คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ (31 มกราคม 2567) กำลังเปิดประตูใหม่ให้กับ ‘ความเป็นไปได้’ อยู่หลายเรื่อง
เรื่องแรกคือการ ‘นับหนึ่ง’ ให้นำไปสู่การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลซึ่งอาศัยฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ โดยเฉพาะการให้เหตุผลเรื่องการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และสมาชิกพรรคว่า มีส่วน ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์
หลายคนประเมินตรงกันว่า หาก ‘ผู้มีอำนาจ’ ตัดสินใจชี้ขาดว่า พรรคก้าวไกลเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของบรรดาชนชั้นนำ คำตัดสินวันนี้ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้น เพราะ ณ วันนี้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเรื่องที่มีผู้ร้อง ‘ยุบพรรค’ คาไว้แล้ว เหลือเพียงจุดเริ่มต้นในการเชื่อมจุดเล็กๆ ทุกจุดเข้าหากัน
ด้วยเหตุบังเอิญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีการเชื่อมโยงทั้งกรณีพิธาแปะสติกเกอร์ขอให้ ‘ยกเลิก’ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภายหลังการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม ทั้งกรณีที่สมาชิกพรรคหลายคนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎร หรือเคลื่อนไหวร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อลากเส้นต่อจุดให้พรรคก้าวไกล ‘ล้มล้างการปกครอง’ ให้จงได้
ผลร้ายที่สุด ณ วันยุบพรรคก้าวไกล ก็คือพรรคก้าวไกลจะมีสถานะเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน และกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี กลายเป็นผู้แทนนอกสภาฯ ทันที และชื่อพรรคก้าวไกลก็จะสูญหายไป ย่ำรอยเก่าของพรรคอนาคตใหม่
เรื่องที่ 2 ได้แก่การเพิ่มสถานะของประมวลกฎหมาย ‘หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์’ ใหม่ จากเดิมที่ถูกขีดเส้นไว้หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จนอัตราโทษสูงแล้วนั้น ให้กลายเป็นแยกขาดจากประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่นที่ ‘ยุบได้’ และ ‘แก้ได้’ โดยฝ่ายนิติบัญญัติ ไปสู่สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ ผูกกับเรื่องความมั่นคงของรัฐ และหากเสนอแก้ไข เสนอยกเลิกเมื่อใด อาจหมายถึงการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อการ ‘ล้มล้างการปกครอง’
ทั้งที่ว่ากันโดยหลักการ มาตรา 112 ถูกพูดถึงตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า มีปัญหาทั้ง ‘ตัวบท’ ที่ให้โทษหมิ่นพระมหากษัตริย์รุนแรงเกินไป ใครก็แล้วแต่ล้วนสามารถฟ้องหมิ่นฯ ก็ได้ การตีความที่กว้างขวาง ครอบคลุมพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ บางครั้งครอบคลุมไปถึงสมเด็จพระนเรศวร บางครั้งครอบคลุมไปถึงสุนัขทรงเลี้ยง เรื่องพวกนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้ กฎหมายนี้จะคงสถานะอันศักดิ์สิทธิ์นี้ตลอดกาลนาน
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ยังระบุตอนหนึ่งว่า การกระทำของพิธาและพรรคก้าวไกลนั้น กระทำโดยมิได้ใช้กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ และยังสั่งให้พิธาและพรรคก้าวไกลเลิกแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา รวมถึงใช้ถ้อยความตอนหนึ่งว่า พรรคก้าวไกลอาจเข้าข่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริต
นั่นแปลว่านับจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็จะไม่สามารถแตะต้องได้อีกต่อไป
คำถามสำคัญจากนี้ก็คือ ถ้าหากการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามีความหมายเท่ากับล้มล้างการปกครองแล้ว เพราะเหตุใดการรัฐประหารถึงเป็นเรื่อง ‘ถูกต้อง’
ประเด็นสุดท้ายคือการ ‘ปิดประตู’ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์กลางการเรียกร้องบนท้องถนนตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ให้ข้อเรียกร้องที่พื้นฐานที่สุดอย่างการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องต้องห้าม
และหากไม่สามารถ ‘วิพากษ์’ ไปถึงสถาบันฯ ได้แล้ว การจะไปแก้ไขเรื่องอื่นๆ ย่อมปิดประตูทันที ไม่ว่าจะเรื่องการจัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ไม่ว่าจะเรื่องการขยาย ‘พระราชอำนาจ’ นับจากนี้ การพูดถึงสถาบันฯ ต้องเป็นไปในแนวทางเทิดพระเกียรติเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่า วิธีนี้จะหยุดความคิด หยุดการเคลื่อนไหว ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ กลับไปสู่สถานะ ‘อันล่วงละเมิดมิได้’ ตลอดไป แต่คำถามก็คือวิธีนี้จะหยุดเวลา หยุดทุกอย่างได้จริงหรือ?
เรื่องสำคัญก็คือ ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 151 คน เรื่องสำคัญคือพรรคก้าวไกลมีผู้ลงคะแนนให้ทั้งสิ้น 14 ล้านเสียง เป็นพรรคการเมืองอันดับที่ 1 ที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกมากที่สุด ทั้งที่คนที่เลือกย่อมรู้ดีว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายหาเสียงอย่างหนึ่ง คือการแก้ไขมาตรา 112
แล้วหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคก้าวไกล (หรือพรรคอื่นที่ ‘แปลงร่าง’ จากพรรคก้าวไกล) ยังคงได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 คำถามก็คือแล้วประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคก้าวไกลกำลังคิดอะไร? ตั้งใจ ‘ล้มล้างการปกครอง’ อย่างนั้นหรือ?
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ ดันทุกเรื่องลงไปให้อยู่ ‘ใต้ดิน’ เป็นเรื่อง ‘ผิดกฎหมาย’ มากขึ้น เพื่อผลักสถานะพระมหากษัตริย์ให้ไปสู่จุดสูงสุด ขณะเดียวกัน ก็วาดภาพให้พรรคก้าวไกลอยู่ในภาพเดียวกับนักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงที่เคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นพรรคล้มล้างการปกครอง และวาดภาพผู้สนับสนุนในภาพที่ไม่แตกต่างกัน
ในทัศนะของศาลรัฐธรรมนูญ ในห้วงคำนึงของชนชั้นนำ หากไม่มีพรรคก้าวไกล การปกครองของ ‘พวกเขา’ อาจมั่นคงขึ้น พรรคการเมืองอื่นจะเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นรัฐบาลโดยไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป การเมืองบนท้องถนนจะสงบราบเรียบ
พรรคก้าวไกลอาจหลุดจากสมการการเมืองได้ แต่จะให้ความคิดคนกลับไปสู่จุดเดิมคงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว…
Tags: ศาลรัฐธรรมนูญ, ม.112, ก้าวไกล, Analysis, The Momentum ANALYSIS