วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา สื่อไทยหลายสำนักได้รายงานการเสียชีวิตของแพนด้าเพศเมีย ‘หลินฮุ่ย’ ทูตสันถวไมตรีความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เบื้องต้น แพทย์รายงานการเสียชีวิตว่า มีอาการผิดปกติ คือภาวะหัวใจล้มเหลว เลือดกำเดาไหล และจะมีการชันสูตรศพร่วมกับทางการจีนอีกครั้ง

หลินฮุ่ย มีอายุ 22 ปี เกิดในเมืองเฉิงตู มณฑลเฉสวน เดิมทีเป็นสัตว์ประจำศูนย์อนุรักษ์และวิจัยสัตว์ ก่อนรัฐบาลจีนส่งมาประเทศไทยเมื่อปี 2003 ต่อมา หลินฮุ่ย และแพนด้าเพศผู้ ‘ช่วง ช่วง’ ได้ให้กำเนิด ‘หลินปิง’ ในปี 2009 ซึ่งเป็นแพนด้าตัวแรกที่เกิดจากการผสมเทียมของนักวิจัยไทย

การสูญเสียสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน นำมาสู่การเปิดประวัติความเป็นมาของหมีสีขาว-ดำตัวอ้วนในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องราวของ ‘การทูตแพนด้า’ (Panda Diplomacy) หรือวิธีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับพันธมิตร ด้วย ‘การให้ยืมหมีแพนด้ายักษ์เป็นของขวัญ’ ดังเรื่องราวล่าสุด ในช่วงฟุตบอลโลก 2022 ที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ส่งแพนด้าแก่กาตาร์ นับเป็นครั้งแรกของการเปิดประวัติศาสตร์การทูตแพนด้าในภูมิภาคตะวันออกกลาง

จุดเริ่มต้นของการทูตแพนด้า: จากของขวัญอันล้ำค่า สู่การยืมที่มีเงื่อนไข

แม้จะมีหลักฐานถึงการทูตแพนด้าภายใต้ราชวงศ์ถัง แต่นิยามอย่างเป็นทางการปรากฏในทศวรรษ 1970 

การทูตแพนด้าในโลกสมัยใหม่ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1940 ซึ่งเป็นการมอบแพนด้าเป็นของขวัญให้กับประเทศพันธมิตร มีความหมายถึงการแสดงความจริงใจ และการสร้างความสัมพันธไมตรี เนื่องจากแพนด้ายักษ์ถือเป็น ‘สมบัติของชาติ’ อันล้ำค่าและหายากมาก พบได้ทางตอนเหนือของประเทศจีนเท่านั้น 

ตามรายงานจากทางการ จีนส่งแพนด้า 23 ตัว ไป 9 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหภาพโซเวียต (1957), เกาหลีเหนือ (1965), สหรัฐอเมริกา (1972), ญี่ปุ่น (1972, 1980 และ 1982), ฝรั่งเศส (1973), อังกฤษและเยอรมนี (1974) เม็กซิโก (1975) รวมถึงไทย (2003)

จนกระทั่งจีนยุตินโยบายการมอบแพนด้าอย่างถาวรในปี 1982 เพราะแนวโน้มการสูญพันธ์ของสัตว์ประจำชาติ หลังจากพบว่ามีแพนด้าเหลือเพียง 1,860 ตัว อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งเปลี่ยนวิธีการให้ของขวัญมาสู่ ‘การยืม’ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขประกอบที่ประเทศปลายทางต้องปฏิบัติตาม

เช่น จีนแผ่นดินใหญ่มอบแพนด้า 2 ตัว ‘เจียว ชิ่ง’ (Jiao Qing) และ ‘เหมิง เหมิง’ (Meng Meng) ให้กับเยอรมนีในปี 2017 โดยมีเงื่อนไขผูกมัดต่อการยืมแพนด้าตัวละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34.4 ล้านบาท) เป็นระยะเวลา 15 ปี

“มันเป็นสัญลักษณ์ระหว่างความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ พวกเราได้ทำงานใกล้ชิดในการประชุม G-20 และเรามีทูตสันถวไมตรีทั้งสอง ณ ตรงนี้แล้ว” อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี กล่าวถึงนัยสำคัญต่อการมีอยู่ของแพนด้า ในฐานะทูตความสัมพันธ์ระหว่างแดนมังกรกับอินทรีเหล็ก

สัญลักษณ์ของแพนด้าที่มากกว่าความเป็นมหามิตร: กลยุทธ์การสร้าง ‘อำนาจโน้มนำ’ (Soft Power) ของรัฐบาลจีนสู่ชาวโลก

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘Soft Power’ หรือ ‘อำนาจโน้มนำ’ ตามหน้าสื่อและหน่วยงานราชการอยู่บ่อยครั้ง เช่น เรื่องราวของนักร้องสาวกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีคอนเสิร์ต และเกิดข้อความบางส่วนในโลกออนไลน์ว่า “ข้าวเหนียวมะม่วงเป็น Soft Power”

การกล่าวเช่นนั้นดูจะผิดฝาผิดตัวและไม่ตรงบริบทในความเป็นจริง เพราะความหมายของอำนาจโน้มนำลึกซึ้งกว่านั้น หากอ้างอิงการอธิบายจากเจ้าของแนวคิด โจเซฟ ไนน์ (Joseph Nye) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้วางทฤษฎีในสำนักคิดเสรีนิยมใหม่เชิงโครงสร้าง (Neo-liberal institutionalism)

อำนาจโน้มนำ หมายถึงการสร้างอิทธิพลผ่านเสน่ห์ของประเทศหนึ่งด้วย 3 วิธีการ คือวัฒนธรรม เสาหลักทางการเมือง และนโยบายทางต่างประเทศ จนทำให้ชาติอื่นชื่นชอบ อยากปฏิบัติตามเหมือนประเทศต้นแบบ รวมถึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองอีกฝ่าย โดยปราศจากการใช้กำลังขู่เข็ญและบังคับ 

การทูตแพนด้าถูกยกให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูตที่สร้างอำนาจโน้มนำของจีนโดยไนน์ เพราะความน่ารักและไร้เดียงสาของหมีตัวอ้วน สร้างภาพลักษณ์ให้จีนเป็นที่ชื่นชอบของทั่วโลกในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเขาให้เหตุผลกับไฟแนนเชียลไทม์ (Financial Times) ในปี 2017 ว่า 

“สำหรับจีน หมีแพนด้าเปรียบเสมือนราชวงศ์อังกฤษในการเมืองโลก เป็นทรัพย์สินที่ยอดเยี่ยม แค่คุณพาน้องวิ่งเหยาะๆ ไปทั่วโลก ก็เท่ากับคุณเพิ่มอำนาจโน้มนำจำนวนมหาศาลให้กับประเทศตนเอง”

เหตุที่ไนน์อธิบายเช่นนี้ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว จีนประสบความสำเร็จกับการสร้างอิทธิพลผ่านการทูตแพนด้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังจากสื่อของรัฐบาลจีนภายใต้การควบคุมของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) เผยแพร่วิดีโอ ‘แพนด้าสุดน่ารัก’ จำนวนนับไม่ถ้วนผ่านทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และยูทูบ ซึ่งแอปพลิเคชันทั้งหมดนี้ถูกบล็อกในจีน โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของปักกิ่งดู ‘อ่อนโยน’ และ ‘น่ากอด’ สำหรับผู้ชมทั่วโลก

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ไทยมีแง่มุมที่ดีต่อจีนเป็นอย่างมากในยุคหนึ่ง หลังจากเกิดปรากฏการณ์ ‘แพนด้าฟีเวอร์’ เพราะการเข้ามาของหมียักษ์สีขาว-ดำในประเทศ 

หากจำกันได้ ในทุกเช้าของการตื่นไปทำงานหรือเล่าเรียน รายการข่าวช่อง 3 ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ มักเผยแพร่คลิปพัฒนาการของแพนด้าน้อย หลินปิง พร้อมเพลงประกอบ จนทำให้หลายคนต้องหยุดชมความน่ารักระหว่างการกินอาหารเช้า รวมไปถึงความนิยมของ ‘สวนสัตว์เชียงใหม่’ ในวันเด็ก เมื่อหนูๆ เลือกที่จะรบเร้าพ่อแม่ไปดู ‘น้องหลินปิง’ มากกว่าชม ‘การแสดงรถถังและเครื่องบินรบ’ ของกองทัพบก

กระแสนี้ยังลามไปสู่วัยผู้ใหญ่ เมื่อเพลง ‘หมีแพนด้า’ ของวงไฮโร กลายเป็นที่นิยมทั่วบ้านทั่วเมือง ด้วยท่วงทำนองและเนื้อร้องอันติดหู หมีแพนด้าเค้าว่าน่ารัก ผมนี้ชักชักอยากจะเห็น” 

อย่างไรก็ตาม การสร้างภาพลักษณ์ของการทูตแพนด้าที่โด่งดังที่สุดในหน้าสื่อ คือภาพของแมร์เคิล และสี จิ้นผิง ยืนถ่ายรูปกับทูตหมีน้อยทั้งสองอย่างชื่นมื่นก่อนการประชุม G-20 ในปี 2017 จนหลายคนยกให้เป็นนิมิตหมายที่ดีต่อประชาคมระหว่างประเทศ 

มีคำอธิบายจากวงการนักการทูตว่า บรรยากาศระหว่างการพบกันของสองผู้นำเป็นไปด้วยดีมากๆ และการมอบสมบัติของชาติอย่างแพนด้าให้กับเยอรมนี หมายถึงการไว้วางใจของปักกิ่งต่อแมร์เคิล ในฐานะผู้นำคนใหม่ของโลกตะวันตก

การพบกันของสองผู้นำประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 3 ของโลก โดยมีพยานสำคัญ คือ แพนด้าสุดน่ารัก

อีกทั้งสถานการณ์ยังเป็นใจให้กับปักกิ่งในช่วงเวลานั้น เพราะเบอร์ลินกำลังบาดหมางกับวอชิงตันภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กับความสนใจต่อการเมืองภายในอย่างเดียว และละทิ้งพันธมิตรสหภาพยุโรป

นอกเหนือจากนั้น ยังมีผู้นำคนอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนบนเวทีโลกผ่านการทูตแพนด้า ด้วยรูปถ่ายอันใกล้ชิดและแสดงความเอ็นดูต่อหมียักษ์ เช่น มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ, จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา, ฟร็องซัว ออล็องด์ (Francois Holland) อดีตประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส และราชินีโซเฟียแห่งสเปน

มองอีกมุมจากไนน์: เมื่อการทูตแพนด้าไม่ใช่อำนาจโน้มนำ แต่เป็นตัวประกันของจีนในการเมืองโลก

ถึงแม้ไนน์ยอมรับว่า การทูตแพนด้ามีบทบาทในการสร้างอำนาจโน้มนำบนเวทีโลกของจีน แต่แพนด้าสุดใสซื่อ ไม่ได้มีความหมายเชิงบวกเหมือนเรื่องราวข้างต้นเสมอไป หลายครั้ง มันคือเครื่องมือกดดันหรือบีบบังคับประเทศอื่นๆ หรือกลายเป็น ‘อำนาจบังคับขู่เข็ญ’ (Hard Power) ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับอำนาจโน้มนำอย่างสิ้นเชิง 

เพราะการริบคืนหมีตัวอ้วนที่มีความพิเศษนี้ แสดงถึงความไม่พอใจของปักกิ่งต่อประเทศผู้ได้รับมอบ และการกดดันทางอ้อมเพื่อให้ทำตามต้องการ เริ่มจากปี 2012 นอร์เวย์ถูกแบนจากจีน เพราะมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับ หลิว เสี่ยวปัว (Liu Xiaobo) นักโทษทางการเมืองผู้ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์และสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในจีน ไม่เพียงแต่การยุตินำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ แต่ยังรวมถึงการริบแพนด้าคืนจากออสโล

รวมถึงในปี 2014 จีนเคยเลื่อนการเยือนสวนสัตว์ในกัวลาลัมเปอร์ที่มีแพนด้าของจีนเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม เพราะรัฐบาลและประชาชนในประเทศไม่พอใจการสอบสวนประเด็น ‘การสูญหายของเครื่องบิน MH370’ ซึ่งมีคนจีนเป็นผู้โดยสารถึง 150 คนในลำ

แต่กรณีที่ใหญ่ที่สุดคงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการเรียกคืนแพนด้าจากวอชิงตันนับไม่ถ้วน โดยครั้งแรกที่มีบันทึกไว้อย่างชัดเจน คือปี 2010 และ 2017 เพราะรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ไม่พอใจการติดต่อระหว่างประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) และดาไลลามะ (Dalai Lama) สืบเนื่องจากปัญหาการเรียกร้องเอกราชของธิเบตในประเทศ

และความขัดแย้งจาก ‘สงครามการค้า’ เมื่อสุนทรพจน์ของทรัมป์ในปี 2019 มีเนื้อหาต่อต้านสินค้าจากปักกิ่ง ทันทีที่ทางการจีนทราบเรื่อง แพนด้าในสวนสัตว์ซานดิเอโก้ถูกเรียกคืนกลับสู่ประเทศ

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในการเมืองโลก ทำให้เหลือแพนด้าแค่ 2 ตัวในประเทศ ได้แก่ แพนด้าในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และแอตแลนตา ซึ่งต้องติดตามต่อว่า จะมีการเรียกคืนในอนาคตอีกหรือไม่

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งจากทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า ความน่ารักของหมีแพนด้าไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทูตสร้างไมตรีเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น ‘ตัวประกัน’ บอกเล่าเจตจำนงของจีนทางการเมืองได้อย่างเด่นชัดด้วยจำนวนที่ยังคงอยู่ แม้เจ้าหมีตัวอ้วนไม่สามารถพูดได้สักคำ

 

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/326773

https://www.thaipbs.or.th/news/content/319881

https://www.thairath.co.th/news/local/north/2683531

https://www.ft.com/content/8a04a532-be92-11e7-9836-b25f8adaa111

https://www.nbcnews.com/news/world/china-pandas-qatar-rcna53104

https://timesofindia.indiatimes.com/world/china/why-does-china-take-back-its-gifted-pandas/articleshow/98078475.cms?from=mdr

https://timesofindia.indiatimes.com/world/china/chinas-panda-diplomacy-all-you-need-to-know/articleshow/59522759.cms

https://unherd.com/thepost/chinas-panda-diplomacy-isnt-as-cuddly-as-it-seems/

Fact Box

  • ปัจจุบัน ไทยจ่ายเงินค่าเช่าแพนด้าให้กับจีนในราคา 8,577,750 บาท 
  • หน่วยงานของไทยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับแพนด้าถึง 16 รายการ และใช้งบประมาณถึง 130 ล้านบาท
  • ข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นับตั้งแต่ปี 2002-2022 ไทยใช้เงินสร้างศูนย์วิจัยและที่อยู่ของแพนด้า 98,922,833 บาท 
  • จากสัญญาการเช่าแพนด้าในปี 2015 หากแพนด้าเสียชีวิตด้วยเหตุประมาท ไทยต้องจ่ายเงินราว 17 ล้านบาท 
  • ไทยต้องชำระค่าประกัน 34 ล้านบาท ถ้ามีการขนย้ายแพนด้ากลับสู่ประเทศจีน
  • สำหรับกรณีหลินฮุ่ย หากมีการชันสูตรแล้วค้นพบว่า การเสียชีวิตเกิดจากความประมาท ทางการไทยต้องจ่ายเงิน 17 ล้าน เช่นเดียวกับการเสียชีวิตของ ช่วง ช่วง ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวในปี 2019
Tags: , , , , , ,