“Advice RICE” ผมบันทึกลงในเวชระเบียนเป็นประโยคสุดท้าย ซึ่งหมายถึงผมได้แนะนำวิธี R-I-C-E ให้กับคนไข้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่เป็นคำอธิบายทีละข้อๆ เป็นภาษาไทย เพราะถูกสอนมาตลอดว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งที่เมื่อมาไตร่ตรองดูอีกครั้งแล้ว สำหรับคนไข้วัยรุ่นถึงวัยกลางคน การบอกคำย่อภาษาอังกฤษไปน่าจะช่วยให้คนไข้พกติดหูกลับบ้านไปได้สะดวกกว่า ในเมื่อยังไม่มีวิธีช่วยจำเป็นภาษาไทย
R-I-C-E เป็นคำแนะนำให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดบวมฟกช้ำ ไม่ว่าจะได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น วิ่งเร็วจนเอ็นเข่าอักเสบ หรืออุบัติเหตุ เช่น เดินสะดุดข้อเท้าพลิกบวมมาก หรือแม้กระทั่งถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ถูกต่อยเข้าที่หน้าบวมโนเป็นลูกมะนาว เพราะในขณะนั้น เนื้อเยื่อได้รับแรงกระแทกทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้ผิวหนัง หรือเอ็นกล้ามเนื้อถูกยืดเกินขีดจำกัดจนเกิดการอักเสบ
จึงต้องได้รับการดูแลให้ลดอาการบวม นอกเหนือไปจากการกินยาแก้ปวดแก้อักเสบ โดยที่
R ตัวแรก ย่อมาจาก rest – พัก คือการหยุดใช้ร่างกายในส่วนนั้นชั่วคราว จนกว่าอาการปวดบวมจะลดลง เช่น การสวมที่คล้องแขน (arm sling) สำหรับอาการปวดบวมที่หัวไหล่ แขนส่วนบนส่วนล่าง และข้อศอก เพื่อไม่ให้มีการขยับของท่อนแขน การใช้ไม้ค้ำยัน (crutches) สำหรับอาการปวดบวมของเข่า ขา และข้อเท้า แทนการลงน้ำหนักลงผ่านท่อนขาโดยตรง
พอไม่ขยับส่วนที่บาดเจ็บ อาการปวดก็จะลดลงไปด้วย
ตัวต่อมาคือ I แทนคำว่า ice – น้ำแข็ง หมายถึงการใช้ความเย็น (cryotherapy) ตรงจุดที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการประคบด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง เจลประคบเย็น หรือการจุ่มแช่ในน้ำเย็น นานประมาณ 15-20 นาที ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ภายใน 48 ชั่วโมงแรก หรือจนกว่าจะยุบบวม ขึ้นอยู่กับว่าเวลาหรืออาการจะถึงก่อนกัน
วิธีนี้ทุกคนน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว ช่วยห้ามเลือดที่กำลังรั่วออกมาในชั้นเนื้อเยื่อ คล้ายใช้กับการบีบสายยางไม่ให้น้ำไหลออกมา แต่ควรทำภายในวันแรกๆ ของการบาดเจ็บเท่านั้น หลังจากนั้นให้ประคบอุ่นเพื่อให้เลือดไหลเวียนนำของเสียออกไป และนำสารอาหารมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดฝอยหดตัว ช่วยห้ามเลือดที่กำลังรั่วออกมาในชั้นเนื้อเยื่อ แต่ควรทำภายในวันแรกๆ ของการบาดเจ็บเท่านั้น
ตัวที่ 3 คือ C ขึ้นต้นคำว่า compression – รัด เพื่อกดส่วนที่บาดเจ็บไว้ไม่ให้อาการบวมขยายใหญ่ขึ้น เช่น การใช้ผ้ายืด (elastic bandage) พันรอบข้อเท้าที่พลิกจนบวมเป่งไว้ในช่วงแรก อย่างที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นคนใกล้ชิดได้รับการพันผ้าสีครีมออกมาจากโรงพยาบาลหรืออาจมีประสบการณ์ส่วนตัวมาแล้ว ส่วนตัวผมยังไม่เคยพันให้ตัวเองเลย จะมีก็แต่ตอน ม.ปลาย จำได้ว่าคุณครูเคยสอนและสอบการพันผ้ายืดตรงข้อมือกับข้อเท้าในคาบเรียนสุขศึกษา (ตรงข้อมือต้องให้คนอื่นพันให้) ไม่รู้ว่าโรงเรียนอื่นมีการเรียนการสอนเหมือนกันหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ก็อาจไม่มีใครจำขั้นตอนการพันได้ เพราะไม่ได้ใช้เลยตั้งแต่เรียนจบมา ก็สามารถค้นหาจากวิธีการอย่างละเอียดจากกูเกิลหรือคลิปสอนจากยูทูบได้
นอกจากนี้การพันผ้ายืดยังเป็นเครื่องคอยเตือนไม่ให้เราขยับส่วนที่บาดเจ็บมากเกินไป หรือบางครั้งก็ขยับได้ยาก จึงถือเป็นการพักไปในตัว
สุดท้าย E หรือคำเต็มว่า elevate – ยก โดยยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับของหัวใจ ใช้แรงโน้มถ่วงของโลกดึงเลือดที่รั่วออกไปอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อไหลกลับเข้าหัวใจ และลดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจไปยังบริเวณที่บาดเจ็บลง โดยเฉพาะเวลานอนที่ทุกส่วนของร่างกายจะอยู่ใระดับเดียวกันหมด เช่น ตั้งแขนขึ้นหรือพิงแขนไว้กับหมอนข้าง พับผ้าหรือใช้หมอนหนุนข้อเท้าให้สูงขึ้น เป็นต้น
อาการปวดบวมฟกช้ำควรจะดีขึ้นภายในสองสามวัน เมื่อนั้นจึงค่อยๆ เริ่มขยับส่วนที่บาดเจ็บจนกระทั่งกลับมาใช้งานตามปกติในอีก 3-5 วันถัดมา เช่น ข้อเท้าพลิกก็ควรจิกเท้า กระดกข้อเท้า และหมุนข้อเท้าเป็นวงกลมสลับกันไปเท่าที่จะทำได้โดยไม่ปวด เพราะหากไม่เคลื่อนไหวเลยจะส่งผลให้ข้อติดได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ก็ควรมาโรงพยาบาล เพื่อให้หมอตรวจหรือประเมินการบาดเจ็บซ้ำอีกครั้ง
R-I-C-E จำเป็นภาษาอังกฤษไม่ยากใช่มั้ยครับ และปฏิบัติเองที่บ้านได้ง่ายมากเช่นกัน ส่วนถ้าจะมีผู้อ่านคนไหนช่วยผมคิดวิธีช่วยจำเป็นภาษาไทยก็ยินดีครับ
(เท่าที่ผมคิดออกตอนนี้ คือ “4 ย.” หยุด-เย็น-ย่อ-ยก)
แหล่งข้อมูล
https://www.uptodate.com/contents/ankle-sprain
Tags: สุขภาพ, การออกกำลังกาย, บาดเจ็บ