ก่อนที่การ ‘กลับบ้าน’ เชียงใหม่ วันที่ 14 มีนาคม 2567 ของ ทักษิณ ชินวัตร จะมาถึง เรื่องสำคัญก็คือการเมืองเบื้องหลังพื้นที่ที่เคยเป็น ‘สีแดง’ เข้มข้นอย่างจังหวัดเชียงใหม่ เคยเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคเหนือ และจังหวัดที่ควรจะเป็น ‘ของตาย’ ของตระกูลชินวัตร เป็นจังหวัดที่แทบจะ ‘แพ้ไม่ได้’ และไม่ควรจะแพ้แม้แต่เขตเดียว
ทว่าการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งกลับสะท้อนว่า ตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลราบคาบ ไม่ว่าจะเป็นเขตอำเภอเมือง เขตอำเภอสันทราย เขตอำเภอสารภี เขตอำเภอดอยสะเก็ด เขตอำเภอสันกำแพง เขตอำเภอแม่ริม เขตอำเภอหางดง เรื่อยไปจนถึงเขตอำเภอเวียงแหง
คำถามสำคัญก็คือ เกิดอะไรขึ้นที่เชียงใหม่… เพราะอะไร แบรนด์ทักษิณ แบรนด์เพื่อไทย จึงไม่ได้ ‘ขลัง’ ดังเดิม ขณะเดียวกัน เมื่อทักษิณในฐานะของผู้ต้องขังที่ได้รับการ ‘พักโทษ’ เลือกเยือนเชียงใหม่เป็นจุดหมายแรก จะเปลี่ยนอะไรในการเมืองเชียงใหม่ได้หรือไม่?
ก่อนอื่น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือแบรนด์ ‘ชินวัตร’ ในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มแข็งแรงเมื่อใด คำตอบก็คือแข็งแรงเรื่อยมา หากนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 ที่ส่งให้ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น พรรคไทยรักไทยกวาด ส.ส. 9 จาก 10 คน และเขตที่แข็งแรงที่สุดคือพื้นที่เขต 2 เขตอำเภอเมือง ซึ่งรวมเมืองฝั่งวัดเกต หนองป่าครั่ง หนองหอย ป่าแดด และอำเภอสารภี ที่ในเวลานั้นมี ส.ส.คือน้องสาวของทักษิณอย่าง เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ไปกว่า 2 หมื่นคะแนน
นับจากวันนั้นมีการเลือกตั้งต่อมาอีกหลายครั้ง ทักษิณมอบให้ ‘เจ๊แดง’ เป็นแม่ทัพเชียงใหม่ จุดที่แข็งแรงที่สุดหนีไม่พ้นเขตเมืองที่ตระกูล ‘บูรณุปกรณ์’ คอยดูแล บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ แทบจะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตลอดกาล ขณะที่วงศาคณาญาติของบุญเลิศก็ดูแลเทศบาลนคร ถึงจุดนี้ การผสมผสานกันระหว่างเยาวภากับบูรณุปกรณ์ดูจะไปกันได้ดี คอการเมืองคุ้นชื่อ ‘วังบัวบาน’ มุ้งของเยาวภาที่ตั้งตามชื่อน้ำตกบนดอยสุเทพ การผสมผสานนี้แทบจะทำให้กลุ่มดังกล่าวครองเชียงใหม่ตลอดกาล สอดรับกับนโยบายหลายอย่างของทักษิณที่ ‘ขายได้’ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรคและกองทุนหมู่บ้าน ทำให้วังบัวบานขยายใหญ่ไปถึงภาคเหนือตอนบน เรื่อยไปจนถึงลำพูน พะเยา และเชียงรายของ ยงยุทธ ติยะไพรัช
ถึงจุดนี้ ไม่ว่าคนเชียงใหม่จะเบื่อ ส.ส.หน้าเดิมๆ หรือเบื่อตระกูลบุรณุปกรณ์เพียงใด แต่ถ้าเดินสาย ‘ประชาธิปไตย’ ก็มีตัวเลือกเดียวคือพรรคเพื่อไทย ไม่มีคู่แข่งใดที่อาจเทียบรัศมี ขณะที่ตระกูลชินวัตรก็ประเมินเชียงใหม่ในฐานะ ‘เซฟโซน’ ต่อให้เลือกกี่ครั้ง เชียงใหม่ก็ยังเป็นของตาย
แล้วจุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน? – ในการเลือกตั้งปี 2554 อำนาจต่อรองของ ‘วังบัวบาน’ ส่งให้บุคคลสำคัญ 2 คนจากมุ้งนี้ได้เก้าอี้กระทรวงเกรดเอ หนึ่งคือ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีกหนึ่งคือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีเยาวภาเป็นเงาอยู่ข้างหลัง
ทว่าหลังบุญทรงดำรงตำแหน่งไม่นานก็เกิดการทุจริตครั้งมโหฬาร ที่เกิดขึ้นข้างหลังโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จริงอยู่ โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายหาเสียง เริ่มต้นด้วยหลักการที่ดี ทว่าในทางปฏิบัติกลับมีช่องโหว่ มีนักการเมืองเข้าไปหาเศษหาเลยมากมาย ตั้งแต่การรับซื้อข้าวในราคาสูง ขายไปให้พรรคพวกในราคาต่ำ, การวนข้าว เอาข้าวที่เข้าโครงการไปแล้วกลับมาวนขายอีกทีเพื่อให้ได้ราคาสูง เรื่อยไปจนถึงการระบายข้าวแบบ ‘รัฐต่อรัฐ’ ที่ไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งไม่ว่าใครจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสำคัญหนีไม่พ้นบุญทรง ส.ส.เชียงใหม่ คนของเยาวภา
ว่ากันว่าเรื่อง ‘ข้าว’ นอกจากจะเป็นเหตุผลสำคัญในการรัฐประหาร 2557 แล้ว ยังเป็นเหตุผลสำคัญทำให้คนในตระกูลชินวัตรไม่ไว้ใจฟากฝั่งของ ‘เยาวภา’ อีกต่อไป เช่นเดียวกับหลายคนในพรรคที่เห็นเรื่องทั้งหมดในแบบคล้ายๆ กัน ถึงตรงนี้ ศูนย์กลางการจัดการแบบวังบัวบานก็ค่อยๆ เฟดลงไป คงเหลือแต่การจัดการตัวเอง และการวิ่งเข้าหาทักษิณโดยตรง เป็นช่วงเวลาเดียวกับการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พอดิบพอดี
เรื่องใหญ่อีกอย่างของการเมืองเชียงใหม่ ก็คือการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ในปี 2563 เมื่อนายใหญ่ตัดสินใจไม่สนับสนุนบุญเลิศ คนในคาถาเดิม หากแต่เลือกไปสนับสนุน พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ที่ว่ากันว่ามีเงินถุงเงินถังมากกว่า
การหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ขั้นสุดท้าย ถึงขั้นทักษิณต้องเขียนจดหมายน้อยถึงชาวเชียงใหม่ ให้ช่วยกันเลือกพิชัย จนเป็นเหตุให้สุดท้ายพิชัยคว้าเก้าอี้นายก อบจ. และตระกูลชินวัตรยังคงแข็งแรงในเก้าอี้นี้ต่อไป
แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมการเติบโตขึ้นของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล
ในการเลือกตั้งปี 2562 เขตเลือกตั้งที่ 1 อำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่แพ้พรรคเพื่อไทยไปเพียง 700 คะแนน ในการเลือกตั้งปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยจึงเลือกส่งผู้สมัครที่แข็งกว่าอย่าง จักรพล ตั้งสุทธิธรรม มาลงเขต 1 แทน แล้วสลับทัศนีย์ ส.ส.เดิมของเขตนี้ ไปลงเขตอำเภอสันกำแพง
หากพิจารณาตัวผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ของพรรคเพื่อไทย จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นวงศาคณาญาติของนักการเมืองเก่า เป็นลูกหลานของผู้สมัครเดิม รวมถึงเป็นผู้สมัครเดิมซึ่งมีวัยวุฒิค่อนข้างมาก เป็นต้นว่า สุรพล เกียรติไชยากร (84 ปี) ผู้สมัครเขตเชียงดาว วิทยา ทรงคำ (68 ปี) ผู้สมัครเขตสันทราย
พรรคเพื่อไทย ซึ่งดีกรีของเยาวภาและวังบัวบานเข้มข้นน้อยลงแล้ว เดินเกมโดยอาศัยบทบาทของ ‘ส่วนกลาง’ และอาศัยจังหวะการลงพื้นที่ของ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของทักษิณ มาเป็นตัวชูโรง มั่นใจว่าถึงอย่างไรเครือข่ายของนักการเมืองเก่าแบรนด์ของทักษิณ จะยังทำให้เพื่อไทยคว้าชัยทั้ง 10 เขตเลือกตั้งได้ ตอกย้ำความเป็นเมืองหลวงเสื้อแดง
แต่ถึงหยั่งเสียงอย่างไร ก็ทานกระแสก้าวไกลไม่ไหว ด้วยหลายเหตุหลายปัจจัย
ประการแรก-คนเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยเบื่อ ส.ส.หน้าเดิมเต็มทน เพราะแม้ภาพของพรรคจะดีอย่างไร ต่อให้ ส.ส.ไม่มีผลงานก็จบ ขณะเดียวกัน เมื่อก้าวไกลมาในฟากของ ‘ประชาธิปไตย’ เช่นเดียวกัน ก็เท่ากับว่าคนเชียงใหม่มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นแล้ว
ประการที่สอง-นายก อบจ.ตัวแทนของ ‘ทักษิณ’ สร้างความผิดหวังให้กับคนเชียงใหม่ไม่น้อย ถึงตรงนี้ แฟนคลับพรรคเพื่อไทยหลายคนยังบ่นตรงกันด้วยความไม่เข้าใจว่า ชินวัตรส่งอะไรมาให้คนเชียงใหม่เลือก การเลือกพิชัยแทนตระกูลบูรณุปกรณ์ ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์เสียงแตก ฐานเสียงฝั่งบูรณุปกรณ์เดิมไม่น้อยเลือกไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ ส.ส.เพื่อไทยพ่ายไปในหลายเขต
ประการที่สาม-เชียงใหม่กับความเป็น ‘เมือง’ ที่สูงขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่เมืองเชียงใหม่ไล่ไปจนถึงอำเภอรอบนอก ไม่ว่าจะเป็นหางดง แม่ริม สันทราย สันกำแพง และสารภี มีความเป็นเมืองที่สูงขึ้นมาก จากบ้านไม่มีรั้วไปสู่บ้านมีรั้ว เป็นปรากฏการณ์เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ฉะนั้น ‘กระแส’ จึงเริ่มนำหน้าภาพของ ส.ส.แบบเดิม และการเมืองแบบเดิมที่อาศัยเครือข่าย อาศัยหัวคะแนน กระแสของก้าวไกลในเชียงใหม่ยังลามไปถึงจังหวัดข้างเคียงอย่างลำพูน ลำปาง เรื่อยไปจนถึงตาก ที่ก้าวไกลชนะ ส.ส.เดิมของเพื่อไทยไปได้หลายเขต
เหตุทั้งหมดจึงทำให้การเมืองเชียงใหม่ครึกครื้นขึ้น เมื่อทักษิณเริ่มเดินทางกลับไปเยือนพื้นที่ ปลุกความชุ่มชื้นให้บรรดา ส.ส. บรรดานักการเมืองในพื้นที่ว่า จะมีหวังอยู่บ้างในการทวงคืนสมรภูมิสำคัญกลับมา และไม่ว่าจะเป็นมุ้งของเยาวภา กลุ่มบูรณุปกรณ์ หรือฟากตระกูลชินวัตร ก็ต้องการที่ทางของตัวเองในดินแดนล้านนาแห่งนี้
ว่ากันว่าหากทักษิณลงพื้นที่จะสามารถรวมมวลชนได้อีกครั้ง เรียกศรัทธาให้กลับมารวมศูนย์ที่ทักษิณได้ โมเดลดังกล่าวอาจเกิดขึ้นอีกในหลายจังหวัด เมื่อทักษิณพ้นโทษเต็มตัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาอาจเดินในแบบเดียวกับที่ ‘คณะก้าวหน้า’ ช่วยพรรคก้าวไกลเดิน เป็นการเดินอีกขาเพื่อช่วยให้ศรัทธาในพรรคเพื่อไทยกลับมา เพิ่มจุดขายในยุคที่จุดยืนทางการเมืองของพรรคนี้เปลี่ยนไปแบบกู่ไม่กลับ
การเดินทางเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้จึงมีความหมายเป็นอย่างยิ่งสำหรับทักษิณ สำหรับพรรคเพื่อไทย และแน่นอนว่าจะเป็นตัวชี้ภาพการเมืองไทยต่อไปในอนาคตอันใกล้
โจทย์นี้ไม่ง่ายนัก และแน่นอนว่าหากพรรคก้าวไกล องคาพยพของก้าวไกล และความคิดของก้าวไกลยังคงอยู่ ก็จะรบกวนเส้นทางของพรรคเพื่อไทยต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
Tags: เชียงใหม่, เพื่อไทย, คนเสื้อแดง, ทักษิณ, ก้าวไกล, Analysis, The Momentum ANALYSIS