อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและสตรีผู้ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลก ส่งไม้ต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี (CDU) ให้แก่ อันเนอเกรต ครัมป์-คาร์เรินเบาเออร์ (Annegret Kramp-Karrenbauer) สตรีวัย 56 ปีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบทอดทางความคิดของอังเกลา แมร์เคิล จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘มินิแมร์เคิล’

หลังจากเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อังเกลา แมร์เคิล ประกาศถอยจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค CDU ที่เธอดำรงตำแหน่งนี้มานาน 18 ปี ทำให้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมาจึงมีการเลือกตั้งประธานพรรคคนใหม่ ผลออกมา ปรากฏว่า อันเนอเกรต ครัมป์-คาร์เรินเบาเออร์ หรือชื่อย่อว่า เอเคเค ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ให้เป็นประธานพรรคคนใหม่

ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศในอนาคตในฐานะนายกรัฐมนตรี หากพรรคชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งเอเคเค ได้รับคะแนนเสียง 517 คะแนนจากทั้งหมด 999 คะแนน ชนะ 482 คะแนนของฟรีดริช แมร์ซ (Friedrich Merz) คู่แข่งที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกับแมร์เคิลไปได้อย่างเฉียดฉิวในการลงคะแนนรอบสอง โดยที่เจนส์ สปาห์น (Jens Spahn) ผู้สมัครวัย 38 ปีถูกคัดออกไปในรอบแรก

การเลือกหัวหน้าพรรคใช้วิธีลงคะแนนลับโดยตัวแทนของพรรคที่เป็นนายกเทศมนตรีในรัฐต่างๆ สมาชิกรัฐสภา และตัวแทนเทศบาล 1,001 คน กติกามีอยู่ว่า ถ้าไม่มีคนได้คะแนนเกิน 50% ในรอบแรก จะต้องมีการโหวตอีกรอบ โดยคัดเฉพาะคนที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองอันดับแรก

ในสุนทรพจน์ต่อสมาชิกพรรคก่อนการลงคะแนน ครัมป์-คาร์เรินเบาเออร์ ย้อนอดีตถึงเหตุผลที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค CDU ในช่วงทศวรรษ 1980 ว่า ในความคิดของเธอตอนนั้น พรรคนี้เป็นพรรคเดียวที่เสนอทางเลือกที่เป็นกลุ่มการเมืองสายกลาง (centrist) ในช่วงเวลาที่โลกสิ้นหวัง เช่น มีสงครามนิวเคลียร์ เธอบอกว่า “เป็นพรรคที่ไม่ได้มองทุกอย่างในแง่ลบ และดึงคนจากทุกกลุ่มการเมืองให้มาอยู่ตรงกลาง” คำพูดเช่นนี้เพื่อสื่อความว่าพรรค CDU จะใช้แนวทางสายกลางในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น การเติบโตขึ้นของกลุ่มประชานิยมขวาจัดและการฟื้นคืนชีพของชาตินิยม

เธอยังบอกด้วยว่า คนมักมองเธอเป็น ‘มินิแมร์เคิล’ เพราะมีหลายอย่างที่เหมือนกัน “แต่ฉันบอกคุณได้ว่า ฉันยืนอยู่ตรงนี้ในฐานะที่เป็นตัวฉันเอง”

ครัมป์-คาร์เรินเบาเออร์เป็นสมาชิกพรรคมานานกว่า 30 ปี เคยเป็นรัฐมนตรีด้านกิจการภายในและเป็นนายกเทศมนตรีรัฐซาร์ลันท์นาน 6 ปี และเป็นเลขาธิการพรรคมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอมีแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากการนับถือคาทอลิกในประเด็นทางสังคมต่างๆ รวมทั้งการคัดค้านการแต่งงานของเพศเดียวกัน อย่kงไรก็ตาม เธอมีความโดดเด่นด้านสิทธิสตรี ขณะที่ทำงานการเมืองพร้อมกับเลี้ยงลูกสามคนไปด้วย ในรัฐซาร์ลันท์ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นรัฐที่มั่งคั่งจากเหมืองถ่านหิน เธอมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องการคุ้มครองแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ผลการโหวตที่เฉือนกันอย่างหวุดหวิดก็สะท้อนให้เห็นความแตกแยกภายในพรรคที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในพรรคเป็นงานที่ท้าทายสำหรับครัมป์-คาร์เรินเบาเออร์ เธอบอกหลังจากทราบผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคว่า “การแข่งขันครั้งนี้ทำให้พรรคอื่นๆ อิจฉาพวกเรา เป็นการแข่งขันด้วยความเป็นธรรม ฉันจะยินดีมาก ถ้าคู่แข่งทั้งสองคนทำงานร่วมกันในภายภาคหน้า”

ส่วนแมร์เคิลจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีต่อไปจนหมดวาระในปลายปี 2021 ก่อนการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ แมร์เคิลใช้โอกาสนี้กล่าวสุนทรพจน์นาน 30 นาที เธอเรียกร้องให้พรรคร่วมมือทำงานและแสดงให้เห็นว่าเยอรมนีสามารถนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาสำคัญที่มีทั้งสงคราม การก่อการร้าย และภาวะโลกร้อนไปได้ แมร์เคิลยังกล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่พรรค CDU จะยังยึดหลักการหลักของพรรค แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังคงเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและคิดถึงอนาคต แทนที่จะเป็นอดีต

เธอยอมรับว่าบางครั้งก็เป็นผู้นำที่โกรธเกรี้ยวที่นำไปสู่การไขว้เขวต่อการตัดสินใจในนาทีสุดท้าย และตอนนี้ถึงเวลาที่พรรคจะเริ่มบทใหม่แล้ว “ตอนนี้เป็นเวลาเปิดบทใหม่ ด้วยการนำใหม่ ขณะนี้ฉันท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ ฉันรู้สึกยินดีอย่างยิ่งและเป็นเกียรติสำหรับฉัน อนาคตจะทดสอบคุณค่าของพวกเรา เราต้องทำงานอย่างสนุกสนาน” แมร์เคิลจบสุนทรพจน์ด้วยการค้อมรับเสียงปรบมือจากสมาชิกพรรค

 

ที่มา:

ที่มาภาพ: ODD ANDERSEN / AFP

Tags: