คำแนะนำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่าให้เล่นซูโดกุ หรือเล่นปริศนาอักษรไขว้เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ อาจไม่เวิร์กเท่ากับอีกวิธีหนึ่ง นั่นก็คือ การทำงาน!
เจสสิกา แลงบอว์ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ริเริ่มป้องกันอัลไซเมอร์ สถาบันอัลไซเมอร์แบนเนอร์ เมืองฟินิกซ์ สหรัฐอเมริกา บอกว่า “แค่นั่งลงแล้วก็ทำซูโดกุ อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ช่วยป้องกันคุณจากการเป็นอัลไซเมอร์ได้”
แลงบอว์ม จบปริญญาเอกสาขาระบาดวิทยาโรคจิตเวช ปู่ของเธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติเล็กน้อยของความสามารถของสมอง (mild cognitive impairment : MCI) ซึ่งเป็นระยะที่เปลี่ยนไปเป็นอัลไซเมอร์ เธอจึงสังเกตอาการตัวเองและพยายามหาวิธีป้องกันและฝึกสมองตัวเอง แต่วิธีที่เธอเลือก ไม่ใช่การทำปริศนาอักษรไขว้ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ลับสมอง หรือทำกิจกรรมตามโปรแกรมฝึกสมองแบบเป็นทางการ แต่เธอยืดเวลาของการเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วยการออกไปทำงาน
“งานของฉันเป็นการฝึกการรับรู้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่คุณยังทำงาน ทำให้คุณต้องจัดการกับความท้าทายในชีวิตประจำวัน การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน การจดจำสิ่งต่างๆ การสร้างกระบวนการเรียบเรียงข้อมูล” เธอกล่าว
เธอเสนอความคิดนี้จากมุมมองของคนที่ใช้เวลาศึกษาผลของโปรแกรมฝึกสมอง และเห็นคนเป็นอัลไซเมอร์อย่างใกล้ชิด
สำหรับเธอ ปริศนาอักษรไขว้และการเล่นเกมอาจมีข้อจำกัด เพราะมันมุ่งเน้นงานเดียวที่แคบมากๆ ผลออกมาเหมือนกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนเดิมๆ ที่กล้ามเนื้อนั้นจะแข็งแรงขึ้น แต่สุขภาพโดยรวมจะไม่เปลี่ยนแปลง
มีงานศึกษาผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 2,800 คน ใช้เวลา 5 สัปดาห์ ทำแบบฝึกหัดทดสอบความจำ การใช้เหตุผล และความเร็ว มีสองอย่างที่ช่วยสมองได้เล็กน้อย คือการใช้เหตุผลและความเร็วในการประมวลข้อมูล
แบบฝึกหัดที่หลากหลายนี้ทำให้ความบกพร่องทางสมรรถนะของสมองเกิดขึ้นช้าลง ยืดอายุสมองที่ทำงานปกติได้นานกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการฝึกการรับรู้แบบเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรก็ดี แม้กิจกรรมเหล่านี้ช่วยคงสภาพสมรรถนะของสมอง แต่ก็ยังไม่ชัดนักว่า การฝึกสมองจะช่วยป้องกันหรือทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ช้าลงหรือไม่ และงานวิจัยในช่วงสองสามปีมานี้แนะนำว่า การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นรูปแบบของการออกกำลังทางใจ (mental exercise) ที่ดีกว่าการฝึกสมอง
แลงบอว์มบอกว่า คนที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยกลางคน จะมีความเสี่ยงของอัลไซเมอร์น้อยกว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต มีบางอย่างที่เกี่ยวกับการอยู่กับผู้คนซึ่งมีประโยชน์กับสมองของเรา
ดังนั้น สมองของแลงบอว์ม ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว มีลูกสองคน เพื่อนร่วมงานและเพื่อน จึงได้ออกกำลังทุกวัน
คำแนะนำของเธอก็คือ ถ้าชอบเกมปริศนาอักษรไขว้ก็ทำไป แต่ก็ลองอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้รู้สึกสนุกด้วย
ที่มา:
Tags: อัลไซเมอร์