เมื่อขึ้นชื่อว่า ‘อาหาร’ แล้ว คนจำนวนมากอาจคาดไม่ถึงว่า อาหารที่เรากินเหลือแล้วกลายเป็นขยะ มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตได้ และคงไม่น่าห่วงเท่าขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น พลาสติก

หากความจริงที่เกิดขึ้น ‘ขยะอาหาร’ เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังกังวล เพราะตอนนี้ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ในโลกกลายเป็นขยะ นั่นหมายความว่า มีอาหารที่ถูกทิ้งให้เน่าเสียอย่างเปล่าประโยชน์คิดเป็น 9,000 ตันต่อวัน ในขณะที่ทั่วโลก มีคนกว่า 870 ล้านคนที่ไม่มีอะไรจะกิน

ตัวเลขที่มากโขอาจยังไม่ทำให้เห็นภาพว่า ขยะอาหารจะมีความสำคัญอย่างไร อย่างแรก เมื่อเราทิ้งอาหารลงไปในถังยะ อาหารเหล่านั้นก็จะไปรวมอยู่ที่กองขยะสูงเท่าภูเขาที่เราเห็นกันจนชินตา ซึ่งมีมลพิษสูงมาก ทั้งเรื่องกลิ่น เป็นแหล่งของเชื้อโรค ทำให้มีสัตว์ที่เราไม่ต้องการ เช่น หนู แมลงสาบ  นอกจากนี้ยังเกิดน้ำที่สามารถไหลพาเชื้อโรคออกไปนอกกองขยะ ลงไปอยู่ในแหล่งน้ำใต้ดิน หรือลงสู่แม่น้ำลำคลอง

ยิ่งไปกว่านั้น การย่อยสลายขยะอาหารทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 10 ปี

ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และเริ่มแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายและนโยบายที่จะช่วยลดขยะอาหาร เช่น รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายใหม่มุ่งลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยตั้งเป้าหมายว่า จะต้องลดปริมาณขยะอาหารให้เหลือครึ่งหนึ่งในปี 2030  ในประเทศฝรั่งเศสที่มีการแบนและปรับซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ทิ้งอาหารที่ยังกินได้แต่ไม่สามารถขายได้  หรือในประเทศเช็ค ที่ออกกฎหมายให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องบริจาคดอาหารที่เหลือจากการขายที่ยังกินได้ให้กับองค์กรการกุศล

นอกจากนี้ ภาคเอกชนอย่างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็มีนโยบายไม่ทิ้งอาหารที่ยังกินได้ โดยการนำอาหารที่ไม่สวยหรือใกล้หมดอายุมาลดราคา หรือมาทำแพคเกจใหม่ให้ผู้บริโภคซื้อง่ายขึ้น เช่น ในปี 2017 ห้างเทสโก้ ในสหราชอาณาจักร ไม่มีการทิ้งอาหารที่จำหน่ายไม่หมด โดยบริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ  NTUC FairPrice ซุปเปอร์มาร์เก็ตเชนใหญ่ของสิงคโปร์ก็ใช้วิธีการตัดผักผลไม้ให้ชิ้นเล็กลง นำมารีแพคเกจ และขายในราคาที่ถูกลง ทำให้ลดขยะจากผักผลไม้ซึ่งนับเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของขยะอาหารทั้งหมด และบริจาคอาหารที่ยังกินได้ให้กับองค์กรการกุศล ทำให้โดยรวมสามารถลดการสูญเสียอาหารโดยเปล่าประโยชน์ถึง 48,000 กิโลกรัม ในปี 2016

จะเห็นว่า แค่การจัดการกับอาหารที่ยังกินได้ที่เหลือจากการขาย ก็สามารถลดขยะอาหารได้ในปริมาณมหาศาลและก่อประโยชน์กับผู้ยากไร้จำนวนมาก

ในปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส เป็นห้างค้าปลีกรายแรกในประเทศไทย ที่ประกาศเจตนารมณ์ไม่ทิ้งอาหารที่ยังกินได้ ภายใต้โครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน”

โดยแต่ละวัน พนักงานของเทสโก้ โลตัส จะคัดเลือกอาหารที่ยังมีคุณภาพ สามารถรับประทานได้ แล้วบริจาคให้กับองค์กรการกุศลเพื่อนำไปปรุงอาหารให้กับผู้ยากไร้ ตัวอย่างเช่น ปีนี้เทสโก้โลตัสทำงานร่วมกับ THAIHARVEST|SOS  ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันในการลดขยะอาหาร โดยปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส ได้บริจาคอาหารไปแล้วทั้งหมดว่า 1,200,000 มื้อ จากอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวัน ทั้งนี้ ร้านค้าขนาดใหญ่ของเทสโก้ โลตัส ทุกสาขาในกรุงเทพมหานคร ไม่มีการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้

เทสโก้ โลตัสยังได้จัดทำภาพยนต์สารคดี “วิกฤตปัญหาขยะอาหาร” (ชื่อเรื่อง Food Waste : An Unpalateble Truth) เพื่อเป็นอีกหนึ่งภารกิจในการสร้างความตระหนักถึงอันตรายของปัญหาขยะอาหารให้ตื่นตัวในสังคมไทย พาผู้ชมไปสำรวจภูเขากองขยะไปพร้อมกับลุงม้วน คนเก็บขยะ  ภูเขากองขยะขนาดมหึมานั้นเป็นปลายทางของอาหารที่เหลือจากการขายในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด หรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และเหลือจากการรับประทานไม่หมดของผู้บริโภค แล้วทิ้งลงถังขยะ (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.กินได้ไม่ทิ้งกัน.com)

มาดูกันว่า อาหารเหล่านั้นมีทางไปต่อไปอย่างไร มันอาจกลายเป็นมื้ออาหารแสนอร่อยสำหรับหลายครอบครัว เน่าเสียทับถมเป็นมลพิษทางที่ยากจะแก้ไข มีความพยายามจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง แล้วผู้บริโภคอย่างเราเอง จะทำอะไรบ้างกับปัญหานี้

อ้างอิง

Tags: , , ,