จุดเล็กๆ ว่าด้วยเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็น ‘รอยร้าว’ ใหญ่ ระหว่างว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อพรรคเพื่อไทยยืนกรานว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นของพรรค ด้วยเหตุผลสำคัญคือจำนวนเสียง ส.ส.ไม่ต่างกันมาก คือต่างกันราว 10 เสียง และเพื่อเป็นการให้เกียรติกัน พรรคก้าวไกลควรปล่อยตำแหน่งประธานสภาฯ ให้พรรคเพื่อไทย
ขณะที่พรรคก้าวไกลพลิกเกมกลับด้วยการเปิดชื่อว่าที่ประธานสภาฯ ของพรรคคือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พร้อมกับแสดงวิสัยทัศน์ให้เห็นว่าต้องการพลิกเกมสภาฯ เป็นสภาฯ ที่โปร่งใส เป็นสภาฯ ที่มีส่วนร่วมจากทุกคน และยืนยันหลักการ ‘พรรคอันดับหนึ่ง’ ต้องได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะงานสภาฯ ถือเป็นหนึ่งเสาหลักของพรรคก้าวไกล
คำถามที่ดำรงอยู่ก็คือ เพราะเหตุใด ประธานสภาฯ จึงเป็นตำแหน่งที่ทั้งสองพรรคแย่งชิงกันขนาดนั้น เกมที่อยู่ข้างหลังคืออะไร เรื่องยุ่งเหยิงเกิดจากอะไร และเพราะเหตุใดสองพรรคจึงได้ต่อรองเรื่องนี้กันยากนัก
The Momentum ANALYSIS จะค่อยๆ ฉายภาพให้เห็น
1. เมื่อประวัติศาสตร์ของ ‘เพื่อไทย’ ผูกกับทักษิณ
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เพื่อไทยคือ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และองคาพยพที่รายล้อม การตัดสินใจทั้งหมดยังคงอยู่กับตระกูลชินวัตร ไม่ว่าจะในการเลือกตั้ง 2554 ที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวนำ หรือปี 2566 ที่ไม่ว่าคนนำจะเป็น อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร หรือเศรษฐา ทวีสิน ล้วนมีความเชื่อมโยงกับตระกูลชินวัตร โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค เป็นหนึ่งในตัวเชื่อม
ประเด็นก็คือ หากทุกอย่างรวมศูนย์กับทักษิณ ก็หมายความว่า การตัดสินใจหลายอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยกรรมการบริหาร หรือโดยคนที่อยู่ในประเทศไทย ประเด็นก็คือเมื่อทักษิณประกาศว่าจะ ‘กลับบ้าน’ ภายในเดือนกรกฎาคม ทุกคนก็ตีความว่า อาจหมายถึงการเมืองไทยต้อง ‘นิ่ง’ พอที่จะทำให้ทักษิณมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การ ‘ดีล’ ของพรรคเพื่อไทยมักจะล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นกรณีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง หรือกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งหลายเรื่องส่งผลกระทบตามหลังยาวนาน ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจใส่เกียร์ลุยรอบนี้ มีเป้าประสงค์แปลกๆ บางอย่างหรือไม่
2. ‘เพื่อไทย’ ในฐานะศูนย์รวมของระบบการเมืองเก่า
สัมพันธ์กับข้อแรก สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงก็คือ นอกจากหัวอย่างทักษิณ ‘ราก’ ของพรรคเพื่อไทยคือการเมืองแบบเก่า หากสืบย้อนหลังไป 22 ปี จะพบ ส.ส.จำนวนมากที่เติบโตจากระบบหัวคะแนน ส.ส.บ้านใหญ่ ส.ส.ที่สืบทอดทางดีเอ็นเอตระกูลการเมือง และ ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น เพื่อเติบใหญ่ในการเมืองระดับชาติ
แน่นอนว่าการมีที่มาจากเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าจะ ‘เลือก’ คนเหล่านี้หรือไม่ ทว่าความคาดหวังของคนกลุ่มนี้เมื่อเป็น ส.ส.นานเข้า ย่อมหวังจะเติบโตในทางการเมือง หวังจะมีตำแหน่งแห่งหนในการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยฯ รองประธานสภาฯ หรือประธานสภาฯ
ไม่แปลกที่รัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ก่อนหน้านี้แบ่งเก้าอี้ตาม ‘โควตา’ เป็นต้นว่า อีสานเหนือต้องได้เก้าอี้ เชียงใหม่มี ส.ส.จำนวนมากต้องได้เก้าอี้ หรือกรุงเทพฯ ต้องได้ 1 เก้าอี้ เป็นการจัดสรรในลักษณะ ‘หัวหน้ามุ้ง’
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 2566 คือการ ‘ย้ายพรรค’ จากฟากรัฐบาลเดิมเพื่อมาร่วมกับเพื่อไทย ไม่ว่าจะโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุชาติ ตันเจริญ หรือสนธยา คุณปลื้ม
แม้จะไม่เห็นคำสัญญาที่อยู่เบื้องหลัง แต่นักการเมืองผู้มีประสบการณ์มากขนาดนี้ ย่อมหวังเก้าอี้บางอย่าง… คนในมุ้งของสมศักดิ์เคยบอกด้วยซ้ำว่า ในการเลือกตั้งรอบนี้ สมศักดิ์หวังจะได้ขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เมื่อเสียง ส.ส.ไม่ได้เป็นดังหวัง ตำแหน่งต่างๆ ก็หดลง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องน่าหนักใจของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยยุคปัจจุบันก็คือ จะทำอย่างไรในการเกลี่ยตำแหน่งให้ ‘ผู้ใหญ่’ เหล่านี้ ได้สมประโยชน์กันทุกคน
เป็นการเมืองที่ไม่ได้แบกรับเฉพาะความคาดหวังของประชาชนอย่างเดียว หากแต่ต้องแบกรับความคาดหวังของบุคลากรในพรรคด้วย
3. ประธานสภาฯ นั้นสำคัญไฉน?
ตำแหน่งประธานสภาฯ หาได้เป็นผู้ที่นั่ง ‘คุม’ การประชุมเพียงอย่างเดียว แต่ในเชิงศักดิ์ศรี ประธานสภาฯ คือผู้ที่อยู่แถวหน้าในงานพระราชพิธี ซ้ำยังดูแลงบประมาณสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปีหนึ่งๆ กว่า 5,000 ล้านบาท ดำรงตำแหน่งเป็น ‘ประธานรัฐสภา’ ในการประชุมร่วมกับ ส.ว. และยังควบคุมการเสนอร่างกฎหมาย ดูแลขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายตามลำดับขั้น
นักการเมืองอาวุโสหลายคนที่มีประวัติทางการเมืองยาวนาน จึงหวังเกียรติประวัติให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ครั้งหนึ่งในชีวิต
ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าเพราะเหตุใด ‘เพื่อไทย’ ก็หมายปองเก้าอี้นี้ และเป็นเหตุผลว่าทำไม ‘ก้าวไกล’ ก็ต้องได้เก้าอี้นี้
อันที่จริงแล้ว ‘พ่อมดดำ’ สุชาติ ตันเจริญ เคยหวังไว้ก่อนว่า ตัวเขาจะได้เป็นประธานสภาฯ รอบที่แล้ว แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องกลายเป็น ‘รองประธาน’ แทน ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาระยะหนึ่ง ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ มาระยะหนึ่ง ถึงเวลาที่ได้เป็นรัฐบาลก็ควร ‘สลับขั้ว’ มาเป็นประธานสภาฯ
ขณะที่ก้าวไกลก็ต้องได้เก้าอี้นี้ เพราะงานรัฐสภาถือเป็นหัวใจของพรรคก้าวไกลตลอดหลายปีที่ผ่านมา และขณะนี้พรรคก็ยังอยู่ใต้ความไม่ชัดเจนว่าถึงที่สุด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ไม่ชัดเจนว่าหากเป็นนายกฯ จะโดน ‘สอย’ ในภายหลังหรือไม่ ขณะเดียวกัน หากย้อนมองธรรมเนียมปฏิบัติ พรรคอันดับหนึ่งอย่างไรก็ควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ไว้ในมือ
4. สุดท้าย เพื่อไทยกำลังเล่นเกมเดียวกับประชาธิปัตย์
เมื่อก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้ จึงนำมาซึ่งอีกเกมที่อันตราย เกมแห่งการ ‘ต่อรอง’ เก้าอี้ เป็นเกมเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเล่นเมื่อปี 2562
ครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคอันดับ 1 ด้วยเสียง 116 เสียง หากแต่ไม่สามารถเป็นได้โดยลำพัง จำต้องรวมกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กอีกจำนวนมากเพื่อให้เสียงเกินครึ่ง ด้วยเหตุนี้อำนาจต่อรองของบรรดา ‘พรรคกลาง’ จึงสูง
ในตอนแรก ประชาธิปัตย์ขอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ แต่ในภายหลังประชาธิปัตย์เกิด ‘พลิกดีล’ ด้วยการขออีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญอย่างประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ชวน หลีกภัย ตัดหน้า สุชาติ ตันเจริญ ที่หวังจะนั่งเก้าอี้นี้แต่แรก
เป็นการ +1 ที่ทำให้พรรคที่มีเสียงราว 50 เสียง ได้ตำแหน่ง ‘ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ’ ให้กับนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างชวนไปครอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นหนึ่งในมูลเหตุที่ ส.ส.พลังประชารัฐหลายคนมองว่า แกนนำพรรค ‘ยอม’ มากเกินไป
เมื่อเพื่อไทยเห็นว่าก้าวไกลขาดเพื่อไทยไม่ได้ และอาจยังต่อรองเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี ในกระทรวงเกรดเอไม่เพียงพอ จึงลองหยั่งเสียงในเกมนี้ ด้วยหวังว่าก้าวไกลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก ‘ยอม’ ขณะที่ทั้งสองพรรคล้วนยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งความไม่ไว้ใจ
เพื่อไทยไม่ไว้ใจตั้งแต่พิธาจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ไม่ไว้ใจว่า ‘ก้าวไกล’ จะใช้บทบาทสภาฯ จนกลบเพื่อไทยจนหมดหรือเปล่า หรืออาจจะเล่นเกมอะไรแผลงๆ ภายใต้หมวกของการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
ขณะที่ก้าวไกลไม่ไว้ใจว่าเพื่อไทยยังมี ‘ดีล’ อะไรอยู่อีกหรือไม่กับฝ่ายอนุรักษนิยม บรรดาทุนผูกขาด หรือบรรดาชนชั้นนำ ไม่ไว้ใจว่าหากพิธาเกิดสะดุด ไม่ได้เป็นนายกฯ ก้าวไกลในฐานะรัฐบาลจะเหลืออะไร เพราะสถานการณ์นี้ หากมองสุดโต่ง เมื่อรัฐบาลก้าวไกลไปต่อไม่ไหว สถานการณ์เลวร้ายที่สุด พรรคเพื่อไทยอาจข้ามไป ‘พลิกขั้ว’
การเมืองยุค ‘หลังลุง’ เต็มไปด้วยการเจรจาต่อรอง เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน รวมถึงความกังวลในความ ‘สุดโต่ง’ ของก้าวไกล ว่าอาจทำให้การเมืองเก่าๆ เดินต่อไปอย่างยากลำบาก
เรื่องประธานสภาฯ จึงเป็นแค่ฉากหน้า ท่ามกลางฉากหลังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวย่อยๆ อีกมาก
Tags: The Momentum ANALYSIS, เพื่อไทย, ประธานสภา, ก้าวไกล, Analysis