ข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2565-2567 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ปลอดภัยถึง 30 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เกิดอุบัติเหตุถึง 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 153 คน
ในรายงานยังระบุต่อว่า สาเหตุหลักมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับ สภาพรถที่ไม่ปลอดภัยและขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงอันดับ 9 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2.2 หมื่นคนต่อปี หรือเฉลี่ย 60 คนต่อวัน
สถิติข้างต้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า เหตุรถบัสทัศนศึกษาโรงเรียนวัดพระยาสังฆาราม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ไม่ใช่อุบัติเหตุและความสูญเสียแรก ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐาน ความปลอดภัย รวมไปถึงการอพยพและการจัดการเหตุฉุกเฉิน
“เราไม่ควรยอมรับการตายจากสิ่งที่มนุษย์ป้องกันได้ ทั้งรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ถนนที่ไม่ปลอดภัย” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ
เหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานรถที่มีอายุกว่า 54 ปี มีการดัดแปลงสวมใส่เครื่องยนต์เบนซ์ และติดตั้งแก๊สเอ็นจีวี (NGV) กว่า 11 ถัง
กับคำถามสำคัญว่า รถบัสคันดังกล่าวผ่านการตรวจสอบมาตรฐานรถ โดยกรมการขนส่งทางบกได้อย่างไร หรือจะจริงอย่างเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ว่า หน่วยงานนี้เป็นแดนสนธยาที่ไร้การตรวจสอบและควบคุม
The Momentum ชวนผู้อ่านถอดบทเรียนเกี่ยวกับ ‘มาตรฐาน’ คุณภาพรถโดยสาร ไม่ใช่เพียงแค่รถบัส รถรับส่งนักเรียน แต่หมายรวมไปถึงรถเมล์ รถทัวร์ รถสองแถว และรถตู้โดยสาร ที่วิ่งเกลื่อนประเทศขณะนี้
เพื่อหวังว่าเหตุการณ์สะเทือนใจครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก และประชาชนในประเทศต้องมีความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับความมักง่าย มักมากของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่มีคนต้องสูญเสียอีกคณานับ
1. บรรทุกเกินขนาดเรื่องผิดปกติที่ปกติในสังคมไทย
จากข้อมูลการตรวจสอบการจดทะเบียนรถบัสคันดังกล่าวพบว่า เป็นประเภทรถโดยสารไม่ประจำทาง ดัดแปลงยี่ห้อจากอีซูซุ มาเป็นยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีจำนวน 8 สูบ 280 แรงม้า น้ำหนักรถ 14,300 กิโลกรัม จำนวนผู้โดยสารที่นั่ง 41 คน น้ำหนักรวม 16,600 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2513 หรือใช้งานมาแล้ว 54 ปี โดยรถบัสทัศนศึกษาที่เกิดเหตุมีผู้โดยสารทั้งหมด 45 คน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า มีการบรรทุกเกินขนาดเกิดขึ้น
การรับผู้โดยสารเกินน้ำหนักและจำนวนคนดูเหมือนไม่ใช่สิ่งแปลกในประเทศแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นรถเมล์ที่ยืนเบียดจนเป็นปลากระป๋อง หรือรถตู้ที่มีการดัดแปลงที่นั่ง เพิ่มเก้าอี้เสริม เพื่อให้รับผู้โดยสารได้มากขึ้น
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ เราจะหยุดความเฉยชา และเอาจริงจังกับความปกติที่อันตรายนี้อย่างไร หรือประเทศไทยยังอยากอยู่กับความภูมิใจกับรถประดิษฐ์ไทยทำไทยใช้อยู่อย่างนี้ต่อไป
2. ประหยัดได้ประหยัดไป ความปลอดภัยไว้ทีหลัง
หากดูใบจดทะเบียนแล้วจะพบว่า รถคันดังกล่าวใช้งานมาร่วม 54 ปี ผ่านการนำเลขคัสซี หรือเลขตัวถังรถ มาประกอบโครงใหม่และเปลี่ยนเครื่อง
วันนี้ (2 ตุลาคม 2567) พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวตอนหนึ่งว่า จากการตรวจสอบสภาพรถหลังอุบัติเหตุพบถังแก๊สมากถึง 11 ถัง โดยหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบต่อว่า มีการขออนุญาตกี่ถังและผิดจริงกี่ถัง ซ้ำร้ายยังมีเอกสารเปิดเผยต่อว่า ถังแก๊ส CNG ปรากฏวันหมดอายุใบรับรองเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567
ในวันเดียวกัน สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวสั่งการให้กรมขนส่งทางบกเรียกรถสาธารณะที่ใช้แก๊สเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น 1.3 หมื่นคัน ซึ่งเป็นรถโดยสารไม่ประจำทางประเภท 30 ราว 2,935 คัน และที่เหลือเป็นรถโดยสารประจำทาง เข้ามาตรวจสภาพใหม่ทั้งหมด หากไม่ผ่านจะยึดใบประกอบการทันที
นั่นแปลว่าถังแก๊สเป็นปัญหาเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องนี้
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามหลังฟังแถลงข่าวคือ ประเทศไทยยังมีรถที่ไร้มาตรฐานความปลอดภัยอีกกี่คันที่กำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน และจะถึงวันที่เรากลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัย ทั้งเป็นเพื่อนร่วมทาง หรือผ่านการโดยสารรถประจำทางหรือไม่
3. มาตรฐานรถโดยสารสาธารณะอยู่ที่ไหน หลังรถบัสทัศนศึกษาไม่พบอุปกรณ์เซฟตี้
ประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ตามกฎหมายที่ควบคุมคุณภาพรถที่วิ่งบนท้องถนน โดยระบุว่า ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ครบถ้วน ได้แก่ ประตูฉุกเฉินที่ต้องอยู่ด้านขวา ต้องสามารถเปิดได้จากทั้งภายในและภายนอก, มีเครื่องดับเพลิงที่สามารถใช้การได้ตลอดเวลา, มีอุปกรณ์ทุบกระจก และมีเกณฑ์วัสดุที่กำหนดให้ต้องมีการทนไฟในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ในรถบัสที่ไฟไหม้ กลับไม่พบอุปกรณ์ทุบกระจกและถังดับเพลิง ยังไม่รวมถึงการลุกไหม้อย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการใช้วัสดุที่ติดไฟบนรถอีกด้วย
ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าว The Momentum เข้าเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก เพื่อตรวจสอบหาข้อมูลและดาวน์โหลดเอกสารเกี่ยวกับลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งโดยสาร โดยแบ่งออกเป็น 7 มาตรฐาน ตามกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ปรากฏข้อความ ‘Not Found’ ในทุกประเภทของรถตามมาตรฐาน จึงไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกได้
4. มาตรการการอพยพเด็กอยู่ที่ไหน?
หากมาดูแล้ว ในสังคมไทยไม่เคยมีวิชาการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุบนรถ หรือการเรียนรู้เบื้องต้น เช่น หากไฟไหม้รถสิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร หรือการเปิดประตูฉุกเฉินจากด้านในรถบัส
“รถคันที่เกิดเหตุ เป็นรถบัสชั้นครึ่งที่เป็นรถสูง ผมมองว่าการการอพยพเด็กทำได้อย่างจำกัด หรือหากมีประตูทางออกฉุกเฉิน เด็กเล็กไม่สามารถเปิดประตูฉุกเฉินได้ ครูสามารถเปลี่ยนแผนพาเด็กออกประตูกลางได้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดต้องมีการซักซ้อม มีการวางแผนก่อนเกิดเหตุการณ์จริงมาก่อน” นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ในฐานะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าว
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยังกล่าวต่อว่า การเกิดอุบัติเหตุจากการไปทัศนศึกษาจนนำมาซึ่งการเสียชีวิตนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทบทวน เรื่องการเตรียมความพร้อมของสภาพรถ กรมการขนส่งทางบก ต้องเตรียมความพร้อม มีการเข้มงวดตั้งแต่การตรวจสภาพของตัวรถ และความพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเพลิงไหม้เกิดขึ้น
5. กรมขนส่ง ‘แดนสนธยา’ ตรวจจริงหรือไม่ ‘ไม่รู้’ แต่ให้ลายเซ็นไว้ก่อน
ทรงวิทย์ ชินบุตร เจ้าของบริษัทรถทัวร์นำเที่ยว ‘ชินบุตรทัวร์’ ยืนยันว่า รถคันเกิดเหตุ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย 2 ครั้งต่อปี ก่อนต่อภาษีกรมการขนส่งทางบก
คำถามสำคัญคือ จากการดัดแปลงรถในรูปแบบต่างๆ ไร้อุปกรณ์รถตามมาตรฐานผ่านการตรวจสอบมาตรฐานได้อย่างไร
“ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า มีคำครหาจากสังคมว่ากรมการขนส่งทางบกเป็นแดนสนธยา ที่เรียกรับผลประโยชน์มหาศาล การตรวจสภาพว่ากันว่าเป็นการขายลายเซ็น ตรวจจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ หรือตรวจแบบขอไปที” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคประชาชน
เขากล่าวต่อในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงวาระการพิจารณาญัตติด่วนศึกษาแนวทางเสนอข้อคิดเห็นและยกระดับมาตรฐานในการป้องกันการเกิดเหตุ กรณีรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้วันนี้ว่า การขนส่งสาธารณะของคนหมู่มาก หากยังปล่อยปละละเลยต่อไปจะเกิดอันตรายอย่างมาก นอกจากนี้ยังยกประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่องการติดตั้งแก๊สเอ็นจีวีซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตจากวิศวกรทั่วประเทศว่า รถคนดังกล่าวเฉี่ยวชนข้างทางเพียงเล็กน้อยแต่กลับเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างไร
พร้อมเสนอว่า กระทรวงคมนาคมต้องขันน็อต เรียกรถสาธารณะและรถติดแก๊สเอ็นจีวีมาตรวจสอบสภาพใหม่ทั้งหมด เพื่อยืนยันความปลอดภัยของประชาชน
6. ความปลอดภัยของคนไทย กับความเสี่ยงมีลูกระเบิดวิ่งอยู่บนถนนทุกเมื่อเชื่อวัน
“เราไม่ควรยอมรับการตายจากสิ่งที่มนุษย์ป้องกันได้ ทั้งรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ถนนที่ไม่ปลอดภัย สภาผู้บริโภคเสนอให้ยกเลิกรถ 2 ชั้น ในการให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทางรื้อระบบตรวจสภาพรถโดยสาร และเพิ่มเงินประกันเยียวยาความเสียหายต้องไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค
ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคยังกล่าวต่อว่า แม้รถคันเกิดเหตุจะเป็นรถบัสชั้นครึ่ง แต่ยังมีความต้องการให้ยกเลิกการใช้งานรถสองชั้น พร้อมกับเสนอให้รถทุกคนต้องไม่มีอุปกรณ์ที่ติดไฟได้ เช่นผ้าม่าน แต่บังคับใช้เฉพาะรถใหม่เท่านั้น โดยต้องรื้อระบบตรวจสภาพรถโดยสาร เพราะที่ผ่านมาองค์กรผู้บริโภคพบว่า รถที่ผ่านการตรวจสถาพยังพบเบรกแตก เกิดอุบัติเหตุ และรถไม่ปลอดภัย พร้อมทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท ทำทางด่วนสองชั้นได้ แต่กลับไม่มีปัญญาซื้อรถ EV ให้เด็กทัศนศึกษา
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแดนสนธยาบนท้องถนน ไม่ว่าจะมาตรฐานรถ การตรวจสอบสภาพของกรมขนส่งทางบก ที่หลายคนกล่าวว่าไม่ต้องนำรถไปตรวจสอบก็ได้การรับรอง หรือการดัดแปลงรถให้ทำกำไรได้มากที่สุด เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่คนในประเทศต้องมารับความเสี่ยง ที่คล้ายกับรอวันรถระเบิดหรือเกิดอุบัติเหตุ
อย่าให้เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนกรณีอุบัติเหตุที่ผ่านมา ที่พอเกิดเหตุครั้งหนึ่ง สังคมต่างพูดถึง ตื่นตัว แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาอีหรอบเดิม
เกิดเหตุ
พูดถึง
ตื่นตัว
…
เกิดเหตุ
พูดถึง
…
เล่นซ้ำ วนไป
ประเทศไทยควรมีมาตรการ กฎหมายที่เข้มงวดและจริงจัง หากเป็นสิ่งที่ป้องกันได้
และใช่…
“เราไม่ควรยอมรับการตายจากสิ่งที่มนุษย์ป้องกันได้”
ที่มา:
https://www.tcc.or.th/01102567_bus0on-fire_news/
https://ch3plus.com/news/social/morning/419189
https://www.dlt-inspection.info/dlt/index.php?ref=inspection-work-truck&ref2=bus
Tags: รถบัส, บัสทัศนศึกษา, รถบัสไฟไหม้, ทัศนศึกษา, Feature, The Momentum ANALYSIS