“กระแสคลื่นดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาในห้วงเวลาสี่ห้าปีนี้ ทำให้นิตยสารซึ่งเป็นเสมือนเส้นทางสายเก่าของพวกเรานักอ่านนักเขียนต้องสิ้นสุดลงทีละสายทีละเส้น จนถึงจุดจบอย่างสิ้นเชิงในปีที่ผ่านมา

“ทว่าการจากไปของนิตยสาร ไม่ได้แปลว่าการอ่านการเขียนล่มสลาย และยิ่งไม่สามารถตัดความรักความผูกพันที่นักเขียนและนักอ่านมีต่อกัน

“การยกย้ายนิตยสารแนวนวนิยายจากหน้ากระดาษมาสู่โลกดิจิทัลจึงเกิดขึ้น และในอนาคตยังจะขยายขอบเขตไปสู่กิจกรรมต่างๆ ทั้งการฝึกอบรม การเข้าร่วมรายการ การเดินทางท่องเที่ยว การเผยแพร่เนื้อหาผ่านคลิปวีดีโอและคลิปเสียง ทั้งยังสื่อสารสัมผัสถึงกันได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย”

บางส่วนจากบทบรรณาธิการชิ้นแรกโดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม ที่ทักทายกับผู้อ่านในเว็บไซต์ anowl.co

จากหน้ากระดาษสู่โลกดิจิทัล
การกลับมาของนิตยสารแนวนวนิยาย

ด้วยวิถีการบริโภคข่าวสารของผู้คนที่เปลี่ยนไป เม็ดเงินโฆษณาจากบริษัทต่างๆ จึงทยอยย้ายจากหน้ากระดาษไปยังโลกดิจิทัล ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นิตยสารทุกประเภทจึงต้องปรับตัวและบางส่วนก็ปิดตัวอย่างถาวร รวมไปถึง ‘นิตยสารแนวนวนิยาย’ ชื่อดังเล่มต่างๆ เช่น สกุลไทย พลอยแกมเพชร ขวัญเรือน ฯลฯ ที่แม้จะมีนักอ่านติดตามอย่างเหนียวแน่น ก็หนีไม่พ้นมรสุมการเปลี่ยนแปลงนี้

การยุติบทบาทของนิตยสารเหล่านั้น ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง ‘นักเขียน’ และ ‘นักอ่าน’ อย่างช้าๆ คนเคยผูกพันเริ่มมีระยะห่าง และนานวันก็กลายเป็นช่องว่างที่มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อไม่มีนิตยสารที่คุ้นเคยวางบนแผง อีกทั้งการสื่อสารก็กระจัดกระจาย (แล้วแต่นักเขียนคนไหนสะดวกช่องทางใด) เวลาผ่านไปสักระยะ เสียงเรียกร้องจากนักอ่านต่อการกลับมาของ ‘นิตยสารแนวนวนิยาย’ ก็ดังขึ้นและลอยเข้าสู่การรับรู้ของทั้ง ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ ‘กิ่งฉัตร’ และ ‘พงศกร’ นักเขียนนวนิยายคุณภาพที่ต่างเคยมีผลงานเป็นตอนในนิตยสารเล่มต่างๆ เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กอีกจำนวนไม่น้อย และบางเล่มยังได้รับการต่อยอดไปสู่ละครในจอโทรทัศน์

ด้วยความรักและคิดถึง ทั้งสามคนจึงพูดคุยกันถึงการเริ่มต้นเนื้อหาแบบเดิมๆ ในพื้นที่ใหม่ๆ

เนื่องจากความถนัดหลักคือการเขียนนวนิยาย ทั้งสามคนจึงชักชวนมิตรสหายอีก 5 คนมาร่วมทีม คือ อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ (ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง), สุลวัณ จันทรวรินทร์ (อดีตนักสื่อสารการตลาดในแวดวงไอที), ประพัฒน์ สกุณา (อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร a day BULLETIN LIFE), วสิตา กิจปรีชา (อดีตรองบรรณาธิการนิตยสาร a day BULLETIN) และวรัญญู อินทรกำแหง (บรรณาธิการไลฟ์สไตล์ของ The Standard)

พวกเขาจึงกลายเป็น 8 ผู้ก่อตั้ง และ 8 คณะบรรณาธิการประจำเว็บไซต์ ‘อ่านเอา – anowl.co’ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ ‘นักเขียน’ และ ‘นักอ่าน’ ของ ‘นิตยสารแนวนวนิยาย’ ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง

2 เมษายน 2561 งานเปิดตัวเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงหนังสือมาให้กำลังใจอย่างคับคั่ง รวมไปถึงนักอ่านอีกจำนวนไม่น้อยที่มาแสดงความยินดีกับพื้นที่แห่งใหม่

วันนั้น ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ เล่าถึงความแตกต่างของ ‘อ่านเอา’ จากแพลตฟอร์มอ่านนวนิยายออนไลน์ในท้องตลาดว่า เว็บไซต์เหล่านั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเผยแพร่งานของตัวเอง ปล่อยให้พฤติกรรมคนอ่านมากำหนดความน่าสนใจของเนื้อหา ขณะที่นวนิยายและงานประเภทต่างๆ ของ ‘อ่านเอา’ จะใช้กระบวนการแบบเดียวกันนิตยสารในสมัยก่อน นั่นคือมี ‘บรรณาธิการ’ มาทำหน้าที่คัดกรองต้นฉบับ เพื่อให้งานมีคุณภาพตามมาตรฐานในแบบของ ‘อ่านเอา’

‘อ่านเอา’ จะใช้กระบวนการแบบเดียวกันนิตยสารในสมัยก่อน นั่นคือมี ‘บรรณาธิการ’ มาทำหน้าที่คัดกรองต้นฉบับ เพื่อให้งานมีคุณภาพตามมาตรฐานในแบบของ ‘อ่านเอา’

“ไม่ได้บอกว่าเว็บเหล่านั้นไม่ดีนะ เราเพียงอยากสร้างทางเลือกให้กับผู้อ่าน” เธอพูดถึงความแตกต่าง “ถ้าคุณเข้ามาที่นี่ ทุกๆ เรื่องได้รับการคัดสรร ปรู๊ฟตัวอักษร มีรสชาติที่เหมาะสม เข้ามาแล้วอ่านได้เลย สมัยที่นวนิยายของตัวเองได้ลงสกุลไทยเมื่อปีนู้น (หัวเราะ) นานแล้วล่ะ การผ่านบรรณาธิการคือการรับประกันว่า งานดี-มีฝีมือ บรรณาธิการเป็นเหมือนโค้ชคอยดูแลงานและประคับประคองไปตลอดทาง

“คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ (อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย) บรรณาธิการคนสำคัญตลอดการเขียนของตัวเอง ท่านเป็นเหมือนครู เหมือนญาติผู้ใหญ่เลย ครั้งนึงเคยพูดไว้ว่า ‘นิตยสารหนึ่งเล่มเหมือนกับข้าวหนึ่งสำรับ มีทั้งต้ม ผัด แกง ทอด เป็นอาหารที่ผ่านการปรุงและเลือกมาอย่างครบรส’ เราต้องการให้ ‘อ่านเอา’ เป็นแบบนั้น นักอ่านไม่ต้องออกแรงกระโดดลงทะเลคอนเทนต์แล้วงมหาด้วยตัวเอง”

ขณะที่นายแพทย์เจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ พูดถึงเนื้อหาที่เป็นหัวใจของเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ ว่าจะมีนวนิยายจากรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ที่ล้วนเป็นนักเขียนคุณภาพที่มีนักอ่านติดตามอยู่ไม่น้อย เช่น มาลา คำจันทร์, ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร, พงศกร, ปราปต์, ภัสรสา, ทอม สิริ, ปองวุฒิ รุจิระชาคร, กานต์ และนาคเหรา ด้วยเห็นถึงความตั้งใจและอยากสนับสนุน นักเขียนทุกคนจึงส่งนวนิยายเรื่องใหม่มาเผยแพร่โดยไม่คิดค่าต้นฉบับ ถือเป็นการแบ่งเบาต้นทุนในช่วงเริ่มต้น อีกทั้งเป็นกำลังใจอย่างดีให้กับทีมงาน

“เราได้รับเกียรติจากอาจารย์มาลา คำจันทร์ (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2556 และนักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2534) พออาจารย์ทราบว่าพวกเราทำตรงนี้ ก็ให้ต้นฉบับมาโดยไม่คิดเงิน ตอนถามอาจารย์ว่า ‘ค่าต้นฉบับจะยังไงดีครับ’ อาจารย์บอกว่า ‘ถามแบบนี้ดูถูกกันมาก เอาไปได้เลย’ และยังมีนักเขียนอีกหลายคนที่ให้ต้นฉบับมาโดยไม่คิดเงิน เราสัญญาไปว่าจะทำการบ้านเรื่องรายได้ต่างๆ โดยบอกกับทุกคนว่า ถ้าวันนึงรวยขึ้นมาจะไม่ลืมพวกคุณเลย” เขาเล่าถึงแรงสนับสนุนพร้อมเสียงหัวเราะ

ทางฟาก ‘กิ่งฉัตร’ ก็ตอบข้อสงสัยเรื่องรูปแบบการเผยแพร่นวนิยายทุกๆ เรื่องไว้ว่า “นวนิยายทุกเรื่องที่ลงใน ‘อ่านเอา’ เมื่อจบแล้วจะมีการรวมเล่มเป็นปกติ อาจกระจายไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งของตัวเองและที่ทำงานด้วยกัน วิธีการเหมือนกับสมัยก่อนเลยนะ เราส่งไปลงทีละตอน พอจบก็เอามารวมเล่ม ลิขสิทธิ์เป็นของนักเขียนโดยตรง นักอ่านที่ไม่ได้อ่านในเว็บไซต์ก็สามารถรอรวมเป็นเล่มได้”

นอกจาก ‘นวนิยาย’ ที่ถือเป็นหัวใจของ ‘อ่านเอา’ ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่ทยอยลงให้อ่านกันอีกมากมาย เช่น อ่านอร่อย-รายการทำอาหารที่หยิบเมนูเด่นจากนวนิยายชื่อดังมาทำ รายการ Podcast ที่ให้สาระความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับนวนิยายและการเขียน คอลัมน์ปกิณกะต่างๆ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเขียนและนักอ่านมาพบปะกัน

เริ่มนับหนึ่งด้วยความรัก
และการอยู่รอดในโลกความจริง

2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น

หลังจากแนะนำตัวเองผ่านเฟซบุ๊กมาสักระยะ เว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ (anowl.co) ก็เปิดตัวสู่สาธารณะตามวันและเวลาที่แจ้งไว้ แต่เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น เว็บไซต์ที่นิยามตัวเองเป็น ‘นิตยสารแนวนวนิยายในโลกดิจิทัล’ ก็เข้าไม่ได้ จนทีมงานต้องเร่งทำงานหลังบ้านกันอย่างจ้าละหวั่น ทั้งที่ประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือไว้แล้ว แต่คนสนใจมีมากกว่าที่คิดไว้ จนขนาดของเซิร์ฟเวอร์เดิมไม่สามารถรับมือไหวและต้องย้ายไปแห่งใหม่ที่ขนาดใหญ่กว่าเดิมในทันที

จากจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ anowl.co จนระบบล่มภายในไม่กี่นาที บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ‘นักอ่าน’ ที่ติดตาม ‘นักเขียน’ และคิดถึง ‘นวนิยาย’ รสชาติคุ้นเคยมีจำนวนไม่น้อยเลย

เมื่อเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ (anowl.co) กลับมาใช้งานได้ตามปกติ หากเปิดเข้าไป คุณจะพบกับปกสีฉูดฉาดและลายเส้นละเมียดของนวนิยายคุณภาพทั้ง 10 เรื่องที่จะทยอยลงทีละตอนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงคอลัมน์อื่นๆ ที่กำลังตามมา โดยทีมงานตั้งใจเปิดให้เนื้อหาเหล่านั้นเป็น ‘ฟรีคอนเทนต์’ ที่ผู้สนใจสามารถเข้ามาอ่านได้โดยไม่เสียเงินเลย

“เราไม่อยากรบกวนคนอ่าน หรือรบกวนให้น้อยที่สุด” ก่อนงานเปิดตัวเริ่มต้น ผมได้ยิน ‘กิ่งฉัตร’ พูดกับเพื่อนนักเขียนแบบนั้น ซึ่งเป็นคำพูดเดียวกับที่ทีมงานคนอื่นๆ พูดไว้เช่นกัน

วสิตา กิจปรีชา เล่าให้ฟังว่า ในทางเทคนิคการทำเว็บไซต์ที่มีระบบเก็บเงินมีความซับซ้อน ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูง ด้วยทีมงานอยากสร้างพื้นที่แห่งใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป รบกวนคนอ่านให้น้อยที่สุด การเริ่มต้นด้วยโมเดลเดียวกับเว็บคอนเทนต์อื่นๆ ในท้องตลาดอย่าง ‘การขายโฆษณา’ น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะที่สุด อย่างน้อยก็ในระยะเริ่มต้น  

“เรามองว่าการคุยกับผู้สนับสนุนรายใหญ่ไม่กี่เจ้าแล้วได้เงินก้อนมา ช่วงแรกๆ น่าจะง่ายกว่าหาผู้สนับสนุนรายย่อย (นักอ่าน) เปิดตัวมาไม่นานก็เห็นแล้วว่ากลุ่มคนอ่านที่ใหญ่มากคือกลุ่มผู้สูงอายุ พวกเขารอคอยพื้นที่แบบนี้ ตอนเว็บไซต์ล่มมีผู้หญิงอายุ 70 โทรมาถามวิธีเข้าเว็บ ในคอมเมนต์ก็เห็นได้ชัดว่าคนแบบนี้เยอะเลย กลุ่มคนที่โดนละทิ้งหลังการเข้ามาของเทคโนโลยี เราอยากจับกลุ่มเป้าหมายนี้ ถ้าทำไปสักพักแล้วมีฐานข้อมูล เราค่อยทำแพ็กเกจไปคุยกับลูกค้า แต่ในอีกมุมนึง คุณป้าที่โทรมาก็บอกว่า ‘ป้าจ่ายเงินได้นะ’ ซึ่งหลายคนก็พูดแบบเดียวกัน ผ่านไปสักระยะต้องมาดูกันอีกที”

เมื่อพูดถึงกลุ่มคนอ่านของเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ วรัญญู อินทรกำแหง พูดเสริมด้วยน้ำเสียงมีความสุขว่า “เราไม่ได้อยู่ในแวดวงนิยายมาก่อน เปิดเพจได้ไม่ถึงเดือน เราเห็นแต่คอมเมนต์ Positive Energy เป็นชุมชนนักอ่านที่ดีมาก วันแรกที่เว็บล่ม ทุกคนมาให้กำลังใจ เป็นแรงสนับสนุนที่ดีมาก แล้วโพสต์ในเพจเป็นแบบออร์แกนิกล้วนๆ ด้วยนะ”

เมื่อถามว่าในอนาคตอยากเห็นเว็บไซต์ ‘อ่านเอา’ มีหน้าตาเป็นยังไง ทั้งคำพูดของนักเขียนนวนิยายรุ่นใหญ่บนเวทีที่งานเปิดตัว และทีมงานคนอื่นๆ ต่างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการใช้ ‘นวนิยาย’ มาเป็นหัวใจหลักแล้วต่อยอดแตกกิ่งรูปแบบเนื้อหาออกไป

นั่นหมายถึง ‘ชุมชน’ ที่มีความสัมพันธ์ของ ‘นักเขียน’ และ ‘นักอ่าน’ อย่างใกล้ชิดและอบอุ่น

“อ่านเอาไม่ได้เริ่มจากความคิดว่า ทำอันนี้แล้วจะได้เงินเท่าไร แต่เริ่มจาก ทำอันนี้ไหม แล้วคิดว่าทำยังไงให้คนอ่านชอบ หลังจากนั้นค่อยคิดเรื่องหาเงิน” ประพัฒน์ สกุณา พูดถึงแพสชันร่วมกันของทีมงานทุกคนตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นมากๆ ต่อไปเราอยากทำอะไรหลายๆ อย่างมากกว่าเนื้อหาที่อ่านในเว็บ เช่น รายการทีวี พอดแคสต์ อีเวนต์ ไปจนถึงเวิร์กช็อปสอนการเขียน อยากให้ ‘อ่านเอา’ เป็นคอนมูนิตี้ที่คนอ่านและคนเขียนมาเจอกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ในแง่ธุรกิจก็แตกไลน์หลายอย่างได้ และในแง่คอมมูนิตี้ก็ชัดเจน นิยายคือหัวใจที่ใช้ขยายไปในหลายๆ รูปแบบ”

หากเทียบกับอายุของ ‘นิตยสารแนวนวนิยาย’ ที่เพิ่งทยอยปิดตัวไป เว็บไซต์ anowl.co ถือว่ายังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่จากเสียงตอบรับในช่องทางต่างๆ จุดเริ่มต้นนี้ดูมีความหวังทีเดียว และด้วยความรัก ประสบการณ์ และความสามารถของทีมงานทุกๆ คน แนวโน้มที่พื้นที่แห่งใหม่จะลงหลักปักฐานดูไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง

 

  • เว็บไซต์ : anowl.co
  • เฟซบุ๊ก :  อ่านเอา – anowl.co
  • ทวิตเตอร์ : @anowldotco
  • อินสตาแกรม : Anowl.co
  • อีเมล : [email protected]
Tags: , ,