หลังสงครามยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลกระทบไปทั่วโลก เกิดการเลือกฝั่งเลือกข้าง เกิดการประณามคว่ำบาตร บริษัทน้อยใหญ่แสดงจุดยืนด้วยการย้ายฐานตลาด งดซื้อ-ขายสินค้าหลายประเภท เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัสเซีย แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซียจะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อประชากรทั่วทั้งทวีปเสียแล้ว

ผลของสงครามทำให้ภาพรวมราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูง ราคาน้ำมันเคยแตะถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก่อนจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ที่ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปนั้นเข้าขั้นน่าเป็นห่วง เพราะหากเทียบราคากับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ราคาก๊าซแพงจากเก่าถึง 20 เท่า และในระยะเวลาไม่ถึงปี ราคาขึ้นก๊าซได้เพิ่มขึ้นกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ เห็นได้จากราคาเดิมที่เคยอยู่ที่ 15 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ทะยานไปแตะตัวเลขสูงสุดที่ 354 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง หรืออย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มีราคาขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่ 250 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง

อีกไม่กี่สัปดาห์ประเทศโซนยุโรปจะเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง อากาศที่เย็นจัดกับอุณหภูมิติดลบทำให้บ้านเรือนต่างต้องใช้พลังงานและไฟฟ้าเพื่อทำให้บ้านอุ่น ใช้เพื่อประกอบอาหาร ทำกิจกรรมตามกิจวัตรประจำวัน ฯลฯ ซึ่งราคาก๊าซที่พุ่งสูงไม่ได้หมายถึงแค่ก๊าซแพงเท่านั้น แต่ราคาพลังงานจะเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าในหลายประเทศพุ่งตามราคาก๊าซตีคู่มากับอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่สหราชอาณาจักรมีค่าพลังงานต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 1.5 แสนบาทต่อปี ไม่ว่ามองไปทางไหนทุกอย่างดูจะมีราคาแพงขึ้นเสียหมด

ท่ามกลางสภาวะขาดแคลนพลังงานเพราะรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซไปยุโรป ค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นหลายในประเทศทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาลของตน บ้างก็เรียกร้องให้รัฐบาลของตนหยุดคว่ำบาตรรัสเซีย ให้ความสำคัญกับชีวิตของคนในชาติก่อน บ้างก็กดดันให้รัฐบาลหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้เพื่อทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยสุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อรัสเซียอยู่ในสถานการณ์เป็นต่อเพราะพลังงาน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยุโรปจะดำเนินไปในทิศทางใด ยุโรปจะสามารถผ่านพ้นความหนาวเหน็บในช่วงสิ้นปีไปได้หรือไม่ หรือจำต้องยอมลดความตึงเครียด ปรับมาตรการบางอย่าง ยกเลิกการคว่ำบาตร แล้วหันกลับมาพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียอีกครั้ง?

 

ฤดูหนาวในยุโรปมักพึ่งพิงไออุ่นที่ส่งมาจากรัสเซีย

หลายปีที่ผ่านมา ทวีปยุโรปพึ่งพาพลังงานจำนวนมหาศาลจากรัสเซีย ทั้งก๊าซธรรมชาติกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ น้ำมัน 23-25 เปอร์เซ็นต์ และถ่านหินอีก 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย พวกเขาจึงต้องลดการนำเข้าพลังงานตามไปด้วย

การคว่ำบาตรไม่ได้ทำให้รัสเซียลำบากเท่าที่ควร แต่ดันย้อนกลับไปยังตัวของสหภาพยุโรป เมื่อมาตรการหลายด้านที่พยายามหาพลังงานทดแทนจากรัสเซียใช้ไม่ได้ตามที่วางไว้ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการคว่ำบาตรรัสเซียคือหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ยุโรปเผชิญกับวิกฤตพลังงาน

หนึ่งในตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ บริษัทพลังงานก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก (จากผลสำรวจปี 2020) ที่ขับเคลื่อนโดยรัฐบาลรัสเซียซึ่งมีหุ้นอยู่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และสร้างรายได้มหาศาลจากการส่งก๊าซธรรมชาติไปทั่วโลก

ทวีปยุโรปถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของบริษัทก๊าซพรอม ในปี 2005 เยอรมนีที่เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของสหภาพยุโรปลงนามข้อตกลงกับรัสเซียเพื่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติชื่อว่า นอร์ดสตรีม 1 (Nord Stream 1: NS1) ที่มีความยาวที่สุดในโลกกว่า 1,222 กิโลเมตร ลำเลียงก๊าซธรรมชาติลอดผ่านใต้ทะเลบอลติกมายังเยอรมนี ก่อนในปี 2015 จะตกลงสร้างนอร์ดสตรีม 2 ลงมือสร้างในปี 2018 และพร้อมใช้งานในปี 2021 ทว่าดันเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้นเสียก่อน ทำให้เยอรมนีได้ประกาศระงับโครงการนอร์ดสตรีม 2 เพื่อตอบโต้รัสเซียที่บุกโจมตียูเครน

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ประธานาธิบดียูเครน ระบุว่าท่อส่งก๊าซจะกลายเป็นหนึ่งในอาวุธทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซีย ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีตกลงร่วมกันว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อไรจะคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซีย ส่วน ดมีตรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ทวีตข้อความโต้ตอบมาตรการคว่ำบาตรโครงการนอร์ดสตรีม 2 ว่าอีกไม่นานประชาชนในยุโรปจะต้องพบกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแบบก้าวกระโดด

      ดูเหมือนว่าสิ่งที่เมดเวเดฟว่าไว้จะกลายเป็นจริง เพราะตอนนี้ชาวยุโรปต้องควักเงินจำนวนมากมาจ่ายค่าไฟและค่าพลังงานที่แพงหูฉี่

 

เสียงบ่นจากผู้คนที่กำลังเดือดร้อน

ในระยะเวลาเพียง 2 ปี หลายประเทศในยุโรปเผชิญกับราคาค่าไฟที่แพงขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเขาก็ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘Energy policy of the European Union’ ของตัวเอง ที่ทำให้เกิดการผูกพันราคาไฟฟ้าเข้ากับก๊าซธรรมชาติ เมื่อก๊าซมีราคาสูง ค่าไฟก็สูงขึ้นตามไปด้วย จนทำให้ล่าสุดสหภาพยุโรปกำลังเร่งปรับนโยบายใหม่เพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้น  

ค่าไฟแพงที่ว่านี้แพงถึงขั้นไหน? หากวัดสถิติค่าไฟโดยใช้หน่วยยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในภาพรวมแต่ละครัวเรือนจากประเทศตัวอย่างที่หยิบยกมา จะพบว่ามีราคาสูงขึ้นจนน่าตกใจ

เยอรมนีมีค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 30 ยูโร เป็น 315 ยูโร คิดเป็น 950 เปอร์เซ็นต์

สวิตเซอร์แลนด์มีค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 33 ยูโร เป็น 383 ยูโร คิดเป็น 1,060 เปอร์เซ็นต์

อิตาลีมีค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 38 ยูโร เป็น 442 ยูโร คิดเป็น 1,063 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเทศที่มีราคาค่าไฟที่ดีดตัวมากที่สุดในสหภาพยุโรปคือฝรั่งเศส จาก 33 ยูโร เป็น 400 ยูโร คิดเป็น 1,112 เปอร์เซ็นต์

อังกฤษที่ออกจากสหภาพยุโรปไปแล้วก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้พลังงานจำนวนมาก วันที่ 26 สิงหาคม 2022 Ofgem องค์กรรัฐบาลอังกฤษที่มีหน้าที่กำหนดเพดานค่าไฟฟ้า เผยข้อมูลสำคัญว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 เป็นต้นไป ราคาพลังงานต่อครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นจากเดิม (ที่แพงอยู่แล้ว) อีก 80 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 3,549 ปอนด์ต่อปี คิดเป็นเงินไทยราว 1.5 แสนบาท เนื่องจากต้องนำเข้าพลังงานเป็นหลัก ผลิตพลังงานเองก็ได้น้อย และไม่มีที่สำรองพลังงานมากเท่าหลายที่ 

ทำให้ตอนนี้อังกฤษกลายเป็นเมืองที่มีค่าไฟและค่าแก๊สแพงกว่าประเทศในละแวกเดียวกัน ซึ่งสถานการณ์ระหว่างที่มีการเผยราคาค่าไฟ สหราชอาณาจักรยังไม่ได้มีมติเลือก ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ

เมื่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงจนทะลุเพดาน ย่อมสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนจำนวนมากที่ต้องแบกค่าใช้จ่าย จนวันที่ 3 กันยายน 2022 ประชาชนกว่า 7 หมื่นคนในสาธารณรัฐเช็ก รวมตัวประท้วงรัฐบาลของตัวเองที่ไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าและพลังงานได้

ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุม คือการกระตุ้นให้รัฐบาลสนใจประชาชนในประเทศ มากกว่าทุ่มความสนใจไปยังการทูตและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพราะเวลานี้ค่าเงินเฟ้อ สินค้าต่างๆ ราคาแพง แต่ค่าแรงยังขยับตามไม่ทัน รวมถึงปัญหาเรื่องแรงผู้อพยพ ซึ่งเป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยวิกฤตพลังงาน ซึ่งทางรัฐบาลเคยให้คำมั่นว่าจะเร่งประชุมฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

 

แนวทางแก้ปัญหาด้านพลังงานของหลายชาติในยุโรป

หลังส่อแววเกิดปัญหาด้านพลังงาน ในเดือนกรกฎาคม สหภาพยุโรปมีมติร่วมกันลดปริมาณการใช้ก๊าซภายในประเทศตัวเองให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2023 ให้รัฐบาลแต่ละประเทศวางแผนการใช้ก๊าซโดยเทียบกับการใช้ในช่วงสิงหาคมถึงมีนาคมของปี 2016-2021 และขอให้สำรองก๊าซธรรมชาติเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2022

ภาพวิกฤตพลังงานเริ่มชัดเจนขึ้น สหภาพยุโรปได้วางแผนแก้ปัญหาหลายวิธีด้วยกัน เช่น แบ่งกลุ่มประเทศเป็น 2 โซน คือ ‘โซนสีแดง’ ที่เผชิญกับปัญหาพลังงานอย่างหนัก อาจจะเริ่มจำกัดราคาพลังงานให้จริงจังขึ้น กับอีกกลุ่มคือ ‘โซนสีเขียว’ ที่กำลังเจอปัญหาน้อยกว่าประเทศโซนสีแดง และกลุ่มประเทศเหล่านี้จะหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันในระหว่างชาติสมาชิก ไปจนถึงวิธีการแลกเปลี่ยนทรัพยากร เห็นได้จากที่เยอรมนีช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้าให้ฝรั่งเศส ส่วนฝรั่งเศสจะช่วยเหลือเรื่องก๊าซธรรมชาติแก่เยอรมนี

เมื่อสหภาพยุโรปกำหนดกฎเกณฑ์แบบคร่าวๆ ให้แต่ละประเทศช่วยกันควบคุมพลังงาน ผู้เขียนจึงยกตัวอย่างนโยบายของแต่ละพื้นที่ในยุโรปว่ารัฐบาลแต่ละแห่งมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร วิธีเหล่านั้นสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนมากน้อยแค่ไหน และระหว่างหาหนทางที่ดีที่สุดพวกเขาเจอกับอุปสรรคใดบ้าง

เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียมากกว่าใคร โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซที่ใช้ในประเทศ แต่เมื่อรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน เยอรมนีแสดงจุดยืนของตัวเองด้วยการลดการนำเข้าก๊าซให้เหลือ 35 เปอร์เซ็นต์ เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่เสนอนโยบายงดนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย และวางแผนจะลดลงเรื่อยๆ แล้วหันไปซื้อพลังงานจากที่อื่นแทน

แม้เยอรมนีจะไม่สามารถผลิตพลังงานใช้เองได้เท่ากับความต้องการของประชาชนในประเทศ แต่รัฐบาลพยายามมองหาช่องทางที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย หากมองในภาพรวมแล้วเยอรมนีมีการสร้างพลังงานหมุนเวียนอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหินลิกไนต์ หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

วันที่ 2 พฤษภาคม 2022 คริสเตียน ลินด์เนอร์ (Christian Lindner) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ โรเบิร์ต ฮาเบก (Robert Habeck) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ารัฐบาลกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อสำรองพลังงาน หลังจากลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียแล้ว นอกจากนี้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจจะยังเดินทางไปยังการ์ตาและนอร์เวย์ เพื่อเจรจาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติ

ต่อมาในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เยอรมนีเตรียมลดการใช้งานก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ป้องกันการขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาว โดยจะหันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินและออกนโยบายด้านความร่วมมือกับหลายชาติที่อยู่ในสหภาพยุโรป

โอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่าตอนนี้พร้อมเปิดใช้โรงไฟฟ้าน้ำมันและถ่านหินอีกครั้ง โดยจะเลื่อนกำหนดการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งออกไปก่อน จากเดิมที่เคยตั้งเป้าจะยุติการใช้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในสิ้นปี 2022 เปิดใช้เตาปฏิกรณ์ 2 ใน 3 ที่มีอยู่ชั่วคราว เพื่อเร่งผลิตเชื้อเพลิงอีกครั้งควบคู่กับการเพิ่มสถานที่จัดเก็บก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนีจะเพิ่มเงินช่วยเหลือค่าไฟด้วยงบประมาณ 6.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ออกนโยบายพักภาษีธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานในการผลิตสินค้าและบริการอีกหลายพันแห่ง และกำลังทบทวนเรื่องการเก็บภาษีบริษัทพลังงานที่กำลังสร้างกำไรมหาศาลจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น

งานใหญ่งานแรกที่ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ จำเป็นต้องเร่งทำคือการแก้ปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่แพงจนประชาชนใกล้จะแบกรับไม่ไหว โดยสำนักข่าว CNN รายงานว่าตอนนี้ รัฐบาลชุดใหม่กำลังวางแผนออกงบประมาณกว่า 1 แสนล้านปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท) เพื่ออุดหนุนครัวเรือนทั่วประเทศ

ฝรั่งเศสพยายามสำรองก๊าซธรรมชาติและน้ำมันให้ได้มากที่สุดเพื่อเตรียมรับกับฤดูหนาวเช่นกัน ในเดือนมิถุนายน เอลิซาเบท บอร์น (Elisabeth Borne) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ชี้แจงต่อประชาชนว่าจะดำเนินนโยบายด้านพลังงานด้วยการลดใช้พลังงานลง 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2024

เธอยังขอความร่วมมือภาคธุรกิจร่วมทำแผนประหยัดพลังงาน เพราะเมื่อไรก็ตามที่พลังงานในคลังลดลงจนอยู่ในระดับขาดแคลน รัฐบาลจำเป็นต้องปันส่วนการใช้ก๊าซและไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดหวังให้เกิดขึ้น หลังจากนี้รัฐจะเพิ่มเงินสนับสนุน 6.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.4 ล้านล้านบาท) เพื่อควบคุมค่าก๊าซและค่าไฟ ปรับค่าไฟเป็น 100 ยูโร แก่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

บรูโน เลอ ไมร์ (Bruno Le Maire) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การคลัง และอำนาจอธิปไตยทางอุตสาหกรรมและดิจิทัลของฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า ความพยายามของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือกลุ่ม G7 ในการจำกัดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย จำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากประชาคมโลกเพื่อทำให้การควบคุมราคาไม่ให้สูงจนเกินไปบรรลุเป้าหมาย

 

ในที่สุด ‘พลังงาน’ ก็กลายเป็นตัวประกันในความขัดแย้ง

วันที่ 3 กันยายน 2022 บริษัทพลังงานก๊าซพรอมประกาศว่าไม่สามารถจำหน่ายก๊าซผ่านท่อส่งไปยังยุโรปได้ เนื่องจากพบน้ำมันรั่วบริเวณกังหันของท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 จึงทำให้ต้องหยุดทุกกิจกรรมขนถ่ายพลังงานไปอย่างไม่มีกำหนด โดยบริษัทจะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อทำให้กลับมาส่งพลังงานอย่างปลอดภัยอีกครั้ง

แถลงการณ์นี้อาจเป็นเหมือนการแจ้งความผิดพลาดตามปกติ แต่นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนหลายคนไม่ได้มองว่าการกระทำของบริษัทพลังงานก๊าซพรอมเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเคยหยุดส่งพลังงานไปยังยุโรปหลายต่อหลายครั้ง

ในเดือนมิถุนายน ก๊าซพรอมอ้างว่ากำลังส่งชิ้นส่วนกังหันที่บกพร่องไปซ่อมยังแคนาดา แต่กังหันที่ว่าถูกส่งกลับมาช้ากว่ากำหนด ในเดือนกรกฎาคมเคยลดปริมาณส่งก๊าซเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะแจ้งปิดการส่งภายหลัง ในวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ประกาศระงับการส่งก๊าซติดต่อกัน 3 วัน โดยให้เหตุผลว่ากำลังซ่อมบำรุง ความผิดพลาดซ้ำๆ นี้เกิดขึ้นในช่วงที่สหภาพยุโรปกำลังขุ่นเคืองใจกับรัสเซียเรื่องการบุกโจมตียูเครน

เมื่อได้เห็นประกาศของก๊าซพรอมในวันที่ 3 กันยายน หลายฝ่ายต่างเกิดความกังวลว่าอีกไม่นานรัสเซียอาจเลิกส่งก๊าซมายังยุโรปอย่างถาวร หรือจนกว่าจะบรรลุจุดประสงค์บางอย่างเพื่อยกระดับการกดดันทางการเมือง โดยในช่วงแรก รัฐบาลรัสเซียยืนยันว่าการหยุดส่งก๊าซชั่วคราวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะต้องการโต้ตอบเรื่องที่สหภาพยุโรปคว่ำบาตรแต่อย่างใด

ทว่าเพียง 3 วันหลังปิดท่อก๊าซ วันที่ 6 กันยายน 2022 รัฐบาลรัสเซียกลับคำและประกาศว่าจะไม่ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปจนกว่าสหภาพยุโรปจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียทั้งหมด

การแสดงจุดยืนด้านพลังงานของรัสเซียทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้คณะกรรมาธิการด้านพลังงานของสหประชาชาติต้องนัดประชุมฉุกเฉินเพื่อกำหนดราคาขั้นต่ำอีกครั้ง เร่งควบคุมปริมาณซื้อ-ขายก๊าซ ควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และการแปรปรวนในระบบเศรษฐกิจ ที่กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่าการกำหนดราคาขั้นต่ำใหม่อาจจะใช้ไม่ได้ผลเท่าไรนัก เพราะตอนนี้หลายประเทศนอกยุโรปก็พึ่งพาพลังงานของรัสเซียมากขึ้น จึงทำให้รัสเซียได้เปรียบในการกำหนดปริมาณและราคาซื้อ-ขาย แต่การเร่งประชุมด่วนนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการเมืองว่าสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศ G7 จะหาหนทางควบคุมราคา ลดการใช้งานและพึ่งพิงรัสเซียให้ได้จนกว่าการพิจารณาเรื่องการคว่ำบาตรครั้งใหม่จะมาถึง

 

 

อ้างอิง

https://www.euronews.com/my-europe/amp/2022/08/26/soaring-energy-prices-how-does-the-uk-compare-with-europe

https://www.straitstimes.com/world/europe/goodbye-hot-showers-and-street-lights-heres-how-europe-is-slashing-energy-use

https://apnews.com/article/russia-ukraine-france-germany-prices-8ca24af90f884d0bdd800937bcf0a658

https://www.theguardian.com/world/2022/jul/28/german-cities-impose-cold-showers-and-turn-off-fountains-in-face-of-russian-gas-crisis

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/01/tariff-shields-and-turning-off-lights-how-europe-is-tackling-the-energy-crisis

https://www.wsj.com/articles/germany-steps-up-measures-to-conserve-gas-as-russia-slows-supply-to-europe-11655642717

https://www.aljazeera.com/news/2022/6/19/germany-to-limit-use-of-gas-for-electricity-production

https://edition.cnn.com/2022/09/05/energy/energy-crisis-russia-europe-costs/index.html

https://www.politico.eu/article/eu-plans-energy-prices-leyen-michel-russia-war-ukraine-electricity-crisis-nord-stream-gas/

https://www.reuters.com/business/energy/new-russia-gas-halt-tighten-energy-screws-europe-2022-08-30/  

https://www.ft.com/content/1e20467a-5b53-42b7-ad89-49808f7e1780

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,