“ถ้าตกลงกันไม่ได้ ผมยึดอำนาจ”

บ่ายวันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตัดสินใจ ‘ทุบโต๊ะ’ รัฐประหาร แก้วิกฤตประเทศในเวลาที่เสียงนกหวีดดังกึกก้อง พร้อมรับข้อเรียกร้องของ กปปส. คือ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ไปปฏิบัติ หลังการทุบโต๊ะของพลเอกประยุทธ์เกิดระบอบใหม่ เป็นระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำ ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จนาน 5 ปี และอำนาจภายใต้ ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ นาน 4 ปี

ณ วันนั้น สถานะพลเอกประยุทธ์ที่ประโคมผ่านหน้าสื่อ ผ่านบรรดาชนชั้นกลาง ก็คือ ‘ฮีโร่’ ผู้ออกมาหยุดวิกฤตความรุนแรง เป็นทหารเสือราชินีผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารจะล้างไพ่นักการเมืองชั่ว จัดการประเทศใหม่ ยุติความขัดแย้ง และพาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์โดย ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’

สุดท้ายคำว่าขอเวลาอีกไม่นาน ก็ทำให้เราอยู่กับคณะผู้ทำรัฐประหารถึงเกือบหนึ่งทศวรรษ เป็นระยะเวลาที่เด็กที่เกิด ณ วันรัฐประหารจะเข้าสู่ชั้นมัธยมทันที ขณะที่เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยวันนี้ ที่มีสิทธิเลือกตั้งรอบแรกในครั้งนี้จะมี ‘ครึ่งชีวิต’ ที่มี ‘ลุงตู่’ เป็นนายกฯ

แต่ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม กลับนำไปสู่ความล่มสลายของระบอบทหาร พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีอดีตผู้นำรัฐประหารเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้คะแนนเสียงเพียง 36 ที่นั่ง ขณะที่พรรคของพี่ใหญ่คณะรัฐประหารอย่างพลังประชารัฐ มี ส.ส. 39 ที่นั่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษาคะแนนนิยมไว้ได้ หากนับ 4 ปี เสียงคนเลือกฝ่ายอำนาจนิยมลดลงชัดเจน จากที่เคยมีที่นั่งในสภาเกินครึ่งอยู่ที่ 253 ที่นั่ง ณ วันนี้คงเหลือเพียง 183 ที่นั่ง ทำให้นายทหาร 3 ป. ต้องกลับบ้านไปนั่งเล่นแบบเงียบๆ ไปโดยปริยาย

แล้วต้นเหตุแห่งความล่มสลายนั้นคืออะไร The Momentum จะค่อยๆ คลี่ให้เห็นในบทวิเคราะห์ชิ้นนี้

1. ฝืนตั้งรัฐบาล ทั้งที่เสียงไม่มากพอ

หากจำกันได้ ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐที่เสนอพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนั้น ‘แพ้’ โดยมี ส.ส​.น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยชัดเจนอยู่ที่ 116 เสียงเท่านั้น และเมื่อพยายามรวมเสียง ดันพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ต้องไปดึงเอาพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี ส.ส.อยู่ในระดับ 50 คน โดยมอบกระทรวงเกรดเอ อย่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ขณะที่พลเอกประยุทธ์ยึดโควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้กับ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด คงเหลือเพียงโควตารัฐมนตรีเกรดเออย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงศึกษาธิการ

จากนั้นก็เกิดความวุ่นวายหลายรอบ จากการแย่งเก้าอี้กระทรวงเกรดเอ เริ่มจากการเขี่ยรัฐมนตรีกลุ่ม ‘สามมิตร’ ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ออกจากพรรค ตามด้วยบีบกลุ่มรัฐมนตรี กปปส.ออกจากพรรคหลังโดนคดี ฟางเส้นสุดท้ายคือการพยายามก่อการรัฐประหารพลเอกประยุทธ์กลางสภา โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อบีบให้พลเอกประยุทธ์ยอมปล่อยเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ แต่กลับไม่สำเร็จ โดนพลเอกประยุทธ์ปลดออกจากรัฐมนตรี แต่สายสัมพันธ์กับพลเอกประวิตรยังดีเหมือนเดิม

แต่นั่นเป็นปฐมเหตุของการ ‘แยกพรรค’ ระหว่างพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร ในเวลาต่อมา

2. แก้ระบบเลือกตั้งสู่ ‘บัตร 2 ใบ’

ระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เดิมหรือแบบที่นำจำนวน ส.ส.ทั้งหมดมาคิดจำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อพรรคใหญ่ กล่าวคือหากมี ส.ส.เขตมากเกินไป อาจไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว ทว่ากลับเป็นประโยชน์กับพรรคอย่างก้าวไกล และเคยเป็นประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่ ที่แม้จะมี ส.ส.เขตไม่มาก แต่คะแนน ส.ส.ในแต่ละเขตเลือกตั้งถูกนับหมด ผลคือพรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.รวมกว่า 79 คน

ในที่สุดมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญไปสู่ระบบบัตรสองใบ ยกเลิกจำนวน ส.ส.พึงมี ภายใต้การจับมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย เพิ่มการแข่งขันไปยังพื้นที่เขตเลือกตั้ง เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ คือเลือกคนและเลือกพรรค โดยเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตจาก 350 เป็น 400 คน และลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก 150 เหลือ 100 คน ทำให้จากเดิมที่คะแนน 7.5 หมื่นคะแนน ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ไปสู่ 3.5 แสนคะแนน ต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน โดยพรรคที่แพ้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง คะแนนที่ได้มาจะ ‘ตกน้ำ’ ไปโดยทันที

ว่ากันว่า นอกจากเอื้อประโยชน์ต่อพรรคใหญ่แล้ว ระบบดังกล่าวยังคิดค้นขึ้นมาโดยพลเอกประวิตร เพื่อป้องกันไม่ให้พลเอกประยุทธ์ออกจากพรรคพลังประชารัฐไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะการตั้งพรรคใหม่ย่อมมีความยากลำบากทั้งการพยายามหา ส.ส. มาเติม ทั้งจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ต้องใช้คะแนนมากขึ้น ในที่สุด แม้พลเอกประยุทธ์จะรู้ตัว พยายามพลิกกลับมาแก้ให้เป็นระบบ ‘หาร 500’ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ รัฐสภาโหวตเห็นชอบระบบบัตรสองใบ และ ‘หาร 100’ ทำเอาหลายคนที่คิดจะตั้งพรรคใหม่ล้มเลิกความตั้งใจ หลายพรรคต้องควบรวมตัวเอง เพราะ 3.5 แสนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน นั้นไม่ได้ได้มาง่ายๆ

เรื่องที่รู้กันภายหลังก็คือ มีความพยายามดึงพลเอกประยุทธ์ให้อยู่กับพรรคพลังประชารัฐจนนาทีสุดท้าย ด้วยกลไกของระบบใหม่ แต่ในที่สุดความพยายามดึงพลเอกประยุทธ์ก็ไม่สำเร็จ พลเอกประยุทธ์เปิดเผยในภายหลังผ่านรายการของ สุทธิชัย หยุ่น ว่า เงื่อนไขสำคัญที่พลเอกประวิตรรั้งไว้คือ หากเลือกตั้งคราวหน้า ‘พี่ป้อม’ ต้องเป็นนายกฯ เบอร์ 1 ส่วนน้องตู่ รอเป็นนายกฯ เบอร์ 2!

นั่นทำให้พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ

3. ความขัดแย้งของ 2 ป.

“นี่คือเวลาที่ ‘พวกเขา’ อ่อนแอที่สุด” คือคำพูดปลุกใจของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล พูดไว้เสมอในหลายเวทีปราศรัยของพรรคก้าวไกล ถึงความแตกแยกระหว่าง 2 ป.

เอาเข้าจริง ตั้งแต่ความพยายามรัฐประหารพลเอกประยุทธ์ในสภา ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ป. ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป… พลเอกประยุทธ์พยายามล้มเรื่องแก้รัฐธรรมนูญบัตร 2 ใบ พลเอกประวิตรก็ดึงกลับมาเป็นแบบเดิม และในเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจ ‘พักงาน’ พลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตรก็สยายปีก สยายอำนาจในหลายเรื่อง มีการดีลหลายเรื่องโดยพลการ จนทำให้พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แยกพรรคใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ และเริ่มสร้างขุมกำลังของตัวเอง

และในเวลานี้ ข่าวเรื่อง ‘ดีล’ กับทักษิณ ชินวัตร ก็เริ่มต้นขึ้น ต้องไม่ลืมว่ามือขวาของพลเอกประวิตรคือร้อยเอกธรรมนัส ซึ่งก็มีไมตรีที่ดีกับทักษิณตลอดมา นั่นทำให้มีข่าวว่า ฟากพลเอกประยุทธ์เริ่มปล่อยข่าวว่าต้องไปอยู่ร่วมกับพรรคใหม่เพื่อยุติแผนนี้

เมื่อ 2 ป. ขัดแย้ง ก็ทำให้เกิดปฏิบัติการชิงตัว ส.ส.รวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส. เกรดเอบางส่วนไปจากภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช แต่บรรดา ‘บ้านใหญ่’ ไม่ว่าจะเป็นสระแก้ว สมุทรปราการ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ยังคงอยู่กับพลเอกประวิตร สำทับด้วยทีมเศรษฐกิจมากหน้าหลายตา ขณะที่รวมไทยสร้างชาตินั้นได้เพียง ส.ส.เกรดบี เกรดซี อีกทั้งยังมีข่าวว่า นายทุนใหญ่เกิด ‘เบี้ยว’ ในนาทีสุดท้าย เมื่อกระแสพรรคปลุกไม่ขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแตกกันของ 2 ป. ทำให้ทั้งพลังประชารัฐ ทั้งรวมไทยสร้างชาติ ไม่สามารถรวมเสียงได้เป็นกอบเป็นกำ และมิอาจหวนคืนกลับสู่จุดเดิม ณ ปี 2562 ได้ แม้ว่าจะมีการระดมพล ‘ช้าง’ ให้ไปเลือกรวมไทยสร้างชาติได้ในนาทีสุดท้าย ก็ไม่ได้เกิดมรรคผลใดๆ

4. ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ หายไปในสายลม

เอาเข้าจริง สิ่งที่หลายคนคาดหวังมากที่สุดกับพลเอกประยุทธ์ ก็คือการใช้อำนาจเด็ดขาด จัดการ ‘ปฏิรูป’ เปรี้ยง ไปยังองคาพยพต่างๆ เรื่องที่คนสนใจมากที่สุดเป็นต้นว่า ‘ตำรวจ’ หน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน ยังคงมีข่าวรีดไถ เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ อุ้มฆ่าประชาชน หรือการปฏิรูปการเมืองไม่ได้มีผลลัพธ์ใดๆ ยังคงมีข่าวนักการเมืองต่อรองเก้าอี้ ดัชนีการคอร์รัปชันลดลงอย่างต่อเนื่องในยุคการรัฐประหาร อยู่ในลำดับที่ 104 หากเทียบกับก่อนการรัฐประหารซึ่งอยู่ในลำดับที่ 85

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ คสช.ร่างขึ้นเอง ไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงในรัฐบาลประยุทธ์ ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้ง หลายคนบ่นชัดๆ ว่า การปฏิรูปนั้นไปไม่ถึงไหน และหากนำเหตุผลการรัฐประหารว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเป็นตัวตั้ง ความขัดแย้งกลับมากขึ้นและยังคงมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นในห้วงปี 2563-2564

ผลงานของพลเอกประยุทธ์จึงได้แค่เพียงในระดับข้าราชการ อย่างการสร้างถนน สร้างสะพาน หรือเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย หาใช่เรื่องโครงสร้างหรือการปฏิรูปอย่างที่บรรดากองเชียร์การยึดอำนาจอยากเห็น

ผสมผสานกับการเกิดขึ้นของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่เติบโตมากับห้วงเวลาครองอำนาจอันยาวนานของฝ่ายอำนาจนิยมซึ่งถูกกดทับมานาน การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จึงเป็นการแสดงพลังของพวกเขาอย่างเต็มที่

5. ทางไปต่อของฝ่าย ‘อำนาจนิยม’

เป็นที่รู้กันว่าฝ่ายอำนาจนิยมไม่คิดว่าจะแพ้ราบคาบขนาดนี้… ใช่-เป็นการแพ้ยับเยินกว่าการเลือกตั้ง 4 ปีก่อน และหากเทียบกับผลงานของ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ซึ่งเคยเป็นหัวหอกของฝ่ายอำนาจนิยม ก็ต้องบอกว่าครั้งนี้ยับเยินกว่าการเลือกตั้งปี 2554 และยับเยินกว่าการเลือกตั้งปี 2550 แม้การเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นไปตามระบบเลือกตั้งที่เขียนมาอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะก็ตาม

ที่สำคัญที่สุดก็คือพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงมากที่สุดกลับเป็นพรรคก้าวไกล พรรคที่แข็งที่สุด ที่ยากจะต่อรองมากที่สุดมากกว่าพรรคเพื่อไทยเสียด้วย

คำถามก็คือ ฝ่ายอำนาจนิยมจะ ‘ไปต่อ’ ด้วยวิธีไหน ภายหลังการพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของคณะทหาร? ณ วันนี้ พลเอกประยุทธ์ยังมีไพ่อยู่เหนือกว่าด้วยกลไกอย่างการบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา นั่นทำให้เสียง ส.ว. เป็นสิ่งจำเป็น หาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้รับฉันทามติให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการต่อรองให้นำเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเงื่อนไข และอาจจะทำไม่ได้ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยนี้ ขณะเดียวกัน องค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่แทบไม่เคยตัดสินอะไรเป็นโทษเลยกับพลพรรค คสช. ก็ล้วนมีที่มาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ส.ว.ภายหลังการยึดอำนาจ

ไพ่เหล่านี้เป็นไพ่ที่จะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไรก็ได้… แต่ก่อนอื่นต้องค่อยๆ นวด ทำลายความเชื่อถือของพรรคก้าวไกลไปเรื่อยๆ ทั้งยังพยายามใช้กระบวนการ ‘ปั่น’ ให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกันนั้น แตกกันให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกของฝ่ายอนุรักษนิยม

ประเด็นก็คือพรรคก้าวไกลนั้นมี 14.2 ล้านเสียง เป็นหลังพิง ประเด็นก็คือพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น เป็น ‘สีส้ม’ ทั้งหมด หากไม่ปล่อยให้ก้าวไกลตั้งรัฐบาล เกมการเมืองอาจเปลี่ยนจากสภาเป็นท้องถนน และคนจะเดินมากกว่าทุกการชุมนุม

แต่หากปล่อยให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล นั่นก็เท่ากับว่ายอมรับว่าการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีกว่านั้นเสียของ ประชาชนไม่ได้ยอมรับอีกต่อไป และบรรดาเครือข่ายทั้งหลายที่อุ้มชูกันมา ไม่ว่าจะเป็นทุนหรือ Deep State ก็มิวายต้องถูก ‘เช็กบิล’

ทั้งหมดขึ้นกับว่าบรรดาฝ่ายอำนาจนิยมจะเลือกเส้นทางใด จะเลือกสร้างระบบการเมืองให้ผิดปกติอย่างที่ตัวเองถนัด หรือจะปล่อยให้พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาล ให้การเมืองกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดจะได้รู้กันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ภาพ: AFP

Tags: , ,