หากเราไปยืนอยู่ตามชั้นวางอาหารหรือเครื่องดื่มในซูเปอร์มาร์เก็ต คงจะมีสินค้าหลากหลายแบรนด์ให้เลือกไม่ซ้ำกัน แต่เบื้องหลังอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้น สิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้เลยคือบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องอาหารให้ปลอดภัย และยังคงไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการ

เราอาจไม่คุ้นกับชื่อ ‘เต็ดตรา แพ้ค’ (Tetra Pak) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจมานานมากกว่า 60 ปี แต่จริงๆ แล้วในประเทศไทย เต็ดตรา แพ้ค ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 40 ปี มีลูกค้าอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 50 แบรนด์ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ของเต็ดตรา แพ้ค

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เต็ดตรา แพ้ค ได้รับความไว้วางใจ และเป็นคู่ค้าธุรกิจที่ดีของหลายๆ แบรนด์ คือความมุ่งมั่นในการปกป้องอาหาร ภายใต้สโลแกน ปกป้องทุกคุณค่า (Protects What’s Good) โดยมีหลักการดำเนินธุรกิจที่ยึดมั่นในเรื่องความยั่งยืน ด้วยการปกป้อง อาหาร ผู้คน และอนาคต ซึ่งเต็ดตรา แพ้ค ก็มีโรดส์แมปสู่เป้าหมายในปี 2030 ที่ต้องการดำเนินธุรกิจด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ และการสร้างความยั่งยืนในวงจรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต

ทำไมต้องอาหาร ผู้คน และอนาคต

ด้วยแนวทางการสร้างความยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องอาหาร ผู้คน และอนาคต ว่าแต่ทำไมต้องเป็น 3 ด้านนี้

สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้อธิบายว่า 3 ด้านนี้ มีความเชื่อมโยงกัน และเป็นเครื่องตอกย้ำถึงคำมั่นสัญญาของแบรนด์ที่ ‘ปกป้องทุกคุณค่า’ โดยอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN  Sustainable Development Goals: SDGs)

“การปกป้องอาหารคือการทำให้อาหารปลอดภัยและพร้อมสำหรับการบริโภค การที่เราทำงานร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรโดยใช้โซลูชั่นการผลิตและบรรจุรวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม ก็เพื่อสร้างรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น เรามีส่วนร่วมในโครงการนมโรงเรียนที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่เด็ก 68 ล้านคน ในกว่า 56 ประเทศ และโครงการศูนย์รวบรวมนม ที่รับนม 389,470 ลิตร ทุกวันจากเกษตรกรโคนมรายย่อยในโครงการ”

ส่วนการปกป้องผู้คน เป็นการเพิ่มพูนทักษะพนักงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาของบุคลากรทุกคน ผลักดันให้เกิดความหลากหลายในหมู่พนักงานและวัฒนธรรมร่วม เช่น เรามีจำนวนผู้บริหารผู้หญิงในระดับสูงเพิ่มขึ้น 14% และลดการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดทำงานในพื้นที่การปฎิบัติงานลงถึง 8% คือให้ความสำคัญที่จะส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ สร้างความเท่าเทียมของผู้หญิง และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

และการปกป้องอนาคต ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมความยั่งยืนตลอดทั้งวงจร นับตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตขั้นตอนสุดท้าย ครอบคลุมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปริมาณขยะ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การรักษาทรัพยากรน้ำ และการส่งเสริมการรีไซเคิลและการหมุนเวียนทรัพยากร

“ปัจจุบันเราใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 69% ในการดำเนินงาน โดยในปีที่แล้วมีการรีไซเคิลกล่องเต็ดตรา แพ้ค มากกว่า 50,000 ล้านกล่องทั่วโลก และบริษัทยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 10 ล้านตันตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าในทศวรรษที่ผ่านมา”

(สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด)

การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงได้

เต็ดตรา แพ้ค ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำเรื่องความยั่งยืนมายาวนานมากกว่า 20 ปี โดยมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการทำงานของคนในองค์กร และทิศทางขององค์กรที่จะมุ่งไปในอนาคต

“ทำไมเราต้องทำรีพอร์ต สำหรับภายในองค์กร คือถ้าอยากทำให้เห็นผล จับต้องได้ ต้องมีเครื่องมือใช้วัดผลของเราในเรื่องนี้ และอีกด้านคือนำไปสื่อสารกับคนนอกองค์กรกับกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำมาหลายปี เป็นการกระตุ้นและชักชวนให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ร่วมกัน ช่วยกันปฎิบัติเรื่องความยั่งยืน เพราะสิ่งสำคัญคือความร่วมมือของหลายภาคส่วน เป็นการทำงานร่วมมือกันทุกฝ่าย” สุภนัฐกล่าว

สำหรับรายงานความยั่งยืน 2020 ทาง เต็ดตรา แพ้ค  ได้มีวางเป้าหมายไว้ในปี 2030 ซึ่งจะเป็นแนวทางในการก้าวนำสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วยสองเป้าหมายหลักคือ โซลูชั่นเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ และ เสริมสร้างความยั่งยืนในวงจรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ด้วยการทำงานร่วมกับลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่าย

“การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงได้ เป็นขั้นตอนใหม่ของการเดินทางอย่างต่อเนื่องของเรา เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของเราในการปกป้องอาหาร ผู้คน และอนาคต โดยอันดับแรก ทำเป็นตัวอย่าง ผ่านการลงมือทำกิจกรรมของเราเอง การใช้นวัตกรรมและความเชี่ยวชาญ และอย่างที่สอง เริ่มนำไปสู่การเป็นพันธมิตรร่วมกัน สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต

สุภนัฐบอกว่าแนวทางการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ วัตถุดิบ คือการใช้วัตถุดิบทดแทนจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด รวมทั้งกระดาษซึ่งเป็นส่วนประกอบกว่า 70% ของกล่อง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ต้องเป็นกล่องเครื่องดื่มที่ใช้ทรัพยากรทดแทนได้ทั้งหมดและนำกลับมารีไซเคิลได้ และส่วนสุดท้าย การรวบรวมและรีไซเคิล ที่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดเก็บและรีไซเคิล

“ผมมองว่าสามองค์ประกอบมีความเชื่อมโยงกัน เวลาเราทำดีไซน์สักอย่างมันเชื่อมโยงไปถึงวัตถุดิบ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เช่น วัตถุดิบที่มาแทนอลูมิเนียมฟอยล์ ทุกวันนี้หายาก เพราะเทคโนโลยียังไปไม่ไกลพอในการผลิตวัตถุดิบใหม่ๆ คือในแง่ของดีไซน์ ต้องดูว่าถ้ามันติดปัญหาตรงไหน แล้วจะสามารถไปต่อทางไหนได้ และยิ่งมีเรื่องของความยั่งยืนเข้ามาเป็นกรอบ ทำให้เราต้องสำรวจวัตถุดิบใหม่ๆ ส่วนการจัดเก็บและรีไซเคิล เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคพอสมควร ทั้งในแง่ของการจัดเก็บ แต่ส่วนโครงสร้างพื้นฐานในแง่ของโรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มทุกวันนี้ในไทยมีอยู่สามโรงงานด้วยกันที่รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มทั้งหมด ซึ่งยังมีกำลังการผลิตในการรีไซเคิลกล่องอีกมาก”

ถ้าเป็นไปตามโรดส์แมปที่เต็ดตรา แพ้ค ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2030 เราจะได้เห็น ‘บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต’ ที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด รวมทั้งด้านดิจิทัลที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่สิ่งที่ห่อหุ้มอาหาร

“อนาคตไม่ใช่แค่สิ่งที่ห่อหุ้มอาหารอีกแล้ว แต่เป็นตัวกลางที่สื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น เรื่องคิวอาร์โค้ด เอามือถือสแกน สามารถบอกได้เลยว่าของข้างในมีส่วนผสมอะไรบ้าง เช่น นมมาจากฟาร์มวัวที่ไหน คือบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แค่หีบห่อ แต่เป็นจุดเชื่อมโยงผู้บริโภคไปยังต้นทางเลยก็ได้” สุภนัฐกล่าวทิ้งท้าย

Fact Box

  • เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำเสนอโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารชั้นนำของโลก ดำเนินธุรกิจใน 160 ประเทศทั่วโลก เชื่อในเรื่องของความยั่งยืน ด้วยปรัชญาการทำงาน “PROTECTS WHAT’S GOOD” ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tetrapak.com/th
Tags: