เมื่อพูดถึง ‘สตาร์ตอัป’ ใครๆ ก็มักนึกถึงหน้า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก หรือไบรอัน เชสกี้ (Brian Chesky) ผู้ก่อตั้งแอร์บีเอ็นบี รวมถึงเหล่าหนุ่มสาวอายุน้อยร้อยพันล้าน คำว่าสตาร์ตอัปโดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยีถูกผูกโยงกับ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่เกิดมามีสมาร์ตโฟนใช้ และอ่านกูเกิลมากกว่าหนังสือ จนเกิดเป็นความเข้าใจกันไปเองว่า ถ้าจะมองหาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อย่างแรกก็ต้องดูอายุของผู้ก่อตั้งว่าต่ำกว่า 30 หรือเปล่า

พอล เกรแฮม (Paul Graham) ผู้ก่อตั้ง Y Combinator องค์กรอัดฉีดสตาร์ตอัปชื่อดัง ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่า “นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมีตัวเลขอายุในใจคือ 32 ถ้ามากกว่านี้ เขาจะเริ่มไม่มั่นใจ”

การ ‘เหยียดอายุ (Ageism)’ เป็นที่รับรู้กันดีในแวดวงเทคโนโลยี โดยเฉพาะแหล่งสตาร์ตอัปของคนรุ่นใหม่อย่างซิลิคอน แวลลีย์ ซึ่งเทิดทูนเหล่าหนุ่มสาว ‘อายุประมาณ 20’ ในขณะที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปวัยเลขสามหรือเลขสี่ก็จะได้รับความหมางเหมินจากนักลงทุน ความกังวลดังกล่าวทำให้แม้แต่หนุ่มสาววัยเลขสอง เริ่มมองหาศัลยกรรมเพื่อทำให้ตัวเองดูเด็กลง

ส่วนทำไมเหล่านักลงทุนถึงได้อวยคนรุ่นใหม่อย่างออกหน้าออกตา มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เคยอธิบายสั้นๆ ว่า “ก็คนรุ่นใหม่ฉลาดกว่า” ถ้าคำอธิบายยาวๆ ที่พอจะหาได้ก็เช่น คนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีภาระหรือพันธะผูกพันทั้งทางครอบครัวและการเงินยังมีแรงใจไฟฝันที่จะทำงานหามรุ่งหามค่ำ แถมคนเหล่านี้ก็ราวกับกระดานเปล่าที่พร้อมจะตั้งคำถาม และมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มนุษย์วัยกลางคนอาจมองข้าม

แต่ ‘ความเชื่อ’ เหล่านี้เป็น ‘ความจริง’ หรือเปล่า?

เคยมีการศึกษาเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเผยแพร่ใน Harvard Business Review สำรวจอายุผู้ก่อตั้งบริษัทเทคสตาร์ตอัป 41 แห่งในซิลิคอนแวลลีย์ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ข้อสรุปว่าผู้ก่อตั้งอายุน้อยกว่า มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่า อย่างไรก็ดี การศึกษาชิ้นดังกล่าวถูกโจมตีว่า ‘ด่วนสรุป’ เกินไป เพราะใช้ข้อมูลเพียงหยิบมือ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่งานวิจัยนำโดยปิแอร์ อโซลเลย์ (Pierre Azoulay) อาจารย์จากมหาวิทยาลัย MIT ซึ่งจับมือกับสำนักงานสถิติแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Census Bureau) โดยใช้ข้อมูลของบริษัทเกิดใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2557 และมีข้อมูลของผู้ประกอบการทั้งสิ้น 2.7 ล้านราย  เพื่อศึกษาจำนวนการจ้างงาน อัตราการเติบโต รวมถึงการขายธุรกิจจากการเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือถูกซื้อไปโดยบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของเหล่า Venture Capitalists

กราฟแสดงสัดส่วนของสตาร์ตอัปโดยแบ่งตามอายุของผู้ก่อตั้ง จะเห็นว่าสตาร์ตอัปที่เติบโตสูงที่สุดร้อยละ 1 จากสตาร์ตอัปทั้งหมด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ข้อมูลจากงานวิจัย Age and High-Growth Entrepreneurship

ผลการศึกษาปรากฎว่าหักปากกานักลงทุน เพราะสตาร์ตอัปที่ผู้ก่อตั้งอยู่ในช่วงวัยกลางคนมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีกว่าสตาร์ตอัปของเหล่าหนุ่มสาว โดยผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดร้อยละ 0.1 มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี นอกจากนี้ ผู้ก่อตั้งอายุเลขสองกลับมีโอกาสน้อยที่สุดที่ทำให้บริษัทเติบโตในระดับท็อปฟอร์ม

กราฟแสดงสัดส่วนของสตาร์ตอัปโดยเปรียบเทียบระหว่างผู้ก่อตั้งอายุน้อยกว่าและมากกว่า 30 ปีในมิติต่างๆ จะเห็นว่าสตาร์ตอัปที่ผู้ก่อตั้งอายุต่ำกว่า 20 ปี มีสัดส่วนที่จะปิดกิจการมากกว่า มีสัดส่วนในกลุ่มบริษัทที่เติบโตสูงน้อยกว่า และมีโอกาสที่จะขายธุรกิจผ่านตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทขนาดใหญ่ได้ต่ำกว่า ข้อมูลจากงานวิจัย Age and High-Growth Entrepreneurship

จากกราฟจะเห็นว่า สตาร์ตอัปที่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการที่อายุต่ำกว่า 30 ปีมีโอกาสปิดบริษัทสูงกว่า ประสบความสำเร็จต่ำกว่า และแนวโน้มที่จะพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นหรือถูกซื้อจากบริษัทขนาดใหญ่น้อยกว่าอีกด้วย

ต้องขอโทษน้องๆ มิลเลนเนียลด้วยนะจ้ะ แต่ขอบอกว่าเหล่าหนุ่มสาวอายุน้อยร้อยพันล้านซึ่งปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ บ่อยครั้งเป็นเพียง ‘ค่าผิดปกติ (Outliers)’ ซึ่งคนพิเศษเหล่านี้ ในโลกคงมีแค่หยิบมือ ส่วนคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็คงต้องรอให้อายุแตะเลขสามหรือเลขสี่ก่อน ถึงจะพอมีโอกาสสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ส่วนอะไรที่ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งแก่ยิ่งเก๋า เราก็ยังไม่มีเหตุผลมารองรับ แต่ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการเหล่านี้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการมากกว่า และมีความรู้เฉพาะทางในอุตสาหกรรมดีกว่า รวมถึงมีทรัพยากรทั้งทุนและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานานกว่า ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยชิ้นดังกล่าวบอกเราว่า หากผู้ประกอบการเคยทำงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก่อนที่จะมาเปิดสตาร์ตอัป จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จถึงสองเท่า

ผลการศึกษาดังกล่าวได้ทุบทำลายมายาคติที่ว่าสตาร์ตอัปเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว ซึ่งอคติดังกล่าวทำให้นักลงทุนสนใจแต่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ทางธุรกิจ ในขณะที่บริษัทเกิดใหม่ของเหล่าวัยกลางคน ‘ถูกเมิน’ ทั้งที่อาจมีโอกาสขยับขยายได้มากกว่า นอกจากนี้ การฉายไฟไปแต่ที่คนรุ่นใหม่ยังทำให้เงินทุนส่วนใหญ่ถูกนำไปแก้ไขปัญหาที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญหรือสนใจ ในขณะที่นักธุรกิจวัยกลางคนอาจมีมุมมองหรือแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาที่แตกต่างออกไป ซึ่งนักลงทุนก็ควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

ดังนั้นคำถามที่ว่า อายุ 35 แก่เกินไปไหมที่จะเริ่ม ‘สตาร์ตอัป’ หากอิงตามงานวิจัยชิ้นดังกล่าวก็คงตอบได้ว่าเป็นตัวเลขที่กำลังดี แต่จะดีกว่านี้ถ้ารอเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกสัก 10 ปีนะครับ

Did you Know?

งานวิจัยที่อ้างอิงในบทความ ไม่ใช่งานวิจัยชิ้นแรกที่ระบุว่าอายุเฉลี่ยของผู้ประกอบการสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ ‘ประมาณยี่สิบ’ อย่างที่หลายคนเชื่อกัน เช่น งานวิจัยซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิคอฟฟ์มันน์ (Kaufmann Foundation) ระบุว่าผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ราว 6 ถึง 10 ปี รวมถึงบทวิเคราะห์โดยไอลีน ลี (Aileen Lee) แห่ง Cowboy Ventures ที่ให้เงินสนับสนุนสตาร์ตอัปด้านซอฟต์แวร์ซึ่งสรุปว่าการที่ผู้ประกอบการอายุยี่สิบเศษประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องธรรมดา โดยผู้ประกอบการของสตาร์ตอัปในพอร์ตฟอร์ลิโอของ Cowboy Ventures ที่อัตราการเติบโตสูง จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 34 ปี โดยผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองในพอร์ตฟอร์ลิโออย่าง LinkedIn มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 36 ปี ส่วนอันดับสามอย่าง Workday ผู้ก่อตั้งมีอายุเฉลี่ยถึง 52 ปี

 

เอกสารประกอบการเขียน

Fact Box

Venture Capitalists (VCs) แปลเป็นไทยแบบตรงตัวว่า “นายทุนร่วมทุน” หมายถึงนักลงทุนหรือกลุ่มนักลงทุนที่มองหาธุรกิจเกิดใหม่ หรือธุรกิจขนาดกลางที่ต้องการขยายขนาด แต่เกิดขัดสนเพราะไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนได้ โดย VCs จะทำการประเมินศักยภาพทีมผู้บริหารและโอกาสการเติบโตของธุรกิจนั้นๆ ก่อนจะทำการลงทุนโดยแลกกับหุ้น การลงทุนในลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมาก เพราะหากธุรกิจล้มเหลวก็หมายความว่าเงินลงทุนแทบทั้งหมดจะสูญหายไปในอากาศ แต่หากตาดีไปให้เงินทุนกับธุรกิจยูนิคอร์นอย่างเฟซบุ๊กหรือแอร์บีเอ็นบีก็มีโอกาสฟันกำไรหลักร้อยล้านเมื่อธุรกิจถูกเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์  

Tags: , , , , , ,