บทสรุปการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2024 มาถึงจุดสิ้นสุด หลัง ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) พรรคก้าวหน้าประชาธิปไตย (Democratic Progressive Party: DPP) เอาชนะคู่แข่ง 2 คนสำคัญคือ โหว โหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) พรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) และเคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) อดีตนายกเทศมนตรีไทเป พรรคประชาชนไต้หวัน (Taiwan People’s Party: TPP) ด้วยคะแนน 40.1% นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พรรค DPP คว้าชัยชนะติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3
มากกว่าเรื่องราวแคนดิเดตประธานาธิบดี หรือคนรุ่นใหม่ในฐานะ ‘New Voter’ ที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของคะแนนเสียง ความน่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังรวมไปถึง ‘ปฏิกิริยาจากจีนแผ่นดินใหญ่’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อต้านฝ่ายสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน ขณะที่ออกโรงสนับสนุนกลุ่มพรรคการเมืองที่นิยมการรวมชาติ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวประจักษ์จากคำขู่ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ครั้งแล้วครั้งเล่า ความถี่ของการคุกคามด้วยกองกำลังทหาร แรงกดดันทางการทูต ข่าวปลอม หรือแม้แต่กลยุทธ์อันน่าเหลือเชื่อในมุมมองใครหลายคน คือการแทรกแซงด้วย ‘ความเชื่อและศาสนา’ ผ่าน ‘ม่าจ้อโป๋’ ‘หม่าโจ้ว’ หรือ ‘เจ้าแม่มาจู่’ (Mazu)
ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศที่น่าเชื่อถือหลายแห่ง ทั้งรอยเตอร์ (Reuter) อัลจาซีรา (Al Jazeera) และเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) ต่างรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนพยายามกุมความได้เปรียบในการเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้ ด้วยการใช้ความศรัทธาต่อเจ้าแม่มาจู่ในบรรดาประชาชนและนักการเมือง เป็นเครื่องมือบิดเบือนความคิดเห็นทางการเมือง เมื่อเทพีแห่งท้องทะเลสะท้อนมายาคติ ‘ความสงบสุข’ และ ‘สันติภาพ’ นำมาสู่แนวคิดการรวมชาติระหว่างจีนกับไต้หวันให้เป็นหนึ่งเดียว
สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านคำพูดประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อที่แสดงความคิดเห็นในเดือนกันยายน 2023 ว่า ขอให้เจ้าแม่มาจู่คุ้มครองประชาชนให้ลงคะแนนเสียงตามความประสงค์ของพวกเขา
“ผมภาวนาต่อพระแม่แห่งสวรรค์ (เจ้าแม่มาจู่) จงอวยพรให้กับการเลือกตั้งในปี 2024 และประชาชนในประเทศแห่งนี้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดชะตาของตนเอง จะลงคะแนนเสียงตามความประสงค์ของพวกเขา แทนที่จะถูกครอบงำหรือแทรกแซงจากภายนอกด้วยข้อมูลปลอม” ว่าที่ประธานาธิบดีของไต้หวันคนที่ 8 ทิ้งนัยสำคัญอย่างน่าสนใจ
เจ้าแม่มาจู่: กำเนิดจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ได้รับการศรัทธาในไต้หวัน โดยเฉพาะนักการเมือง
ตามความเชื่อ เจ้าแม่มาจู่มีจุดกำเนิดในมณฑลฝูเจี้ยน (Fujian) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงราชวงศ์ซ่ง โดยเรดิโอฟรีเอเชียและคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายในบทความ คารวะเจ้าแม่ทับทิม (พระม่าจ้อ) เข้าใจเทพ-ผีในระบบความเชื่อจีน ว่า เจ้าแม่มาจู่เคยเป็นมนุษย์ที่รู้จักในชื่อ หลิน โม่เหนียง (Lin Moniang) หากแต่ได้รับการนับถือในฐานะ ‘ผู้มีเวทมนตร์’ เพราะทำนายอากาศและภัยทางทะเลได้ถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งยังคุ้มครองผู้เดินเรือและชาวประมงในระหว่างการเดินทางในท้องทะเล
แม้ หลิน โม่เหนียงเสียชีวิตลง แต่เธอยังคงปรากฏตัวในเรื่องเล่าตามความเชื่อต่างๆ เช่น เรื่องราวของเจิ้งเหอ (Zheng He) นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน อีกทั้งยังได้รับการเคารพบูชาด้วยการเลื่อนยศขั้น ‘พระราชชนนีสวรรค์’ เปรียบดัง ‘ย่า’ หรือ ‘แม่’ ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า
ความนิยมของเจ้าแม่มาจู่ไม่ได้หยุดเพียงแค่จีนแผ่นดินใหญ่ ทว่ายังแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คมกฤชอธิบายว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะการอพยพของคนจีนโพ้นทะเลที่เดินทางด้วย ‘น้ำ’ เป็นหลัก จึงอาจนำความเชื่อด้านการบูชาเทพีแห่งท้องทะเลตามมาด้วย
นั่นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ไต้หวัน ซึ่งมีรากเหง้าจากจีนแผ่นดินใหญ่จะไม่มีความเชื่อต่อเทพีแห่งท้องทะเลที่ส่งต่อมายังปัจจุบัน อ้างอิงจากสถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan: AIT) พบว่า 28% ของประชาชนไต้หวันนับถือเทพเจ้าตามความเชื่อดั้งเดิมหรือท้องถิ่น และ 20% นับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ 25% ไม่มีความเชื่อทางศาสนาใดๆ ทั้งนั้น
หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ในกลุ่มประชาชนไต้หวันที่นับถือเทพเจ้าตามความเชื่อดั้งเดิม เรดิโอฟรีเอเชียเผยว่า มีประชากรประมาณ 10 ล้านคนนับถือเจ้าแม่มาจู่ ประกอบด้วยประชาชนคนธรรมดา และนักธุรกิจมากหน้าหลายตา
ที่น่าสนใจยิ่งกว่า ตัวเลขนั้นรวมถึง ‘กลุ่มนักการเมือง’ ที่มักแสดงออกถึงความเคารพและศรัทธาอย่างเปิดเผย อีกทั้งยังกล่าวถึง ‘อิทธิฤทธิ์’ ของเจ้าแม่นับครั้งไม่ถ้วน เช่น ‘เหตุผล’ ของเทอร์รี กัว (Terry Gou) ผู้ก่อตั้งฟอกซ์คอนน์ (Foxconn) ถึงการลงรับสมัครในตำแหน่งตัวแทนประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋งว่า เป็นเพราะเขา ‘ฝันเห็นเจ้าแม่มาจู่’ โดยอ้างว่า ท่านขอให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อสร้างสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน
นอกจากนี้ มีรายงานในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดว่า แคนดิเดตประธานาธิบดีทั้ง 3 คน มีความใกล้ชิดกับเทพีแห่งท้องทะเลเป็นอย่างดี นับตั้งแต่การที่ไล่ ชิงเต๋อเดินทางไปสักการะและทำพิธีที่วัดลีซิงฟูเตอ (Lixing Fude) เพื่อขอพร ประสบการณ์การเดินทางแสวงบุญของเคอ เหวินเจ๋อในช่วงเทศกาลบูชาเจ้าแม่มาจู่ และการกล่าวอ้างของโหว โหย่วอี๋ ว่าด้วยเจ้าแม่โหยหาความสงบและสันติในช่องแคบไต้หวัน
“ในเก้าวันที่ผมเดินทางไปแสวงบุญ ผมไม่ได้ซื้ออะไรกินเลย ผมกินแต่ของแจก และระลึกถึงความมีน้ำใจของชาวไต้หวันที่แบ่งปันอาหาร เครื่องดื่ม และยาแก้ปวด” เคอ เหวินเจ๋อเล่าประสบการณ์ในการแสวงบุญของเขา
“เจ้าแม่มาจู่เหมือนแม่ของเรา เธอมาจากฝูเจี้ยน และเธออยากเห็นคนในสองช่องแคบไต้หวันอยู่อาศัยอย่างสันติสุข รวมพลังของเราเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ แทนที่จะห้ำหั่นกันเอง” โหว โหย่วอี๋ แคนดิเดตจากพรรคก๊กมินตั๋ง อันเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่กล่าว
‘จีน’ และ ‘ไต้หวัน’ คือครอบครัวเดียวกัน: วาทกรรม โฆษณาชวนเชื่อ และการแทรกแซง
“เราหวังว่าไต้หวันจะเป็นเกาะที่ได้รับการอวยพร ไม่ใช่เกาะที่กลายเป็นสนามรบและเต็มไปด้วยทหาร”
นี่คือเนื้อความส่วนหนึ่งในบทสวดของ ‘นักบวช’ ที่ทำพิธีสักการะบูชาพระพุทธเจ้าและเจ้าแม่มาจู่ ปรากฏในบทความของรอยเตอร์ที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยข่าวกรอง เอกสารความมั่นคงของไต้หวัน หัวหน้านักบวชในวัดเจ้าแม่มาจู่ 5 ราย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอีก 4 คน
ในรายงานดังกล่าวปรากฏหลักฐานว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China: CPC) พยายามใช้ช่องโหว่เรื่องศาสนาและความเชื่อ เพื่อบิดเบือนความคิดเห็นทางการเมืองของผู้คนในไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการครอบงำทางความคิด การให้เงินทุน หรือการสานสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายสมาคมทางศาสนา
แม้ฟังดูแล้วอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเสรีภาพทางศาสนาในจีนถูกปิดกั้นจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่ในความจริง ความศรัทธาต่อเจ้าแม่มาจู่กลับไม่ได้ถูกห้ามปรามเหมือนเรื่องอื่นๆ เลย
“จีนยกให้เจ้าแม่มาจู่เป็นเทพีแห่งช่องแคบไต้หวัน ภาพลักษณ์ของเธอเปลี่ยนไปตามเวลา” กู่ หมิงจวิน (Ku Ming-chun) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซิงหวา (Tsinghua) อธิบายโดยระบุว่า ในบางครั้งความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นเครื่องมือที่ดีของรัฐ เช่นเดียวกับการสอดแทรกวาทกรรม ‘ครอบครัวเดียวกัน’ ผ่านการมีอยู่ของเทพีแห่งท้องทะเล
นอกจากนี้ ยังให้เหตุผลว่า ศาสนาเป็นตัวแปรสำคัญที่เชื่อมโยงกับไต้หวันได้ดีในมุมมองของจีน โดยเฉพาะความเชื่อที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับกิจกรรมทางการเมือง เมื่อ ‘วัด’ คือสถานที่พบปะระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ซึ่งได้รับการเปรียบเทียบว่า ‘เป็นตัวทลายความเหินห่าง’ ระหว่างคน 2 กลุ่ม
“วัดคือพื้นที่สาธารณะสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในไต้หวัน และเป็นพื้นที่เปิดกว้างด้านเสรีภาพทางคำพูด” ลิน ควานเจิน (Lin Kuan-jen) ผู้นำของวัดลีซิงฟูเตอ ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา สะท้อนเหตุการณ์ปราศรัยของไล่ ชิงเต๋อในวัด ท่ามกลางประชาชน 200 ชีวิต หลังทำพิธีสักการะบูชาเจ้าแม่มาจู่เสร็จสิ้น
ขณะที่ ริชาร์ด แมดเซน (Richard Madsen) ศาสตราจารย์กิตติคุณ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (University of California San Diego) แสดงความคิดเห็นว่า นักการเมืองใช้ประโยชน์จากวัดได้มากกว่าการใกล้ชิดกับประชาชน แต่ยังรวมถึงการสร้างเครือข่ายผ่านบุคลากรในวัดด้วยการมอบของบริจาคให้
การแทรกแซงจากจีนโดยอาศัยความศรัทธาของชาวไต้หวันจึงประจักษ์ในหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่คลิปวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อจากกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army: PLA) ที่ปรากฏบรรยากาศการซ้อมรบทั่วไต้หวัน เต็มไปด้วยเครื่องบินและเรือดำน้ำข้างรูปปั้นเจ้าแม่มาจู่ พร้อมคำบรรยายว่า กองทัพจีนและเทพธิดาแห่งท้องทะเลกำลังปกปักษ์ช่องแคบแห่งไต้หวัน
ยังไม่รวมการที่รัฐบาลจีนมอบเงินให้นักธุรกิจและวัดในไต้หวันหลายแห่ง โดยอ้างถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศาสนา แต่กลับไม่มีใครตรวจสอบว่า เงินดังกล่าวนำไปใช้ในส่วนใด ซ้ำมีรายงานว่า วัดบางแห่งแขวน ‘ธงชาติจีน’ เพื่อประกาศจุดยืนทางการเมือง
นอกจากนี้ รอยเตอร์รายงานถึง ‘โครงการท่องเที่ยววัดในจีน’ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018-2020 เมื่อรัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนชาวไต้หวันมากกว่า 2 หมื่นรายในการเดินทางไปจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วยประชาชนทั่วไป นักข่าว และนักวิชาการ อีกทั้งยังเผยว่า ในปี 2023 นักการเมืองไต้หวันนับร้อยคนก็เดินทางไปจีนด้วยข้อเสนอดังกล่าว
“คนไต้หวันเข้าโครงการแลกเปลี่ยนนี้ด้วยความคิดที่ว่ามันสนุก และไปกับผู้แทนของจีน พวกเขาภูมิใจมาก แต่ไม่รู้ว่านี่คือหายนะของประเทศ” เลียว ฉินฉาง (Liao Chin-chang) นักธุรกิจที่เคยเดินทางไปร่วมทริปดังกล่าวระบุกับเรดิโอฟรีเอเชีย ขณะที่แหล่งข่าวอื่นๆ เผยว่า จีนสอดแนมด้วยการเก็บข้อมูลหรือความคิดเห็นของผู้คน โดยเฉพาะบุคคลสำคัญในท้องถิ่นจากโครงการครั้งนี้
แม้รัฐบาลไต้หวันจะพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การออกกฎหมายความมั่นคงที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากจีน แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ด้วยเรื่อง ‘ความเป็นกลางทางการเมือง’ ของวัด
“พวกเรามีเสรีภาพในการพูด และการนับถือศาสนา วัดไม่ควรสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง” วู ฮุ่ยเฉิง (Wu Hui-shen) ที่ปรึกษาประจำวัดลีซิงฟูเตอ แสดงความคิดเห็นทิ้งท้าย
อ้างอิง
https://www.aljazeera.com/news/2024/1/13/taiwan-ruling-partys-lai-wins-presidential-election
https://apnews.com/article/china-taiwanbeing-aelections-ac222a4b2a0af1d0cf03170e597c94e7
https://www.matichonweekly.com/column/article_251022
https://www.rfa.org/english/news/china/taiwan-goddess-01102024103041.html
https://www.aljazeera.com/news/2024/1/4/why-temples-are-a-top-campaign-stop-in-taiwans-election
Tags: เลือกตั้งไต้หวัน 2024, เอเชียตะวันออก, จีนแผ่นดินใหญ่, Mazu, เจ้าแม่มาจู่, สาธารณรัฐจีน, ไต้หวัน, จีนคอมมิวนิสต์, จีน, เอเชีย, Analysis, เลือกตั้งไต้หวัน