“การที่สื่อมวลชนมีความกล้าหาญและให้ความรู้สาธารณชน ถือเป็นรากฐานในประชาธิปไตยของเรา และการละทิ้งการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คือการละทิ้งหน้าที่ในฐานะนักข่าว บทบรรณาธิการเดอะการ์เดียน (The Guardian) จึงขอสนับสนุน กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) เป็นประธานาธิบดีอย่างจริงจัง และเราจะไม่หวาดหวั่นต่อผลลัพธ์ที่อาจตามมา”
ในห้วงเวลาที่การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024 จะเริ่มต้นในอีกไม่ช้า นอกจากเหล่าเซเลบริตีที่ออกมาสนับสนุนแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้ผู้นำระหว่าง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีและตัวแทนจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) กับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีและตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party)
การติดตามสำนักข่าวต่างประเทศและสื่ออเมริกัน ถือเป็นอีกไฮไลต์สำคัญในการเลือกตั้งที่หลายคนเฝ้ารอคอย ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์ข่าวคราว ถอดรหัสคำพูด หรือภาษากายแคนดิเดตเท่านั้น เพราะยังมีธรรมเนียมสำคัญของสื่ออย่างการ ‘แสดงจุดยืน’ สนับสนุนตัวแทนของแต่ละพรรคผ่านบทบรรณาธิการ
ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ที่ประกาศตรงไปตรงมาว่า ทรัมป์ไม่เหมาะสำหรับตำแหน่งผู้นำประเทศที่ต้องใช้สติปัญญาและความซื่อสัตย์ พร้อมระบุว่า แฮร์ริสคือตัวเลือกเดียวที่จะปกป้องประเทศ หรือแม้แต่เดอะการ์เดียนสื่ออังกฤษที่แสดงตัวว่า พร้อมยืนข้างแฮร์ริสและพรรคเดโมแครต ด้วยเหตุผลด้านการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อ
ขณะที่นิวยอร์กโพสต์ (New York Post) ก็ไม่น้อยหน้าสำนักข่าวอื่นด้วยการประกาศว่า สนับสนุนทรัมป์เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า โดยระบุเหตุผลทางด้านนโยบายต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ สหรัฐฯ ต้องเป็นที่เกรงกลัวของศัตรูและได้รับเสียงชื่นชมจากพันธมิตร
เชื่อว่าจุดยืนข้างต้นอาจเป็นเรื่อง ‘ช็อกโลก’ สำหรับบางประเทศที่มีความเชื่อแรงกล้าว่า สื่อต้องเป็นกลางและไม่เลือกข้างทางการเมือง โดยเฉพาะการประกาศต่อต้านอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา และระบุเหตุผลชัดเจนในการสนับสนุนนักการเมือง
แต่ในอีกมุมหนึ่งนับว่าน่าสนใจไม่น้อยในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะความเป็นมาและเหตุผลสำคัญว่า เหตุใดสื่อมวลชนในสหรัฐฯ และต่างประเทศ จึงออกมาสนับสนุนแคนดิเดตเลือกตั้งได้อย่างเปิดเผย
The Momentum ชวนทุกคนไขคำตอบไปพร้อมกัน
ประวัติศาสตร์การสนับสนุนแคนดิเดตเลือกตั้งสหรัฐฯ
หากย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกัน การออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนนักการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เมื่อปรากฏหลักฐานว่า หนังสือพิมพ์ (หรือสื่อมวลชนในเวลานั้น) คือพื้นที่สาดสีตีไข่ทางการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยส่วนหนึ่งสื่อหรือนักข่าวยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและพรรคการเมืองด้วย
จุดตั้งต้นแรกของหลักฐานการสนับสนุนแคนดิเดตเลือกตั้งสหรัฐฯ คือช่วงปี 1860 ชื่อของ อับราฮัม ลินคอร์น (Abraham Lincoln) อดีตประธานาธิบดีและรัฐบุรุษสหรัฐฯ คือต้นสายปลายเหตุสำคัญ หลังขึ้นดีเบตและเอาชนะ วิลเลียม เอช. ซูเวิร์ด (William H. Seward) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และแซลมอน พี. เชส (Salmon P. Chase) อดีตวุฒิสมาชิกตัวเต็งและขวัญใจทางการเมืองของใครหลายคน จนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน
ในเวลานั้นลินคอร์นคือ ม้ามืดในสายตาของสื่อมวลชน โดยชิคาโกทริบูน (Chicago Tribune) คือสื่อแรกที่แสดงท่าทีเขียนชื่นชมอดีตประธานาธิบดีว่า เขาคือคนเก่งที่ไม่มีใครตั้งคำถามถึงความสามารถของเขา เด็ดขาดจนไม่มีใครเอาชนะได้ และความรักชาติไม่เคยเสื่อมคลาย เนื่องจาก โจเซฟ เมดิลล์ (Joseph Medill) นักการเมืองพรรครีพับลิกัน ผู้ก่อตั้งชิคาโกทริบูนและบรรณาธิการในเวลานั้น ชื่นชมความมุ่งมั่นของลินคอร์นในการเลิกทาส และมีแนวโน้มในการนำพาประเทศไปข้างหน้า แม้จะอายุยังน้อยก็ตาม
เช่นกันกับสื่ออย่างนิวยอร์กไทม์ที่ออกมาสนับสนุนลินคอร์น โดยยกย่องให้เขาเป็นชายที่รักความสงบและปรองดองกับทุกฝ่าย อีกทั้งยังแก้ต่างข่าวลือว่า เขาจะหลอกลวงประชาชน
“สำหรับเรา เขาดูเหมือนคนที่อดทนและใจดีกับฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป” ส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการจากนิวยอร์กไทม์ในช่วงเวลานั้น โดยในเวลาต่อมาลินคอร์นชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 1860 หลังกวาดคะแนนใน 18 รัฐ หรือคิดเป็น 39.8%
ทว่าในท้ายที่สุด แวดวงสื่อมวลชนถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ หลังกระแส ‘Yellow Journalism’ หรือการเขียนข่าวที่ไร้มูลความจริง พาดหัวฉูดฉาดเรียกกระแส แทรกซึมและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมและการเลือกตั้งหลายครั้ง จนเป็นเหตุทำให้ วอลเทอร์ ลิปป์มันน์ (Walter Lippmann) บิดาแห่งวารสารศาสตร์ยุคใหม่ ริเริ่มปฏิรูปวงการสื่อในปี 1919 โดยมีสาเหตุจากความไม่พอใจการนำเสนอข่าวของสื่อภายในประเทศ
สำหรับลิปป์มันน์เป็นนักเขียนและนักข่าวที่มีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เขาและชาร์ลส์ เมิร์ซ (Charles Merz) อดีตบรรณาธิการนิวยอร์กไทม์ ทำวิจัยที่ชื่อ A Test of the News ในปี 1920 โดยหยิบเรื่องการเสนอข่าวปฏิวัติรัสเซียของนิวยอร์กไทม์ออกมาวิพากษ์ หลังบิดเบือนสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามความเห็นของคนในสังคม โดยส่วนหนึ่งมีรายงานว่า พรรคบอลเชวิก (Bolshevik) กำลังจะล่มสลายถึง 91 ครั้ง จนมีคำพูดที่ว่า ‘ข่าวในรัสเซียไม่ใช่สิ่งที่เป็นอยู่ แต่เป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการจะรับรู้’
‘ความเป็นกลาง’ และ ‘กระบวนทางทางวิทยาศาสตร์’ คือคำสำคัญที่ลิปป์มันน์เสนอออกมาในการปฏิรูปวงการสื่อ เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา การสนับสนุนแคนดิเดตหรือนักการเมืองต้องผ่านวิธีการที่พิสูจน์และโปร่งใส เช่น การแสดงความคิดเห็นผ่านบทบรรณาธิการที่ถือเป็นจุดยืนของสำนักข่าว หรือการที่กองบรรณาธิการต้องสัมภาษณ์ผู้รับสมัครเลือกตั้งเพื่อตัดสินใจ โดยเปิดให้ซักถามและอภิปรายประเด็นที่สงสัย ก่อนมีการลงคะแนนเสียงภายใน และประกาศสู่สาธารณะในนามกองบรรณาธิการหลังจากนั้น
ทำไมสื่ออเมริกันจึงสนับสนุนแคนดิเดตการเลือกตั้งสหรัฐฯ?
ปัจจุบันการสนับสนุนแคนดิเดตถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย และทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับประชาชนรอบด้าน ทั้งในแง่ของประสบการณ์ ความรู้ และความเป็นมาของบุคคลที่สนับสนุน ขณะที่อีกแง่หนึ่งการแสดงจุดยืนเปรียบเสมือนการสะท้อนอุดมการณ์ของกองบรรณาธิการต่อสังคม ผ่านความคิดเห็นต่อนโยบายและท่าทีของแคนดิเดต
นอกจากนี้ในแง่ของกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เพิ่มเติมครั้งที่ 1 ยังรับรองเสรีภาพของสื่อ โดยให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และการสนับสนุนผู้แทนทางการเมือง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะการให้ความรู้ครอบคลุมกับประชาชน เว้นเสียแต่สื่อสาธารณะหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จะไม่ได้รับอนุญาตหรือมีเงื่อนไขจำกัดในการแสดงออกจุดยืน เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสียจากรัฐ
อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวให้นับเป็นความคิดเห็นของบรรณาธิการ และไม่ใช่การหาเสียงทางการเมือง โดยมีข้อบังคับว่า สำนักข่าวจะต้องนำเสนอเนื้อหารอบด้าน ยุติธรรม และไร้อคติ รวมถึงเปิดเผยรายละเอียดทางการเงินว่า ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลหรือพรรคการเมืองใดหรือไม่
‘เป็นกลาง’ หรือ ‘ถูกครอบงำ’?: เมื่อสื่อเก่าแก่เลิกสนับสนุนแคนดิเดต และอ้างความเป็นกลางในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
กลายเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับวงการสื่อ หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา เดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) สื่ออเมริกันเก่าแก่ ประกาศยกเลิกธรรมเนียมที่ดำเนินมานับร้อยปี ด้วยการ ‘ไม่สนับสนุน’ แคนดิเดตคนใดคนหนึ่งในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 รวมถึงการเลือกตั้งใดในอนาคต โดยให้เหตุผลว่า เป็นเหตุผลเรื่องความเป็นกลางและการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ประเด็นนี้สื่อต่างประเทศต่างตีประเด็นเพิ่มเติมว่า ที่มาที่ไปของบทบรรณาธิการข้างต้น เป็นเพราะอิทธิพลของ เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) เศรษฐีเจ้าของแอมะซอน (Amazon) และเดอะวอชิงตันโพสต์ ที่แทรกแซงการตัดสินใจ หลังมีข่าวว่า เขาเข้าพบทรัมป์ในวันเดียวกับที่กองบรรณาธิการประกาศจุดยืน
ขณะเดียวกันแหล่งข่าวภายในยังให้รายละเอียดของสื่ออีกหัวอย่าง ซีเอ็นเอ็น (CNN) เพิ่มเติมว่า มีการวางแผนร่างบทสนับสนุนแฮร์ริสและเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่กลุ่มหาเสียงของแฮร์ริสไม่ได้เข้าพบกองบรรณาธิการในกระบวนการรับรอง ขณะที่อีกเสียงเล่าว่า เดอะวอชิงตันโพสต์ พยายามพบกลุ่มหาเสียงทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็คว้าน้ำเหลวในท้ายที่สุด
ไม่ว่ามูลข่าวนี้จะเป็นความจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ กองบรรณาธิการเดอะวอชิงตันโพสต์ราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด ตัดสินใจลาออก ขณะที่ผู้อ่านนับ 2 แสนคน ‘พิพากษา’ การตัดสินใจของกองบรรณาธิการ (หรือเจ้าของ) ด้วยการยกเลิกการติดตาม
“ไม่ว่าจะใครจะอยู่ในทำเนียบขาว โปรดช่วยปกป้องเสรีภาพของสื่ออย่างแท้จริง ที่อยู่ด้วยการบริจาคเงินอย่างเดอะการ์เดียน”
เชื่อว่าประโยคข้างต้นไม่ใช่ความปรารถนาจากสื่ออังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงวงการสื่อมวลชนทั่วโลกที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน เมื่อนายทุนกำลังมีบทบาทสำคัญในการจำกัดความเป็นไปของสื่อ ผ่านอำนาจเงินและอิทธิพลส่วนตัว ด้วยการแปรเปลี่ยนที่พึ่งพิงของประชาชน ให้กลายเป็นอาณาจักรปลุกปั่น โจมตีฝ่ายตรงข้าม และหาประโยชน์ส่วนตน
การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 จึงอาจเป็นเพียงภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของวิกฤตสื่อมวลชนในยุคแห่งความปั่นป่วน (Disruptive) จากความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะการเป็นหนึ่งในเสาหลักและฟันเฟืองค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย
อ้างอิง
“Newspaper Endorsements of Candidates,” LSU Scholarly Repository, accessed October 29, 2024, https://repository.lsu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1233&context=honors_etd
https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2024/11/kamala-harris-atlantic-endorsement/679944/
https://www.politico.com/news/2024/09/30/new-york-times-kamala-harris-endorsement-00181639
https://edition.cnn.com/2024/10/28/media/washington-post-endorsement-subscribers-resign/index.html
https://archive.org/details/LippmannMerzATestoftheNews
Tags: สหรัฐอเมริกา, แฮร์ริส, ทรัมป์, ความเป็นกลาง, The Guardian, The Washington Post, เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา, สื่อต่างประเทศ, เลือกตั้งสหรัฐ, สื่ออเมริกัน, สำนักข่าว, Analysis, The Momentum ANALYSIS, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024, สื่อ, US Election 2024, สื่อมวลชน, กมลา แฮร์ริส