ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาชนในสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารจังหวัดราชบุรี แม้เสียงจะเพิ่มจากปี 2563 ราว 1 แสนคะแนน แต่ก็มีเรื่องอันโหดหินอยู่หลายเรื่อง
เพราะอันที่จริง 6 หมื่นคะแนนสุทธิที่เป็นส่วนต่าง ระหว่างพรรคประชาชนกับ วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.คนเก่า เป็นจำนวนที่มากเอาการ และหากวัดกันที่คะแนนดิบ พรรคประชาชนก็ยังพ่ายในทุกอำเภอทั้งรอบในและรอบนอก เป็นจำนวนที่ยังต้องทำการบ้านอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน อิทธิพลของบ้านใหญ่ก็ยังมากโข ไม่ว่า ‘เงิน’ จะเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่ ข้อสำคัญก็คือเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นยังคงทำงานได้เป็นอย่างดี
เป็นความแข็งขันที่ทุกฝ่ายรวมผู้สมัครไว้ที่วิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหญ่สาย นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของตลาดศรีเมือง บ้านใหญ่ตระกูลนพอมรบดี หรือฝั่งของ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างก็รวมความหวังไว้ที่วิวัฒน์
ในตอนแรกนั้นมีข่าวลือว่า วันชัย ธีระสัตยกุล อดีตนายก อบจ.ราชบุรี จะลงแข่งขันกับวิวัฒน์ แต่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ผู้สนับสนุนวิวัฒน์เรียกวันชัยไปเจรจา เพราะ ‘พรรคก้าวไกล’ ในขณะนั้นตัดสินใจส่ง ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ลงแข่ง อย่างที่บ้านใหญ่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ฉะนั้นหากฝั่งบ้านใหญ่แข่งขันกันเอง ตัดคะแนนกันเอง ฝั่งก้าวไกลจะคว้าชัยชนะอย่างแน่นอน จนในที่สุดวันชัยก็ถอนตัว
สิ่งที่ต้องจับตาคือ นับจากวันนี้ ทุกสนามที่พรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิมวางตัวผู้สมัครไว้ จะคล้ายกับที่จังหวัดราชบุรี คือทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง ทุกบ้านใหญ่ จะรวมกันที่ผู้สมัครลงเลือกตั้งคนเดียว เพื่อชนกับพรรคประชาชน
ว่ากันที่สนามการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและผู้ช่วยหาเสียงของพรรคประชาชน หมายมั่นปั้นมือว่า จะต้องปักธงให้ได้หลังจากพลาดหวังอย่างหมดรูปทั้งหมดในปี 2563 เพื่อให้การเมืองแบบอนาคตใหม่ได้อำนาจในการบริหาร และขับเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อให้เห็นว่าพรรคประชาชนมีผลงานในการบริหาร มากกว่าจะโชว์ผลงานในสภาผู้แทนราษฎรเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบัน พรรคประชาชนเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.แล้วหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต, พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่, คณิศร ขุริรัง ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี, ชลธี นุ่มหนู ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ตราด และวีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน
จังหวัดภูเก็ตชัดเจนว่า ฝั่งอนุรักษนิยมจะรวมเสียงที่ เรวัต อารีรอบ นายก อบจ.คนปัจจุบัน อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพียงคนเดียว เพราะรอบการเลือกตั้งใหญ่ สิ่งสำคัญคือฝั่งอนุรักษนิยม คะแนนตัดกันครั้งมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ จนทำให้ ‘พรรคส้ม’ ได้ ส.ส.ภูเก็ตยกเกาะทั้ง 3 คน
ในตอนแรก เรวัตวางแผนจะลาออกจากตำแหน่งช่วงกลางปี 2567 เพื่อชิงความได้เปรียบ แต่จนถึงขณะนี้เรวัตยังคง ‘หยั่งเสียง’ ว่าจะอาศัยจังหวะใด แต่คาดว่าจะอยู่ไม่ครบเทอมอย่างแน่นอน
อีกจังหวัดที่น่าสนใจคือ จังหวัดเชียงใหม่ อันที่จริงมีความแตกแยกกันพอสมควรในการเสนอ นายกก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายก อบจ.รอบที่แล้ว เป็นผู้สมัครสมัยที่ 2 เพราะบรรดานักการเมืองท้องถิ่น ส.ส.และอดีต ส.ส.ท้องที่ ต่างไม่พอใจในผลงานของนายกก๊องเท่าที่ควร เพราะแม้จะได้จดหมายน้อยจาก ทักษิณ ชินวัตร ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว แต่ผลงานยังออกมาน้อยมาก แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดเชียงใหม่
มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่รอบเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยแพ้ยับในจังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดของทักษิณ นอกเหนือจากตัวผู้สมัคร ส.ส.ไม่น่าสนใจแล้ว ยังเป็นการสั่งสอนทักษิณที่ตัดสินใจเลือกพิชัยมาลงนายก อบจ.อีกด้วย
เลือกตั้งรอบนี้ พรรคเพื่อไทยยังตัดสินใจส่งนายกก๊องลงนายก อบจ.อีกรอบ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเมืองที่ทักษิณกลับมามีอิทธิพลเต็มที่ และแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวทักษิณเป็นนายกฯ รอบนี้ สนาม อบจ.เชียงใหม่ จึงแพ้พรรคประชาชนไม่ได้เด็ดขาด และจะเป็นสนามที่ดุเดือดที่สุดในการเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้
ขณะเดียวกันทุกจังหวัดที่เหลือ ฝั่งพรรคประชาชนจะเจอความโหดหินในระดับเดียวกัน หลายจังหวัด ‘สีส้ม’ ที่พรรคส้มยังไม่ได้ประกาศผู้สมัครนายก อบจ. แต่ส่งแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายบ้านใหญ่ จะรวมตัวกันที่คนหนึ่งคน ต่อรองให้เป็น ‘ตัวตายตัวแทน’ ชนกับพรรคประชาชน ด้วยถือคติว่า ฝั่งเดียวกัน ยังคุยรู้เรื่องมากกว่าให้พรรคประชาชนบริหาร
เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่สนามการเลือกตั้งท้องถิ่น หากแต่ในสนามการเลือกตั้งระดับชาติ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เริ่มชิมลางจากจังหวัดพิษณุโลกเขต 1 ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคสีแดงและพรรคสีส้ม ยาวไปจนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570
หลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่า ทักษิณ แพทองธาร และพรรคเพื่อไทยเอง ได้โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อ ‘ขวาง’ สีส้ม ไม่ให้ได้เสียงสูงสุด ไม่ให้ตั้งรัฐบาลได้ เกมการเมืองจึงเริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทย ‘ตี’ บ้านใหญ่จากหลากพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ให้รวมกันที่ตนเอง เช่นเดียวกับ ‘ตี’ พรรคไทยสร้างไทย รวมถึงดึงกลุ่มย่อยของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนา ให้เป็นมุ้งหนึ่งในพรรคเพื่อไทย เป็นเกมเดียวกับเมื่อครั้งตั้งพรรคไทยรักไทย 2 ทศวรรษก่อน
ถึงจุดนี้ผู้มีอำนาจเชื่อว่า หากทักษิณใช้จุดแข็งเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ผนวกรวมกับ ‘บ้านใหญ่’ ที่สามารถแก้ปัญหาในหน่วยย่อย ตอบสนองคนในพื้นที่ได้ เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยน ‘โครงสร้าง’ แบบที่พรรคประชาชนเสนอ จะค่อยๆ เบาลง ด้วยวิธีนี้กลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มชนชั้นนำ และรัฐราชการ ก็จะอยู่สบายต่อไป
ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของพรรคประชาชน นอกเหนือจากการต่อสู้กับคดีความกับนิติสงครามแล้ว คือการหักล้างแนวคิดเหล่านี้ และโน้มน้าวให้คนไทยได้เห็นว่า การแก้ปัญหาในระดับฐานรากและระดับโครงสร้างยังเป็นสิ่งสำคัญ
ผลการเลือกตั้งจังหวัดราชบุรีเมื่อวานนี้ และการเลือกตั้งอีกมากที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ สะท้อนว่า พรรคประชาชนยังต้องทำงานอย่างหนักอีกมาก เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้จริง
Tags: The Momentum ANALYSIS, พรรคประชาชน, อบจ.ราชบุรี