ราวกลางเดือนมกราคม 2561 ช่วงเวลาสองสามวันที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ ขมุกขมัวจนเหมือนมีหมอกปกคลุมทั้งวัน แท้จริงแล้วนั่นคือฝุ่นละอองอันตราย กรมควบคุมมลพิษออกมาประกาศเตือนภัยในวันที่ 24 มกราคมว่า ฝุ่นละอองที่ว่านี้ มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีปริมาณราว 54-85 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าสูงเกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่

อากาศที่นิ่งทำให้เราเห็นและรู้สึกได้ว่า มีมลพิษในอากาศสะสมตัวจนเราเห็นเป็นหมอกสีเหลืองปกคลุมอยู่ กว่ากรมควบคุมมลพิษจะออกมาให้ข้อมูลนี้ก็เป็นวันท้ายๆ ก่อนที่สถานการณ์จะค่อยๆ กลับเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานในวันถัดมา ตามประกาศเมื่อวันที่ 25 มกราคม

จากปรากฏการณ์นี้ ช่วยให้คนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครตื่นตัวกับการทำความเข้าใจในพิษสงและที่มาของการเกิด PM 2.5 มากขึ้น หลังจากวันนั้น กรมควบคุมมลพิษก็มีรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ต่อเนื่องมาทุกวันทางหน้าเพจ ด้วยตัวเลขค่าเฉลี่ยที่ยังอยู่ในค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 50 มคก./ลบม.

แต่เราต้องยอมรับว่า ต่อจากนี้อากาศบ้านเราจะไม่มีวันหมดจดได้อีก และฝุ่นละออง PM 2.5 ยังไม่ได้หายไปไหน

ทำไมเรายังต้องพูดถึง PM 2.5 กันอีก

เอาล่ะ ถึงตอนนี้เราอยากให้คุณลองดึงเส้นผมตัวเองออกมาสักหนึ่งเส้น แล้วคำนวณด้วยสายตาดูว่า หากเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมของเรามีขนาดเล็กลงกว่านี้อีก 25 เท่า คุณจะยังมองเห็นมันด้วยตาเปล่าได้อีกไหม นั่นละคือขนาดของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ยังลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ เรามองไม่เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี

นอกจากสถานการณ์ที่ทุกคนได้ประสบพร้อมกัน เราได้รู้จัก PM 2.5 มากขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จากนิทรรศการ ‘Right to Clean Air ขออากาศดีคืนมา’ ซึ่งจัดขึ้นโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นอกจากจะมีผลงานศิลปะจัดวางที่รังสรรค์จากฝุ่น ซึ่งรวบรวมมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย โดย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และภาพถ่ายผลกระทบมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ โดย ฮอร์เค ลารู (Jorge Lareau) เรายังได้รู้ข้อมูลที่ไม่เคยล่วงรู้จากกิจกรรมเสวนาตลอดการจัดนิทรรศการ ในช่วงระหว่างวันที่ 16-28 มกราคมที่ผ่านมา และพบว่า ยังมีเรื่องน่าตระหนกอีกหลายประการที่เราไม่ควรนอนใจกับเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่พิษสงของมันไม่เล็กอย่างตัว ขณะที่แผนพัฒนาต่างๆ ก็ยังพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้กับการสร้างแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดเล็กนี้อย่างไม่หยุดหย่อน

งานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นมาจากฝุ่นที่รวบรวมมาจากหลากหลายจังหวัดที่มีมลพิษทางอากาศปนเปื้อนสูงในประเทศไทย โดย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ภาพถ่ายผลกระกระทบจากด้านมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ โดย Jorge Lareau/ Greenpeace

ภาพถ่ายผลกระกระทบจากด้านมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ โดย Jorge Lareau/ Greenpeace

ย้ำอีกที PM 2.5 คืออะไร

ฝุ่นละอองในอากาศ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Particulate Matter ที่เรียกอย่างย่อว่า PM แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือฝุ่นละอองขนาดใหญ่ ที่มีขนาดมากกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10 ขึ้นไป และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาด PM 10, PM 2.5 และ PM 1

ซึ่ง PM 2.5  หรือฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ความเล็กของมันสามารถลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่เส้นเลือดหรือไปเกาะอยู่ในปอดได้ ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพตามมา

สารเคมีอันตรายที่แฝงอยู่ในฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน มีอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน คือ P-A-Hs เป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ การเผาในที่โล่งแจ้ง ไปจนถึงควันบุหรี่

สารอันตรายตัวที่สองคือปรอท ซึ่งจะเข้าไปทำลายระบบประสาท เป็นอัมพาต มะเร็ง ไปจนถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันและถ่านหิน ระเหยเป็นไอ เป็นสารตกค้างยาวนานและฟุ้งกระจายได้ไกล

ตัวที่สามคือสารหนู เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยาฆ่าแมลง ที่มีผลให้เกิดโรคผิวหนัง มึนชา อยากอาเจียน และมีผลต่อระบบประสาท

ตัวสุดท้ายคือแคดเมียม โลหะหนักอีกตัวที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เหมืองแร่สังกะสี ทองแดง ตะกั่ว ที่จะเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร และกระดูก

เรซินที่รวบรวมเศษใบไม้และต้นไม้ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นจากสถานที่จริง สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากผู้สร้างมลพิษ

จากการศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า มลพิษทางอากาศในประเทศไทย เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประชากรราว 50,000 รายต่อปี และคนในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่ง พบว่ามีพื้นที่ 14 แห่งทั่วประเทศไทย ยังคงมีค่ามลพิษจำกัดสูงสุดเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

มาตรฐานการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ เขาทำกันอย่างไร แล้วประเทศไทยคำนวณแบบไหน?

ในการเสวนา ‘เรื่องใหญ่ๆ ของฝุ่นละอองขนาดเล็กมา’ จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าถึงวิธีการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI)  ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า จะดูจากค่าของสารมลพิษทางอากาศหกประเภทหลัก คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ โอโซน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน คือ PM 10 และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ดัชนีคุณภาพอากาศที่คำนวณได้ของสารมลพิษทางอากาศประเภทใดมีค่าสูงสุด ก็จะใช้เป็นดัชนีคุณภาพอากาศของวันนั้น เพื่อใช้เป็นดัชนีที่จะบอกว่าอากาศดีหรือไม่ และประชาชนจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไร

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่สำหรับการคำนวณค่าในประเทศไทย ที่ผ่านมาไม่ได้นำค่า PM 2.5 มาคำนวณด้วย จึงเป็นการคำนวณจากค่าของสารมลพิษทางอากาศเพียง 5 ประเภท ผลที่ตามมา เมื่อขาดการคำนวณค่าในตัวสุดท้าย ก็คือทำให้ไม่สามารถรู้ข้อมูลที่แท้จริงของอากาศที่เราหายใจเข้าไป

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนีคุณภาพอากาศ PM 10 คือ 63 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศ PM 2.5 จะเป็น 157 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากคำนวณด้วยค่า PM 10 อย่างเดียว ดัชนีคุณภาพอากาศจะแสดงผลที่ระดับปานกลาง แต่หากนำ PM 2.5 มาคำนวณด้วย ดัชนีคุณภาพอากาศจะเกินมาตรฐาน ซึ่งค่าของฝุ่นละอองของทั้งสองตัวนี้จะล้อไปด้วยกัน หากค่า PM 10 สูง ค่า PM 2.5 ก็จะสูงตามไปด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ยังแตกต่างกันอยู่มากระหว่างการกำหนดค่าในมาตรฐานสากลตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ กับการกำหนดค่ามาตรฐานของไทยก็คือ ในค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานของ PM 10 ไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM 2.5 มีค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำค่ามาตรฐานสากลของ PM 10 ไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM 2.5 กำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เมื่อเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในวันที่ 24 มกราคม ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย ออกมาไลฟ์สดผ่านเพจ กรีนพีซ ไทยแลนด์ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเหตุผลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่ไม่ได้รวมเอา PM 2.5  เข้าไปในการคำนวณดัชนี เพราะว่าสถานีที่ติดตั้งเครื่องวัด PM 2.5 ยังมีอยู่ไม่เพียงพอ ฉะนั้น ต้องติดตั้งให้ครบเสียก่อน

ประเทศไทยมีเครื่องวัด PM 2.5 ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554 และเมื่อปีที่ผ่านมา มีการติดตั้งเครื่องวัดเพิ่มขึ้นอีกจาก 19 จุด มาเป็น 25 จุด จากสถานีวัดคุณภาพอากาศในเมืองไทยทั้งหมด 61 จุด ใน 29 จังหวัด

ที่ไหนในไทยบ้างที่เป็นเป้ามลพิษ

แม้ตอนนี้เมืองไทยจะมีสถานีวัดคุณภาพอากาศที่มีเครื่องวัดระดับ PM 2.5 แล้ว 25 สถานี แต่ผลการรายงานมลพิษทางอากาศปี 2560 ยังคงเป็นการเก็บตัวเลขจาก 19 สถานี เนื่องจากเครื่องตรวจวัดเพิ่งเพิ่มเข้ามาใหม่ในช่วงระหว่างปี จึงยังไม่สามารถนำมาคำนวณค่าตลอดทั้งปีได้

จุดที่เริ่มมีเครื่องวัดระดับ PM 2.5 เพิ่มขึ้นมาใหม่ ได้แก่ กรุงเทพมหานครในเขตลาดพร้าว สมุทรปราการ นราธิวาส สงขลา กาญจนบุรี และสตูล ซึ่งก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า พื้นที่เหล่านี้กำลังจะเจอกับการคุกคามของมลพิษทางอากาศครั้งใหม่

ในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ยังคงมีค่ามลพิษเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก จริยา เสนพงศ์ ให้เหตุผลประกอบว่า มีหลายตัวแปรที่ทำให้ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศแตกต่างกันออกไป เช่น ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาจะทำให้อากาศมีลักษณะวนอยู่ แต่บางจังหวัดที่พื้นที่ก่อมลพิษอยู่ริมทะเล ทิศทางลมจะเข้ามาเป็นตัวแปร หรือปริมาณฝนที่หนักขึ้น ก็ทำให้มลพิษทางอากาศลดลงได้

แต่การลดลงไม่ได้หมายความว่ามลพิษหายไปไหน เพียงแต่ทำให้การดักจับทำได้ยากขึ้น และน้ำฝนจะชะล้าง เปลี่ยนการปนเปื้อนไปสู่ดินและน้ำแทน มีผลต่อสัตว์ในห่วงโซ่อาหาร เช่นที่มูลนิธิบูรณะนิเวศให้ข้อมูลไว้ว่า มีการตรวจพบสารปรอทในเนื้อปลา ซึ่งเก็บตัวอย่างจากจังหวัดอุตสาหกรรม รวมถึงไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยและหากินตามธรรมชาติ

ในรายงานสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า พื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือที่จังหวัดสระบุรี ในตำบลหน้าพระลาน (36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และธนบุรี ในกรุงเทพมหานคร (31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ทั้งสองพื้นที่มีระดับมลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO ถึงสามเท่าตัว

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง ได้แก่ สมุทรสาคร ราชบุรี ขอนแก่น เมืองเชียงใหม่ที่ตำบลช้างเผือก และกรุงเทพมหานคร บริเวณกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งปรากฏค่ามลพิษในระดับสูงถึงระหว่าง 25-30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

พื้นที่อื่นๆ ที่มีค่ามลพิษน้อยกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือปราจีนบุรี ตาก สมุทรปราการ น่าน ชลบุรี เมืองเชียงใหม่ที่ตำบลศรีภูมิ กรุงเทพมหานครในเขตบางนา กรุงเทพมหานครที่โรงเรียนบดินทรเดชา ลำปาง ระยอง สงขลา

ส่วนกรุงเทพมหานครในเคหะชุมชนดินแดงไม่มีข้อมูล เนื่องจากเครื่องวัดไม่ทำงาน

เมื่อนำค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกมาตรวจวัด จะพบว่า นอกจากพื้นที่ธนบุรีและสระบุรีจะมีค่ามลพิษจำกัดสูงสุดขององค์การอนามัยโลกถึงสามเท่าตัว ยังมีอีกเก้าพื้นที่จาก 14 พื้นที่ ที่ยังคงค่ามลพิษเกินมาตรฐานคุณภาพอากาศรายปีที่ประเทศไทยกำหนดเอาไว้ด้วย

จะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 คือพื้นที่ที่อยู่ในแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งสิ้น ทั้งมลพิษจากการคมนาคมและการขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ต่างๆ ไปจนถึงพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง ซึ่งถ้าตรวจสอบไปยังตัวเลขย้อนหลังสามปี จะเห็นว่ามลพิษทางอากาศของไทยยังแย่เหมือนเดิม

จะอยู่อย่างไร ทำอะไรได้บ้าง

จริยาให้ข้อมูลต่อว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และเห็นได้อย่างขัดเจน คือการผสมกันระหว่างหมอกกับควันที่จะขึ้นไปฟุ้งในระดับโอโซน

เนี่องจากมีตัวเลขของพลเมืองที่มีภาวะภูมิแพ้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำมาสู่โรคต่างๆ ทำให้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ต่างกำลังมีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ศึกษาผลกระทบของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ว่าทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายเพียงใด ศึกษาแม้กระทั่งว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างไร

นโยบายจึงมีส่วนสำคัญมากในอัตราการเปลี่ยนแปลงการเสียชีวิตก่อนวันอันควร หลายภูมิภาคกำลังล่าถอยให้กับนโยบายถ่านหินซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนมลพิษทางอากาศเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ฝุ่นควันเปรียบได้อย่างเดียวกันกับความชัดเจนที่มองไม่เห็น ตราบใดที่แผนพัฒนายังคงมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมหนัก และการเกษตรที่เอื้อให้เกิดการเผาในที่โล่ง รวมถึงการคมนาคมในเมืองที่ไม่เอื้อต่อการลดการใช้พาหนะส่วนตัว กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้พยายามผลักดันให้ภาครัฐยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และการรายงานคุณภาพอากาศต้องได้มาตรฐานสากลและแม่นยำ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องบอกกล่าวว่าทุกลมหายใจที่สูดเอาอากาศเข้าไป อันตรายหรือปลอดภัยแค่ไหน โดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องในเว็บไซต์ Greenpeace Thailand

ส่วนพลเมืองจะรอดพ้นจากการต้องเป็นมนุษย์หน้ากากในอนาคตหรือไม่ คงต้องวัดใจภาครัฐกันอีกสักตั้ง

 

เครดิตภาพ : กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาพถ่ายผลกระทบจากมลพิษทางอากาศภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ โดย Jorge Lareau/ Greenpeace

Fact Box

กรมควบคุมมลพิษมีการรายงานข้อมูลทุกชั่วโมงผ่านทางเว็บไซต์ Air4thai.pcd.go.th และแอปพลิเคชั่น Air4Thai ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการตรวจสอบและคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI)ได้ที่ www.greenpeace.or.th/right-to-clean-air

Tags: , , , ,