หากติดตามบรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็จะรู้ว่าความหวังดัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั้น อยู่ในขั้น ‘ริบหรี่’
ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ส.ว.ที่ทีมเจรจาของพรรคก้าวไกลดีลไว้นั้น ส่วนหนึ่งเลือกลาการประชุม อีกส่วนลาป่วย และอีกส่วนก็ตัดสินใจในภายหลังด้วยข้อมูลใหม่บางประการ ทำให้ 80 เสียงที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผน ขณะเดียวกัน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ยอมรับว่า 4-5 วันหลัง ทีมงานของ ‘อำนาจเก่า’ ออกแรงอย่างหนักในการเดินเกมนี้
คำถามสำคัญก็คือ แล้วจะอย่างไรต่อ… อันที่จริงเรื่องนี้มีหมากที่วางไว้สองชั้น และมีคนเดินเกมอยู่สองเกมคู่ขนานกันไป
หมากแรก – คือเสียงจากผู้มีบารมี ผู้กุมบังเหียนทุกระบบทุกโครงสร้างในประเทศนี้ที่ยื่นคำขาด บอกว่า 151 เสียงของก้าวไกลนั้นอันตรายเกินกว่าที่จะร่วมรัฐบาล ฉะนั้น ไปจัดการอย่างไรก็ได้ให้ก้าวไกลย้ายข้ามขั้วไปเป็นฝ่ายค้าน
หมากที่สอง – ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดปรากฏการณ์ ‘พลิกขั้ว’ ข้ามฝั่งให้พรรคเพื่อไทยยอมไปจับมือกับพรรคซีกรัฐบาลเดิม ทำอย่างไรก็ได้ให้พรรคอย่างพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ และชาติไทยพัฒนา เข้าไปร่วมแชร์อำนาจเป็นรัฐบาลโดยเขี่ยพรรคก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน
ถึงจุดนี้มีเงื่อนไขนิดหนึ่ง คือถ้าไปถึงจุดนั้นจริง ทักษิณ ชินวัตร ยื่นคำขาดว่า ถึงอย่างไรก็ไม่เอาพรรคภูมิใจไทย และการที่พรรครวมไทยสร้างชาติไร้หัวจากการวางมือทางการเมืองของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อาจเปิดทางให้ ส.ส.ในพรรครวมไทยสร้างชาติไหลรวมไปกับพรรคต่างๆ เปิดทางให้ตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น
กระนั้นเอง กลุ่มนี้ต่างลงทุนลงแรงอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีทั้งผู้มากบารมีทางการเมือง นักธุรกิจใหญ่ และนายทุนสัมปทาน ที่พิธาพูดถึงบ่อยๆ คอยสนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะด้วยคอนเนกชันส่วนตัวหรือด้านการเงินการคลัง
แต่ถึงที่สุด อย่างไรบรรดา 8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ต้องจับมือกันต่อไป ทักษิณและแพทองธารต่างก็ไม่อยากผละจากพรรคก้าวไกล เศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่อยากปล่อยให้ก้าวไกลไปไหน และหากเปลี่ยนขั้ว ต่างก็จะโดนรุมสกรัมทั้งจากสาธารณชน รวมถึงบรรดาพรรคที่เปลี่ยนขั้ว ที่ย้ายข้างข้ามมาใหม่ ต่างก็จะกดดันพรรคเพื่อไทยอย่างหนัก ในการบีบเอากระทรวงดีๆ ไม่นับรวมบรรดา ส.ว.ที่จะคอยทวงบุญคุณที่ ‘อุตส่าห์’ โหวตให้
อย่างไรก็ตาม หากเป็นเงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ พรรคเพื่อไทยต้องย้ายข้ามขั้ว เพื่อแลกกับเสียง ส.ว.ให้ประเทศเดินต่อได้ เพื่อไทยก็ต้องยอม เพราะหากปล่อยให้เรื่องลากยาวต่อไป ฝั่งอนุรักษนิยมก็จะบีบหนักขึ้น และหากบีบจนหน้าเขียวจริงๆ ก็มีสิทธิพรรคแตก
ถึงตรงนี้ คำถามก็คือ บรรดา 8 พรรครัฐบาลเดิม จะอยู่ร่วมกันได้นานเพียงใด ต้องรอเวลานานแค่ไหน หรือแรงกดดันมากขนาดไหน ถึงจะต้องผละออกจากกัน?
สิ่งที่สังคมรับรู้ก็คือ ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ รอบสอง หากฝั่ง 8 พรรค และฝั่งตรงข้ามไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เรื่องก็จะจบลงแบบเดิม
แต่ดูเหมือน ณ วันนี้ ฝั่งอนุรักษนิยมต้องการจบเกมเร็ว ด้วยการเสนอชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ วัย 77 ปี แคนดิเดตนายกฯ จากระบบ 3 ป.เข้าแข่งขัน
มองผิวเผินก็คือการจับพลเอกประวิตรชนกับพิธา ทว่าเกมนี้ไม่ได้ตั้งใจจะเอาชนะพิธา แต่ต้องการ ‘บีบ’ ไปยัง 8 พรรค โดยเฉพาะพรรคอันดับสองอย่างพรรคเพื่อไทย ให้รีบๆ เขี่ยก้าวไกลออกไปจากสมการโดยเร็ว หากไม่อยากเห็นพลเอกประวิตรเป็นนายกฯ
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ฝั่งอนุรักษนิยมกำลังบีบให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนตั้งรัฐบาลเอง พรรคก้าวไกลต้องยอมแพ้ไปเป็นฝ่ายค้าน และหากเศรษฐาหรือแพทองธารยอมเป็นนายกฯ ก็กรุณารวบรวมเสียงใหม่ จัดแถวรัฐบาลใหม่ทันที แล้ว ส.ว.จะโหวตให้ หากสุดท้ายไม่อยากเห็นหน้าพลเอกประวิตรเป็นนายกฯ
โจทย์ทั้งหมดเป็นความยากลำบากของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เป็นแรงกดดันจากภายนอกที่รุนแรงและรวดเร็ว ทุกคนล้วนทุ่มไม่อั้นเพื่อเขี่ยพรรคก้าวไกลออกจากเกมตั้งรัฐบาล ทุกคนล้วนออกแรงเต็มที่เพื่อให้พรรคตัวเองเสียบเป็นรัฐบาล
เรื่องทั้งหมดเป็นเกมที่ประชาชนไม่ได้อยู่ด้วยเลยแม้แต่น้อย เป็นเกมที่คนไม่กี่คนพยายามเขียนขึ้นโดยวัดจากตัวเลขที่มีในมือ แล้ววาดฉากทัศน์ที่ตัวเองได้เปรียบ
แต่สิ่งที่พวกเขายังวัดไม่ได้ก็คือ ‘ความโกรธ’ ของประชาชน ว่าถึงที่สุดจะแสดงออกมาอย่างไร
Tags: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, Analysis, The Momentum ANALYSIS, ประวิตร วงษ์สุวรรณ