‘ส้ม’ ผลไม้ชนิดแรกๆ ที่ใครต่างก็ต้องนึกถึง ด้วยคุณประโยชน์อันมากมาย หาซื้อง่าย และเหมาะกับทุกเทศกาล ทำให้ช่วงชีวิตของเรามักจะเห็นส้มวางอยู่บนโต๊ะอาหารของบ้านเสมอมา ในทางกลับกันความเข้าถึงง่ายและการบริโภคกันจนเป็นความคุ้นเคย ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของสารเคมีตกค้าง ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเพื่อทำให้เราได้บริโภคส้มกันตลอดทั้งปี ดังนั้นการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ไปยังแหล่งที่มา ขั้นตอนการปลูก และรายละเอียดการใช้สารเคมี จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคควรรู้ เพื่อที่จะเลือกบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย
ปัญหาสารเคมีตกค้างในส้มได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหลักในกิจกรรม ‘หยุดส้มอมพิษ’ (Orange Spike) โดยเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam) ซึ่งอยู่ภายใต้แคมเปญ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ (Dear Consumers) เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจและตระหนักถึงปัญหาสารเคมีตกค้างในส้ม ที่เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งแวดล้อม เกษตรกร และสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงเชิญชวนประชาชนร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันให้กลไกตลาดในการผลิตส้มมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการลงนามเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ดำเนินการติดคิวอาร์โค้ดกำกับสำหรับการสแกนตรวจสอบที่มาของส้มที่วางจำหน่ายอย่างโปร่งใส
กิจกรรม ‘หยุดส้มอมพิษ’ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ได้มีการพูดคุยเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลากหลายมุมมอง ทั้งจากผู้บริโภค นักวิชาการ รวมถึงตัวแทนจากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำรายใหญ่ เพื่อนำความคิดเห็นเหล่านี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาส้มอมพิษ
ยืนยันความอันตรายของส้มอมพิษจากปากของนักวิชาการ
หากจะนำสถิติมาบอกเล่าเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ การได้ฟังความน่ากลัวของส้มอมพิษจากปากของนักวิชาการ น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ประชาชนได้เห็นถึงปัญหาอย่างแท้จริง
‘ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ กล่าวถึงอันตรายของสารพิษตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายว่า
“คนไทยมีโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายได้จากการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเป็นระยะเวลานาน เพราะเกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายมากเกินไปจนเจ็บป่วย จากสถิติพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องถึง 85,000 รายต่อปี และผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งเฉลี่ยจะเกิดขึ้นถึง 122,757 คนต่อปี… สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสารพิษตกค้างจากการบริโภคเป็นภัยเงียบที่พร้อมจะคุกคามผู้บริโภคตลอดเวลา การเสนอให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการติดคิวอาร์โค้ดแสดงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต นอกจากเป็นการยืนยันความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยแจกแจงถึงอันตรายของสารเคมีที่เกษตรกรใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ สามารถหลีกเลี่ยง และรักษาสุขภาพไว้ได้”
แรงสนับสนุนจากฝั่งซูเปอร์มาร์เก็ตคือสิ่งสำคัญ
แม้การรณรงค์จากผู้บริโภคจะมากแค่ไหน หากฝั่งซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ตอบรับ ก็คงจะเป็นเรื่องยาก‘จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด’ หนึ่งในตัวแทนจากฝั่งซูเปอร์มาเก็ต ให้ข้อมูลส่วนนี้ไว้ว่า
“แม็คโคร (Makro) พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Makro iTrace ให้เกษตรกรใช้ฟรี ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงระดับแปลงไปจนถึงระดับโรงคัด เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยพร้อมให้คำสัญญา น้อมรับความเห็น สร้างสินค้าปลอดภัยไม่ใช่เพียงแค่ใจ แต่พร้อมลงมือทำด้วยการคัดเลือกผู้เล่น และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้อื่นเดินตาม”
อีกหนึ่งตัวแทนจากฝั่งซูเปอร์มาเก็ต ‘อารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด’ กล่าวเสริมส่วนข้อมูลทางซูร์เปอร์มาเก็ตว่า
“สินค้าเกษตรที่จะเข้ามาจำหน่ายกับ ท็อปส์ (Tops) อย่างน้อยต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practices) พร้อมคิวอาร์โค้ดบอกข้อมูลแหล่งที่มา หากไม่มีมาตรฐานทางท็อปส์จะไม่นำมาจำหน่าย”
แม้ภาพรวมปัจจุบัน การสแกนคิวอาร์โค้ดของซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งโดยรวมยังให้ข้อมูลไม่มากพอ แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้บริโภค
เสียงจากตัวแทนผู้บริโภค
นอกจากเสียงของนักวิชาการและตัวแทนซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังมีเสียงที่เป็นตัวแทนของฝั่งผู้บริโภค นำทีมโดย ‘ฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam)’ และ ‘เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ’ นักแสดงชื่อดังผู้ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งคู่ได้แชร์ประสบการณ์และสิทธิของผู้บริโภคที่ประชาชนควรรู้ไว้อย่างน่าสนใจ
เชอรี่-เข็มอัปสร ได้เล่ามุมมองในฐานะผู้บริโภคไว้ว่า
“ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าหากซื้อผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต ย่อมต้องผ่านการคัดกรองมาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้เราละเลยที่จะตรวจสอบแหล่งที่มา ซึ่งหากแนวทางที่นำเสนอให้เกิดการตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหาร ผ่าน QR Code สามารถทำได้จริงอย่างโปร่งใส ผู้บริโภคก็จะสามารถเลือกส้มที่ปลอดภัยทานได้อย่างมั่นใจและยินดีที่จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกส้มอย่างปลอดภัย”
ส่วน ฐานิตา พูดถึงเรื่องการใช้สิทธิที่ผู้บริโภคควรตระหนักไว้ว่า
“ผู้บริโภคคนไทยทุกคน มีสิทธิตามพรบ. คุ้มครองผู้บริโภค ในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อสินค้า รวมถึงมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยหากถูกละเมิดสิทธิ ฉะนั้นผู้บริโภคควรต้องเริ่มตั้งคำถาม ตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้านั้นก่อนซื้อ ซึ่งเรารณรงค์ให้ทางซูเปอร์มาร์เก็ตมีการติดคิวอาร์โค้ดบนสินค้าที่จำหน่าย เพื่อสแกนตรวจสอบแหล่งที่มา กระบวนการผลิต ปริมาณสารเคมี และช่วงเวลาเว้นระยะการใช้สารเคมี”
โดยสรุป กิจกรรม ‘หยุดส้มอมพิษ’ มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตดคิวอาร์โค้ดเพื่อเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่าย วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงนามในข้อเรียกร้องผ่านทาง www.dearconsumers.com/th/petition เนื่องจากปัจจุบันคิวอาร์โค้ดยังใช้ไม่ได้จริงหรือมีข้อมูลไม่ครบถ้วนทั้งหมด”
นอกจากการสร้างความตระหนักจากเวทีนี้ ในเพจ ผู้บริโภคที่รัก ยังมีกิจกรรมให้ผู้บริโภคได้ร่วมสนุกส่งท้ายปีกับกิจกรรม “Scorange (Score the Orange) กินรู้แหล่ง สแกนรับโชค” เพียงเช็คแหล่งที่มาของส้มในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด พร้อมแคปหน้าจอข้อมูลที่ได้ ลุ้นรับรางวัลใหญ่ ที่พักโรงแรมที่เชียงใหม่ ฟรี 2 คืน สำหรับ 2 ท่าน จำนวน 1 รางวัล และ Gift Vouchers บัตรทานอาหาร 2 ท่าน มูลค่า 2,500 บาท จำนวน 2 รางวัล หมดเขต 31 มกราคม 2564
Tags: Dear Consumers, ToxicOrange, ส้มอมพิษ, เราไม่เอาส้มอมพิษ, Orange Spike