ช้างไทยอาจเป็นสัตว์ที่น่าสงสารที่สุดก็ว่าได้ ไม่ว่าจะถูกผลักไปอยู่ในบริบทไหนดูเหมือนจะกลายเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก เพราะย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน ความเจริญที่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเคยเป็นบ้านหลังใหญ่ของช้างไทย จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง อย่างการบุกรุกพื้นที่ทำกินของเกษตรกร นอกจากนี้ เรายังเผชิญกับปัญหาช้างเร่ร่อน ที่ควาญช้างพาเข้ามาหากินในเขตเมือง จนกทม.ต้องออกกฎหมายไม่ให้มีช้างเร่ร่อนเข้ามาในเมือง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ช้างไทยทุกวันนี้ย้ายมาสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว เป็นสัตว์ที่สร้างความสุขให้กับนักท่องเที่ยวตามปางช้างต่างๆ และเป็นรายได้หลักของควาญช้าง หากแต่มีคำถามตัวโตว่า คุณภาพชีวิตของช้างในปางช้างเหล่านี้ดีเพียงพอแค่ไหน

ช้าง 11 เชือกกินบุฟเฟต์ผลไม้

13 มีนาคมของทุกปี เป็นวันช้างไทย เช้าวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท โดยมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ ก็จัดกิจกรรมวันช้างไทย นำหมอช้างจากจังหวัดสุรินทร์มาประกอบพิธีบวงสรวงหนังควายอายุกว่า 200 ปี ซึ่งใช้จับช้างในอดีตตามความเชื่อ จากนั้นนำช้าง 11 เชือกมากินบุฟเฟต์ผลไม้

นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของช้างภายใต้การดูแลของมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ ผ่านคำบอกเล่าของผู้ดูแลแคมป์ช้าง ผ่านการเดินเคียงข้างช้างตามฐานต่างๆ เช่น ฐานเล่นน้ำ การฝึกช้าง งานวิจัย และการนวดผ่อนคลายช้าง

หมอช้างทำพิธีตามความเชื่อ

จากซื้อขายสู่ระบบเช่าช้าง

มูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation : GTAEF) ก่อตั้งในปี 2549 โดยกลุ่มโรงแรมอนันตรา เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างในประเทศไทยและแถบเอเชีย โดยมีจอห์น โรเบิร์ตส ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์ เป็นผู้อำนวยการแคมป์ช้าง และลัดดาวัลย์ ยลธรรธรรม เป็นผู้จัดการแคมป์ช้าง

ในระยะแรกของการก่อตั้งมูลนิธิ ยังเป็นช่วงที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมช้างเร่ร่อน และการลดจำนวนช้างบนท้องถนน ทำให้มูลนิธิใช้วิธีการซื้อช้างแล้วนำกลับมาดูแลที่อนันตรา แคมป์ช้าง ซึ่งมีพื้นที่ธรรมชาติให้ช้างกว่าร้อยไร่ มีทีมสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล

แต่ปัญหาที่พบของการซื้อช้างคือ เมื่อควาญช้างขายช้างได้แล้ว ก็จะไปหาช้างตัวใหม่แล้วนำออกไปเร่ร่อน หรือไม่ก็นำมาขายให้กับมูลนิธิอีกเช่นเคย กลายเป็นวงจรแบบนี้ไปไม่รู้จบ ทำให้มูลนิธิตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบความช่วยเหลือช้างมาเป็นระบบเช่าช้าง โดยเป็นการจ้างงานควาญช้าง ให้นำช้างและครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่แคมป์ช้าง มีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน สวัสดิการรักษาพยาบาล และการศึกษาแก่ครอบครัวที่มีบุตร ซึ่งจะทำให้ควาญช้างไม่จำเป็นต้องเร่ร่อนหาเงินอีกต่อไป

“สมัยก่อน แคมป์ช้างใช้คอนเซปต์ซื้อขายช้างจากควาญช้างเพื่อนำมาเลี้ยงดู แต่ปัญหาที่พบคือ ควาญช้างมักไปหาช้างตัวใหม่จากในป่า และนำมาขายให้แคมป์ช้างเป็นวงจรแบบนี้ต่อเนื่อง ทำให้อนันตรา แคมป์ช้างจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการรับซื้อมาเป็นเช่าช้าง คือควาญช้างสามารถนำช้างมาอยู่ที่แคมป์ได้ โดยทางเรามีที่อยู่ เสื้อผ้า และอาหารให้ฟรี พร้อมเงินเดือนจำนวนหนึ่ง” อุ๊-ลัดดาวัลย์ ยลธรรธรรม ผู้จัดการแคมป์ช้าง เล่าถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิ

“แรกๆ ไปเดินแถวสุขุมวิท ไปหาควาญช้าง ขายไอเดีย แต่เขาไม่เห็นภาพ พอมีกฎหมายเกี่ยวกับช้างเร่ร่อน บางเชือกที่เคยอยู่กรุงเทพฯ ก็ย้ายไปอยู่พัทยา ก่อนจะย้ายมาอยู่กับเรา เคยมีมากสุดถึง 45 เชื่อก เพราะที่นี่ใช้ชีวิตเรียบๆ สบายๆ เรามีอาหารให้ช้างกิน และมีเงินเดือนให้ควาญช้าง”

ปัจจุบันจำนวนช้างในอนันตรา แคมป์ช้าง อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟน เหลืออยู่แค่ 25 เชือก ส่วนใหญ่เป็นช้างจากสุรินทร์ และบางส่วนจากเชียงใหม่และเชียงราย

“เราจะกักบริเวณช้างเพื่อตรวจโรค 1-2 เดือนค่อยปล่อยให้ออกมาเดินเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ เพราะถ้าช้างไม่ถูกกันแล้วตีกันจะเป็นเรื่องใหญ่” อุ๊-ลัดดาวัลย์ อธิบาย

ช้างมักจะชอบเอาดินโยนใส่ตัว เป็นพฤติกรรมของช้างที่พบเห็นได้ทั่วไป

ไม่ใช่การล่างาช้าง แต่คือการสูญเสียพื้นที่ป่า

จำนวนช้างในประเทศไทยพบว่ามีช้างบ้านประมาณ 4,200 เชือก และช้างป่าอยู่ราวๆ 3,000-3,500 เชือก  ขณะที่สถานการณ์ช้างทั้งสองประเภทแตกต่างกัน ปัญหาของช้างบ้านคือขาดการดูแลที่เหมาะสม และการอาศัยอยู่ในแคมป์ช้างที่ไม่ได้คุณภาพ

ส่วนช้างป่า มีความเข้าใจผิดของคนไทยในแง่ว่าปัญหาใหญ่ไม่ใช่เรื่องการล่างาช้าง เนื่องจากงาช้างยาวๆ จะมีในช้างเพศผู้เท่านั้น แต่ปัญหาหลักจริงๆ คือการสูญเสียพื้นที่ป่า กลายเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกร จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง

“ยกตัวอย่างที่เขาใหญ่ทำถนนตัดผ่าน แม้ความเจริญจะดี แต่ถ้าเข้าใกล้พื้นที่ป่ามากเกินไปก็ไม่ดี เพราะอาจเป็นพื้นที่ที่ช้างเคยอาศัยอยู่ แล้วปกติช้างจะเดินวนหาแหล่งอาหารตามฤดูกาล เมื่อวันหนึ่งเดินกลับมาที่เดิมพบว่ากลายเป็นหมู่บ้าน หรือพื้นที่ไร่สวน ช้างก็จะคิดว่าปลูกมาเพื่อให้กินแน่เลย ก็เข้าไปบุกรุก ทำให้เกษตรกรโกรธ จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง บางคนล้อมรั้วไฟฟ้า จนมีเหตุการณ์ช้างตายเพราะโดนไฟฟ้าช๊อตตาย”

ข้างลงเล่นแม่น้ำรวก ซึ่งอีกด้านเป็นพม่า

ยกระดับความเป็นอยู่ช้าง มากกว่าขยายพันธุ์

อนันตราแคมป์ช้าง เชียงราย โดยมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ มีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของช้างมากกว่าที่จะขยายพันธุ์ช้าง โดยมีพื้นที่ป่านับร้อยไร่ให้ช้างได้เดินและหากิน เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย สร้างความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของช้าง และมีงานทำถูกต้องตามจริยธรรม

“ที่นี่เราพยายามให้ช้างอยู่ในพื้นที่สีเขียว มีป่า แม่น้ำให้ลงเล่น อาหารให้กิน ซึ่งปกติ เรามีหญ้าส่งให้ช้างกินวันละ 160 กิโลกรัมต่อเชือก มีอ้อย อาทิตย์ละ 2 ครั้ง กล้วยอาทิตย์ละครั้ง และเป็นอาหารออร์แกนิกทั้งหมด” อุ๊-ลัดดาวัลย์ กล่าว

ผู้จัดการแคมป์ช้าง ยังบอกอีกว่า ที่นี่จะวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมช้าง การสอนช้างเชิงบวกที่เรียกว่า Target Training เพื่อลดการใช้ตะขอและความรุนแรงในการดูแลหรือฝึกช้าง และมีการนวดผ่อนคลายช้างโดยผู้เชี่ยวชาญ

“การทำวิจัยทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของช้างได้มาก การช่วยเหลือช้างจะได้ง่ายขึ้น รู้ว่าสิ่งที่ช้างทำแบบนี้เพื่ออะไร ช่วยแก้ปัญหาของช้าง และคนไทยก็จะได้รู้จักช้างมากขึ้น”

การฝึกช้างแนวใหม่ Target Training

งานวิจัยพฤติกรรมช้าง เช่น วางถาดไว้สองอัน อันหนึ่งข้างในมีกระดาษทรายที่มีผิวสัมผัสหยาบ อีกอันไม่ใช่กระดาษทราย ให้ช้างล้วงเขาไปหยิบ ถ้าได้อันที่มีกระดาษทรายจึงให้อาหาร เป็นการศึกษาพฤติกรรมของช้างว่าแยกกระดาษได้หรือไม่ หรืออีกงานวิจัยคือการศึกษาการทำงานร่วมกัน โดยออกแบบถาดให้ต้องดึงเชือกทั้งสองฝั่งถึงจะได้กินอาหาร ถ้าดึงฝั่งเดียวไม่ได้

นอกจากฐานงานวิจัยแล้ว ยังมีฐานการฝึกช้างแนวใหม่ Target Training เป้าหมายลดการใช้ตะขอและเครื่องมือความรุนแรงอื่นๆ โดยจะต้องใช้คน 2 คน ในการฝึกช้าง คนหนึ่งจะถือไม้เพื่อฝึกให้ช้างเคลื่อนไหวตามที่ต้องการ ส่วนอีกคนจะคอยให้อาหารทันทีที่ช้างเคลื่อนไหวได้ถูกต้อง

“สอนเรื่องพื้นฐาน เช่น อยากให้ช้างยกขา เอาไม้แตะที่หัว พอช้างขยับยกช้า ก็ให้อาหาร คราวนี้ช้างคิดว่าพอไม้โดนหัวจะได้กินอาหาร มันก็รู้ว่าต้องทำแบบนี้ หรือจะให้ช้างขยับไปด้านข้าง ก็เอาไว้แตะที่ด้านข้างช้าง ทำไปสักพักช้างรู้ว่าไม้โดนส่วนไหนก็ขยับไปทางนั้นแล้วได้อาหาร เป็นการสื่อสารกับช้าง”

ฐานงานวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมช้าง

ขณะที่หมอนิสา สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิ โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ บอกว่า จุดประสงค์ของการฝึกก็เพื่อเลิกใช้ตะขอ แล้วใช้วิธีนี้ฝึกช้างแทน มีการออกแบบห้องเรียนสำหรับช้าง ถ้าช้างเข้ามาในห้องเรียนต้องได้ยินชุดคำสั่งแบบนี้ ทำแบบนี้แล้วได้อาหาร แต่ไม่ได้บังคับให้เรียน อยากให้ช้างมีอิสระในการเลือกที่จะเรียนรู้ และมีความสุขในการเรียน

“ช้างแต่ละตัวเรียนรู้ไม่เท่ากัน บางตัวเร็วมาก แค่วันที่สองทำได้เลย บางท่าก็ง่าย เช่น ยืนชิดขอบกำแพง แต่ท่าแบบยกเท้าอาจยากหน่อย และการฝึกแบบนี้ใช้ในเชิงการรักษาด้วย เวลาช้างมีแผลบาดเจ็บ ก็จะทำตามที่หมอสั่งได้ ไม่กลัว และมีระบบให้รางวัลเป็นอาหาร”

ส่วนอีกฐานคือการนวดช้าง โดยที่อนันตรา แคมป์ช้าง จะนวดช้างเพื่อให้ความผ่อนคลาย เหมือนคนที่ทำงานมาหนักหรืออายุมากแล้วร่างกายปวดเมื่อยก็ต้องนวดผ่อนคลาย ส่วนของช้างจะเป็นการนวดผ่อนคลายกระดูกและกล้ามเนื้อ

เริ่มแรกจะสังเกตการเดินของช้างว่าสมดุลไหม มีการเดินที่ติดขัดหรือเปล่า ไม่ลากขา วิธีการนวดช้างก็คล้ายๆ กับนวดคน คือนวดตามจุดต่างๆ ไหล่ สะโพก ซี่โครง และกระดูกสันหลัง โดยใช้ฝ่ามือสองข้างกดลงไปตรงกล้ามเนื้อช้าง ถ้าช้างเกิดความผ่อนคลายเราจะรู้สึกว่าช้างทิ้งน้ำหนักมาที่เรา การนวดอาจจะใช้ระยะเวลาแต่ละจุดประมาณ 5-10 นาที

แม้ช้างที่นี่จะเป็นอยู่สุขสบายไม่ต้องทำงานหนัก เนื่องจากเป็นแคมป์ปิด และมีแต่แขกของอนันตราเท่านั้น โดยช้างจะทำงานเฉลี่ยเพียงแค่ 3 ชั่วโมงต่อวัน ที่เหลือจะเป็นเวลาเล่นน้ำ เดินออกกำลังกาย กินอาหาร แต่อุ๊-ลัดดาวัลย์ ก็ยอมรับว่า ความสบายของช้างอาจไม่ถูกใจควาญช้างเสียทีเดียวนัก เมื่อรายได้อาจไม่มากเท่าแคมป์ช้างอื่นๆ

ฐานการนวดช้าง โดยผู้เชี่ยวชาญ

“ส่วนหนึ่งคือเราไม่ได้เป็นเจ้าของช้าง แต่ให้เงินเดือนควาญช้างเป็นการตอบแทน และเลี้ยงช้างด้วยอาหาร เราไม่ได้บังคับว่าต้องอยู่กับเราตลอด ถ้าที่อื่นให้เงินเดือนมากกว่าก็สามารถไปอยู่แคมป์อื่นได้”

“รายได้ของควาญช้าง เช่น มีกิจกรรมต้อนรับแขก 7-9 โมงเช้า ก็สลับคิวกันไป แต่หลักการคือให้ช้างได้ออกกำลังกาย โดยควาญช้างได้เงินพิเศษค่ารอบเท่ากัน ซึ่งแต่ละที่ให้ไม่เหมือนกัน บางแคมป์ได้รอบละ 500 บาท เรามองว่าเป็นความผิดพลาดของระบบการให้รายได้ควาญช้าง”

นั่นจึงส่งผลให้มีควาญช้างสลับหมุนเวียนย้ายเข้า-ออกพอสมควร โดยแทบไม่เหลือควาญช้างรุ่นแรกที่อยู่คู่อนันตรา แคมป์ช้างแล้ว

ความหนักใจของมูลนิธิอยู่ที่รายได้เงินบริจาค แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมอนันตรา แต่มูลนิธิมีรายได้จากเงินบริจาค 100% ขณะที่มูลนิธิต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลช้างทั้งค่าอาหารและอื่นๆ มากถึงเดือนละ 1 ล้านบาท หรือปีละ 12 ล้านบาท

“เราอยู่ในจุดอิ่มตัวที่จะรับช้างได้แล้ว ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ของช้าง มีข้อจำกัดเรื่องอาหารช้างที่ตกเดือนละล้านกว่าบาท เพราะช้างกินเยอะมาก ต่อวันเกือบ 300 กิโลกรัม หรือ 8-10% ของน้ำหนักตัวช้าง ดื่มน้ำวันละ 120-150 ลิตร”

การปรับตัวของมูลนิธิ ทางอุ๊-ลัดดาวัลย์ บอกว่า เราเริ่มมี QR Code และลงโซเชียลมีเดียมากขึ้น อย่างโรงแรมพาแขกมาทำกิจกรรมกับช้างก็ช่วยได้ เราเคยคุยกันว่าแม้แขกเยอะทำให้รายได้เยอะจริง แต่คุณภาพของช้างจะดีหรือเปล่า เนื่องจากเรามีช้างแค่ 9 เชือกเท่านั้นที่สามารถทำงานได้ และถ้าช้างต้องทำงานเยอะก็ไม่คุ้มค่าอาหารและไม่ได้เล่นน้ำกับเพื่อนๆ”

Fact Box

  • แต่ละปี มูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation : GTAEF) ใช้งบประมาณดูแลช้าง 600,000 บาทต่อปีต่อช้าง 1 เชือก ซึ่งนอกจากเงินบริจาคจากแขกที่เข้าพักในโรงแรมเครืออนันตราผ่านโครงการ Dollars for Deeds
  • ยังสามารถบริจาคผ่านเว็บไซต์ www.helpingelephants.org โดยสามารถเลือกสปอนเซอร์ช้างแบบ 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือเลือกบริจาคเข้าโครงการต่างๆ เช่น ซื้ออาหารให้กับช้าง สนับสนุนงานอบรมบุคลากรเพื่อให้สามารถดูแลช้างได้อย่างเหมาะสม และโครงการอนุรักษ์ช้างป่า
  • สนับสนุนผ่านการซื้อบัตรเข้าชมงานกีฬาการกุศลระดมทุนช่วยเหลือช้าง ซึ่งกลุ่มโรงแรมอนันตราจัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี โดยในปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 มีนาคม จะมีงานการแข่งขันเรือยาวช้างไทยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเทศกาลริมน้ำ (King’s Cup Elephant Boat Race & River Festival) รายได้จากการจำหน่ายบัตรทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ เพื่อนำไปช่วยช้างต่อไป  โดยผู้สนใจสามารถซื้อบัตรหรือดูข้อมูลได้ที่ www.bangkokriverfestival.com
  • เดินทางสู่เชียงรายโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ที่ให้บริการกรุงเทพฯ-เชียงราย 3 เที่ยวบินต่อวัน สนใจสอบถามเพิ่มเติม www.bangkokair.com
Tags: ,