สิ่งที่สะท้อนชัดเมื่อคืนที่ผ่านมา คือการที่รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้สามารถป้องกันการรัฐประหารได้อย่างราบคาบ ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Seok-yeol) ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อนำ ‘กำลังทหาร’ ออกมาสู้กับฝ่ายค้าน และใช้กำลังทหารห้ามเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยข้ออ้างว่า พรรคฝ่ายค้านเข้าข้างเกาหลีเหนือ

แต่ถึงที่สุด เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติสามารถเปิดประชุมได้กลางดึก สภาฯ ลงมติเห็นชอบให้ ‘คว่ำ’ กฎอัยการศึกโดยพร้อมเพรียง ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็ไม่อาจมีทางเลือกเป็นอย่างอื่น เพราะ ‘ความชอบธรรม’ ทางกฎหมายหมดสิ้นลงแล้ว และทำให้ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกในที่สุด

ถึงตรงนี้สิ่งสำคัญที่เป็น 3 ประสาน ช่วยให้เกาหลีใต้ผ่านพ้นความพยายาม ‘รัฐประหาร’ ไปได้ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

1. รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้

แม้ ยุน ซอกยอลอาศัยอำนาจประมุขของรัฐในการประกาศกฎอัยการศึก กลไกที่ให้อำนาจเต็มกับประมุขของรัฐในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยสงคราม (ซึ่งในบริบทของเกาหลีใต้คือสงครามกับเกาหลีเหนือ) 

แต่สิ่งสำคัญคือ ตามรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึก จำเป็นต้องส่งให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ด้วยกรณีนี้ ยุน ซอกยอลจึงมีคำสั่งให้กองทัพปิดประชุมสภาฯ ปรากฏเป็นภาพกำลังทหารจำนวนหนึ่งพยายามขัดขวางไม่ให้มีการประชุมสภาฯ

แต่เมื่อสามารถประชุมสภาฯ ได้ พรรคฝ่ายรัฐบาล แม้แต่หัวหน้าพรรคของยุน ซอกยอลเอง ก็ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการประกาศกฎอัยการศึก ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็สามารถใช้ ‘เสียงข้างมาก’ โหวตไม่เห็นชอบ และสามารถยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกได้

กลไกดังกล่าวเป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์บาดแผลสำคัญในปี 1980 เมื่อประธานาธิบดี ชอน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ประกาศใช้กฎอัยการศึก แบนการชุมนุมทางการเมือง ปิดโรงเรียน และจับกลุ่มต้านทุกคน นำไปสู่การสังหารโหดที่เมืองกวางจูจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ทำให้เกาหลีใต้ไม่อยากกลับไปซ้ำรอยเดิมอีก

นั่นทำให้ระบบรัฐสภาสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่ ‘ล้นเกิน’ ของประมุขฝ่ายบริหาร และในที่สุด ชอน ดูฮวาน และโน แทอู (Roh-Tae woo) ก็ถูกเอาผิดทั้งจากการทำรัฐประหารและการออกคำสั่งสังหารโหดครั้งนั้น

2. รัฐสภา

เกาหลีใต้ใช้ระบบ ‘สภาเดี่ยว’ มีสภาเดียวชื่อว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (National Assembly) ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ ปัจจุบันมีฝ่ายค้านเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ โดยในการเลือกตั้งเดือนเมษายนที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านหลักคือพรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้ (Democratic Party of Korea) ได้รับเสียงในสภาฯ กว่า 175 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประธานาธิบดีเดิมหรือพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) มีเพียง 108 เสียงเท่านั้น

เป็นที่ชัดเจนว่า แม้แต่หัวหน้าพรรคของยุน ซอกยอลเอง ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกและพยายามทำ ‘รัฐประหารเงียบ’ เมื่อคืนที่ผ่านมา นั่นทำให้เสียงสนับสนุนในสภาฯ ของประธานาธิบดีแทบจะเป็นศูนย์

ความหวังเดียวของยุน ซอกยอล คือหวังว่าทหารจะ ‘ขวาง’ การประชุมสภาฯ ได้ เพราะรู้ว่าหากเปิดประชุมสำเร็จ ถึงอย่างไรก็แพ้ และหากดันทุรังต่อก็พลาดหวังอยู่ดี

3. ประชาชนไม่เอา ‘ทหาร’ 

ปัจจัยสำคัญก็คือ ในประวัติศาสตร์บาดแผลของเกาหลีใต้ ล้วนมี ‘ทหาร’ เป็นองค์ประกอบในทุกขั้นตอน 

นับตั้งแต่ปี 1961-1992 เกาหลีใต้เผชิญอยู่กับระบบอันล้มลุกคลุกคลาน มีทั้งเผด็จการอำนาจนิยม ในสมัย พัค จองฮี (Park Chung-hee) เผด็จการจากการเลือกตั้ง การคอร์รัปชันโดยนักการเมืองและรัฐบาลอำนาจนิยม ไปจนถึงการใช้กำลัง ‘ล้อมปราบ’ สังหารประชาชน จนถึงวันหนึ่งประชาชนรู้สึกว่าต้อง ‘พอเสียที’ กับวังวนเหล่านี้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเป็นกลไกช่วยป้องกันได้นอกจากระบบที่ดี กลไกที่ดี และรัฐธรรมนูญที่ดี ก็คือการ ‘ไม่ยอมรับ’ กลไกพิเศษ และเลิกยอมรับอำนาจทหาร

ด้วยเหตุนี้ เมื่อยุน ซอกยอลประกาศกฎอัยการศึกกลางดึก ภาพแรกที่ปรากฏจึงเป็นภาพของประชาชนจำนวนมาก หลากหลายเพศ หลากหลายวัย ออกไปขวางทหารไม่ให้เคลื่อนกำลัง เช่นเดียวกับภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถามทหารว่า “ไม่อายหรือ”

นอกจากนี้การที่บรรดาสมาชิกสภาฯ ต่างปีนรั้ว พยายามหาทางเข้าประชุมสภาฯ เปิดสภาฯ ให้ได้ในช่วงกลางดึก ท่ามกลางเสียงเชียร์จากประชาชนทั้งจากหน้าสภาฯ และผ่านช่องทางออนไลน์ ล้วนเป็นภาพสำคัญในการทำหน้าที่แทนประชาชน เพื่อยับยั้งเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้กลับสู่จุดเดิม จุดที่กลับไปเป็นเผด็จการอำนาจนิยม จุดที่ทหารมีบทบาทในทางการเมืองไม่รู้จบ

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครออกมาส่งเสียงเชียร์ทหาร ไม่มีใครเรียกร้องให้ใช้อำนาจพิเศษมา ‘ปฏิรูปการเมือง’ ร่างรัฐธรรมนูญ หรือเข้ามาเป็นตัวกลางไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะในประวัติศาสตร์ทุกคนต่างรู้ดีว่า วิธีนี้ไม่ได้ผลแม้แต่น้อย ซ้ำยังจะสร้างปัญหาใหม่

ประเด็นสำคัญจึงเป็นเรื่องของ ‘ความชอบธรรม’ ที่นอกเหนือจากในทางกฎหมายแล้ว นั่นคือมีความชอบธรรมในสายตาประชาชนหรือไม่

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญระบบรัฐสภาจะ ‘มีความหมาย’ ก็ต่อเมื่อถ้อยความในรัฐธรรมนูญใช้งานได้จริง บังคับใช้ได้จริง และระบบรัฐสภาเป็นผู้แทนของปวงชนได้จริง ไม่ใช่ถึงเวลาก็ต้องเรียกหา ‘อำนาจพิเศษ’ เพื่อแก้วิกฤต

เหตุการณ์ที่เกาหลีใต้จึงเป็นภาพสะท้อนแห่งความต้องการรัฐธรรมนูญ ระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น

และถึงเวลาหนึ่งประชาชนก็ต้องเรียนรู้ว่า สุดท้าย… เราจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว

 

Tags: , , , , , , ,