น.ท.วีระพจน์ พรหมโชติ ประธานกรรมการบริหารบริษัทสกายเอ๊กซ์ตรีม จำกัด เจ้าของเครื่องบินลำดังกล่าว เล่าว่า เขาและพรรคพวก ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นนักบินกองทัพอากาศ มีความฝันอยากทำธุรกิจทิ้งร่มอากาศ หรือ ‘ดิ่งพสุธา’ ซึ่งเป็นกีฬาแนวเอ๊กซ์ตรีม จึงศึกษาเงื่อนไขต่างๆ และหารือกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า กระบวนการขอใบอนุญาตจะใช้เวลาราว 4 เดือน หากนานสุดอาจใช้เวลาถึง 6 เดือน และการขออนุญาตใหม่นั้น เครื่องบินต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี นับตั้งแต่วันผลิต ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการบินพลเรือนกำหนดไว้ และหลังจากขออนุญาตผ่านแล้ว ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี และต่ออายุได้ครั้งละ 3 ปี ซึ่งหากเครื่องบินผ่านการตรวจสภาพจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะสามารถทำการบินต่อไปได้ 

หลังศึกษาเงื่อนไขต่างๆ จนเข้าใจ พวกเขาซื้อเครื่องบินแบบปีกแข็ง 18 ที่นั่ง จากบริษัทให้บริการกีฬาดิ่งพสุธาที่ออสเตรเลีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พร้อมกับส่งนักบินไปฝึกอบรมจากบริษัทดังกล่าว เพื่อให้บุคลากรมีความเชี่ยวชาญและมาตรฐานตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย   

นักบินของบริษัทสกายเอ็กซ์ตรีม กลับมาพร้อมเครื่องบินลำดังกล่าว โดยในวันที่พวกเขาตัดสินใจซื้อในราคา 33 ล้านบาท คือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะนั้นเครื่องบินลำนี้ มีอายุครบ 15 ปี เพราะถูกสร้างขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547

จากนั้น พวกเขาได้ยื่นขอใบอนุญาตต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อ 25 ธันวาคม 2562 กระบวนการนับจากนั้น มีคณะกรรมการ 3 คณะ พิจารณาคำขอว่าจะอนุญาตหรือไม่ 

คณะแรก คือคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน พิจารณาเห็นสมควรออกใบอนุญาต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2563 คณะที่สอง คือคณะอนุกรรมการหลักเกณฑ์การอนุญาต อัตราค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนอื่นใด เห็นสมควรออกใบอนุญาตให้

สุดท้าย คณะที่ 3 คณะกรรมการการบินพลเรือน ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกใบอนุญาต 

น.ท.วีระพจน์ บอกว่า การลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่พวกเขาจะได้ใบอนุญาตทำธุรกิจ แต่ขั้นตอนนี้ กลับติดขัดปัญหาการตีความอายุของเครื่องบิน เพราะมีการตีความหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการบินพลเรือนที่แตกต่างกัน

หลักเกณฑ์นั้นระบุว่า อากาศยานที่ผู้ขอรับในอนุญาตจะจัดหามาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ ได้กำหนดอายุของอากาศยานสำหรับการรับขนคนโดยสารและสินค้า ต้องไม่เกิน 16 ปี นับตั้งแต่วันผลิต หมายความว่า เครื่องบินที่จะนำมาขออนุญาตใหม่ ต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี นับตั้งแต่วันผลิต ซึ่งหากบริษัทนี้ได้รับใบอนุญาตจะมีกำหนด 3 ปี ใน 3 ปีนี่เอง ที่กลายเป็นการตีความแตกต่างกัน เพราะผู้ที่จะให้ใบอนุญาตตีความว่า แม้ตอนออกใบอนุญาต เครื่องบินจะอายุไม่เกิน 16 ปี แต่เครื่องบินลำนี้จะมีอายุเกิน 16 ปี ก่อนครบกำหนด 3 ปีตามใบอนุญาต ซึ่งอาจเป็นการทำผิดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการบินพลเรือน

เรื่องจึงค้างอยู่ในจุดนี้เป็นเวลานาน สุดท้าย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความข้อกฎหมายใน 2 ประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 คือ การจัดหาเครื่องบินที่อายุไม่เกิน 16 ปี แต่เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว เครื่องบินอายุเกิน 16 ปี ถือว่าทำผิดหลักเกณฑ์หรือไม่ และอีกประเด็นคือ ตอนที่ยื่นเรื่องขอใบอนุญาต เครื่องบินมีอายุไม่เกิน 16 ปี แต่พอได้รับใบอนุญาต เครื่องบินอายุเกิน 16 ปี ถือว่าทำผิดหลักเกณฑ์หรือไม่ 

แต่เวลาที่งวดเข้ามาทุกขณะ ทำให้ฝ่ายที่ขอใบอนุญาต คือผู้บริหารบริษัทสกายเอ๊กซ์ตรีม จำกัด ต่างอยู่ในภาวะระทึกใจ เพราะหากถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2563 มีความเสี่ยงสูงมากที่เครื่องบินซึ่งพวกเขาซื้อมาในราคา 33 ล้านบาท จะกลายเป็นเหมือนเศษเหล็ก ไม่สามารถนำมาขออนุญาตทำการบินในเชิงพาณิชย์ได้ ด้วยวันนั้นเครื่องบินจะมีอายุ 16 ปี 1 วัน แต่เงื่อนไขการให้ใบอนุญาตใหม่ เครื่องบินต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี    

แต่พวกเขาทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากให้นักบินนำเครื่องบินขึ้นบินเพื่อรักษาระบบทุกสัปดาห์ ซึ่งทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าโรงจอดเครื่องบิน ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน รวมแล้วประมาณ  4 แสนบาทต่อเดือน และอีกหนทางหนึ่ง คือการยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองอายุของเครื่องบินให้หยุดนิ่งไว้ก่อน ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตของกระทรวงคมนาคม

กระทั่งสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นวันที่เครื่องบินที่ซื้อมา 33 ล้านบาท มีอายุครบ 16 ปีเต็ม และนับจากวันที่ 1 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เครื่องบินลำนี้อายุเกิน 16 ปีแล้ว ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการบินพลเรือน น่าจะส่งผลให้เครื่องบินอายุเกิน 16 ปี ไม่สามารถนำมาขออนุญาตทำการบินในเชิงพาณิชย์ได้อีกต่อไป นั่นยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนไม่มีทางออก 

แต่ในห้วงเวลาอันมืดมิด ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความข้อกฎหมาย 2 ประเด็น ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยขอให้ช่วยตีความ คือ 1.การกำหนดอายุของเครื่องบินไม่เกิน 16 ปี นับตั้งแต่วันผลิตนั้น เป็นเพียงหลักเกณฑ์อายุที่กำหนดขึ้นประกอบการพิจารณาของผู้อนุญาต ณ เวลาที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเท่านั้น มิใช่ในเวลาที่ออกใบอนุญาต และมิใช่เป็นเงื่อนไขที่ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องดำรงไว้ตลอดอายุใบอนุญาต

การตีความประเด็นนี้ มีความชัดเจนมากขึ้นว่า การนับอายุเครื่องบินที่ไม่เกิน 16 ปี นับถึงวันยื่นขออนุญาต เมื่อได้ใบอนุญาตแล้ว ไม่ได้นับเรื่องอายุเครื่องบินอีกต่อไป 

ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีการยื่นขอใบอนุญาตพร้อมแจ้งการจัดหาเครื่องบินอายุไม่เกิน 16 ปี ณ วันที่ยื่นขอใบอนุญาต แต่ต่อมาในวันที่ได้รับใบอนุญาต เครื่องบินมีอายุเกิน 16 ปีแล้ว เห็นว่าไม่ผิดเงื่อนไข เพราะหลักเกณฑ์อายุของเครื่องบินกำหนดขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณา ณ เวลาที่ยื่นคำขอ มิใช่ในเวลาที่ออกใบอนุญาต 

การตีความประเด็นนี้ หมายความว่า ตอนที่ยื่นขอใบอนุญาต เครื่องบินมีอายุยังไม่เกิน 16 ปี แต่วันที่ได้รับใบอนุญาต แม้อายุเครื่องบินเกิน 16 ปี ไม่ถือว่าผู้ขอใบอนุญาตทำผิดเงื่อนไข

หลังรู้การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา น.อ.บัญชาพล อรัณยะนาค รองประธานกรรมการบริหารบริษัทสกายเอ๊กซ์ตรีม จำกัด บอกว่า ทุกคนในบริษัทรู้สึกโล่งอก จากนี้จะรอดูท่าทีจากกระทรวงคมนาคมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ จะออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่ แต่หากยังเป็นเหมือนเดิม อาจมีความจำเป็น ต้องฟ้องศาลปกครองให้ชี้ขาดอีกครั้ง

น.อ.บัญชาพล บอกว่า จริงๆ หลักเกณฑ์นี้ เป็นที่รับรู้กันในแวดวงการบิน ว่ามีความหมายเหมือนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใด การขออนุญาตของบริษัทจึงถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ และกินเวลายาวนานเกินกว่า 1 ปีแล้ว 

พวกเขาหวังว่า เรื่องนี้จะจบลงโดยเร็ว เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมา การซื้อเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ได้สร้างมูลค่าทางธุรกิจ ทำให้เกิดความเสียหายแล้วรวมกว่า 50 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าเครื่องบิน 33 ล้านบาท อีก 17 ล้าน เป็นค่าดูแล บำรุงรักษา และเช่าโรงจอดเครื่องบิน ที่มากไปกว่านั้น คือการเสียโอกาสในการทำธุรกิจที่ควรจะเดินหน้าไปได้ไกลพอสมควรแล้ว หากกระบวนการให้ใบอนุญาต เป็นไปตามที่พวกเขาได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ต้น