กลายเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สำหรับ #แบนสุพรรณหงส์ ที่ผู้คนในโซเชียลมีเดียทั้งในและนอกวงการภาพยนตร์ ต่างแสดงความเห็นและตั้งคำถามถึงเกณฑ์การคัดเลือกหนังในการเข้าชิงรางวัลปีนี้ ที่กีดกัดหนังบางประเภท และดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่มในวงการภาพยนตร์

เสมือนหนึ่ง ‘ทุนผูกขาด’ ที่นับวันจะครอบงำวงการหนังไทย และรุกล้ำไปยังดินแดนต่างๆ มากขึ้นทุกที

อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่องต่อเนื่อง ย้อนความไปก็เป็นเรื่องเดียวกันกับกระแสลดรอบฉาย ขุนพันธ์ 3 ของค่ายสหมงคลฟิล์ม และเพิ่มโปรโมชันให้กับหนัง ทิดน้อย หนังตลกของค่าย M39 ซึ่งเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ปถือหุ้นใหญ่ ด้วยราคา 39 บาท แม้หนังจะยืนโรงมายาวนานแล้ว

ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับภาพยนตร์ขุนพันธ์ 3 โพสต์ข้อความเรื่องรอบฉายของหนังได้ไม่นาน โพสต์ก็อันตรธานหายไปทันที

ว่ากันตามจริง เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เป็นผู้ที่ครองตลาดโรงภาพยนตร์มากเกิน 800 โรงในประเทศ และยังมีบทบาทในค่ายหนังอย่าง M39

ขณะเดียวกัน ค่ายหนังไม่ว่าจะน้อยหรือใหญ่ ไม่พึ่ง ‘เมเจอร์’ ก็ไม่ได้ ทำให้ไม่ว่าจะสหมงคลฟิล์ม ของ สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือจีดีเอช (GDH) ค่ายหนังอันดับต้นๆ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน คือประสบปัญหาใกล้เคียงกันทุกครั้งเมื่อหนังของตัวเองออกฉายในเวลาใกล้เคียงกับหนังของเครือเมเจอร์

หรือเมื่อมีโปรโมชันอย่างลดราคาหนังครึ่งราคาหรือโปรบุฟเฟต์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเครือเมเจอร์ ค่ายหนังก็จำต้องยอมทำตาม

ทั้งหมดไล่เลียงมาบรรจบที่การจัดงานสุพรรณหงส์ เริ่มจากการที่ ศราวุธ แก้วน้ำเย็น ผู้กำกับศิลป์และออกแบบงานสร้างหนังไทยเรื่อง เวลา (Anatomy of Time) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ไม่มีสิทธิเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ครั้งที่ 31 ทั้งที่เพิ่งคว้าทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีคมชัดลึกอวอร์ด ในประเทศไทยเช่นเดียวกันมาหมาดๆ

ทั้งนี้ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติผู้จัดงานสุพรรณหงส์ มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ คือภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงรางวัลได้จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายอย่างน้อย 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช หรือต้องมีคนดูตั้งแต่ 5 หมื่นคนขึ้นไป จึงทำให้หนังเรื่องเวลาหมดสิทธิในการเข้าชิงรางวัลไปโดยปริยาย

แต่เรื่องนี้ดูผิดปกติตรงที่ หนังเรื่อง เวลา ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ของเวทีสุพรรณหงส์ คือหนังเรื่องเดียวกันที่คว้ารางวัลจากเวทีคมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 19 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติถึง 3 รางวัล และได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมากมาย ไม่ว่จะเป็น Venice International Film Festival ที่อิตาลี, Singapore International Film Festival ที่สิงคโปร์, Busan International Film Festival ที่เกาหลีใต้ และ Taipei Golden Horse Film Festival ที่ไต้หวัน

กติกาใหม่นี้ส่งผลให้หนังที่ได้เข้าฉายในโรงหนัง 2 เจ้ายักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ หรือเอสเอฟซีเนม่า เท่านั้น ถึงจะมีโอกาสได้รับการพิจารณา ส่วนหนังเล็ก หนังอิสระ และหนังต้นทุนต่ำทั้งหลายที่ไม่ได้ฉายในโรงดังกล่าว ก็แทบจะหมดสิทธิในการเข้าชิงไปโดยปริยาย

ปัญหาก็คือว่า หนังเล็กๆ จะเข้าฉายเครือโรงภาพยนตร์ใหญ่ไม่ว่าจะเครือไหนก็เป็นเรื่องยากเย็น เพราะแน่นอน เมื่อทำธุรกิจ รายได้และกำไรถือเป็นเรื่องใหญ่

ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติพยายามที่จะผลักดันให้มีการใช้กฎดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 แต่ก็ถูกคัดค้านจนยกเลิกไป กระทั่งในการประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ปี 2565 ก็มีการนำกฎดังกล่าวมาบังคับใช้ แม้คนในวงการภาพยนตร์ รวมไปถึงสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจะไม่เห็นด้วยก็ตามที

แต่แล้วดราม่าก็ซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แนะนำให้เวทีสุพรรณหงส์เปลี่ยนชื่อรางวัลเป็น ‘เมเจอร์สุพรรณหงส์อวอร์ด’ ให้สิ้นเรื่อง ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงข้อความดังกล่าว ประวิทย์อาจหมายถึงปัญหาของวงการภาพยนตร์ช่วงที่ผ่านมา และในปัจจุบันกำลังถูกควบคุมโดยเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ผู้กุมธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศเกินครึ่ง ที่มีสิทธิในการกำหนดว่า หนังเรื่องไหนจะได้เกิด หรือหนังเรื่องไหนจะดับ

อีกทั้ง ธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติคนปัจจุบัน ก็ยังมีอีกหนึ่งบทบาทในฐานะนั่งควบตำแหน่งคณะกรรมการ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน) ด้วย เรื่องนี้จึงทำให้โรงหนังค่ายใหญ่ของประเทศไทยแห่งนี้ถูกเพ่งเล็งมากขึ้นไปอีก

เมื่อวานนี้ ทางด้านเอสเอฟซีเนม่า ก็ได้ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนหนังไทยและหนังทางเลือก เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ได้รับการยอมรับในสากล โดยในแถลงการณ์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “เราเชื่อว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องล้วนมีคุณค่า และภาพยนตร์ทุกเรื่อง ควรได้รับสิทธิในการพิจารณา ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม” เป็นความเคลื่อนไหวในห้วงเวลาใกล้เคียงกับที่บรรดาผู้กำกับ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งจีดีเอช ฝั่งเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ฝั่งสหมงคลฟิล์ม หรือค่ายหนังอิสระน้อยใหญ่ ต่างก็ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับรางวัลนี้

เพจหนังบางเพจถึงกับทำภาพล้อเลียนว่า หากรางวัลสุพรรณหงส์ยังเป็นไปในลักษณะนี้ คงจะมีแต่ภาพยนตร์อย่าง ทิดน้อย ใจฟูสตอรี่ หรือ ส้มปลาน้อย เท่านั้นที่เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์

ขณะนี้ทางสุพรรณหงส์ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หรือกระทั่งโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ต่อกรณีแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ ในครั้งนี้

แต่ด้วยมุมมองทั้งหมด ทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมองว่า การจัดการเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ ‘ทุนใหญ่’ กำลังพยายามกำหนดความเป็นไปของวงการภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง

และหากโครงสร้างของวงการหนังไทยยังเป็นเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ที่คนไทยเก่งๆ จะหนีออกจากวงการออกไปเรื่อยๆ ซ้ำเติมให้หนังไทยที่กำลังวิกฤตอยู่แล้ว แย่ลงไปอีกไม่รู้จบ

 

ที่มา

https://www.facebook.com/100000956734901/posts/9032252480149887/?mibextid=cr9u03

https://www.facebook.com/prawit.taeng/posts/pfbid02sMcz6hspPjcaNtvFH3Uo7YAhndYTgKLtcWRG2bUgT5EHNQQ4DESqVfWSV4uUjfXsl

https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/hczY30PAvn9q_NloQlA1rkKx-fvi1nh2jq8F7q9kftI=

https://www.mpc.or.th/ประวัติสมาพันธ์

Tags: , , , , , ,