14 พฤษภาคม 2566 วงพนันทำนายว่าพรรคไหนจะชนะ เจ้ามือพนันหลายรายล้ม เพราะผลการเลือกตั้งหักทุกปากกาเซียน พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งมากกว่าที่คาดไว้ มากพอจะจัดตั้งรัฐบาลได้

14 มิถุนายน 2566 วงพนันยังทำหน้าที่ต่อ วงสนทนาทุกวงยังเป็นคำถามแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในร้านต้มเลือดหมูหรือในห้องค้าตลาดหุ้น คำถามสำคัญก็คือ พิธาจะได้เป็นนายกหรือไม่ ฝ่ายที่รวมเสียงได้เกิน 312 เสียง ซึ่งควรจะมีความชอบธรรมมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล จะได้เป็นรัฐบาลไหม

เพราะในเวลาเดียวกัน ฉากทัศน์แปลกๆ ยังเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ยังมีความพยายามเสนอชื่อบุคคลแปลกๆ ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน ท่ามกลางข่าวลือว่าใคร ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ พิธา

The Momentum ชวนมองความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น 1 เดือนให้หลังการเลือกตั้งว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

1. Deep State ยังทำงานแข็งขัน

The Momentum เคยวิเคราะห์แล้วว่า เหตุและปัจจัยสำคัญที่หลายคนวิเคราะห์ ก็คือเหตุแห่งความวุ่นวายรอบนี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่ ‘รัฐพันลึก’ หรือบรรดา ‘อำมาตย์’ ประเทศนี้ ไม่ไว้ใจให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เพราะมองว่าพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไป 

ความพิเศษคือ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย และหาก ส.ว.ไม่โหวตให้พิธา ก็หมดโอกาสได้เป็นนายกฯ ณ จุดนี้ หลายคนมองว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อยเป็นตัวตายตัวแทนของบรรดารัฐพันลึก

ใช่ บรรดารัฐพันลึกอาจเป็นได้ทั้งวุฒิสภา กลุ่มทุน อาจเป็นได้ทั้งกองทัพ อาจเป็นได้ทั้งกระบวนการยุติธรรม ที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลจงใจเดินหน้า ‘รื้อ’ โครงสร้างแบบเดิมๆ มากกว่าจะอยู่ในที่ทางที่ฝ่าย Deep State เห็นว่าเหมาะสม แน่นอนว่าพวกเขาต้องการพรรคการเมืองที่ต่อรองได้ แน่นอนว่าพวกเขาต้องการระบบการเมืองที่ไม่กระทบกับฐานอำนาจทั้งในทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ

ตรงจุดนี้ พิธาพยายามทำให้เห็นว่าเขาจะไม่ ‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า’ ความเคลื่อนไหวแรกๆ ของพิธาคือ การเข้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เข้าพบสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ซึ่งอุดมด้วย ‘ซูเปอร์คอนเน็กชัน’ ภาพของพิธาใส่สูท นอบน้อม พนมมือรับพรจากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ถูกเผยแพร่ในเวลาต่อมา และนับจากวันนั้น พิธาก็สวมแหวนลงอักขระของ ‘สมเด็จฯ’ ไว้ที่นิ้วนาง ซึ่งว่ากันว่าเป็นรุ่นพิเศษ มีไม่กี่คนที่จะได้รับแหวนนี้

นั่นเป็นเพียงภาพที่เห็นเบื้องหน้า ในความเป็นจริงพิธายังเดินสายพบปะคนระดับสูงอีกหลายกลุ่ม ทำให้ช่วงไม่กี่วันหลังเลือกตั้ง หลายคนเชื่อว่า ส.ว.จะยินยอมโหวตให้พิธาด้วยสัญญาณบางอย่าง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสียงของ Deep State กลับดังขึ้นว่า ‘อย่าไว้ใจ’ มีหลายโจทย์กลับเข้ามาถาโถมพิธา และเริ่มมีแรงสู้ทั้งจากหลายพรรคการเมือง กลุ่มทุน และกลุ่มอำนาจเก่าที่เริ่มผนึกกำลังกันได้

อาจเป็นภาพสะท้อนความจริงที่ว่าชนชั้นนำอำมาตย์ไทย ยังไม่ยอมให้ ‘ผู้เล่น’ ใหม่ๆ เข้ามา

2. ความล่าช้าที่ผิดปกติของ กกต.

สายตาจากคนนอกที่มองเข้าไปยัง กกต. คือ การเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะ ‘ปกติ’ ที่สุดครั้งหนึ่ง แต่อยู่ดีๆ กลับมีความพยายามทำเรื่องให้ ‘วุ่นวาย’ เข้าไว้

เรื่องปกติที่สุดอย่างการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม 2566 นั้น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ในเวลาเดียวกัน เรื่องปกติอีกเรื่องอย่างการรับรอง ส.ส. กลับล่าช้าออกไป จนถึงวันนี้ หนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้งใหญ่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรับรอง ส.ส. จนมากพอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เมื่อไร หรือจะใช้กรอบเวลา 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ให้ลากยาวไปถึงกลางเดือนกรกฎาคม

และในเวลาเดียวกัน กกต.ยังสร้างบรรยากาศให้มาคุมากขึ้นไปอีก ด้วยการทำให้เสียงร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้ง การซื้อเสียง หรือการทำผิดกฎหมายอื่นๆ นั้นเบาลง แต่เสียงเรื่องการไต่สวนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง ว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 รู้อยู่แล้วว่า ‘ผิดคุณสมบัติ’ แต่กลับลงสมัคร ส.ส. ลงสมัครแคนดิเดตนายกฯ กรณี ‘ถือหุ้นสื่อ’ กลับดังขึ้น และดูจะเป็นลำดับความสำคัญแรกๆ ที่ กกต.จะจัดการ

ความผิดปกติของ กกต.ผูกโยงไปยังคำถามข้อต่อไปก็คือแล้ว กกต.คือหนึ่งในพล็อตเรื่องว่าด้วยการ ‘ลากยาว’ หรือทำสถานการณ์บางอย่างให้ใหญ่เกินตัว เปิดทางให้กลุ่ม ‘อำนาจเก่า’ สืบทอดอำนาจต่อไปได้หรือไม่

คำถามข้อนี้ยังไม่มีใครรู้

3. รัฐบาลเดิมไม่เคยมีท่าทียอมแพ้

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งก็คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้คนที่รายล้อมนั้น ‘อยู่นาน’ เกินไป จนถึงวันนี้สิริรวมแล้วกว่า 9 ปี

5 ปีแรกนั้นเป็นไปโดยอำนาจเบ็ดเสร็จ ส่วนอีก 4 ปีหลัง เป็นประชาธิปไตยแบบค่อนใบ ตามความเชื่อของหลายคนก็คืออาจจะมีอะไรซุกไว้ใต้พรมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐที่ผิดปกติ การทุจริตคอร์รัปชัน หรือการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนผูกขาดบางราย

ทั้งหมดยังไม่นับรวมความเชื่อที่ว่าพลเอกประยุทธ์มีภารกิจพิเศษเพื่อรักษาระบอบดั้งเดิมไว้ ไม่ให้เผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และหากไม่มีสัญญาณให้ ‘พอ’ พลเอกประยุทธ์และองคาพยพก็จะไปต่อจนถึงที่สุด

จึงเป็นเหตุว่านับตั้งแต่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ไม่เคยมีเสียงแสดงความยินดีออกจากปากพลเอกประยุทธ์ และจึงมีท่าทีแปลกๆ จาก ส.ว.ฝั่งที่ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ ทั้งเรื่องจะไม่โหวตให้พิธา ทั้งการแสดงความใกล้ชิดกับ ‘ฝ่ายขวา’ เพื่อแสดงพลังเต็มที่ ทั้งกรณีข่าวการ ‘แบ่งแยกดินแดน’ รัฐปาตานี หรือกรณีรวมพลังคนเสื้อเหลือง ต้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดก็เพื่อให้ใครก็แล้วแต่เห็นความจำเป็นในการที่จะใช้บริการพลเอกประยุทธ์และพรรคพวกต่อไป

4. ความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้าของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล

การลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาได้กลายเป็นมิติใหม่ในทางการเมือง ที่การจัดตั้งรัฐบาลมีข้อตกลงผูกแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไว้ตั้งแต่แรก จากนั้นมีทั้งการตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ร่วมกัน และมีการตั้ง ‘คณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล’ 

ในประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา คณะทำงานเปลี่ยนผ่านฯ จะมีบทบาทอย่างสูงในการ ‘ถ่ายงาน’ จากรัฐบาลชุดเดิม สามารถเข้าพบข้าราชการในหน่วยงานราชการสำคัญ ขอข้อมูลด้านงบประมาณ เพื่อวางแผนจัดทำนโยบาย เตรียมการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ให้พร้อมเข้าทำงานในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ได้ทันที รวมถึงเตรียมความพร้อมก่อนจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 

แต่ความไม่ชัดเจน ณ วันนี้ก็คือ รัฐบาลชุดเดิมยังไม่ปล่อยอำนาจ ข้าราชการจึงไม่กล้าหารือกับพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน เมื่อทิศทางลมยังไม่ชัดเจนว่าใครจะอยู่หรือจะไป ธรรมชาติของข้าราชการก็ไม่มีใครกล้า ‘ล้ำหน้า’ 

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็ยังไม่มั่นใจว่า พรรคก้าวไกลจะได้เป็นผู้นำรัฐบาลจริงหรือไม่ หากเกิดเหตุที่ฝ่ายตรงข้ามรวมกันได้เข้มแข็งจนพรรคก้าวไกลไม่สามารถเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ เกิดอุบัติเหตุอื่น หรือได้ ‘ข้อมูลใหม่’ บางอย่าง อาจทำให้บางพรรค บางคนจะต้องเปลี่ยนขั้วหรือไม่

เรื่องชุลมุนทั้งหมด ผนวกกับการที่รัฐบาลเก่ายังไม่ปล่อยมือ ส่งผลให้การเดินหน้าในฐานะคณะทำงานชุดต่างๆ ทำได้เพียงกรอบนโยบายกว้างๆ ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เรื่องชุลมุนทั้งหมดทำให้ ณ วันนี้ หลายพรรคมองหาสิ่งที่ใกล้เคียงกับการทำงานจริง คือการมองหา ‘แผนสำรอง’

แน่นอนว่า จะโทษว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ถูกอีก เพราะระบบการเมืองถูกออกแบบมาให้พิกลพิการเช่นนี้ และถูกออกแบบมาให้เสียงประชาชนไม่ว่าจะกี่ล้านเสียงก็ตาม มีน้ำหนักไม่เท่ากับวุฒิสมาชิก มีค่าไม่เท่ากับองค์กรอิสระ และใครก็แล้วแต่จะส่งสัญญาณ ‘จัดการ’ เมื่อใดก็ได้

ความวุ่นวายทั้งหมดในห้วงเวลา 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง อยู่ภายใต้คำตอบเดียวคือ ‘ความกลัว’ กลัวว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลง สถานะของกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ ณ ปัจจุบันจะเปลี่ยนไป จะไม่มั่นคง กลัวว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ฉับพลัน และจะสั่นคลอนเป็นวงกว้าง

แต่ต้องไม่ลืมว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่เลือกขั้วอำนาจนี้มาเพื่อเปลี่ยน ไม่ได้เพื่ออยู่กับอะไรเก่าๆ และความอดทนของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็อาจมีขีดสุดเข้าสักวันหนึ่งเหมือนกัน

หากทำความเข้าใจข้อนี้ได้ การ ‘ฝืน’ อะไรบางอย่างก็มีความเป็นไปได้ที่เรื่องทั้งหมดจะจบลงไม่สวยนัก…

Tags: , , , , , ,