนโดของเอพี ที่ปกติมีฟิตเนสและสระว่ายน้ำ แต่สำหรับคนสูงวัย เขาต้องการอะไร ฟิตเนสแบบไหน เพื่อใช้งานยังไง เขาอาจจะไม่ได้ต้องการโคเวิร์กกิ้งสเปซ แล้วเขาต้องการอะไรบ้าง ส่วนขนาดห้องก็จะเป็นห้องที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีความจำเป็นของของประตู ห้องน้ำ และสภาพทางเดินในห้อง อีกอย่างคือคนพวกนี้ไม่ได้กลัวเทคโนโลยีอยู่แล้ว เราจะหาเทคโนโลยีอะไรมาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขา”
ในด้านราคา แม้ในวันนี้คอนโดผู้สูงอายุจะถูกมองว่าเป็น ‘luxury product’ แถมผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ล้วนมีราคา วิทการมองว่าสำหรับโครงการของเอพี ก็คงไม่ตั้งราคาที่สูงเกินเอื้อม
อย่างไรก็ดี เขาคาดการณ์ธุรกิจคอนโดในอนาคตว่าจะไม่สามารถออกแบบให้เป็นลักษณะทั่วๆ ไปเพื่อตอบโจทย์ใครก็ได้ “มันจะเป็น specific target มากขึ้น เพราะว่าพฤติกรรมคนมันชัดเจนเจาะจงขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยทำครัวกัน ใช้วิธีสั่งซื้อของมา คำถามคือจำเป็นต้องมีครัวไหม ถ้าประหยัดพื้นที่ครัวตรงนี้ได้ 5 ตารางเมตร คอนโดอาจจะถูกลงสัก 500,000 บาท ซึ่งก็มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเหมือนกัน”
ส่วนความท้าทายในการขายคอนโดผู้สูงอายุให้กลุ่มเป้าหมายเจเนอเรชัน X ในไทยก็คือ พวกเขาอาจไม่ยอมรับว่าตัวเองแก่ และยังอยากอยู่ร่วมกับชุมชนปกติ ขณะที่ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเก่า
“ความยากคือ คนญี่ปุ่นเขายอมรับตัวเองว่าเขาแก่ แล้วก็ไปอยู่กับคนแก่ แต่คนไทยเราไม่ค่อยยอมรับ แล้วบอกว่าให้ไปอยู่บ้านคนชรานี่รับรองเลยไม่มีใครอยู่แน่นอน เราจึงต้องทดสอบก่อนว่าจะเป็นยังไง”
หันมามองบรรยากาศในกรุงเทพฯ สิ่งที่ท้าทายไปกว่าการออกแบบพื้นที่ในอาคาร และอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็คือ เมืองทั้งเมืองจะต้องปรับตัวให้สอดรับกับสังคมสูงวัย เพราะชีวิตคนไม่ได้อยู่แค่ในอาคาร แต่คือการเคลื่อนที่ไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวก นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั้งสังคมคงจะต้องปรับตามเช่นกัน
ที่มาภาพภายในบ้าน MEH: AP Thailand
Tags: Nursing Home, barrier-free design, Charm Care Corporation, MEH, MECG, Ageing Society, NODA Corporation, Japan, Fujisawa SST, AP, Tokyo, AP Thailand