ปีนี้เป็นปีที่ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) ก่อตั้งขึ้นเป็นปีที่ 13 อาคารรูปทรง ‘เมล็ดข้าว’ ล้ำๆ อยู่กลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่เหียะ ขยายใหญ่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีเจ้าหน้าที่รวมแล้วกว่า 200 คน จากทีมย่อย 22 ทีม

ทั้งหมดอยู่ท่ามกลางคำถามว่า หน่วยงานแห่งนี้ทำอะไร ภารกิจของหน่วยงานนี้คืออะไร และเพราะเหตุใดจึงเป็นหน่วยงานแห่ง ‘อนาคต’ ที่จะทำหน้าที่เป็นโฉมหน้าว่าด้วยการนำงานวิจัยมาสร้างรายได้ นำมหาวิทยาลัยมาเชื่อมกับโลกภายนอก Connect the Dot นำโลกเก่าและโลกใหม่ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน

The Momentum ได้โอกาสสนทนากับ วิน-ปิติวัฒน์ วัฒนชัย หรืออาจารย์วินของบรรดาเจ้าหน้าที่ STeP ผู้เคยทำหน้าที่เป็นรองศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผันตัวมาเป็นผู้อำนวยการ STeP เพื่อฉายภาพให้เห็นการเดินทางของ STeP – หน่วยงานโลกใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวนำในการสร้างรายได้ และแนวโน้มของธุรกิจสตาร์ทอัพ ว่า ณ วันนี้ ในปี 2566 วันที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากล้มเลิกกลางคัน ยังคงหอมหวานอยู่หรือไม่

ช่วยอธิบายสั้นๆ ว่า STeP คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร

เราเป็นนิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ แปลว่าเราพยายามสร้างธุรกิจ หรือการทำบริษัท ผ่านทาง Science Technology พอทุกคำผนวกรวมกัน เราเน้นคำว่า นวัตกรรม คือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เคยวิจัย ทำงานวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) เรียบร้อย ให้ไปสู่ปลายทาง สู่ผู้ใช้งานจริงๆ และถึงมือผู้ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อสิ่งของเหล่านี้จริงๆ โดยลากเส้นต่อจุด (Connect the Dot) มองหาหนทาง ให้โลกของซัพพลายและดีมานด์มาเจอกัน 

โดยปกติ นักวิจัยหรือนักประดิษฐ์มักจะมองปลายทางไปสู่มือผู้ใช้บริการไม่ออก เพราะฉะนั้น STeP ก็พยายามทำให้เห็นปลายทางฝั่งดีมานด์ด้วย

ขณะที่ในฝั่งดีมานด์ เราก็พยายามให้เขารู้ว่าการเสพของใหม่ที่ดีขึ้น สะดวกขึ้น ถูกลง หรือแม้แต่แต่ก่อน ปริมาณยังมีไม่มากพอ ก็ทำให้มีมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ ถ้าปริมาณมีไม่มากพอ เราก็พยายามทำให้มีมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น

ฝั่งดีมานด์ก็จะเห็นว่า ความหวังเขาอยู่ทางฝั่งซัพพลายนะ ก็เลยเกิดความร่วมมือ เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Supply Demand Alignment นั่นคือทำให้สองสิ่งสามารถเจอกันได้

โปรดักต์ที่ STeP ทำมีหลายตัว เราอาจไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง แต่เราสามารถเชื่อมดีมานด์กับซัพพลายเข้าด้วยกัน ไม่ได้เป็นเจ้าของของเทคโนโลยีเอง แต่เราเป็นตัวเชื่อม นอกจากใช้คำว่า System Indicator แล้ว มันยังมีคำว่า Intermediatory แปลว่าเราอยู่ตรงกลางระหว่างซัพพลายกับดีมานด์ ตัวอย่างมีทั้งโปรดักต์ที่หยิบจับใช้สอยได้ เวลาอยู่บนเชลฟ์ เวลาเราไปซูเปอร์มาร์เก็ต มีทั้งงานบริการ มีทั้งเว็บแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้ขั้นตอน กระบวนการ และอุตสาหกรรมที่ผลิตแบบ Large Scale มันเกิดเร็วขึ้นได้

โมเดลแบบนี้มาจากไหน

เราไม่ได้คิดเจ้าแรก ผมจบจากญี่ปุ่น Science Park ไม่ได้โด่งดังในญี่ปุ่น แต่ Science Park ไปโด่งดัง เจริญงอกงาม เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จของเกาหลีใต้ที่ทำให้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่โต กระทั่งเกือบสิบปีที่แล้ว ก้าวกระโดดอย่างมหัศจรรย์ 

พอผมกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ทำงานวิจัยสักระยะ เรารู้ว่างานวิจัยของเรา กว่าจะไปถึงปลายทางมันช่างยากลำบาก ต้องหาใครสักคนช่วย คำว่า Science Park จึงเริ่มเข้ามาในชีวิต

สถานที่แรกที่เรียนรู้คือที่เกาหลี Daedeok Innopolis ครบถ้วนทั้ง Ecosystem โดยปกติ ผมเป็นวิศวกรโยธา การต่อจิ๊กซอว์แต่ละอันมักเริ่มต้นจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่ ตึก ออฟฟิศ แล็บ ร้านค้า ให้เกิดการค้าขาย มันอยู่ในวิธีคิดผมอยู่แล้ว 

ถ้าสักสิบปีก่อน ผมจะเริ่มเรื่องพวกนี้ก็ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีพื้นที่ แล้วผมก็ต้องไปเติมกลไกด้าน Soft เพื่อลากเส้นต่อจุด ให้ไปทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ส่วนนี้ ก็ต้องใช้คำว่า Technology Commercialization คือการเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ไปใช้เชิงพาณิชย์ได้

Science Park จึงเป็นประเภทธุรกิจแบบหนึ่ง เป็นตัวกลางระหว่างปลายทาง กับผู้ผลิต แล้วประเทศชาติจะอยู่รอดได้ ด้วยการนำทรัพย์ในดิน สินในน้ำ มาทำให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้นมากๆ ไม่ว่าจะ ใบไม้ ต้นไม้ รากหญ้า ดอกไม้ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปลี่ยนให้เป็นนวัตกรรมให้ได้ สุดท้าย ผู้ใช้งานปลายทางก็จะได้ประโยชน์

Science Park ทำงานกันอย่างไร

อย่างแรกคือมีซัพพลายอยู่แล้ว แล้วเราอยากได้ดีมานด์ เราเรียกฝั่งนี้ว่า Inside Out คือเรามองตัวเองว่าอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งมีแหล่งความชุกชุมของเทคโนโลยีอยู่ในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เป็น Inside Out Approach 

วิธีการมองคือ ต้องมองว่างานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ มีคุณค่าอะไรที่ฝั่ง End User (ผู้ใช้งานปลายทาง) อยากได้ แล้วเราเข้าไปแปลงร่างเป็นผลิตภัณฑ์ จากนั้นนำไป Upscale ให้ไปถึงคนในประเทศ 70 ล้านคน แล้วเราจะประเมินให้ว่า วิธีการที่จะไปถึงมือมันต้องผ่านใครบ้าง ต้องผ่านโลจิสติกส์แบบไหน ศูนย์กระจายสินค้าต้องเป็นแบบใด หรือไปอยู่ในร้านค้าแบบไหน ค่าการตลาด โครงสร้างราคาจะเป็นอย่างไร ให้คนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นๆ รู้ 

ก่อนอื่นคืออาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นฝั่งซัพพลาย ไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญเรื่องการตลาด การตลาด เรื่องพวกนี้ต้องให้คนที่อยู่ในโลกธุรกิจจริงๆ ไม่ว่าจะผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ๆ เข้ามาช่วย ดังนั้น วิธีการที่จะ​ Inside Out สำเร็จ คือการทำ licensing ขายสิทธิ ขายสิ่งที่วิจัยมาได้เรียบร้อยแล้ว ด้วยราคาอีกแบบหนึ่งแล้วประคองเขาไปจนกว่าจะผลิตได้จริง

อย่างไรก็ตาม เราเป็นฝั่ง Outside In มากกว่า คือจะมีดีมานด์จากเอกชนแล้ว เรารู้ความต้องการของตลาด รู้ว่า End User อยากได้อะไร แต่ด้วยตัวเขาและเทคโนโลยีที่มียังไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เลยเอามาให้อาจารย์ นักวิจัยในมหาวิทยาลัยมาช่วยคิด ช่วยแก้ ทั้งระยะเวลา เงิน เพื่อให้ Success Rate สูงขึ้น

เพราะฉะนั้น ฝั่งเอกชนก็รู้แล้วว่าการทำ R&D โดยมีนักวิจัยมาเกี่ยวข้องนั้นสำคัญ จึงต้องทำ R&D Unit ขึ้นมาในองค์กรของเขา แล้วฝั่งเราก็ส่งคนเข้าไปช่วย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นคนที่จบดอกเตอร์มาจากมหาวิทยาลัยแล้วไม่รู้จะทำอะไร อีกส่วนเป็นอาจารย์ ก็จะพกลูกศิษย์ปริญญาโท ปริญญาเอก เข้าไปช่วย สุดท้ายก็จะเกิดการจ้างงานต่อ กลายเป็นฝ่ายวิจัยในบริษัท ในโรงงานนั้นๆ ถ้าจัดวิธีการจัดการระบบวิจัยและพัฒนาของประเทศชาติก็จะเจริญขึ้นระดับหนึ่ง

แปลว่าก่อนที่จะมี STeP บรรดาคนเหล่านี้ก็จะวิ่งไปที่คณะวิศวะฯ หรือคณะต่างๆ แต่ตอนนี้คือผ่าน STeP โดยตรง

โจทย์พักหลังช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นโจทย์ที่อยู่ในสาขาวิชาเดียวหรือเป็น Single Disciplinary ที่จะตอบได้ หากแต่เป็นต้องใช้สหสาขาวิชา (Interdisciplinary) เข้ามาช่วยแก้ ดังนั้น เข้าไปทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์อย่างเดียวไม่จบ ดังนั้น การมีอยู่ของ STeP ก็จะรวมหลายศาสตร์ และหลายสาขาเข้าไปไว้ด้วยกัน

อีกส่วน มูลค่าที่เพิ่มมากที่สุดเกิดกับฝั่งสตาร์ทอัพ เพราะถ้าพูดถึงฝั่งสตาร์ทอัพแปลว่า ผู้เล่นเดิมซึ่งอยู่ในฝั่งดีมานด์นั้นไม่มี มีแต่ Tech อยู่ในฝั่งซัพพลายก็เลยเกิดสตาร์ทอัพ Approach แปลว่าเราสร้างผู้เล่นขึ้นมาเอง อาจจะเป็นอาจารย์ อาจจะเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เป็นศิษย์เก่า แล้วเราก็ดูฝั่ง มช.ให้เป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จต่อ แล้วก็ดูแลเครือข่ายด้วย

เมื่อทำงานใน Start Up Approach ก็ต้องทำตัวเป็น Incubator หรือในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมเรียกว่า Accelerator เป็นการบ่มเพาะ ถ้ามาจากรั้วฝั่งซัพพลายก็ต้องเติมองค์ความรู้ ถ้ามาจากฝั่งดีมานด์ก็ต้องทำแอ็กเคานต์ ทำการตลาด หาเม็ดเงินมาเพื่อการลงทุน ทำพีอาร์ ให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อเติมเข้าไปในสตาร์ทอัพ

เราพยายามให้สตาร์ทอัพของเราเกิด Global Mindset Global Marketing ก็เลยเกิดขึ้นว่าเวลาเราคิด จะแก้ Pain Point ใดๆ ก็ตาม เราจะคิดในลักษณะของทั้งโลก ดังนั้น ด้วยตัวเลข 70 ล้านคน จะกลายเป็น 7,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยเท่า ร้อยเท่าก็เป็นอีกสเกล ทั้งการผลิต โลจิสติกส์ วิธีการนำไปวางบนเชลฟ์ โดยใช้หลักการของนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ให้สตาร์ทอัพรู้ Pain Point ที่มันเป็น Common Pain Point ของทั้งโลก แล้วจัดการอย่างก้าวกระโดด อย่างรวดเร็ว

อยากให้ช่วยยก Success Case ที่ STeP เข้าไปช่วย

มีทั้งผลิตภัณฑ์ ฝั่งผลิตภัณฑ์เป็นของคุณจ๋า (ภัทราภรณ์ กันยะมี) The Little Onion เป็นเจ้าแรกที่ทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างมะกรูด ตามด้วย มังคุด มะขามป้อม ทำสบู่ แชมพู สิ่งที่เขามีคือเทคโนโลยีศูนย์กลางของเขาอยู่แล้ว แล้วเขาเป็นนักวิจัย เรียนอยู่ที่เมืองยอร์ก ประเทศอังกฤษ หลังจากเลิกเรียน ก็ไปขายของที่ตลาดนักช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

สิ่งที่พิสูจน์ได้คือเมื่อวางขาย ติดสรรพคุณเรียบร้อย สามารถอธิบายทั้งหมดว่า วัตถุดิบมีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร แล้วช่วยให้ร่างกายดีขึ้นอย่างไร ทั้งหมดสามารถอธิบายได้ตามหลักการ สามารถทำวิทยาศาสตร์ให้เป็นนวัตกรรมได้ แล้วกลับมาสร้างโรงงาน ทำผลิตภัณฑ์ให้ไปสู่ระดับโลก ไปอยู่ในโรงแรม 5-6 ดาวได้จริง มี Licensing หลายรูปแบบ

หรือฝั่งที่เป็น Process เป็น Service ก็มีหลายราย ยกตัวอย่างเช่น BeNeat www.beneat.co เรียกแม่บ้านออนไลน์ สามารถใช้โมบายแอปพลิเคชัน หรือ Horganize เป็นแอปพลิเคชันจัดการหอพัก ซึ่งขยายผลไปยังอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เช่น การจองล็อกตลาด การทำตลาดขายของสด เช่น ตลาดไท 

ขณะที่ในมุมของ Edtech เราก็มีหลายตัว อย่าง GoGo Board ก็เป็นเทคโนโลยีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ทำให้ระบบการศึกษาของเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม สามารถเรียนรู้ได้ตามเทรนด์โลก คือ AI Robotic ทั้งยังสามารถทำให้เขาเรียนรู้ว่าวิธีการสร้างชุดคำสั่ง Controller หรือเซนเซอร์ต่างๆ นั้น ทำงานอย่างไร ขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง เราเปลี่ยน Science Tech ให้เป็นนวัตกรรมผ่านสตาร์ทอัพได้

Success Case วัดจากอะไร

เราวัดด้วยมูลค่าของบริษัทนั้นๆ ที่เติบโตได้ จะ Exit จากเราได้ เราพยายามอยากให้เขาเป็น Pony มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2570 เราพยายามอยากให้มี Pony เกิดขึ้น ภายใต้ Incubator แบบเรา 60 เจ้า 60 คูณ 300 ล้าน ก็เท่ากับ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือเป็นมูลค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของ Unicorn แต่เราเชื่อว่า ขนาดเศรษฐกิจของผู้ที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบนี้จะมีมากกว่า Unicorn เพียงตัวเดียว มันทำให้คนได้เกิดประโยชน์ร่วม อยู่ดีกินดีมากขึ้น ได้ใช้ Science Tech ในชีวิตประจำวันได้

สำหรับ Tech สตาร์ทอัพ STeP เข้าไปช่วยในแง่ไหนบ้าง

ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาจะถือครองงานวิจัย ถือครองเทคโนโลยีอยู่แล้ว เราพยายามไปช่วยให้เขารู้จักตลาด ของตัวเอง คือรู้จักฝั่งดีมานด์ของ End User ว่าคือใคร แล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ว่าทำในลักษณะไหนแล้วใช้เวลาน้อยที่สุด เกิดมูลค่ามากที่สุด สำหรับวิธีการจะไปถึงฝั่งฝันได้ อย่างน้อยการทำการดูแลการผลิต และการระดมทุน นั้นสำคัญมาก ส่วนใหญ่หากไม่มีเงินถุงเงินถังก็ไปถึงเลเวลนั้นไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้ลงทุนเติมให้เต็ม

ปัจจุบัน เรารู้ขั้นตอนนี้สำคัญนี้มากในการปั้นบริษัทให้ใหญ่จริงๆ แล้วสามารถอยู่ในวงจรนี้ได้ซึ่งผู้ลงทุน เองก็มีหลายสเกล

ผู้ลงทุนของสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่มักจะมาจากผู้ลงทุนในรูปแบบครอบครัว (Family Investor) คือยืมเงินจากครอบครัว พี่น้อง พ่อแม่ ถ้าเงินก้อนนี้หมด ก็ต้องหาทางเบิร์นเงินต่อ

ในอดีตเรามักจะมองหา Angel แต่จริงๆ Angel ก็ผูกไว้ด้วยผลประโยชน์บางประการ ไม่ได้มี Angel จริงๆ เพราะ Angel มักจะอยู่ในร่างของ Venture Capital แบ่งออกเป็นสองทางคือ Syndicate กับ Corporate ส่วนของ Syndicate Corporate ก็จะลงทุนเพื่อเอาธุรกิจเข้าไปเพื่อเข้าไปอยู่ในธุรกิจที่เขามีอยู่แล้ว

ส่วน Syndicate จะเกิดจากกลุ่มบุคคลธรรมดามองเพียงแค่ผลประโยชน์ตอบแทน ว่าถ้าลงบริษัทนี้จะได้คืนเท่าไร อย่างไร ถ้าเราเอาชนะอัตราการคืนทุน เอาชนะอัตราส่วนของกำไรสุทธิกับค่าใช้จ่าย (Return of Investment: ROI) ต่างๆ ของพวก Asset Management เจ้าอื่นๆ แบงเกอร์เจ้าอื่นๆ หรือกองทุน เราก็สามารถกินลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ไปจนถึงพวกที่เป็นมหาชน 

ดังนั้นล่าสุด เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เราพยายามจะลิงก์กับตลาดหลักทรัพย์ ให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เข้าถึงการสนับสนุน Financial Support ได้ โดยที่กลุ่มนักลงทุนที่เป็นมหาชน เริ่มจากตลาด MAI มาก่อน เป็นเอสเอ็มอี (SMEs) ถ้าเขาไต่ไปได้ ก็อาจจะถึงตลาด SET ไปให้กว้างที่สุดในตลาดในประเทศให้ได้

แต่ถ้าเจ้าไหนมีศักยภาพจริง เราพยายามไปลุ้นกับ Indicator ต่างประเทศ ไปสู่ตลาดใหญ่กว่าเรา ของเรา วันนี้ตลาด SET วิ่งที่ 1,500-1,700 จุด แต่ Dow Jones, Nasdaq, SME500 นั้นใหญ่กว่าเราเป็นสิบกว่าเท่า วิ่งกัน 2-3 หมื่นจุด หรือ NIKKEI, Hang Seng ก็ต้องพาเขาลิงก์ไปให้ได้ เป็นภาพจบที่ค่อนข้างยั่งยืนไม่ทำให้เกิด Bubble

แต่เท่าที่ทราบ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็มีหลายราย ทำไมถึงต้องเลือก STeP

อย่างแรก เราดูจากพื้นที่ของเรา ว่าเราถนัดอะไร เผอิญว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสหสาขาวิชา จุดเด่นเรามีเยอะ ทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย แต่เหตุผลที่เป็น Area Base ก็คือ ในภาคกลางเรามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งดูแล ภาคเหนือ ด้วยสภาพพื้นที่ ด้วยความเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ด้วยสภาพทางสังคมวิทยา ทางเศรษฐกิจ ทำให้เราแชร์วัฒนธรรม แบบเดียวกับกลุ่ม CLMV (Cambodia Laos Myanmar Vietnam) บวกกับจีนเข้าไป ตลาดเราก็ใหญ่พอตัว และเมื่อบวกด้วยจีนเราก็เป็นมองโกลอยด์ เทียบกับประชากรทั่วโลกใน 7,000 ล้านคน เราเป็นจำนวนมากที่สุด 

คำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ หลายคนอาจบอกว่า มันไม่ได้ขลังเหมือนก่อนแล้ในความเห็นคุณ วงการนี้เป็นยังไงบ้าง

การประดิษฐ์คำของคำว่า ‘Startup’ โดยรากศัพท์จริงๆ มันก็คือการทำธุรกิจรายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ได้ รายใหม่ก็เรียกว่าสตาร์ทอัพแล้ว เผอิญเราใส่คำว่า Tech Startup คือต้องเกิดจากเทคโนโลยีที่ใหม่จริงๆ ตอบโจทย์ใหม่จริงๆ เพื่อให้ End User น้อมรับไว้ 

ดังนั้น คำว่า Early Adopter ก็อยู่ใน Curve ของการซื้อหาของนวัตกรรม ขณะเดียวกัน คำว่า Startup เองก็เป็นเครืองมือที่ตอบโจทย์กับเจเนอเรชันปัจจุบัน ตอบโจทย์การจ้างงานของเด็กรุ่นใหม่ คือเด็กที่จบออกมา ทุกคนต่างก็อยากเป็นสตาร์ทอัพ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง ฉะนั้นจึงยังไม่เสื่อมคลายง่ายๆ ตราบใดที่มีคนอยากทำเสมอๆ 

ความท้าทายสำคัญของ Startup วันนี้คืออะไร

อย่างแรก ผมมองว่า Ecosystem ตอนนี้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว เราเริ่มรู้จักศัพท์แสงต่างๆ ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมมากขึ้น แต่ยังไม่รู้กลไกสำคัญจริงๆ ที่ทำให้สตาร์ทอัพเติบโต อีกส่วนคือฝั่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) แล้วถือครองสิ่งที่ต่างๆ ที่ทำให้สตาร์ทอัพเจริญเติบโตได้ ยอมปล่อยของตัวเองออกมาโดยให้ Handicap หรือให้ Incentive กับกลุ่มสตาร์ทอัพได้

ภาครัฐเองก็เช่นกัน จะเก็บภาษีหรือไม่เก็บ จะยกเว้นภาษีกี่ปีสำหรับสตาร์ทอัพ แล้วในที่สุด ในฐานะผู้ที่ถือกฎระเบียบจะยอมปล่อยของออกมาไหมเขายอมปล่อยของมาในฐานะที่เขาเป็นคนถือกฎระเบียบไหม

ขณะเดียวกัน ภาคแหล่งเงินทุน จากเดิม ธนาคารต่างๆ อาจยังไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้กับ สตาร์ทอัพก็อาจต้องยอมปล่อยออกมาบ้างบางส่วน หากมีงานวิจัย มี Know How มี Knowledge แล้ว ก็ต้องยอมปล่อย เพื่อให้จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สตาร์ทอัพจึงจะเกิดขึ้นได้จริงๆ 

นั่นแปลว่า คนเริ่มรู้จักขั้นตอน กระบวนการมากขึ้น แต่ต้องให้ Stakeholder ยอมปล่อยของ

ใช่ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Ease of Doing Startup Business คือความง่ายที่จะทำธุรกิจสตาร์ทอัพ มันต้องช่วยกันทั้งระบบ ที่เรามาต่อเป็น Ecosystem เดียวกัน 

แล้วถ้าเทียบกับทั่วโลก วงการสตาร์ทอัพไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ประเทศอื่นๆ เขามี Success Case ยกตัวอย่าง กลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว Success Case ที่เกิดจากสตาร์ทอัพ ว่าจะ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) หรือสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) นี่ก็เป็นสตาร์ทอัพ เริ่มจากการทำในโรงรถมากก่อน แล้วก็ทำตามขั้นตอนทุกอย่างจนกลายเป็น Superunicorn

จีนเองก็ตาม เกิดดราโก้หรือดราก้อนขึ้นมา โตกว่ายูนิคอร์นสิบเท่า มันเต็มไปหมดเลย จึงหอมหวานจริงๆ ที่จะทำสตาร์ทอัพ ด้วยเหตุผลคือมี Success Case มีตัวอย่างที่ดี

หน้าที่ผมอย่างหนึ่งคือทำให้ทุกคน ทุก Stakeholders ใน Value Chain สามารถยอมปล่อยของให้ได้ สร้าง Role Model ให้ได้ วันนี้ ยูนิคอร์นบ้านเราอาจไม่ใช่โรลโมเดลที่ดีก็ได้ แต่เราต้องการการที่มี Disruptive Technology ให้เขาเกิดขึ้นได้จริงๆ

แต่จะทำทั้งหมดนี้ ต้องย้อนกลับไปไกลเลยนะ จะมี Disruptive ได้ ต้องมีงานวิจัยที่เป็นเชิง Radical จริงๆ แบบฐานรากจริง ประเทศชาติต้องมีคนได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์ ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทั้งนี้ ในการสร้าง Nobel Nominate ได้ ผมประเมินมูลค่าแล้ว อาจต้องอัดเงินให้กับนักวิจัยกลุ่มนี้น่าจะเกิน 1 หมื่นล้านบาท

แต่ ณ วันนี้ ยังเกิดยาก แล้วมันกระทบไปหลายทอดเลย ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้เกิดจากการอนุมาน ไม่ได้มีหลักฐานชัด แต่ทุกอย่าง เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ล้วนต้องเกิดจากการสั่งสม

ระบบการศึกษาจะมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง ถ้าจะไปถึงตรงนั้น

มีส่วนแน่ๆ ครับ มันถึงเริ่มจากอุทยานวิทยาศาสตร์ แต่ซัพพลายของแต่ละอุทยานวิทยาศาสตร์ ก็คือบรรดา สวทช. หรือกลุ่ม Tech ทั้งหลาย แหล่งชุกชุมของเทคโนโลยีคือมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ Science Park ถึงต้องเกิดจากมหาวิทยาลัย

เปรียบเทียบง่ายๆ คือภาครัฐลงทุนด้วยภาษีของประชาชนไปหมดแล้ว เราพยายามเอากงสีที่มีอยู่ตรงนี้ เอาออกมาใช้ให้เกิดนวัตกรรมให้ได้ โดยผ่านกลไก Science Park ขณะเดียวกัน ภาคการศึกษาก็ต้องสร้างมายด์เซ็ตด้วย ให้มีระเบียบวิธีการที่เหมาะสมในการทำสตาร์ทอัพ เพราะบริบทแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราไปก็อปสหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไม่ได้ แต่ต้องทำให้เกิดวิธีการด้วยตัวเราเอง 

โอกาสของเชียงใหม่ในการบ่มเพาะ Tech Startup มีมากขนาดไหน

ผมเชื่อว่าตอนนี้เราเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพแล้ว ผมชาเลนจ์ไว้ว่าในปี 2570 เราจะมี Pony อยู่ 70 ราย พอย่อยจำนวนเหล่านี้ลงมา ก็ต้องมีกลุ่มเทคต่างๆ ที่จำเป็น มีความพร้อม สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Technology Readiness Level (TRL) มีค่อนข้างสูง เราก็ทำการเพิ่มต่อ อัปเดต TRL ไปเรื่อยๆ ให้ไปสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าเชียงใหม่มีโอกาสนั้นสูง 

คลัสเตอร์ที่เราสนใจเป็นพิเศษ คือคลัสเตอร์การเกษตร (Agri-Tech Cluster) และ Agro-Tech Cluster แน่นอน เนื่องจากผู้เล่นที่อยู่ในนี้เขามีโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำอยู่แล้ว เอื้อให้เกิดการเกษตร เป็นอาหารและเครื่อดื่ม แต่ของเหล่านี้ทำให้เกิดมูลค่าสูงต้องทำให้เกิด Biohealth Bio คือเข้าใจในเชิงชีวภาพของของเหล่านี้ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับร่างกายมนุษย์ เลยกลายเป็น Health 

อีกอันที่คู่ขนานกันไปเลยคือพวก Digital Tech การมาของเว็บ 3.0 การทำให้เกิด Digital Asset ผ่านโครงสร้างดิจิทัลที่ดีขึ้น ความไวของข้อมูล ขนาดของข้อมูล เร็วมากยิ่งขึ้น จะทำให้สินทรัพย์ในโลกจริง เปลี่ยนไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว แล้วของที่เราพยายามขายในช่องทางเดิมๆ ก็จะถูกขายด้วยช่องทางที่ไวมากๆ แล้วไปถึงมือผู้รับได้รวดเร็ว 

พวกเว็บ 3.0 จึงเป็นอีกทางที่จะไปเล่น ไปถึงโลก Virtual ถึงเมตาเวิร์ส เป็นแนวทางการตลาดและกราขาย

กลุ่มสุดท้าย ที่คิดว่าน่าจะสำคัญมากในช่วงนี้คือกลุ่มรักษ์โลก Sustainability BCG มันทำให้เกิดมูลค่าได้ทางเทคโนโลยีคือในอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องลดสถานที่ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกลง ลด PM2.5 ลดการเผา ลดการทำให้เกิดคาร์บอน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีในรั้วมหาวิทยาลัย รวมถึงดีมานด์ที่ต้องการเปลี่ยน ไม่ใช่แค่ Pain Point แล้ว แต่ต้องตอบสนองความต้องการ แล้วสร้างสตาร์ทอัพเหล่านี้ขึ้นมาตอบโจทย์ พวกนี้น่าจะไปไว นี่คือทิศทางที่คิดว่าสตาร์ทอัพของเชียงใหม่ที่ได้รับเทคจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองจะเติบโตไปได้ โดยขณะนี้ถือว่าค่อนข้างเติบโต ด้วยขนาดทางธุรกิจและเม็ดเงินที่อยู่ในระบบบัญชีของแต่ละสตาร์ทอัพค่อนข้างสูง

ขนาดการช่วยเหลือของภาครัฐในเชียงใหม่เทียบกับกรุงเทพเป็นอย่างไร

แตกต่างครับ กรอบเม็ดเงิน งบประมาณในเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ต่างกันเป็นร้อยเป็นพันเท่าในบางเรื่อง ดังนั้น วิธีการที่จะทำ เราพยายามพึ่งยักษ์ภูธร บริษัทต่างๆ ที่เป็น Large Enterprise ที่เกินกว่านิยามเอสเอ็มอี ที่มี 200 คน 200 ล้านบาท เกินมาแล้ว ฉะนั้น ยักษ์ภูธรเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพ เพราะมีหัวด้านธุรกิจอยู่แล้ว แต่ถ้าเติม Tech จากฝั่งสตาร์ทอัพไป อาจทำให้ยักษ์ภูธรเหล่านี้นำไปขายในสเกลระดับโลกได้มากขึ้น เป็นทางรอดของธุรกิจภูธรเชียงใหม่ 

การที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่ Digital Nomad ชื่นชอบที่สุด จะมีส่วนช่วยอะไรต่อวงการ Tech Startup ได้ไหม

ต้องถามก่อนว่าเขาเข้ามากันเพื่ออะไร อย่างแรกคือค่าครองชีพมันต่ำ Hospitality (ความมีน้ำใจไมตรี) มันสูง เอาแค่สองมุมนี้ มันกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูด Digital Nomad เข้ามาจำนวนมาก

แต่จะทำให้เกิด Success Case ขึ้นมาได้ ในอาคารอำนวยการของ STeP ก็เคยมีคนเดินเข้ามา เป็น Digital Nomad แล้วเข้ามาทำงานในนี้ 30-40 คน ส่งงานกันข้ามชาติไปมา

อย่างแรกเลยคือได้เรียนรู้การใช้ชีวิต วิธีการทำงาน วิธีการส่งงาน จากนั้น เขาก็เริ่มหาลูกมือ หา Business Partner จากคนในพื้นที่ เนื่องจากใน มช. เรื่องดิจิทัลก็มีสามคณะที่ผลิตเรื่องนี้คือ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ซึ่งผลิตบัณฑิตออกมา เป็นปริมาณเพียงพอแล้ว สามารถสร้างซอฟต์แวร์เฮาส์ที่เป็นสตาร์ทอัพได้ โดยอาศัยแรงดึงดูดเดิมคือความมีอัธยาศัยที่ดีของเรา ก็เติมเต็มส่วนนี้ได้

ต้องยอมรับว่า Hospitality คืออยู่ในคนเชียงใหม่ แล้วเราเห็นอกเห็นใจคนอื่นสูงมาก แม้จะมองคนจังหวัดอื่น ก็ต้องบอกว่าเขาไม่ได้ Empathize คนเท่ากับคนเชียงใหม่ ทุกคนจะรู้ว่าคนเชียงใหม่จะขี้เกรงใจ และรู้ว่าคนที่เราไปปฏิสัมพันธ์ดว้ย อยากได้อะไร 

ผมถือเป็นจุดเด่น ที่ทำให้การผสมผสานกันระหว่าง Digital Nomad กับคนในพื้นที่ของเรา ที่พยายามทำ Tech Startup เจริญงอกงามได้ดี

นอกจาก Empathize แล้ว ยังมีจุดแข็งอะไรอีก

มันไม่เกี่ยวกับดิจิทัลแล้ว เกี่ยวกับ Biodiversity นี่ล่ะ เป็นเหตุว่าที่ที่เราอยู่ตรงนี้ มันถือว่าเป็น Bio and Food Innovation District แปลว่าความหลากหลายทางชีวภาพเรามีค่อนข้างสูง ด้วยระดับความสูงแบบนี้ ด้วยสภาพอากาศแบบนี้ ได้ทำให้เกิดสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าจะเกิดสตาร์ทอัพ เทคสตาร์ทอัพ เป็นไบโอเฮลท์นั้นมีความเป็นไปได้สูง

เราตั้งเป้าไปทางไบโอเฮลท์เราได้รับเป็นเจ้าภาพในการทำมาสเตอร์แพลนทางการแพทย์ทั้ง Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมต่อทุกคนให้อยู่ในกระดาน แล้วหวังจะให้เกิดเอฟเฟกต์ไปถึงตลาดโลก

วันนี้ หลายคนบอกว่าเจอปัญหาสตาร์ทอัพที่เลิกล้มกลางคันค่อนข้างเยอะ ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร ในฐานะที่คุณดูแลเรื่องนี้ คุณมีคำแนะนำอย่างไร 

ถ้าจะ Quit ในวันนี้ มีเหตุผลสำคัญสามประการ หนึ่งคือเกิดดีมานด์เทียมแต่ต้น อย่างที่สอง สายป่านยาวไม่พอ และอย่างที่สาม คือผู้ก่อตั้งทะเลาะกันเอง คือเริ่มเห็นปรัชญาของการทำงาน และวิธีการทำงานไม่ตรงกัน

STeP พยายามตัดตอนตรงนี้ ตั้งแต่การคัดสรรทีม เช็กตลาด หรือการสนับสนุนทางการเงินให้ต่อให้สุดให้ได้ ทั้งหมด เรานำมาใส่ในกลไกที่จะบ่มเพาะเขาอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเลิกกลางคันจริงๆ อาจจะเป็นใจของเขาเอง เพราะเราถือว่าโปรแกรมที่เราจัดหาให้นั้นสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้เขาเป็น Pony ได้ แต่หากมันต้องเลิก ก็จะเป็นเอสเอ็มอี ไม่ใช่สตาร์ทอัพที่เป็น IDE

 

โดยส่วนตัวคุณเอง สนุกไหม จากที่เคยเป็นอาจารย์วิศวะฯ แล้วผันตัวมาทำงานในเชิงการวางแผนธุรกิจ เป็นนักธุรกิจมากขึ้น

ถามว่าสนุกไหม ต้องตอบว่าสนุก คือแพสชันของผมเอง ถ้ามันยังอยู่ในกระดาน หรือในชีวิตผม ที่มองเป็นเป็น Gamification อันหนึ่ง ผมสนุกอยู่แล้ว ถ้าผม Connect the Dots ได้ เอาทั้งหมดเข้ามาเติมในกระดานได้ ในระบบนิเวศของการทำนวัตกรรม เดินไปเรื่อยๆ มันเปลี่ยนจากการที่มองโจทย์เพียงแค่จุดเล็กๆ อย่างการเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยซึ่งกระจุกเล็กมาก ไปสู่งานที่มีผลกระทบต่อสังคมกว้างขึ้น 

ถ้าผมเป็นนักวิจัย เป็นอาจารย์สอนเฉพาะโยธา คอนกรีต กระจุกมันก็จะประมาณหนึ่ง แต่พอเราขยายขอบเขตออกมา แล้วเราพยายามใช้ศักยภาพที่เรามี ทำให้กระจุกมันกว้างขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีการทำงานทั้งหมดถูกขยายวงขึ้น 

เพราะฉะนั้น ผมอยากให้ Passion ของผม เกิด Impact กับสังคมมากที่สุด ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานที่สุด แล้วทำให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคตโดยที่ไม่มีใครตามแก้ปัญหา ผมถือว่าผมตอบโจทย์เรื่องนี้

ทักษะวิศวะเดิม สามารถหนุนเสริมงานที่ทำทุกวันนี้อย่างไร

ต้องตอบว่าวิศวะไม่ใช่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่ใช่หลักการ แต่คือแอปพลิเคชัน เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อให้คนมาใช้ เปลี่ยนจากศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งทั้งหมดถูกนำมาใช้ตั้งแต่ครั้งอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์แล้ว

ในแง่หนึ่ง คุณต้องอยู่ในระบบราชการด้วย คุณมองว่าระบบราชการมันส่งเสริม หรือจำกัดการทำงานของคุณอย่างไร

ข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมือง มีผลอย่างยิ่งกับการทำงานของเรา เนื่องจากเงินที่เราได้มา มันจะไปสนับสนุน Ecosystem ของนวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพ มันมาจากเขา มาจากรัฐบาลเกินครึ่ง พอระบบงบประมาณ หรือผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย หรือขั้นตอนทั้งหลายมีการเปลี่ยนนโยบาย ก็จะส่งผลต่อเรา บางครั้งก็บวก บางครั้งก็ลบ 

แต่ถ้าเป็นไปตามสิ่งที่เราประเมิน เราไม่ได้ประเมินเพื่ออยากให้เราโตนะ แต่เราประเมินเทียบกับประเทศที่เราอยากไปเปรียบเทียบด้วย ระบบราชการ ช่องงบประมาณของเรา ยังคงไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต หากจะอัดฉีดจริงๆ อาจต้องมากกว่านี้ 5-10 เท่า ถึงจะเกิด Critical Mass แบบที่เขาชอบใช้คำว่า Change Agent เกิดขึ้น หรือเป็น Role Model ที่เกิดขึ้นจริงๆ

สองคือ ระบบของการจัดการการปกครอง รวมถึงกฎหมายที่ควบคุมเองมีหลายรูปแบบ ซึ่งผมมองว่าตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดี มีความเป็นรัฐราชการน้อยลง พิสูจน์ได้อย่างดี คือจากการให้งบประมาณลงทุนในการก่อสร้างสถานที่ให้เราสามารถทำสตาร์ทอัพได้ ทำนวัตกรรมได้ ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องดี แขกไปใครมา ประเทศชาติที่เจริญแล้ว เขาก็ยังชื่นชมกับอินฟาสตรักเจอร์แบบนี้ที่ภาครัฐเป็นคนลงทุน ผมว่าเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่ตัวซอฟต์ ผมว่ายังไม่พอ ต้องลงทุนมากกว่านี้

Fact Box

  • ปิติวัฒน์ วัฒนชัย เคยเป็นรองศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาจบการศึกษาปริญญาเอกจาก Tokyo Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น 
  • STeP เป็นส่วนงานวิชาการภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดตั้งขึ้นจากข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 7 คณะ อันประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ เป็นตัวเชื่อมนวัตกรรม งานวิจัย และโลกแห่งความจริง
  • Pony หรือม้าตัวน้อย ในวงการสตาร์ทอัพ เป็นระดับของสตาร์ทอัพในกิจการที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยหากไปถึงระดับ Pony ธุรกิจสตาร์ทอัพอาจต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ และอาจไปถึงปลายทางฝั่งฝันของบรรดาสตาร์ทอัพที่ Unicorn ได้ในวันหนึ่ง
Tags: , , ,