หนึ่งในประเด็นที่ชวนสงสัยในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส (Hamas) กองกำลังติดอาวุธของปาเลสไตน์ คือกลยุทธ์โจมตีสายฟ้าแลบในปฏิบัติการอัลอักซา (Al-Aqsa Flood) ในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับโลก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุโจมตีจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเผยให้เห็น ‘แผลช่องโหว่’ ของอิสราเอลครั้งใหญ่ ในฐานะประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสุดซับซ้อนและล้ำหน้าแห่งหนึ่งของโลก
สะท้อนจากความล้มเหลวของมอสซาด (Mossad) หน่วยข่าวกรองอิสราเอลที่คิดคำนวณสถานการณ์ผิดพลาด หลังมีเจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งเผยว่า ฮามาสไม่สนใจต่อการขยายความขัดแย้ง รวมถึง ‘ความมั่นใจเกินเหตุ’ ของกองกำลังพิเศษอิสราเอลต่ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีไอรอนโดม (Iron Dome) หรือระบบป้องกันขีปนาวุธทางอากาศของอิสราเอล ที่ถูกอาวุธโจมตีของฮามาสบางส่วนเล็ดลอดเข้าไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ดาวิด คาลฟา (David Khalfa) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง แสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวฟรานซ์ 24 (France 24) ว่า บาดแผลของอิสราเอลครั้งนี้เทียบเท่ากับสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ในปี 1973 เมื่อกองกำลังซีเรียและอียิปต์บุกโจมตีอย่างไม่คาดคิด อีกทั้งอิสราเอลไม่เคยเผชิญหน้าการโจมตีสายฟ้าแลบขนาดใหญ่เช่นนี้มาก่อน
ขณะที่กลุ่มฮามาสก็วางกลยุทธ์คล้ายคลึงสงครามยมคิปปูร์ แต่ ‘มีความซับซ้อนกว่าปกติ’ แสดงให้เห็นถึงการวางแผนและเตรียมความพร้อมมาอย่างดี และอาจได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (Palestinian Islamic Jihad: PIJ) กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน หรือแม้แต่ประเทศอิหร่าน
ฮามาสวางแผนโจมตีอิสราเอลอย่างไร?
เบื้องต้น ฮามาสโจมตีอิสราเอลด้วยการคำนึง ‘ความอ่อนแอ’ ของการเมืองภายใน
เมื่อสังคมอิสราเอลมีการแบ่งขั้วทางความคิดเห็น และเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ หลัง เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรี พยายามปฏิรูประบบตุลาการของประเทศ เพื่อทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตุลาการ
นอกจากนี้ ปีเตอร์ เลอร์เนอร์ (Peter Lerner) อดีตพันโทประจำกองทัพอิสราเอล (Israeli Defence Forces: IDF) ระบุกับยูโรนิวส์ (EuroNews) ว่า การโจมตีครั้งนี้คล้ายคลึงกับสงครามยมคิปปูร์ในแง่วันและเวลา เพราะเห็นได้ชัดว่า ฮามาสจงใจใช้ประโยชน์จากปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการโจมตี คือช่วงเวลาเช้าตรู่ในวันหยุดยาวของเทศกาลเฉลิมฉลองสุคคต (Sukkot) และกำลังทหารของอิสราเอลที่น้อยกว่าปกติ
รูปแบบการโจมตีของฮามาส
กล่าวได้ว่า ฮามาสวางแผนการโจมตีเป็นอย่างดี เป็นไปทีละขั้นตอนดังต่อไปนี้
– ฮามาสเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีหลากหลายทิศทาง (Multi-Domain Operations) ทั้งทางอากาศ ทะเล และบก
– ทำลายโดรนสังเกตการณ์ของอิสราเอล
– ยิงจรวดขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อทำลายไอรอนโดมหรือแนวป้องกันเบื้องต้นของอิสราเอล
– เข้าบุกพื้นที่เป้าหมาย (อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน)
– ไล่โจมตีพลเรือนอิสราเอลจากหลายทิศทาง โดยเฉพาะการสร้างความกลัวต่อพลเรือนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งโจมตีชุมชนบริเวณคอนเสิร์ต รวมถึงจับทหารและพลเรือนอิสราเอลเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา (Gaza)
– ในเวลาเดียวกัน ฮามาสโจมตีกองกำลังอิสราเอลและขโมยอาวุธมาเพื่อสร้างความได้เปรียบในความขัดแย้ง
ศักยภาพการโจมตีของฮามาสพัฒนาอย่างไร?: ประสบการณ์และการสนับสนุนจากพันธมิตร
อัลจาซีรา (Al Jazeera) เผยสาเหตุที่ฮามาสสามารถโจมตีอิสราเอลได้ชั่วพริบตา เพราะพวกเขาอาจศึกษา ‘กลยุทธ์เบื้องลึก’ จากกลุ่มนักรบเจนิน (Jenin) ในปฏิบัติการเจนินเมื่อปี 2002 เมื่ออิสราเอลเข้าโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน ที่มีผู้อพยพเชื้อสายปาเลสติเนียนอาศัยอยู่ นับเป็นเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงในช่วงการประท้วงอินติฟาดาครั้งที่สอง (Second Intifada) โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รายงานว่า มีชาวปาเลสติเนียนเสียชีวิต 52 ราย และบ้านเรือน 400 หลังเสียหาย
ฮามาสนำบทเรียนดังกล่าวมาพัฒนาอาวุธ ทั้งการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Device: IED) ที่มีต้นทุนต่ำ ปกปิดได้ง่าย และสร้างความปั่นป่วนให้กับกองทัพอิสราเอล อีกทั้งอาจใช้อุโมงค์ใต้ดินเช่นเดียวกับกลุ่มนักรบเจนิน เพื่อขนย้ายกำลังและเสบียง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้หน่วยข่าวกรองอิสราเอลพลาดความเคลื่อนไหว และถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปในเรื่องอื่นแทน
การเรียนรู้ดังกล่าวยังรวมถึงกลวิธีในแง่สงครามจิตวิทยา และข้อจำกัดเรื่อง ‘ความไม่เท่าเทียมด้านกำลังสู้รบ’ (Asymmetric Warfare) กล่าวคือกลยุทธ์และอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสแตกต่างกันมาก เพราะอิสราเอลมีกำลังและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เหนือกว่า นั่นจึงทำให้ฮามาสใช้ ‘ยุทธวิธีชนแล้วหนี’ (Hit-And-Run Attacks) ที่เน้นการซุ่มโจมตี และการใช้ปืนสไนเปอร์ยิงจากระยะไกล เพื่อลดการบาดเจ็บและล้มตายของกลุ่ม
ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้ากองกำลังของฮามาส อาจได้รับการสนับสนุนจากฮิซบอลเลาะห์และอิหร่าน พวกเขาเรียนรู้กลยุทธ์การต่อสู้และเทคโนโลยีทางการทหารจากฮิซบอลเลาะห์ ขณะที่อิหร่านเป็นผู้ฝึกฝน สนับสนุนด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ เห็นได้ชัดเจนคือ ‘จรวดทำเอง’ ของฮามาส ที่มีความคล้ายคลึงเทคโนโลยีของอิหร่านทั้งในแง่ความแม่นยำและความเร็ว
นอกจากนี้ การเผชิญหน้ากับอิสราเอลที่ฉนวนกาซาปี 2014 อาจทำให้ฮามาสเห็นประโยชน์จากกลยุทธ์ของอิสราเอล คือการใช้ ‘บ้านเรือน’ หรือโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์เป็นเกราะกำบัง สังเกตได้จากในการโจมตีครั้งนี้ ฮามาสใช้พื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นศูนย์บัญชาการ ฐานทัพยิงจรวด และที่ซ่อนอาวุธ
ขยายความข้างต้น กลวิธีนี้เป็นเกราะกำบังไม่ให้ศัตรูลงมือตอบโต้อย่างรุนแรงได้ เพราะกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) มีหลักการแบ่งแยกพลเรือนกับทหารในสงคราม และห้ามไม่ให้ทหารทำร้ายพลเรือน ซึ่งเท่ากับว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตอบโต้ จนส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและผู้คนจำนวนมาก จะขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ และอีกฝ่ายจะมีข้ออ้างที่ชอบธรรมมากขึ้นในการโต้ตอบ
สถานการณ์ปัจจุบัน
ปัจจุบัน (11 ตุลาคม 2023) สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงและความรุนแรงยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้
– ชาวปาเลสติเนียนถูกฆ่าตายนับ 900 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตของอิสราเอลพุ่งสูง 1,200 คน
– กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้รับบาดเจ็บ เพราะการโจมตีรถพยาบาลในฉนวนกาซา
– บริษัทผลิตไฟฟ้าในฉนวนกาซาอาจปิดทำการในไม่กี่ชั่วโมงนี้ เนื่องจากเชื้อเพลิงกำลังจะหมด ท่ามกลางปัญหาไฟฟ้าขัดข้องในฉนวนกาซา เพราะกองทัพอิสราเอลไม่ยุติการทิ้งระเบิด ขณะที่โรงพยาบาลและที่อยู่อาศัยในบางส่วนไร้ไฟฟ้าใช้แล้ว
– กองทัพอิสราเอลพร้อมทหาร 3 แสนนาย ประจำการที่ฉนวนกาซา โดย โจนาธาน คอนริคัส (Jonathan Conricus) โฆษกกองทัพอิสราเอล เผยว่า จะทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า กลุ่มฮามาสจะไม่มีที่ยืนหลังจบสงคราม
– มีการเผชิญหน้าระหว่างเด็กหนุ่มปาเลสติเนียนและตำรวจอิสราเอลในบริเวณเยรูซาเล็มตะวันออก โดยสำนักข่าววาฟา (Wafa) ของปาเลสไตน์รายงาน มีชาวปาเลสติเนียน 12 รายถูกยิงและได้รับอาการบาดเจ็บ
– ตอนนี้ยังไม่มีการกระจายตัวของความขัดแย้งในภูมิภาค กองทัพอิสราเอลเผยว่า ชายแดนระหว่างซีเรียยังคงสงบเรียบร้อย ขณะที่สถานการณ์ในชายแดนเลบานอนก็ไม่มีการสู้รบแต่อย่างใด
อ้างอิง
Tags: Middle East, ฮามาส, การเมืองตะวันออกกลาง, อัลอักซา, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, ตะวันออกกลาง, Analysis, The Momentum ANALYSIS