เป็นเวลากว่า 2 วันแล้ว ที่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ไร้คำตอบ หลังจากมีชื่อของ คิมห์ สิริทวีชัย กรรมการของอินทัช ลงชื่อว่าจะเป็นผู้สอบสวนกรณีบันทึกการประชุมของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ตรงกับคลิปวิดีโอที่ปรากฏต่อสาธารณะผ่านรายการข่าวสามมิติ

จากเดิมที่ ‘ไอทีวี’ เป็นบริษัทที่ปรากฏในฐานะหุ้นตัวหนึ่งที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือ ไอทีวีได้กลายเป็นหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดอันใหญ่กว่า และสาธารณชนจำนวนหนึ่งก็เชื่อไปเช่นนั้นว่า ไอทีวีอาจมีส่วนกลายสภาพกลับเป็น ‘สื่อมวลชน’ เพื่อทำให้พิธากลายเป็นผู้ ‘ถือหุ้นสื่อ’ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2560

และทำให้สปอตไลต์ฉายไปยัง ไอทีวี อินทัช และบริษัท กัลฟ์ เอเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ในฐานะเจ้าของอินทัชอีกที และทำให้ เสี่ยกลาง-สารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทยถูกลากเส้นเชื่อมโยงไปด้วย

คำถามก็คือเพราะเหตุใด GULF ถึงไปเกี่ยวข้องกับอินทัชและไอทีวีได้ แล้วสารัชถ์เข้ามาเกี่ยวโยงกับทฤษฎีสมคบคิดนั้นได้อย่างไร และด้วยเหตุบังเอิญทั้งหมดกัลฟ์คือคู่ขัดแย้งโดยตรงกับพรรคก้าวไกลพอดิบพอดี

The Momentum ชวนทุกท่านย้อนเส้นทางชวนดูความสัมพันธ์ระหว่าง ‘กัลฟ์-อินทัช’ ก่อนจะไปถึง ‘ไอทีวี’ ซึ่งสุดท้ายทำให้ ‘สารัชถ์’ และ ‘พิธา’ เข้าไปเกี่ยวข้องกันโดยตรง

ย้อนไทม์ไลน์ ‘อินทัช’ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘กัลฟ์’ ได้อย่างไร?

รายงานประจำปี 2565 ของไอทีวีระบุว่า “กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายการจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอินทัชที่ถือหุ้นเกินกว่า 5% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมีจำนวนหุ้นกว่า 46% และมี SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE LTD กลุ่มโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ถือหุ้นอีก 24.99%”

ขณะที่ภารกิจที่หลงเหลืออยู่ของไอทีวีนับจากคำสั่งปิดเมื่อปี 2550 และคดีความที่บริษัทยังฟ้องศาลปกครองก็คือการ ‘สู้คดี’ เพื่อต่อสู้ต่อ…

ทว่าสิ่งที่กล่าวได้ตอนนี้ก็คือ ‘กัลฟ์’ อยู่ในฐานะผู้หุ้นใหญ่ของอินทัช และครอบคลุมไอทีวีอีกทีหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของอินทัชต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2526 โดยในเวลานั้นก่อตั้งภายใต้ชื่อ ‘ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสเมนต์’ โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นายตำรวจที่อยากริเริ่มธุรกิจสื่อสารคมนาคมเป็นเจ้าของ ก่อนจะสยายปีกไปทำธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขยายโครงข่ายไปทำธุรกิจ ‘ดาวเทียม’ โดยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2533 และในปี 2544 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อ ‘ชิน คอร์ปอเรชั่น’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ชินคอร์ป’ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของชินคอร์ปก็คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส หรือ AIS ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่มีโครงข่ายครอบคลุมที่สุด มีฐานลูกค้ามากที่สุดในช่วงระยะเวลาหลายทศวรรษก่อน และ AIS นี่เองก็เป็นจุดที่สร้างความมั่งคั่งให้กับทักษิณ

ท่ามกลางช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานทางการเมือง ในเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปในสัดส่วน 49.6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาทให้กับกลุ่ม ‘เทมาเส็กโฮลดิ้งส์’ ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเป็นดีลที่มีการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีมูลค่าสูงสุดของประเทศไทย ณ เวลานั้น

การขายหุ้นชินฯ ให้กับสิงคโปร์กลายเป็นตัวจุดชนวนสำคัญ และทำให้ทักษิณถูกกล่าวหาว่า ‘ขายชาติ’ ให้กับประเทศสิงคโปร์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ม็อบเสื้อเหลือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ‘จุดติด’ และนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ต่อมาในปี 2556 บริษัท แอสแพน โฮลดิ้งส์ จำกัด (บริษัทในเครือเทมาเส็ก) เข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 41.62% มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก ‘ชิน คอร์ปอเรชั่น’ เป็น ‘อินทัช โฮลดิ้ง’ ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งเหตุการณ์นี้มีความสำคัญในแง่ของการแก้ไขตราบริษัท นับเป็นการสิ้นสุดการใช้ชื่อธุรกิจของตระกูลชินวัตรนับแต่นั้นเป็นต้นมา

อินทัชถึงจุดเปลี่ยนใหญ่อีกครั้งในปี 2564 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง กัลฟ์ บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย ภายใต้การควบคุมของ สารัชถ์ รัตนาวะดี หัวเรือใหญ่ของกัลฟ์ เข้าซื้อหุ้นของอินทัชและเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจนมาถึง 40.3% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กัลฟ์กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน

คำถามสำคัญก็คือ แล้วเครือ ‘กัลฟ์’ เป็นใคร สุดท้ายมาเชื่อมโยงกับ ‘ไอทีวี’ ได้อย่างไร

กัลฟ์ เอเนอร์จี เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซและพลังงานหมุนเวียน รวมถึงขายไฟฟ้าให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม โดยมีแม่ทัพใหญ่คือ ‘สารัชถ์’

นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา กัลฟ์เป็นบริษัทที่เติบโตแบบพุ่งทะยาน ในปี 2564 กัลฟ์แจ้งในรายงานประจำปีว่า มีรายได้รวมมากกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรในปี 2564 อยู่ที่ 9,167 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ในรายงานประจำปียังระบุด้วยว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของกัลฟ์ในไทยอยู่ที่ 7,875 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติประเภท IPP 61% พลังงานก๊าซธรรมชาติ SPP หรือจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 31% และเป็นพลังงานทดแทน 8% โดยตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2570 จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 14,498 เมกะวัตต์

ข้อมูลที่น่าสนใจในรายงานประจำปีอีกอย่างก็คือ ‘ลูกค้า’ ของกัลฟ์ในปัจจุบันมากกว่า 91% คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเป็นลูกค้าอุตสาหกรรม 9% นอกจากนี้ กัลฟ์มีแผนจะขายให้ลูกค้าอย่าง กฟผ.เพิ่มเป็น 94% ในปี 2570 และลดสัดส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมลงเหลือ 6% ในปีเดียวกัน

การทำธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ ทำให้เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ในการจัดอันดับ ‘มหาเศรษฐี’ แบบ ‘เรียลไทม์’ โดยนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) สารัชถ์กลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แทนเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จากกลุ่มซีพี

และการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานพลังงาน ทำให้มีชื่อของสารัชถ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ เสมอ ชื่อของเขาและอาณาจักรของเขาถูกเอ่ยถึงหลายครั้งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าตัวเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับบางคน บางกลุ่มในรัฐบาล และสิ่งที่ตามมาคือการฟ้องหมิ่นประมาทโดย ‘กัลฟ์’ ไปยัง ส.ส.หลายคน รวมถึงนักวิชาการอิสระ คอลัมนิสต์ของ The Momentum อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล

เมื่อกัลฟ์เป็นเจ้าของอินทัช

หลังจากกัลฟ์เข้ามาเป็นเจ้าของอินทัชโดยสมบูรณ์ อินทัชมีการบริหารงานหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสื่อสารคมนาคมไร้สายที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สาย ดำเนินการผ่าน แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส ธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศที่ดำเนินการผ่านไทยคม และธุรกิจอื่นๆ ที่อินทัชเข้าไปร่วมลงทุน

และใน ‘ธุรกิจอื่นๆ’ ที่อินทัชเข้าไปร่วมลงทุน มี ‘ซากอารยธรรม’ จากยุคชินคอร์ปที่ชื่อว่า ‘ไอทีวี’ ชินคอร์ปเป็นเจ้าของไอทีวีนับตั้งแต่กลางปี 2543 จนกระทั่งวันที่ไอทีวีสิ้นสภาพการเป็นสื่อ ปิดกิจการในปี 2550

เมื่ออินทัชเข้าไปเกี่ยวพันกับไอทีวีในฐานะทรัพย์สินที่มีอยู่ ก็มีการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารของไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเป็นคนของอินทัช เป็นความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างอินทัชกับไอทีวี

และเมื่อเกิดความผิดปกติในไอทีวี ทำให้หลายคนลากเส้นโยงไปถึงอินทัชและกัลฟ์

การปลุกผีไอทีวีในครั้งนี้คือการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มทุน?

คำถามก็คือ แล้ว ‘กัลฟ์’ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องชุลมุนว่าด้วยหุ้นไอทีวีหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ มีกรณีที่กัลฟ์ฟ้อง ส.ส. (และกำลังจะเป็น ส.ส.อีกรอบ) สองคนของพรรคก้าวไกล คือ เบญจา แสงจันทร์ และรังสิมันต์ โรม ที่อภิปรายพาดพิงเรื่องสัมปทานโรงไฟฟ้ายุค คสช. และพาดพิงเรื่องสัมปทานดาวเทียมไทยคม

ขณะเดียวกัน นโยบายของพรรคก้าวไกลก็มีส่วนพัวพันกับกัลฟ์ โดยเฉพาะเรื่องการขจัดทุนผูกขาด โดยเฉพาะในเรื่องโรงไฟฟ้า วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นั้น หุ้น GULF ถึงกับเปิดในแดนลบ ลงไปต่ำสุดกว่า 48.25 บาท หรือลดลง 8.09% ทันทีที่เปิดตลาดในช่วงเช้า

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เมื่อนักข่าวถาม ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลว่า คนที่พัวพันเรื่องนี้ใช่ นิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ชัยธวัชตอบว่า มี ‘ใหญ่’ กว่านั้น

และในการแถลงข่าววันนี้ (13 มิถุนายน 2566) พิธาให้สัมภาษณ์สื่อว่า หลักฐานการพยายามทำให้ไอทีวีกลับมาเป็นสื่ออีกครั้งยังมีอีกมาก

ทั้งหมดจึงทำให้หลายคนลากเส้นต่อจุดเพื่อโยง ‘สารัชถ์’ และ ‘พิธา’ โดยไม่ตั้งใจ

และทั้งหมดอาจเป็นเหตุบังเอิญก็เป็นได้…

Tags: , , , , , , , , ,