การประชุมกลุ่มประเทศพัฒนาทั้งเจ็ด (Group 7: G7) ซึ่งประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา สิ้นสุดลงแล้ว
บทสรุปหลักโดยสังเขปในการประชุมครั้งนี้ คือการพูดคุยถึงประเด็นปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่มีวี่แววยุติลง ซึ่งมีรายงานว่า ประเทศมหาอำนาจในการประชุมจะร่วมกันสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารต่อคีฟ และกดดันรัสเซียผ่านมาตรการคว่ำบาตรยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาทางเศรษฐกิจ การรับมือต่ออิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) แนวโน้มการ ‘ผิดนัดชำระหนี้’ ของสหรัฐฯ รวมถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมหลัก คือ ปัญหาการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หลังจากญี่ปุ่นขอให้ชาติยุโรปมีวิธีควบคุมการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘ChatGPT’
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการประชุมที่น่าสนใจเป็นพิเศษในครั้งนี้ คือประเด็นการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในโลกระหว่างประเทศของ ซึ่งนี่คือธีมหลักของ G7 หลังจาก ฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ใช้ฮิโรชิมา (Hiroshima) เมืองที่ฟื้นฟูจากระเบิดปรมาณู เป็นพื้นที่จัดการประชุม
การประชุมไม่เพียงแต่กล่าวถึงปัญหาการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในโลกระหว่างประเทศปัจจุบัน เช่น สถานการณ์สงครามในยุโรปตะวันออก ท่ามกลางการจับตามองถึงผู้นำรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น
แต่หากพิจารณาอย่างละเอียด ญี่ปุ่นยังนำทั้งโลกหวนกลับไประลึกถึง ‘ความเจ็บปวด’ ของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แผนหรือพิธีการไปเยือนสถานที่เกิดเหตุ หรือแม้แต่การพบ ‘เหยื่อ’ เพื่อพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์อันเลวร้ายผ่านผู้นำ ซึ่งไม่มีการเปิดเผยในการประชุมครั้งนี้
The Momentum ชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมกันถอดสัญญะถึงธีมหลักในการประชุม G7 ประจำปี 2023 ผ่านเมืองฮิโรชิมาและเหยื่อจากสงคราม ซึ่งสะท้อนถึงภัยร้ายแรงของอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นอนุสรณ์เตือนใจมวลมนุษยชาติต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบัน
ฮิโรชิมาและฮิบาคุชา: หายนะของมวลมนุษยชาติในหน้าประวัติศาสตร์โลก
เวลาแปดโมงเช้า วันที่ 6 สิงหาคม 1945 ใครจะคิดว่าการทิ้งระเบิดในเมืองฮิโรชิมาของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะนำมาสู่หายนะของชาวญี่ปุ่นในสายตาชาวโลก ถึงความน่าสะพรึงกลัวของอาวุธนิวเคลียร์
“มันเหมือนกับแสงสีส้มสว่างไปทั่วท้องฟ้า ราวกับแสงแรกแห่งรุ่งอรุณของวันขึ้นปีใหม่”
ซาเดะ คาซาโอกะ (Sadae Kasaoka) อธิบายความรู้สึกของเธอในวัย 12 ปี แม้ตอนนี้เข้าช่วงบั้นปลายชีวิตในวัย 90 ปี แต่ความทรงจำในวันนั้นยังชัดเจนไม่ลืมเลือน
หลังจากนั้น 3 วันต่อมา สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ลงในเมืองนางาซากิ (Nagasaki) ผลที่ตามมาทันทีจากการทิ้งระเบิด คือจำนวนผู้เสียชีวิตมหาศาล ชาวญี่ปุ่นหลายแสนคนสลายกลายเป็นไอภายในไม่กี่วินาที หลังจากคลื่นนิวเคลียร์ปะทะเมืองทั้งเมือง มีการคาดการณ์ว่า ใครที่อยู่ในพื้นที่ประมาณ 7.7 ตารางกิโลเมตรจากศูนย์กลางการทิ้งระเบิด จะเสียชีวิตทันที ในขณะที่ผู้ที่อยู่ห่างไปอีก 15.28 ตารางกิโลเมตร ได้รับอาการบาดเจ็บอย่างร้ายแรง และยังไม่รวมพื้นที่ทั้งสองเมืองที่กลายเป็นเถ้าถ่าน โลกทั้งใบจดจำเค้าโครงเดิมไม่ได้เลย
ผู้รอดชีวิตหลายคนเริ่มมีอาการแปลกประหลาด ได้แก่ ไข้ อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเสีย เลือดออกผิดปกติ และผมร่วง ในขณะที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในเมืองฮิโรชิมาถูกทำลาย แม้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว แต่กว่าความช่วยเหลือทางการแพทย์มาถึง ก็สายไปเสียแล้ว
ผลลัพธ์ของการทิ้งระเบิดที่มีความรุนแรงต่อการทำลายล้างสูง นำมาสู่การยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ด้วยการประกาศผ่านวิทยุของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito) แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้คนจะสู้จนตัวตายสมกับฉายาชาติแห่งนักรบแดนอาทิตย์อุทัยก็ตาม
แต่ภัยมืดจากระเบิดปรมาณูกำลังค่อยๆ คืบคลานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก เพราะมีผู้เสียชีวิตจากกัมมันตภาพรังสีในภายหลัง รวมถึงผลกระทบระยะยาว คือโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว นั่นจึงทำให้เกิดคำศัพท์ว่า ‘ฮิบาคุชา’ (Hibakusha) แปลว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู
รอยแผลนั้นไม่ได้เป็นตราบาปบนร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงจิตใจของฮิบาคุชาหลายคน เมื่อต้องบอกเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้ง พวกเขายังได้รับเสียงด่าทอจนถึงรุ่นลูกหลาน เมื่อรัฐมอบสวัสดิการพิเศษ และได้รับความสนใจจากสังคมอยู่บ่อยครั้ง
ขณะที่เมืองฮิโรชิมาได้ผลกระทบร้ายแรงไม่แตกต่างจากผู้คน แต่เพราะภัยจากระเบิดปรมาณูไม่ได้ยืนยาวและร้ายแรง หากเทียบกับการรั่วไหลของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) การก่อร่างสร้างชุมชนใหม่จึงแทบจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากเหตุการณ์ร้ายแรง แม้จะมีความหวาดกลัวอยู่ลึกๆ ก็ตาม
การฟื้นฟูยังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ พร้อมกับสภาพจิตใจของผู้คน ทั้งความช่วยเหลือจากภายนอก และความหวังของพลเมืองในประเทศ หลังจากเมืองข้างเคียงอย่าง ฟูชู (Fuchu) คูเระ (Kure) และยามากูจิ (Yamaguchi) ส่งความช่วยเหลือให้เมืองฮิโรชิมา ซึ่ง ยูกิ ทานากะ (Yuki Tanaka) นักวิชาการประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา วิเคราะห์ว่า นี่คือความเต็มใจของพวกเขาในการรื้อฟื้นซากเมืองจากระเบิดปรมาณู โดยปราศจากการบังคับจากรัฐบาล
“เมืองทั้งเมืองถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง พวกเราไม่มีใครเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น (…) ฉันเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่า เมืองทั้งเมืองจะถูกทำลายด้วยระเบิดเพียงลูกเดียวได้อย่างไร” เคอิโกะ โอกุระ (Keiko Ogura) หนึ่งในฮิบาคุชา อธิบายความรู้สึก เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวในวัย 8 ปี
ปัจจุบัน ฮิโรชิมาฟื้นตัวจากภัยสงครามอันร้ายแรง และพัฒนากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น ทุกคนเพลิดเพลินไปกับอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และมีแผนการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เช่น การเดินทางไปยังเกาะมิยาจิมะ (Miyajima) หรือเยี่ยมชมอิตสึกูชิมะ (Itsukushima-jinja) ศาลเจ้าชินโตลอยน้ำ พร้อมกับการลิ้มลองอาหารท้องถิ่นแสนโอชะ คือหอยนางรมกับโอโคโนมิยากิ (Okonomiyaki)
บรรยากาศอันแสนอบอุ่น คลอเคล้าไปกับแสงสีและเสียงหัวเราะของผู้คน อาจทำให้เราไม่สามารถจินตนาการถึงโศกนาฏกรรมจากสงครามในเมืองแห่งนี้ได้เลย ยกเว้นเสียแต่การมีอยู่ของเครื่องเตือนใจอย่าง ‘อนุสรณ์สันติภาพแห่งฮิโรชิมา’ หรือเศษซากโดมที่ยังคงตั้งตระหง่าน รอคอยนักเดินทางจากทั่วโลกมารำลึกประวัติศาสตร์อันน่าเจ็บปวดในอดีต
ทุกข์ที่ไม่อาจลืมเลือนได้: คำบอกเล่าของเหยื่อจากการทิ้งระเบิดปรมาณู
ท่ามกลางการขยายตัวของอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกที่อาจนำไปสู่ภัยอันร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นคาบสมุทรเกาหลี ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ในสหภาพยุโรป แต่วันเวลาของฮิบาคุชา หรือเหยื่อจากเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณู ยังคงหยุดนิ่งไปกับฝันร้ายของเหตุการณ์อย่างแจ่มชัด
“เพื่อนบ้านของเราบอกว่า ไฟโหมกระหน่ำไปทั่วทั้งเมือง” ซาเดะหยุดนิ่งไป เมื่อต้องบรรยายเหตุการณ์ในวันนั้น ก่อนจะเปิดเผยว่าอะไรเกิดขึ้นต่อ หลังจากพี่ชายของเธอสามารถนำผู้เป็นพ่อกลับมาบ้านได้ ท่ามกลางภัยพิบัติอันร้ายแรง แต่ซาเดะกลับจำเขาไม่ได้เลย
“ฉันเห็นพ่อของฉัน ตัวของเขาไหม้เกรียมไปทั้งร่างกาย ตาแทบไม่สามารถลืมขึ้นได้เลย ในที่สุด ฉันก็จำเขาได้ด้วยเสียงที่เขาเอ่ยมาว่า “ขอน้ำหน่อย” และเขาก็บอกให้ฉันไปตามหาแม่” เธอถอนหายใจก่อนจะอธิบายต่อว่า
“ใครไม่รู้บอกว่า ฉันไม่ควรให้น้ำกับพวกเขา ฉันก็เลยไม่ได้ให้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่ฉันเสียใจอย่างสุดซึ้งเลย” ซาเดะอธิบาย เพราะหลังจากนั้น 2 วัน พ่อของเธอเสียชีวิต รวมถึงแม่ที่ตายและโดนเผาไปพร้อมกับเหยื่อรายอื่น
“ฉันปิดหน้าตัวเองโดยสัญชาตญาณ (…) ฉันจำอะไรไม่ค่อยได้ ฉันเสียสติไปแล้ว” โทชิโกะ ทานากะ (Toshiko Tanaka) ฮิบาคุชาวัย 84 ปี อธิบายถึงเหตุการณ์ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 หลังจากมีเพื่อนตะโกนว่า ‘ศัตรู!’ เมื่อเธอมองไปบนท้องฟ้า ก็พบเจอแต่แสงสว่างเต็มไปหมด
“ฉันยังมีบาดแผลทางจิตใจจากเหตุการณ์นั้น เพื่อนที่โรงเรียนของฉันตายหมด และเป็นระยะเวลานานมากที่ฉันไม่ได้พูดเรื่องนี้” ทานากะอธิบายความทรงจำของเธอที่เต็มไปด้วยกลิ่นไหม้ของศพจากการระเบิด กับการเผาร่างอันไร้วิญญาณของทางการ
ปัจจุบัน ทานากะทำหน้าเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับฮิโรชิมา ในฐานะเหยื่อจากเหตุการณ์การทิ้งระเบิด เมื่อตระหนักได้ว่า เธอต้องออกมาพูดถึงภัยจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ และผลลัพธ์อันไม่คาดคิด หลังจากเก็บงำความรู้สึกมาเป็นระยะเวลาราว 60 ปี
“ฉันอยากให้ผู้นำโลกเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นกับฮิโรชิมา และจินตนาการ หากมันเกิดขึ้นกับครอบครัวของคุณ เพื่อนของคุณ ถ้าระเบิดมันตกลงมาใส่พวกเขา” ทานากะเปิดเผยความรู้สึก ตอนนี้เธอเดินทางไปทั่วโลกนับ 10 ครั้ง เพื่อบอกเล่าประสบการณ์กับผู้คนด้วยความรู้ภาษาอังกฤษอันน้อยนิดตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
การประชุม G7 ในเมืองฮิโรชิมา: สารอันแจ่มแจ้งถึงโลกและผู้นำต่อวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบัน
การประชุม G7 ครั้งนี้ บรรดาผู้นำยังมีโอกาสเยี่ยมชมเมืองฮิโรชิมาและวางดอกไม้ไว้อาลัยให้กับเหยื่อของสงคราม ซึ่งอยู่ในความสนใจของคนทั้งโลกท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยเฉพาะ โจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 2 ที่เดินทางมาเยือนสถานที่แห่งนี้ ในฐานะตัวแทนประเทศผู้กระทำในอดีต
กำหนดการดังกล่าวประกอบด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภายในเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งนำโดยคิชิดะและไบเดน ก่อนเดินทางไปวางพวงมาลา ณ ป้ายอนุสรณ์ที่มีข้อความว่า “ขอให้ดวงวิญญาณทั้งหมด ณ ที่นี้ จงไปสู่สุคติ พวกเราจะไม่ก่อความชั่วร้ายเช่นนี้อีกครั้ง” และร่วมพิธีปลูกต้นซากุระที่มีต้นตอรอดจากระเบิดปรมาณู ก่อนจะพบปะกลุ่มเหยื่อจากระเบิดปรมาณู
“เรายืนยันอีกครั้งว่า พวกเราจะร่วมมือแก้ไขปัญหาโดยปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และเราหวังที่จะส่งมอบความมุ่งมั่นอันหนักแน่นต่อโลก ถึงการปกป้องระเบียบระหว่างประเทศอันเสรีและเปิดกว้าง โดยมีพื้นฐานคือหลักนิติธรรม
“ผมหวังอย่างยิ่งว่า ณ ที่แห่งนี้ กลุ่มสมาชิกทั้งเจ็ดและผู้นำจากทั่วโลก จะแสดงความตั้งใจในการบรรลุสันติภาพร่วมกัน ซึ่งจะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์” คิชิดะกล่าว
อาจกล่าวได้ว่า นี่คือสัญลักษณ์อันแยบยลในการประชุม G7 ที่ญี่ปุ่นสามารถพาสามผู้นำประเทศที่สะสมอาวุธนิวเคลียร์ มายังอนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวของญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญโศกนาฏกรรมอันร้ายแรง และประกาศกับชาวโลกว่า ญี่ปุ่นยังคงยืนหยัดเพื่อพิทักษ์สันติภาพของโลก ในฐานะรัฐที่ละเว้นการใช้กำลังตามมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญปี 1947 ที่ร่างขึ้นโดยสหรัฐฯ ท่ามกลางข้อเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงจากคนในสังคมก็ตาม
แต่การเยือนครั้งนี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจมนุษยชาติ ถึงสถานการณ์ปัจจุบันในโลกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวโน้มการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียต่อยูเครน และการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ซึ่งมหาอำนาจหลายประเทศ กลับไม่มีแผนที่ชัดเจนต่อการรับมือวิกฤตที่กำลังจะขึ้น
ดาเนียล เฮิกส์ตา (Daniel Högsta) รักษาการกรรมการบริหารแห่งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons: ICAN) เปิดเผยว่า เขาต้องการจะเห็นแผนงานที่ชัดเจนสำหรับผู้นำ G7 ที่ปฏิบัติได้จริง และมีความรับผิดชอบต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty: NPT)
“นั่นมันไม่มีอะไรมากไปกว่าการดูถูกกลุ่มฮิบาคุชาแล้ว นี่คือความล้มเหลวของการเป็นผู้นำเลย” เขาแสดงความรู้สึกถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งอาจต่อยอดในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเพื่อสันติภาพ
“ฉันอยากให้พวกเขาใส่ใจกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น ตอนนี้สงครามเกิดขึ้นในยูเครน และการประชุมไม่ควรพูดถึงการเตรียมการด้านการรบ” ทานากะกล่าว โดยขอให้เหล่าผู้นำใช้สันติวิธี แทนที่จะใช้กำลังแก้ไขความขัดแย้ง
ไม่ว่าบทสรุปของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือปัญหาการแพร่หลายของอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกจะเป็นอย่างไร แต่ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง ก็ขอเฝ้าภาวนาไม่ให้โศกนาฏกรรมร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำกล่าวขานที่ว่า “มนุษย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ” ควรจะเป็นเครื่องเตือนใจต่อผู้นำโลกที่กำลังใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาอยู่
อ้างอิง
https://time.com/6279372/g7-hiroshima-japan-summit-2023/
https://www.theguardian.com/cities/2016/apr/18/story-of-cities-hiroshima-japan-nuclear-destruction
https://www.thehistorypress.co.uk/articles/hiroshima-the-first-atomic-bomb/
Tags: ญี่ปุ่น, รัสเซีย, สงครามโลกครั้งที่ 2, ยูเครน, ฮิโรชิมา, The Momentum ANALYSIS, G7, การประชุม G7, อาวุธนิวเคลียร์, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, สหรัฐอเมริกา, นางาซากิ