“มีผู้หญิงคนหนึ่งถูกสังหาร เพียงเพราะเธอไม่ยอมสวมฮิญาบ?”

เหตุการณ์เศร้าสลดดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อ มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงสาววัย 22 ปี เสียชีวิตหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเนื่องจากมีความผิดฐานแต่งกายไม่เหมาะสม ฮิญาบที่ปิดบังเส้นผมของเธอไม่เรียบร้อยมากพอ จนทำให้มีปอยผมหลุดออกจากผืนผ้าแล้วปรกลงข้างใบหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเธอมีความผิดตามข้อบังคับทางกฎหมาย

ไม่กี่วันหลังถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจออกแถลงการณ์ว่าอามินีเสียชีวิตเพราะภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทว่าประชาชนเกือบทั้งประเทศไม่เชื่อคำแถลงที่ว่า แต่เชื่อว่าเธออาจเสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุ อาจเป็นการทำร้ายร่างกาย ทารุณกรรม จนทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร และในเวลานั้น คงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า ความตายของผู้หญิงคนหนึ่งอาจพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์อิหร่านไปตลอดกาล 

เกิดอะไรขึ้นในอิหร่าน? เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐ 

 

ว่าด้วยการคลุมหน้าของสตรีตามหลักศาสนา

เมื่อเอ่ยถึงสตรีในร่มศาสนาอิสลาม หนึ่งสิ่งที่ทุกคนจะได้พบเห็นคือการสวมผ้าคลุมปกปิดใบหน้า เส้นผม และร่างกาย ซึ่งการคลุมผ้าแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไป แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน แต่หลายพื้นที่ก็มีการแยกย่อยในรายละเอียด จึงทำให้เห็นว่าการคลุมผ้าของสตรีทั่วโลกไม่ได้เหมือนกันไปเสียทั้งหมด 

ฮิญาบ (Hijab) ในภาษาอาหรับแปลว่า สิ่งกีดขวาง ม่านปิดกั้น หรือสิ่งปกปิด การคลุมฮิญาบนั้นถือเป็น ‘วาญิบ’ (ข้อบังคับทางศาสนา) ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีการคลุมผ้าที่ต่างกันไป บางแห่งอาจคลุมแบบฮิญาบหรือเซย์ลา ปิดบังเส้นผมไว้เฉยๆ ซึ่งจะเห็นได้มากในอิหร่านและปากีสถาน ส่วนผ้าประเภทอื่นๆ ยังมีทั้งการคลุมแบบชาดอร์ (Chador) ที่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งในอิหร่านก็สวมใส่เพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา 

นิกอบ (Niqab) ผ้าคลุมศีรษะเพื่อปกปิดบางส่วนของใบหน้า หรืออาบายา (Abaya) ผ้าผืนใหญ่สีดำที่พบเห็นได้บ่อยในซาอุดีอาระเบียและแอฟริกาเหนือ ในบางพื้นที่อย่างอัฟกานิสถานก็มักนิยมคลุมแบบบุรกา (Burka) หรือในชื่ออื่น อย่าง ‘จาดรี’ และ ‘ปารันจา’ เป็นผ้าผืนเดียวปกคลุมร่างกายมิดชิดและมีช่องตาข่ายบางๆ เฉพาะบริเวณดวงตาเพื่อให้ผู้สวมใส่สามารถมองเห็นได้

ทั้งหมดคลุมเพื่ออะไร? ผู้นับถือศาสนาอิสลามบางรายให้คำตอบว่า สตรีจำต้องปกคลุมตัวเองให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย รวมทั้งแสดงถึงการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระเจ้า

 

เมื่อกฎศาสนากลายเป็นกฎหมาย คนที่เชื่อไม่เหมือนกันจะยืนอยู่ตรงไหน?

ข้อบังคับให้สตรีคลุมฮิญาบอย่างจริงจังเริ่มต้นขึ้นหลังการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ที่เปลี่ยนมาใช้กฎหมายชารีอะห์เป็นข้อบังคับสูงสุด สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่สตรีจำต้องทำตาม ผู้หญิงทุกคนจะต้องแต่งกายให้มิดชิด คลุมผ้าปิดบังเส้นผม มีกิริยาที่สำรวม ไปจนถึงข้อห้ามอื่นๆ เช่น ห้ามสตรีเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล ห้ามสตรีร้องเล่นเต้นรำ หรือเล่นดนตรีในที่สาธารณะ ฯลฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนทุกคนในอิหร่านไม่ได้มีความเชื่อเหมือนกันทั้งหมด พวกเขามีสิทธิที่จะเลือกนับถือศาสนาที่ตัวเองศรัทธา แต่กลายเป็นว่าเมื่อรัฐถูกเปลี่ยนการปกครอง ผู้หญิงทุกคนที่จะออกไปทำธุระนอกบ้านจำเป็นต้องคลุมฮิญาบ แม้จะมีหลายคนแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมกับคนที่มีความเชื่ออื่น แต่พวกเธอก็ไม่สามารถออกมาคัดค้านอะไรได้มากนัก

หลายครั้งหลายหนโลกจะได้ยินเสียงวิจารณ์ของประชาชนในอิหร่าน ผู้คนจำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่าประเทศไม่ควรมีกฎหมายบังคับให้สตรีต้องสวมใส่ฮิญาบ เนื่องจากมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนควรจะมี เป็นเรื่องของสิทธิในเรือนร่างตัวเอง ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิตัดสินใจว่าตัวเองจะสวมใส่ฮิญาบหรือไม่ เพราะในท้ายที่สุดแล้วมันก็เป็นเรื่องของพวกเธอกับอัลเลาะห์ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นในสังคมที่จะต้องมาเดือดร้อนแทน

ข้อบังคับมากมายส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงทั้งประเทศ บางคนยอมรับปรับตัว บางคนอาจเกิดความสงสัยในใจ บางคนมีท่าทีต่อต้านเล็กน้อยไปจนถึงต่อต้านรุนแรง และหลายครั้งที่ผู้หญิงพยายามหลบเลี่ยงข้อบังคับ เพื่อจะได้เข้าถึงสิทธิที่ประชาชนเพศชายสามารถทำได้ เช่น ในช่วงปี 2018 เคยมีข่าวไวรัลที่ผู้หญิงจำนวนมากในอิหร่านต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อจะได้เข้าไปยังสนามฟุตบอล ชมกีฬาที่ตัวเองชื่นชอบ และสุดท้ายเกือบทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

ในปีเดียวกันได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ เหล่าชายหญิงที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสวมฮิญาบออกมาแสดงอารยะขัดขืนร่วมกัน ผู้หญิงหลายคนถอดฮิญาบแล้วนำผ้าเสียบไม้ ก่อนชูขึ้นเหนือหัว พวกเธอรวมกลุ่มกันบนถนนเส้นหนึ่ง ตรึงกำลังต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้แกนนำหญิงขึ้นปราศรัยว่าทำไมพวกเธอถึงควรจะมีสิทธิเลือกเองว่าจะสวมฮิญาบหรือไม่ ท่ามกลางเสียงตอบรับที่ดีของประชาชนจำนวนมาก ทำให้สำนักข่าวต่างประเทศพากันเรียกการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า ‘เหล่าหญิงสาวบนถนนแห่งการปฏิวัติ’ (The Girls of Revolution Street)

รัฐบาลพยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จับกุมผู้ประท้วง และพิพากษาโทษเพื่อแสดงเป็นตัวอย่างแก่สังคม ดังกรณีที่ อับบาส จาฟารี โดลาตอบาดี อัยการสูงสุดประจำกรุงเตหะราน สั่งจำคุกนักเคลื่อนไหวหญิงรายหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดฐาน ‘ยุยงให้เกิดการกระทำที่ผิดศีลธรรม’

แม้จะถูกปราบปราม ถูกจับกุมคุมขัง แต่หากดูตามสารคดีทั้งไทยและเทศที่เล่าถึงชีวิตของชาวอิหร่านในปัจจุบัน รวมถึงการนำเสนอของสำนักข่าวน้อยใหญ่ จะพบว่าโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต คนรุ่นใหม่ในอิหร่านได้มองเห็นโลกกว้างกว่าคนยุคเก่า พวกเขาและเธอมีจุดยืนในเรื่องสิทธิที่จริงจังมากขึ้น จนทำให้เห็นว่าผู้หญิงในอิหร่านหลายคนไม่ค่อยสนใจกับข้อบังคับด้านการแต่งกาย เมื่อออกจากบ้านพวกเธอก็คลุมฮิญาบเป็นปกติ แต่ไม่ได้ซีเรียสเท่าสมัยก่อนว่าห้ามปล่อยให้ผ้าคลุมร่วงหล่นจากศีรษะ บางคนก็ดึงฮิญาบไว้บริเวณลำคอ แล้วใช้ชีวิตต่อในสังคมเป็นปกติ

เคยมีหญิงชาวอิหร่านคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเธอว่า “หากกลัวว่าการถอดฮิญาบจะเป็นบาปเพราะทำให้ผู้ชายมอง เรื่องนี้ก็ควรเป็นความผิดของผู้ชาย ไม่ใช่การบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมใบหน้า”

 

น้ำผึ้งหยดเดียวที่แลกมาด้วยความตายของหญิงสาว

     หลังจากที่เกริ่นเรื่องการเสียชีวิตอันน่าสงสัยของ มาห์ซา อามินี ไว้ตอนข้างต้น ล่าสุดสาเหตุการเสียชีวิตของเธอก็ยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของบุคคลหรือองค์กรทั้งในและนอกประเทศที่ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงความบริสุทธิ์ใจ

สิ่งที่สังคมได้เห็นมีเพียงแค่คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดในสถานีตำรวจ เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2022 ระหว่างที่หญิงสาวกำลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่ๆ เธอล้มลงกับพื้น จนทำให้คนในบริเวณเดียวกันรีบเข้ามาช่วยแล้วนำตัวส่งโรงพยาบาล ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในอีก 3 วันต่อมา ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

หากพิจารณาดูจากกล้องวงจรปิดจะเห็นว่าอามินีล้มลงไปเอง ทว่าหลายฝ่ายต่างคลางแคลงใจกับคลิปวิดีโอที่ตำรวจนำมาเผยแพร่ หลายคนรู้สึกว่าคลิปวิดีโอมีความผิดปกติ คลิปดังกล่าวอาจตัดฟุตเทจซ้อนกัน หรือมีการตัดต่ออะไรบางอย่าง และมีข้อสันนิษฐานว่าอามินีถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองทุบบริเวณศีรษะ หรือทุบบริเวณลำตัว จนร่างของเธอล้มไปกระแทกกับเก้าอี้

บิดาของอามินีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าลูกสาวของเขาไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาสุขภาพ และเมื่อนำร่างกลับมาทำพิธีศพทางศาสนา กลับพบร่องรอยฟกช้ำที่ขาทั้ง 2 ข้าง จึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของอามินีอย่างจริงใจ

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้หลายคนเชื่อว่าการตายของอามินีเกิดขึ้นจากความรุนแรงของตำรวจ เป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ตำรวจมักทำกับประชาชน ความตายของอามินีทำให้ชาวอิหร่านจำนวนมากเผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ทั้งเก่าและใหม่ที่เผยให้เห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นผู้หญิงไม่สวมใส่ฮิญาบ พวกเขาจะรีบเข้าไปจับกุม หากผู้หญิงเหล่านั้นต่อต้านขัดขืนแม้เพียงเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จะเริ่มฉุดกระชาก จิกหัว ดึงคอเสื้อ ทุบตีให้จำยอม ก่อนลากตัวเข้าไปในรถตำรวจ สิ่งที่เห็นคือความไม่ประนีประนอมต่อประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับพวกเธอเสมือนว่าเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง

นาดา อัล-นาชิฟ (Nada Al-Nashif) รักษาการกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องการเสียชีวิตของอามินี เนื่องจากตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเธอเสียชีวิตจากสาเหตุใด อาจเป็นไปได้ทั้งการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย เสียชีวิตเพราะตำรวจทำเกินกว่าเหตุ หรือเสียชีวิตเพราะปัญหาสุขภาพ

 

หนึ่งความตายนำมาซึ่งเสียงประท้วงต่อต้าน ‘ความเชื่อ’

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2022 อาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์อิหร่านได้ไม่มากก็น้อย เวลานี้ผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาลของตัวเอง เริ่มตั้งแต่การประท้วงในเมืองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ใกล้กับพื้นที่จัดพิธีฝังศพของอามินี ประชาชนที่มารวมตัวกันแสดงความโกรธแค้นต่อตำรวจที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องตาย เพียงเพราะเรื่องของเครื่องแต่งกายตามความเชื่อทางศาสนา ผู้ชุมนุมหญิงพากันปลดฮิญาบออกจากศีรษะแล้วโยนทิ้งลงพื้น ตะโกนใส่เจ้าหน้าที่รัฐที่มาควบคุมความสงบเรียบร้อยว่า “ตายห่-ไปได้แล้ว ไอ้พวกเผด็จการ”

ความตายของอามินีทำให้สังคมอิหร่านกลับมาพูดถึงปัญหาเรื่องการแต่งกายอีกครั้ง ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงการบีบบังคับประชาชนของรัฐบาลเคร่งศาสนา หากเป็นเมื่อก่อน ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง เพราะนี่คือเรื่องที่พวกเธอกำลังเดือดร้อน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในตอนนี้คือผู้ชุมนุมชายและหญิงมีสัดส่วนพอๆ กัน และมีหลายเหตุการณ์ที่เผยให้เห็นว่าผู้คนอิหร่านต่างร่วมกันสู้เพื่อสิทธิในการแต่งตัวของสตรีในประเทศ

หนึ่งในคลิปวิดีโอการประท้วงที่ถูกพูดถึงมากในทวิตเตอร์ คือคลิปการประท้วงในกรุงเตหะราน ผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่บนหลังคารถยนต์ ปลดฮิญาบออกและปราศรัยถึงความไม่ยุติธรรมที่ผู้หญิงในสังคมอิหร่านต้องพบเจออยู่ทุกคน มีผู้หญิงหลายคนถูกคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเดินเข้ามาตักเตือน บ้างก็ด่าทออย่างรุนแรง เพียงเพราะไม่สวมฮิญาบ รวมถึงกรณีของอามินีที่เสียชีวิตอย่างไม่ยุติธรรม

ขณะที่หญิงคนดังกล่าวกำลังปราศรัย มีตำรวจกลุ่มหนึ่งมุ่งตรงเข้ามาจะรวบตัวเธอ แต่ผู้ชุมนุมชายหลายสิบคนกรูเข้ามาล้อมรถที่ผู้หญิงคนนั้นยืนอยู่ คอยดันและปกป้องไม่ให้ตำรวจเข้ามาจับกุม

หลายครั้งที่ผู้ชายหลายคนที่มีรูปร่างใหญ่กว่าผู้หญิงเอาตัวบังกระสุนยางที่ยิงเข้าใส่ม็อบ หรือเหตุการณ์ที่ชายวัยกลางคนรายหนึ่งเดินเข้าไปตบหน้าผู้หญิงที่เดินอยู่ริมถนน เพียงเพราะเธอไม่สวมฮิญาบ ก่อนชายรายดังกล่าวจะถูกผู้ชายคนอื่นๆ ในละแวกพุ่งเข้าจับตัว ทุบตีเขากลับด้วยความโกรธแค้น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมานำตัวชายดังกล่าวออกไปจากพื้นที่

คลื่นความไม่พอใจกระจายตัวไปทั่วอิหร่าน ทั้งเหตุผลทางเศรษฐกิจ การบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชน และการบีบบังคับสตรีในสังคม ทำให้ผู้คนพากันออกมาประท้วงติดต่อกันหลายวัน ผู้หญิงคนแล้วคนเล่าถอดฮิญาบโยนเข้ากองไฟ บ้างก็ถอดฮิญาบแล้วตัดผมให้สั้น พวกเธอออกมาร้องรำทำเพลงแสดงจุดยืนว่าไม่ควรต้องมีใครตายเพียงเพราะไม่ได้คลุมฮิญาบ ตามมาด้วยการสลายการชุมนุมในหลายพื้นที่

รถตำรวจและสถานีตำรวจหลายแห่งถูกเผาทำลาย ผู้คนฉีกรูปของ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณอิหร่าน และร่วมกันขับร้องเพลง Death to the dictator (ความตายแด่เผด็จการ)

 

ท่าทีของนานาชาติและการตั้งรับของรัฐบาลอิหร่าน

หลังการประท้วงเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การจับกุมคุมขังไม่อาจทำให้ผู้คนหยุดชุมนุม อิบราฮิม ไรซี (Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่าน ออกแถลงการณ์ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อกลุ่มผู้ประท้วง เช่นเดียวกับ ฮอสเซน อามีร์ อับดุลลาฮีอาน (Hossein Amir-Abdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ประณามสหรัฐอเมริกาว่าพยายามเข้ามา ‘สนับสนุนผู้ก่อจลาจล’ และ ‘บ่อนทำลายเสถียรภาพของอิหร่าน’

วันที่ 23 กันยายน 2022 อาห์มัด วาฮิดี (Ahmad Vahidi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารอิหร่าน ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ว่า “รัฐบาลจำเป็นจะต้องควบคุมการใช้งานทางอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันการจลาจลและโฆษณาชวนเชื่อในโซเชียลมีเดีย และการควบคุมเรื่องอินเทอร์เน็ตจะยังคงบังคับใช้จนกว่าการจลาจลจะยุติ” โดยไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมถึง ‘เหตุผล’ ที่กล้าวอ้างแต่อย่างใด ทำให้ตอนนี้แอปพลิเคชันหลายประเภททั้ง WhatsApp, Instagram และ Skype จะไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

เมื่อชาวอิหร่านไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ Anonymous กลุ่มแฮกเกอร์ชื่อดัง ปล่อยวิดีโอคลิปว่าพวกเขาได้ลบเว็บไซต์รัฐบาลอิหร่าน เจาะระบบเข้าสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล รวมถึงกล้องวงจรปิดมากกว่า 300 ตัวทั่วประเทศ และจะช่วยพัฒนาเครื่องมือที่จะทำให้ชาวอิหร่านสามารถใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เจาะผ่านการเซนเซอร์ของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ 

“ชาวอิหร่านจะไม่ต่อสู้อย่างเดียวดาย” – Anonymous

ไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่ม Anonymous เท่านั้นที่พยายามหยิบยื่นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแก่ชาวอิหร่าน อิลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจชื่อดังได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2022 ว่า เขาพร้อมจะช่วยเหลือชาวอิหร่าน ด้วยการใช้ดาวเทียมสตาร์ลิงก์เพื่อเปิดใช้งานอินเทอร์เน็ตในอิหร่าน เหมือนอย่างที่เขาเคยทำเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครนขณะที่รัสเซียบุกโจมตีประเทศ โดยเขาจะทำเรื่องยื่นไปยังทำเนียบขาว เพื่อขออนุญาตดำเนินการดังกล่าวโดยทันที 

วันที่ 22 กันยายน 2022 สำนักข่าว CNN รายงานความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีอิหร่านอีกครั้ง ผู้นำรายนี้ยกเลิกการนัดสัมภาษณ์กับนักข่าว CNN ก่อนจะเริ่มถ่ายทำเพียงไม่กี่นาที เนื่องจากเขาไม่พอใจที่ คริสเตียน อามันพัวร์ (Christiane Amanpour) นักข่าวหญิงอาวุโสเชื้อสายอังกฤษ-อิหร่าน ไม่ได้สวมฮิญาบ

อามันพัวร์เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ปกติแล้วถ้าต้องลงพื้นที่ทำงานในต่างประเทศที่มีข้อบังคับชัดเจนเรื่องการคลุมผ้าปิดบังเส้นผม เธอก็จะทำตามข้อบังคับที่ว่า แต่ในครั้งนี้คือการสัมภาษณ์กลางกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีข้อบังคับให้ใครต้องคลุมผ้าปิดบังใบหน้า เธอจึงไม่จำเป็นที่จะต้องคลุมฮิญาบ

“ที่นี่คือนิวยอร์ก ไม่ใช่อิหร่าน ตั้งแต่เริ่มทำงานข่าวในปี 1995 ฉันไม่เคยถูกประธานาธิบดีอิหร่านคนใดสั่งให้สวมผ้าคลุมศีรษะขณะสัมภาษณ์ ไม่ว่าการพูดคุยนั้นจะเกิดขึ้นในอิหร่านหรือต่างแดนก็ตาม”

ไม่ได้มีแค่ประเทศที่ออกมาประณามการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงของอิหร่าน รัฐบาลเตหะรานได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับท่าทีของชาติตะวันตก ที่พยายามเข้ามาแทรกแซงและให้การสนับสนุนประชาชนหรือองค์กรที่เข้าร่วมการประท้วงในอิหร่าน 

ขณะนี้สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่แน่นอน บางสำนักข่าวรายงานว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว 1 ราย แต่บางสำนักข่าวรายงานว่าเสียชีวิตแล้ว 9 ราย จนกระทั่งในวันที่ 26 กันยายน รัฐบาลอิหร่านรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย มีทั้งผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคง แตกต่างจากข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (Iran Human Rights: IHR) ที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 76 ราย และมีผู้ถูกจับกุมแล้วกว่า 1,200 คน 

 การต่อสู้ระหว่างประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป หลายประเทศกำลังเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดว่าการต่อสู้ในครั้งนี้จะจบลงด้วยเส้นทางไหน ชัยชนะของรัฐบาล? หรือชัยชนะของประชาชน?

 

อ้างอิง

https://themomentum.co/hijab-muslim/

https://www.livemint.com/news/world/watch-women-in-iran-chop-off-hair-burn-hijab-in-protest-against-moral-police-all-you-need-to-know-11663578272411.html

https://www.nytimes.com/2016/05/04/world/what-in-the-world/burqa-hijab-abaya-chador.html 

https://edition.cnn.com/2022/09/24/middleeast/mahsa-amini-death-iran-internet-un-investigation-intl-hnk/index.html

https://indianexpress.com/article/opinion/columns/iran-taking-off-hijab-protest-8160322/

https://www.reuters.com/world/middle-east/iran-summons-uk-norwegian-envoys-unrest-persists-2022-09-25/

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/26/death-toll-grows-in-iran-as-mahsa-amini-protests-continue-for-10th-night

https://edition.cnn.com/2022/09/22/middleeast/iran-president-ebrahim-raisi-christiane-amanpour-intl/index.html

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,