กลายเป็นเรื่องที่ชวน ‘หัวเสีย’ และไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น หลัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อภิมหาเศรษฐีเจ้าของแอปพลิเคชันนกสีฟ้า ทวิตเตอร์ (Twitter) ประกาศ ‘นโยบายจำกัดการมองเห็นทวิตฯ’ ชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค 

นโยบายดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บัญชีที่ไม่ยืนยันตัวตนหรือไม่มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า จะสามารถเห็นข้อความ 1,000 ทวิตต่อวัน ส่วนแอ็กเคานต์ที่ได้รับการยืนยันตัวตนหรือ ‘จ่ายเงิน’ เพื่อใช้บริการพิเศษอย่างทวิตเตอร์บลู (Twitter Blue) มีโควตาเห็นข้อความได้ถึง 1 หมื่นทวิต ขณะที่บัญชีสมัครใหม่จำกัดการเห็นแค่ 500 ทวิต

‘เขาให้ใช้ฟรีมาตั้งนาน ตอนนี้จ่ายเงินก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย’

‘ดีแล้ว พวก Woke จะได้ไปใช้เวลากับครอบครัว ไม่ต้องอุดอู้คร่ำครวญเรียกร้องความเท่าเทียมในโลกเสมือนจริง’

‘คนที่บ่นว่าติดลิมิตการมองเห็น เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่าปะ’

ข้อความส่วนหนึ่งที่ออกโรงสนับสนุนนโยบายดังกล่าว หลายคนมองว่ามัสก์ทำถูกต้องแล้ว ผู้คนไม่ควรเสียเวลาส่วนใหญ่กับกิจกรรมไร้สาระอย่างการนั่งเล่นทวิตเตอร์ พวกเขามองว่า สิ่งเหล่านี้กระทบกับการทำงาน ขัดขวางการใช้เวลากับคนรัก ซึ่งอภิมหาเศรษฐีรายนี้ก็ทวีตเนื้อหาทำนองเดียวกันว่า

“คุณต้องตื่นจากห้วงภวังค์ อยู่ห่างไกลจากโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้เวลากับเพื่อน และครอบครัวของคุณ”

“โอ้ ตลกร้ายจริงๆ ติดลิมิตทวิต เพราะบ่นนโยบายการติดลิมิต”

แต่หากพิจารณาลึกซึ้งถึงมิติอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมและการเมือง นโยบายดังกล่าวกำลังตอกย้ำข้อถกเถียงว่าด้วย ‘ทวิตเตอร์กำลังกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่ง’ ให้เป็นจริง เมื่อการเข้ามาของมัสก์ในแอปพลิเคชันนกสีฟ้า บดบังเสียงเล็กๆ ของผู้คน โดยเฉพาะ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ (Freedom of Expression) ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่โตสำหรับนักเคลื่อนไหว ขณะที่กลุ่มผู้มีอำนาจอย่างฝ่ายขวาหัวรุนแรงมีพื้นที่มากขึ้น 

ยังไม่รวมถึงการตอกย้ำประเด็น ‘Digital Colonialism’ หรืออาณานิคมในรูปแบบดิจิทัล หลังมัสก์กับกลุ่มนายทุนจำนวนหนึ่ง พยายามขูดรีดผู้ใช้บริการให้จำนนต่อนโยบายใหม่อย่างไม่มีทางเลือก

เพราะผลงานมักสะท้อนความคิดของผู้ที่เป็นเจ้าของเสมอ The Momentum ชวนทุกคน มองกระแส ‘ขวาหัน’ ในทวิตเตอร์ และ Digital Colonialism หลังการเข้ามาของ อีลอน มัสก์ เพื่อมองปัญหาของทวิตเตอร์อีกด้าน เมื่อพื้นที่สีฟ้าถูกมายาคติเดิมๆ บดบังว่า เป็นพื้นที่ของกลุ่มก้าวหน้า หรือที่หลายคนมักเรียกติดปากว่า ‘พวก Woke’ แต่ความจริงแล้ว ผู้มีอำนาจและกลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งต่างหาก ที่กำลังครอบครองและกลืนกินพื้นที่แห่งนี้

อาณาจักรนกสีฟ้า: การเข้ามาของอภิมหาเศรษฐีอันดับสอง พร้อมกับ ‘กระแสขวาหัน’

ใครจะคิดว่า การยื่นซื้อทวิตเตอร์ของอภิมหาเศรษฐีในราคา 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,546,600,000 บาท) จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอาณาจักรนกสีฟ้า 

อ้างอิงการรายงานของดิแอตแลนติก (The Atlantic) และเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่าการเข้ามาของมัสก์สัมพันธ์กับการเพิ่มจำนวนของ ‘เฟกนิวส์’ และ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ มากมาย 

ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกนโยบายคัดกรองข้อมูลโรคระบาดโควิด-19 หรือการสนับสนุนเฟกนิวส์ หลังมัสก์พูดคุยกับคนที่ก่อเรื่องราวจอมปลอมอย่าง เอียน ไมลส์ ชอง (Ian Miles Cheong) ถึง 20 ครั้ง ขณะที่ประกาศตัวเป็นศัตรูกับผู้คนที่วิจารณ์เขาอย่าง อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez: AOC) นักการเมืองหญิงจากพรรคเดโมแครต (Democrat Party) หรือสตีเฟน คิง (Stephen King) นักเขียนชื่อดังที่ประกาศตัวสนับสนุนพรรคเดโมแครต

ที่มา: New York Times

ขณะเดียวกัน ฝ่ายขวาที่ถูกปราบปรามในเหตุการณ์จลาจล ณ ทำเนียบขาว ปี 2021 กลับเข้ามามีอิทธิพลในอาณาจักรนกสีฟ้าอีกครั้ง เมื่อมัสก์ ‘นิรโทษกรรม’ คืนพื้นที่ให้กับกลุ่มเหล่านี้

การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นตัวอย่างชัดเจน แม้ว่าความผิดของอดีตประธานาธิบดีในฐาน ‘ปลุกระดมใช้ความรุนแรง’ เป็นที่ประจักษ์ แต่มัสก์ก็ตอบสนองกระแสต่อต้านว่า ตนเคารพหลักการเสียงส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างถึง ‘ความคิดเห็น’ ของมวลชนในทวิตเตอร์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัมป์กลับมาได้

นักวิเคราะห์บางคนถึงกับลงความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมรูปแบบใหม่ของทวิตเตอร์ ส่งผลโดยตรงกับการเคลื่อนไหวในระบอบประชาธิปไตย และวาทกรรมในหน้าสื่อ 

ซาราห์ เฮิร์สต์ (Sarah Hurst) นักข่าวอิสระจากสหราชอาณาจักร เริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มนี้ หลังปรากฏแอ็กเคานต์และข้อความจากรัฐบาลรัสเซีย หรือสื่อที่สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อรัฐบาลมอสโกและจีน ในหน้าฟีด ‘สำหรับคุณ’ ของเธอ เช่น อาร์ที (RT) หรือโกลบอลไทม์ (Global Times) ทั้งที่ไม่ได้เลือกรับข้อมูลของทั้งสองเลย 

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลเป็นพิเศษ คือเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) มีรายงานจากซีเอ็นบีซี (CNBC) เปิดเผยว่า บรรดานักข่าวจากสื่อต่างๆ ถูกระงับแอ็กเคานต์ในทวิตเตอร์ 

ไม่ว่าจะเป็น ไรแอน แม็ก (Ryan Mac) จากนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) โดนี โอซัลลีแวน (Donie O’Sullivan) จากซีเอ็นเอ็น (CNN) หรือสตีฟ เฮอร์แมน (Steve Herman) จากวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America: VOC) รวมถึงนักข่าวอิสระหลายราย ซึ่งมัสก์อ้างสาเหตุ ‘การรุกล้ำความเป็นส่วนตัว’ โดยเฉพาะ การติดตามเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของเขา

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับข้ออ้างดังกล่าว องค์กรเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเขา นับตั้งแต่แอมเนสตี (Amnesty) จนถึงกลุ่มวอชด็อกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

“ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการสร้างเครือข่าย สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการให้ข้อมูล ไม่ควรได้รับการตัดสินจากมัสก์ว่าถูกต้องหรือไม่

“ความเคลื่อนไหวล่าสุดของมัสก์ แสดงให้เห็นถึงอันตรายของบริษัทเทคโนโลยีที่ไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งมีอำนาจควบคุมแพลตฟอร์มทั้งหมดที่พวกเราพึ่งพาด้านข่าวสารและข้อมูลสำคัญอื่นๆ” แอมเนสตีแถลง

“เขาเป็นคนใหญ่โต เป็นคนมีหน้ามีตาในสื่อ สาธารณชนสนใจคำพูดและผู้คนที่เขาพบปะ

“เขาเป็นที่จับจ้องในการรายงานต่อสิ่งที่เขาทำ การพบปะกับใคร เขาทำเงินได้มากมายและได้รับการยอมรับ แต่เขาดันไม่เต็มใจที่จะยอมรับวิธีการที่นักข่าวจะรายงานข้อมูลของเขา” เดวิด เคย์ (David Kaye) อธิบาย อีกทั้งยังเชื่อมโยงว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจทำให้รัฐเข้ามามีบทบาทปิดปากผู้คนหรือนักข่าวในอนาคตมากขึ้น

Digital Colonialism: อาณานิคมในแบบดิจิทัล เมื่อนายทุนขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบผ่านเทคโนโลยี

กระแสวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนต่อนโยบายจำกัดข้อความของมัสก์ยังเชื่อมโยงกับประเด็น Digital Colonialism หรืออาณานิคมในรูปแบบดิจิทัล หลังหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในโลกพยายามขูดรีดผู้บริโภค โดยที่พวกเขาไม่มีอำนาจต่อรองได้

ขยายความให้ชัดเจน ระบอบอาณานิคมในนิยามดั้งเดิม คือการเข้ายึดครองดินแดน ขูดรีดทรัพยากรจากชนพื้นเมือง รวมถึงควบคุมโครงสร้างพื้นฐานของรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งตามประวัติศาสตร์โลก กลุ่มประเทศจักรวรรดิในยุโรปมักดำเนินนโยบายดังกล่าวกับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา

แม้ประเทศเจ้าอาณานิคมเหมือนจะสร้างสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศใต้ปกครอง แต่สิ่งเหล่านี้กลับซ้ำเติมให้พวกเขาต้องเผชิญภาวะด้อยพัฒนาลง เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างทางรถไฟที่ใครหลายคนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องน่ายินดีและพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมืองสำหรับชนพื้นเมือง แต่ในความเป็นจริง ฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์มากสุด คือประเทศเจ้าอาณานิคม เพราะพวกเขาสามารถขูดรีดทรัพยากรกลับสู่จักรวรรดิของตนเองได้ 

มิหนำซ้ำ เหล่าประเทศจักรวรรดิยังนำสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแล้ว กลับเข้ามาขายในประเทศอาณานิคม ซึ่งกระบวนดังกล่าวยิ่งบ่อนทำลายช่างฝีมือท้องถิ่นและความสามารถในการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศใต้ปกครองลงเรื่อยๆ 

สำหรับกรณีอาณานิคมในรูปแบบดิจิทัล หัวใจสำคัญอย่างการแสวงหาผลกำไรและการขูดรีดทรัพยากรยังคงอยู่ แต่เนื้อหาและรายละเอียดบางอย่างกลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

หากเส้นทางรถไฟคือวิธีการสูบทรัพยากรของอาณานิคมในรูปแบบเดิม สำหรับอาณานิคมแบบดิจิทัล สิ่งเหล่านั้นคือบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ระบบคลาวด์ขององค์กร หรือแม้แต่บริการอินเทอร์เน็ตแบบรวมศูนย์เพื่อสอดแนมผู้ใช้และนำข้อมูลไปขายต่อ ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบแอปพลิเคชันที่เราคุ้นเคยอย่างดี

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ยากจนอย่างกลุ่มซีกโลกใต้ (Global South) ก็จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนั้นต่อไปเรื่อยๆ เพราะความเคยชิน หากจะ ‘หนี’ หรือ ‘พัฒนา’ แข่งขัน ก็ไม่สามารถทำได้เทียบเท่าหรือดีกว่าชาติตะวันตก เพราะการผูกขาดของกลุ่มนายทุน ทั้งเงินทุนและอำนาจที่สะสมจากมูลค่าของเทคโนโลยีดังกล่าว

เฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกยกตัวอย่าง หลังจากให้บริการ ‘Free Basic’ หรืออินเทอร์เน็ตเวอร์ชันฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อยในหลายประเทศ เช่น อินเดียและแอฟริกาใต้ 

โฆษณา Free Basic ในอินเดีย (ที่มา: Reuters)

แต่ภายหลัง ระบบให้บริการดังกล่าวมีข้อถกเถียงในแง่ลบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบ่อนทำลายระบบพัฒนาเทคโนโลยีในท้องถิ่น การสอดแนมข้อมูล อีกทั้งยังมีประเด็น ‘ต้องจ่ายค่าบริการ’ หากจะเข้าถึงข้อมูลการค้นหาฉบับเต็ม

เช่นเดียวกับกรณีของทวิตเตอร์ เมื่อการมองเห็นทุกข้อความในทวิตเตอร์ กลายเป็นสิทธิพิเศษ และถูกกำหนดด้วยราคาเงินที่ต้องจ่าย ด้วยกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยมัสก์ ชายผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรนกสีฟ้า 

หลายคนยอมจำนนต่อระบบดังกล่าวด้วยการเสียเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาอันชวนปวดหัว เพราะสำหรับใครหลายคน ทวิตเตอร์เป็นมากกว่าแพลตฟอร์ม พวกเขามองว่า นี่คือสังคมอีกโลกหนึ่งที่มีหัวข้อการสนทนาอันน่าทึ่ง (และอาจจะชวนปวดหัวบ้าง) อีกทั้งยังพบเจอผู้คนแปลกใหม่ที่พูดคุยอย่างถูกคอ เพราะความสนใจในประเด็นเดียวกัน 

ขณะเดียวกัน หากผู้ที่ไม่ใช่นายทุนหรือชนชั้นนำ จะแข่งขันพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ให้ทัดเทียมกับทวิตเตอร์ ก็อาจพบเจอความยากลำบาก เพราะอำนาจคอนเน็กชันและเงินทุนมหาศาลของมัสก์ อภิมหาเศรษฐีอันดับสอง ที่เป็นต่อกว่าใครๆ อีกจำนวนมาก

บทสรุปนี้จึงเป็นสิ่งที่คาดเดาลำบาก ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไร เพราะมีการคาดเดาว่า นโยบายของมัสก์อาจทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ในแพลตฟอร์มนกสีฟ้า แต่ยังไม่แน่ชัดว่า จุดหมายถัดไปของประชากรชาวทวิตเตอร์คือที่ไหน

หรือสุดท้าย หลายคนอาจจะต้องจำยอม ‘สู้ไปเสียเงินไป’ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการทวีตข้อความด่าก็เป็นได้

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/thai/articles/c727jl0w2n2o

https://twitter.com/Garetktpz/status/1675213606668099584

https://www.thestreet.com/technology/elon-musk-has-warm-words-for-donald-trump

https://www.theatlantic.com/technology/archive/2023/05/elon-musk-ron-desantis-2024-twitter/674149/

https://edition.cnn.com/2023/04/12/tech/elon-musk-bbc-interview-twitter-intl-hnk/index.html

https://www.nbcnews.com/tech/social-media/elon-musk-twitter-suspension-journalists-ban-free-speech-rcna62079

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/12/under-musk-twitters-shifting-rules-on-state-media-under-fire

https://newrepublic.com/article/170931/elon-musk-twitter-right-wing-conspiracy-theories

https://www.nbcnews.com/tech/social-media/elon-musk-twitter-suspension-journalists-ban-free-speech-rcna62079

https://www.aljazeera.com/features/2016/2/9/indias-relationship-with-facebook-and-free-basics

Tags: , , , , , , , , ,