‘ศาสนา’ เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากวัฒนธรรม และคงไม่เกินไปนักหากจะสรุปว่ามนุษย์ล้วนถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมทั้งสิ้น ทุกศาสนาจึงมีวิถีปฏิบัติ มีความเชื่อแตกต่างกันไป เพราะวัฒนธรรมคือต้นกำเนิดของวิถีชีวิต

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศตนเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) ที่เคารพความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และทุกวิถีชีวิต แม้ประเทศไทยจะประกาศตนไว้แบบนั้น แต่ ณ วันนี้ ความชัดเจนเรื่องนโยบายพหุวัฒนธรรมจากภาครัฐยังคงเลื่อนลอย

สิ่งที่น่าสนใจของศาสนาและวัฒนธรรมคือการถ่ายทอดที่ไม่ได้สิ้นสุดหยุดแค่มนุษย์ปุถุชนเท่านั้น แต่ยังถูกส่งผ่านไปยังสัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อมในแต่ละสังคม เฉกเช่นกับครั้งนี้ที่สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยอย่าง ‘ช้าง’ ก็เข้าสู่พิธีเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต จากการเลี้ยงดูแบบพุทธ มาสู่วิถีช้างแบบอิสลาม

ภาษามลายูเรียกพิธีนี้ว่า อาเละฮ์ งาโซะฮ์ (Alih NGASOH) ที่พระอาจารย์เรวัต ถิรสัทโธ หรือ ‘ท่านเวาะ’ เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต จังหวัดปัตตานี อธิบายพิธีกรรมนี้สั้นๆ ว่าคือการเปลี่ยนเทวดาประจำช้าง เพื่อบอกกับช้างว่า “ต่อไปนี้เอ็งจะถูกเลี้ยงดูในวิถีอิสลาม”

ตอนอยู่ในป่าข้าชื่อ ‘ไอ้แดง’ พอเข้าเมืองข้าชื่อ ‘อะแวสะดอ’

อาจารย์เรวัต ถิรสัทโธ หรือ ‘ท่านเวาะ’ เจ้าอาวาสและพระรูปเดียวในวัดเทพนิมิต วัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของ 2 ศาสนิกชนพุทธและมุสลิมที่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกุฏิวัด เป็นผู้ปกครองของ ‘ไอ้แดง’ ช้างหนุ่มรูปงามแข็งแรงสมวัย ที่พอเข้าพิธี อาเละฮ์ งาโซะฮ์ เสร็จแล้ว ช้างไอ้แดงที่เคยถูกเลี้ยงแบบวิธีพุทธ จะถูกเปลี่ยนเป็นช้างวิถีอิสลาม พร้อมกับชื่อใหม่ว่า ‘อะแวสะดอ’

“อายุเท่าไหร่กูก็จำไม่ได้แล้ว แต่ตอนนี้บวชมา 36 พรรษาแล้ว” ท่านเวาะ ตอบคำถามเราหลังจากถามไถ่เรื่องราว ก่อนที่จะเข้าเรื่องของไอ้แดงและพิธีกรรม

หลวงพ่ออธิบายความสำคัญของพิธีกรรมนี้ว่า การเลี้ยงช้างในแต่ละศาสนาจะแตกต่างกันออกไป การเปลี่ยนวิถีชีวิตช้างก็เหมือนกับการเปลี่ยนนิสัย และคนที่มาทำพิธี อาเละฮ์ งาโซะฮ์ จะต้องเป็นคนมุสลิมเท่านั้น

“หลวงพ่อนับถือศาสนาพุทธ แต่ทำไมถึงเลือกวิถีการดูแลช้างแบบอิสลาม” เราถาม

“ศาสตร์การเลี้ยงช้างของอิสลามมันดี พิธีกรรมในศาสตร์แบบพุทธมันต้องฆ่าไก่ ฆ่าไก่ก็ต้องมีเลือด ต้องมีเหล้าด้วย หลวงพ่อไม่ไหวหรอก ถ้าเป็นพิธีแบบอิสลามทำแค่ข้าวเหนียวสามสีก็พอแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ที่ความเชื่อ ถ้าไม่เชื่อก็ทำไม่ได้ หลวงพ่อเชื่อแบบนี้ก็เลยทำ”

ส่วนตัวแล้วท่านเวาะมีความผูกพันกับชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก ด้วยความที่บรรพบุรุษนับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด ญาติพี่น้องเองก็เป็นมุสลิม และเริ่มมานับถือศาสนาพุทธในรุ่นของปู่ทวด ร่วมกับการอาศัยอยู่ในชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ ท่านเวาะบอกกับเราว่า การตัดสินใจเข้าสู่พิธีอุปสมบทนั่นเพราะอยากช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และเชื่อมสัมพันธ์ของคนในสังคม

ในตอนนี้ ช้าง วัดเทพนิมิต และคนในท้องถิ่น ถือว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นเหนียว หากที่วัดมีงานบุญ มีงานทอดกฐิน ชาวมุสลิมก็มาออกบูธเลี้ยงอาหาร และเมื่อชาวมุสลิมจัดงานหลวงพ่อก็จะไปร่วมด้วย เช่น นำช้างที่วัดไปแห่เข้างานสุนัตหรืองานแต่งงาน

โต๊ะกุแช = หมอช้าง

พิธี อาเละฮ์ งาโซะฮ์ ทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางคืนจะอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา และบรรพบุรุษ มารับรู้ว่าช้างตัวนี้จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ให้มาช่วยกันปกปักรักษาคุ้มครอง พร้อมกับทำพิธีประกอบน้ำมนต์เพื่อนำมาอาบน้ำช้างในวันรุ่งขึ้น

ไอ้แดงถูกรับมาดูแลได้เพียง 3 วันเท่านั้น ก่อนจะเข้าสู่พิธีเปลี่ยนวิถีชีวิตจากพุทธเป็นอิสลามเพราะยิ่งเปลี่ยนเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดูแลและสอนช้างง่ายขึ้นเท่านั้น พิธีกรรมช่วงเช้าใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยเริ่มจาก ‘โต๊ะกุแช’ เดินทางมาทำน้ำมนต์และพร้อมยกครู

หลวงพ่อเน้นย้ำกับเราว่า โต๊ะกุแชที่จะมาทำพิธีต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะถือว่าผิดประเพณี

เมื่อโต๊ะกุแชย่างเท้าเข้ามาในวัด ทำน้ำมนต์เพื่ออาบน้ำให้ไอ้แดงเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีกรรมต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้น

อาบน้ำช้างต้องอาบด้วยของเย็น

พิธีกรรมทำน้ำมนต์เพื่ออาบน้ำไอ้แดง (ชื่อก่อนทำพิธี) ดูจะเป็นขั้นตอนที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมาก นอกจากน้ำมนต์ที่ต้องทำในคืนก่อนวันงานแล้ว ในยามเช้า โต๊ะกุแชต้องมาทำพิธีอีกที นอกจากเครื่องหอม มะกรูด มะนาว และดอกไม้นานาพันธุ์ สิ่งสำคัญอย่างมากในขั้นตอนนี้คือ ‘ยาเย็น’

ยาเย็นหรือของเย็นที่หลวงพ่อว่ามา คือ เงิน ทอง นาก ทั้ง 3 สิ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำมนต์ที่ขาดไม่ได้ เพื่อทำให้ช้างสงบสติอารมณ์และใจเย็น ซึ่งไอ้แดงจะนอนลงกับพื้นเพื่อรับการอาบน้ำจากท่านเวาะ

“หลังจากหลวงพ่ออาบน้ำให้ไอ้แดงแล้ว ก็จะบอกมันว่าต่อไปนี้เอ็งชื่อ ‘อะแวสะดอ’ นะ และตอนนี้เอ็งเป็นช้างในวิถีอิสลามเรียบร้อยแล้ว”

ถาดข้าวเหนียว 3 สี และไก่ย่าง

สิ่งที่ดูจะเป็นคู่พระนางอีกอย่างในพิธีกรรม คือ ถาดข้าวเหนียว 3 สี และไก่ย่าง โดยหลวงพ่อบอกกับเราว่า ไม่ใช่แค่ข้าวเหนียวกับไก่ย่างเท่านั้น แต่มีของถึง 13 อย่าง ที่จะขาดอย่างไหนไปไม่ได้เลย

1. ข้าวปากหม้อ 2. ไก่อย่างที่มีอวัยวะครบสมบูรณ์ 3. ขนมโค 4. ขนมต้มแดง 5. ดาดา 6. ข้าวตอก 7. หมากพลู 8. ผ้าขาวม้าอิสลาม 9. ด้ายดิบ 1 ใจ 10. กล้วย 11. อ้อย 12. รวงข้าว 13. น้ำเปล่า 1 แก้ว

หลังจากอาบน้ำเสร็จเรียบร้อย ถาดขนมที่ระบุไปข้างต้นจะถูกยกไปให้อะแวสะดอกิน คล้ายกับเป็นการกินเพื่อเฉลิมฉลอง หลังจากกินเสร็จ อะแวสะดอจะถูกคลุมหัวด้วยผ้าขาวม้าอิสลาม

“ขนมที่เตรียมมาก็ยกให้มันกินหมด ยกเว้นอย่างเดียวคือไก่ย่าง เดี๋ยวมันจะติดคอเอา นอกนั้นมันก็กินหมดแหละ” 

หลวงพ่ออธิบายต่อว่า การนำผ้าขาวม้าอิสลามคลุมหัวในตอนท้าย นั่นหมายถึงการบอกให้อะแวสะดอรู้ว่าผ่านพิธีกรรมแล้ว และต่อไปนี้เขาไม่ใช่ช้างป่าอีกต่อไป

รำสิละ ศิลปะการต่อสู้ 4 ชายแดนใต้

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่มาสร้างบรรยากาศและสีสันภายในงานคือ ‘รำสิละ’ ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่มีอายุยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ เน้นลีลาการเคลื่อนไหวที่สง่างาม หนักแน่น และมีไหวพริบ คนในพื้นที่หลายคนบอกกับเราว่า ปัจจุบันรำสิละถือเป็นการแสดงที่หาดูยากมาก แม้แต่คนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลา) ยังหาดูยากเลย

ผู้แสดงจะแต่งกายด้วยเสื้อคอกลมหรือคอตั้ง มีผ้าโพกศีรษะ สวมกางเกงขายาวผ้าโสร่งที่เรียกว่า ‘ผ้าซอเกตลายสด’ และสวมทับด้วยผ้าลือปัสคาดเอว หรือใช้เข็มขัดรัดเพื่อให้กางเกงกระชับ และเหน็บกริชไว้ที่เอวตามแบบฉบับการต่อสู้ดั้งเดิม

จะว่าไปแล้วรำสิละก็คล้ายกับการรำมวยไทย เพราะเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่ง แต่ละคู่จะผลัดกันออกมาโชว์ลีลาผ่านการรำและจู่โจมฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็ว หนึ่งในผู้ชมบอกกับเราว่า “รำสิละนี่ต้องดูดีๆ นะ ใครเผลอก็โดนเลย ล้มลงพื้นได้เลย” แล้วก็เป็นดังนั้นจริงๆ เพราะหลายครั้งที่การวาดลวดลายหลอกล่อฝ่ายตรงข้ามให้ตายใจ มักจบด้วยการล้มกลิ้งไปนอนกับพื้นเสมอ

รำสิละถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการเปลี่ยนวิถีช้าง หลวงพ่อย้ำกับเราว่า “จะขาดไม่ได้เลยนะรำสิละเนี่ย ต้องมีเพื่อรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอัญเชิญมา”

นอกจากการแสดงที่สนุกเร้าใจ เครื่องดนตรีประกอบการแสดงรำสิละก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ทั้งเสียงของกลองมลายู ฆ้อง และปี่ชวา บรรเลงพร้อมกันจนเกิดดนตรีแปลกหูไม่คุ้นเคย ยิ่งขับให้บรรยากาศในพิธีดูมีชีวิตชีวาและคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นของวัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีของพวกเขา 

โปรดเรียกขานข้าในนาม ‘อะแวสะดอ’

หลังพิธีเสร็จสิ้น อดีตไอ้แดงก็กลายเป็นอะแวสะดอเต็มตัว คล้ายกับว่าพิธีกรรมนี้กำลังบอกกับเราว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถอยู่ร่วมกันและใช้ชีวิตด้วยกันได้ เหมือนกับที่ท่านเวาะนับถือศาสนาพุทธ แต่เลือกวิถีการดูแลช้างแบบอิสลามให้อะแวสะดอ

“ความหวังของหลวงพ่อไม่มีอะไรมาก แค่ต้องการให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ให้เราอยู่ด้วยกันเหมือนแต่ก่อน ไม่แตกแยก มันเพิ่งมามีช่วงหลังเองที่เราดูแยกกัน แต่ก่อนหน้านี้เราอยู่ด้วยกันแบบเป็นสุขมาโดยตลอด” 

ท่านเวาะกล่าวปณิธานทิ้งท้าย

Fact Box

Living in the Red Zone ชีวิต ความฝัน และผู้คนชายแดนใต้ คือซีรีส์ที่ The Momentum ภูมิใจนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากผู้คนหลากหลายบทบาทและอาชีพ เพื่อทำความเข้าใจหนึ่งในดินแดนที่ ‘พิเศษ’ และมีเสน่ห์ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้

Tags: , , , ,