สระว่ายน้ำลึก 3 เมตรที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของบ้านในซอยสุขุมวิท 11 ถูกปรับโฉมและเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ ให้กลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สไตล์ลอฟท์​ สามารถใช้เป็นห้องประชุมชั่วคราว ห้องฉายหนัง หรือแม้แต่โลเคชั่นสำหรับถ่ายรูป และกลายเป็นจุดเด่นที่ใครๆ ก็นึกถึงเมื่อพูดถึง About Work รีเทลสเปซที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ภายใต้มู้ดที่ดูทันสมัยและมีกิมมิคในการตกแต่งของที่นี่

ความทันสมัยของ About Work ตรงกันข้ามกับความคลาสสิกที่อัดแน่นกลิ่นอายวินเทจของ O.P. Place อาคารสูง 3 ชั้นบนถนนเจริญกรุง ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคนในยุคนั้นรู้จักในชื่อของ ‘ห้างสิงโต’ ทุกวันนี้นอกจาก O.P. Place จะเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมแล้ว ยังมีพื้นที่ส่วนที่เปิดให้เช่าจัดงานเลี้ยงได้ คู่รักหลายคู่จึงเลือกมาจัดงานฉลองที่นี่ ทำให้อาคารอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้มีสีสันขึ้นอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ Hard Rock Café ร้านอาหารชื่อดังที่ตั้งอยู่ในสยามสแควร์มานาน เมื่อครั้งที่เปิดใหม่เมื่อปี 2534 แน่นอนว่าชื่อเสียงของแบรนด์ Hard Rock Café สร้างความฮือฮาให้กับคนกรุงเทพฯ ไม่น้อย แต่หลังจากนั้น ความฮือฮาก็ค่อยๆ จางลงไป ก่อนที่ร้านอาหารแห่งนี้จะกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนนักศึกษา ในฐานะสถานที่จัดงานที่พวกเขาคิดไม่ถึงมาก่อนว่า ร้านเก่าที่เคยเดินผ่านอยู่ทุกวันจะสามารถใช้เป็นสถานที่จัดงานปาร์ตี้ได้อย่างลงตัว

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของสถานที่ที่ Event Banana แพลตฟอร์มออนไลน์ในการหาสถานที่จัดงาน ช่วยเติมชีวิตชีวาให้กับสถานที่ที่ครั้งหนึ่งหลายคนอาจจะหลงลืมไป และเพิ่มรายได้ในพื้นที่อาจเคยถูกมองข้าม

การหาสถานที่เป็นเรื่อง ‘กล้วยๆ’

แนน-ณัฐนิช ทองไกรแสน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Event Banana สตาร์ตอัพที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยจัดหาสถานที่จัดงาน ซึ่งเปิดตัวมาตั้งแต่ประมาณปลายปี 2559 เล่าให้ฟังว่า ไอเดียในการทำธุรกิจนี้มาจากประสบการณ์การทำงานของเธอ ทั้งในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจและประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะว่าที่เจ้าสาว

“มันเริ่มจากว่าตอนนั้น แนนกับคุณเอ็ดดี้ (พิสิฐ เยาวพงศ์ศิริ) co-founder อีกคนกำลังจะแต่งงานกัน เราก็ต้องหาสถานที่แต่งงานของเราเอง พอพยายามหาข้อมูลก็พบว่ามันลำบากมาก ใช้เวลานาน เริ่มจากเสิร์ชกูเกิลก่อนว่ามีที่ไหนบ้าง พอเจอที่ที่สนใจก็ต้องโทรไปติดต่อแต่ละที่เอง รอใบเสนอราคา แล้วเอามานั่งทำไฟล์เปรียบเทียบกันอีก”

“เราก็เลยรู้สึกว่า ทำไมการจัดงานถึงไม่ได้เป็นอะไรที่ง่ายๆ เหมือนเวลาเราจองห้องพักเวลาไปเที่ยว ที่มันมีแพลตฟอร์ม มีเครื่องมือช่วยเราเยอะมาก เพราะแบบนั้นเรารู้เลยว่า ถ้าจะเอาราคาเท่านี้ ไปที่นี่ เรามีชอยส์อะไรบ้าง ต่างจากสถานที่ในการจัดงานที่ไม่มีแพลตฟอร์มมาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้”

ส่วนประสบการณ์จากการทำงานในฐานะที่ปรึกษาให้กับธุรกิจต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้แนนตั้งข้อสังเกตว่า การใช้งบประมาณของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดอีเวนท์นั้น ระบบการจัดซื้อจัดจ้างยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะข้อมูลและราคาต่างๆ ไม่ชัดเจนเหมือนกับการใช้งบประมาณด้านอื่นๆ ไม่มีตัวเลขที่เป็นมาตรฐานว่า ถ้ามีงบประมาณเท่านี้ สิ่งที่แต่ละบริษัทควรได้มีอะไรบ้าง

เมื่อนำสิ่งที่เคยเจอเอง มารวมกับสิ่งที่สังเกตได้จากการทำงาน จึงทำให้แนนและเอ็ดดี้ ซึ่งมีแบ็กกราวน์ด้านงานไอที คุยกันว่า ทั้งคู่อยากจะทำสตาร์ตอัพที่เติมเต็มช่องว่างในเรื่องนี้ และทำให้การจัดงานกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

“เป้าหมายหลักของเราคืออยากจะเน้นให้เห็นว่า การจัดงานมันไม่ได้เป็นเรื่องยากขนาดนั้น คุณทำเองก็ได้ เราก็เลยนึกถึงชื่อที่มันสื่อถึงคำว่าง่าย คุณเอ็ดดี้ก็เลยนึกถึงคำว่า กล้วยๆ ขึ้นมา แล้วก็กลายมาเป็น Event Banana” แนนเล่าถึงที่มาของชื่อจำง่ายชื่อนี้

หน้าที่ของ Event Banana คือการลิสต์สถานที่ต่างๆ ที่สามารถเช่าจัดงานได้และข้อมูล พร้อมรูปภาพของสถานที่เหล่านั้นมาอยู่ในฐานข้อมูล เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาค้นหาสถานที่ที่ตัวเองต้องการได้ โดยมีตัวกรองในเรื่องความต้องการต่างๆ ที่ทำให้ระบบสามารถแสดงผลสถานที่ที่ต้องการ พร้อมรู้ราคาได้โดยไม่ต้องรอ ต่างจากการขอใบเสนอราคาจากโรงแรมหรือร้านอาหารขนาดใหญ่ต่างๆ ที่บางครั้งต้องใช้เวลาข้ามวัน และลดขั้นตอนในการติดต่อกับเซลส์ของแต่ละที่ที่อาจจะไม่ได้สะดวกในการตอบคำถามตลอดเวลา

เพื่อให้มีสถานที่ในฐานข้อมูลครอบคลุมทั้งที่ยอดนิยมและที่ที่คนไม่ถึง ทีมงานของ Event Banana จึงต้องทำงานหนักในเรื่องของการหาสถานที่ เปิดดู Google Maps ในแต่ละย่านว่าบริเวณนั้นมีสถานที่อะไรบ้าง แล้วติดต่อเข้าไปแนะนำตัว และบางครั้งก็ต้องลงพื้นที่เองเพื่อจะเข้าไปอธิบายให้เจ้าของสถานที่เข้าใจธุรกิจของพวกเขามากขึ้นในระดับที่ยินดีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเว็บไซต์ eventbanana.com

เมื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับการหาสถานที่ จึงไม่แปลกใจที่บางครั้ง คนรอบตัวก็จะมาพร้อมกับคำถามที่ให้ช่วยแนะนำสถานที่จัดงาน ซึ่งแนนก็จะแนะนำให้หาข้อมูลผ่าน Event Banana จะตรงใจและประหยัดเวลากว่า โดยเธอให้เหตุผลว่า “เราไม่ได้ไม่อยากตอบนะ แต่ว่าถามแนนเอง แนนก็ตอบไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะต่อให้ใครก็ตามที่บอกว่าฉันเป็น expert ฉันทำพวกนี้บ่อย รู้เรื่องพวกนี้เยอะ แต่ทุกคนมีลิมิตของตัวเองในการจำ ไม่มีทางชนะระบบได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนถาม เราก็จะแนะนำให้เขาเข้าไปดูในเว็บก่อน”

ส่วนเป้าหมายในระยะยาวของ Event Banana คืออยากเป็นเครื่องมือ DIY ให้กับคนที่ต้องการจัดงานใดๆ โดยผู้ใช้บริการสามารถจองทุกอย่างที่เกี่ยวกับการจัดงานผ่านทางแพลตฟอร์มนี้ ให้ทุกอย่างง่าย ครบ และจบในที่เดียว ควบคู่ไปกับการเพิ่มอัตราการใช้งานสถานที่ในประเทศ ที่ปัจจุบันยังอยู่ที่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

MICE Industry อุตสาหกรรมที่ยังมีช่องว่างในการเติบโต

ความที่เป็นสตาร์ตอัพเจ้าแรกในประเทศไทยที่ทำตัวเองเป็นแพลตฟอร์มระหว่างเจ้าของสถานที่และผู้ใช้บริการ ทำให้โจทย์ยากอย่างหนึ่งของ Event Banana ในช่วงแรกก็คือ การสื่อสารให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนด้วย

“area ของงานเราเรียกว่า MICE Industry มันย่อมาจาก Meetings, Incentives, Conventions, and Exhibitions ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ area ที่คนเห็นแล้วนึกถึงเลย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เพราะว่ามูลค่าตลาด MICE ของไทยเป็นที่ 3 ในเอเชีย มีทั้งคนไทยที่จัดงานในไทยเองและต่างชาติที่มาจัดงานเมืองไทย”

“ช่วงแรกๆ ก่อนที่เราจะทำ ก็มีคนเริ่มทำสตาร์ตอัพที่เป็นพวกลงทะเบียนออนไลน์ พวกจองตั๋วกันบ้างแล้ว ซึ่งเราก็อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับเขา แต่ของเราเป็นเหมือนต้นน้ำ เพราะพอเริ่มจัดงานปุ๊บ ก็จะต้องประกอบร่างว่าจะจัดที่ไหน จะมีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง ส่วนปลายน้ำก็จะเป็นเรื่องของว่าจะลงทะเบียนทางไหน จะขายตั๋วยังไง” แนนอธิบายถึงโพสิชั่นของธุรกิจของ Event Banana ในอุตสาหกรรมนี้

เธอเล่าเพิ่มเติมว่า การทำงานที่ปรึกษาที่ต้องบินไปต่างประเทศเป็นประจำทำให้ได้เห็นว่า ในประเทศทางยุโรปและอเมริกาเริ่มมีแพลตฟอร์มลักษณะนี้บ้างแล้ว ซึ่งช่วยให้คนจัดงานสามารถมีชอยส์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเจ้าของสถานที่ก็มีโอกาสเพิ่มรายได้จากการปล่อยเช่าเพื่อจัดกิจกรรม แต่สำหรับเอเชียนั้น ธุรกิจลักษณะนี้ยังถือว่าใหม่มาก จะมีเพียงในญี่ปุ่นที่เริ่มก่อนธุรกิจของเธอได้ไม่นาน

จากความใหม่ที่ถือเป็นความท้าทายในช่วงแรก เมื่อมีคนรู้จักเยอะขึ้น ก็ทำให้มีเจ้าของสถานที่ต่างๆ เป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาเอง นับจากช่วงเปิดตัวมาได้ปีกว่า ตอนนี้นอกจากจะมีสถานที่อยู่ในฐานข้อมูลเกือบ 1,000 แห่งแล้ว ในแต่ละเดือนยังมีผู้เข้ามาใช้บริการหาสถานที่ใน Event Banana มากถึงประมาณ 35,000 คน ส่วนทีมงานจากเดิมที่เริ่มด้วยคนสองคน ที่คนหนึ่งดูเรื่องไอที ส่วนอีกคนรับผิดชอบงานด้านฝั่งธุรกิจ ก็ขยายมาเป็น 14 คน รวมถึงเด็กฝึกงานด้วย

เบื้องหลังการเติบโตอย่างหนึ่งของ Event Banana คือการไม่หยุดที่จะหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ซึ่งรวมถึงการสมัครเข้าร่วมโครงการที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจเรื่องสตาร์ตอัพอย่างถึงแก่น อย่างโครงการ DVA (Digital Ventures Accelerator) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งล่าสุด Event Banana ได้รับเงินลงทุนจากดิจิทัล เวนเจอร์ส บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ทีมละ 1 ล้านบาทจากเวที DVAb1 Demo Day ที่จัดขึ้นเมื่อ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

แนนเล่าว่า เธอตัดสินใจสมัครโครงการนี้เพราะเป็นโครงการที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทำสตาร์ตอัพ และมองว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ต่อยอดทางธุรกิจออกไปได้กว้างขึ้น รวมถึงนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับธุรกิจของเธอโดยตรง ซึ่งเธอเรียกว่าเป็นงานที่เหมือนกับ ‘การทดลอง’

“แน่นอนว่าเวลาเราทำสตาร์ตอัพ มันก็มีเรื่องที่เราตั้งเป็น milestone ไว้ว่า ถ้าถึงช่วงเวลานี้ เราจะต้องทำอะไรให้สำเร็จให้ได้ แต่สุดท้ายมันก็เหมือนการทดลองที่เรามีโปรเจกต์เล็กๆ อยู่ในบริษัทเราเต็มไปหมด ถ้าเราอยากทำการทดลองนี้โดยมีสมมติฐานว่าอันนี้น่าจะเวิร์กนะ ก็ลองปล่อยออกไป พอได้ฟีดแบ็กก็เอากลับมาแก้ไข บางอย่างที่ไม่เวิร์ก เราก็เก็บกลับมา มันต้องมีการปรับแก้ตลอดเวลาอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่ทำแล้วหนทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทำอะไรทุกคนก็เลิฟหมดเลย”

ไม่มีอะไรถูกและไม่มีอะไรผิด

จากงานที่ปรึกษาทางธุรกิจที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะรายได้สูง สวัสดิการดี และได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อย เมื่อต้องตัดสินใจลาออกมาทำสตาร์ตอัพของตัวเองอย่างเต็มตัวจึงเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของแนน และไม่แปลกที่เธอจะมีความลังเลปนอยู่ก่อนที่ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด

“มันมีลังเล กล้าๆ กลัวๆ อยู่เหมือนกัน แต่ก็เรียกว่าเป็น passion ในการอยากทำธุรกิจเองมากกว่าที่ทำให้เราตัดสินใจแบบนี้ ถ้าเราคิดด้วยสมอง เราอาจจะคิดว่าทำงานของเราต่อไปดีกว่า เพราะรายได้ก็ดี โอกาสเติบโตในองค์กรก็มี ซึ่งตอนที่เราลาออกมาทำเต็มเวลานั้น รายได้จาก Event Banana ก็ยังไม่เยอะ เพราะเราก็ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในตลาดขนาดนั้น เอาไปคุยกับใครมันก็ยังไม่ได้ดูเซ็กซี่หรือว้าว มันเลยเป็นการตัดสินใจด้วยใจ”

ถึงจะมีดีกรีปริญญาโทด้าน MBA จากมหาวิทยาลัยดังในอเมริกาและประสบการณ์ทำงานในบริษัทใหญ่อีกหลายปี แต่เมื่อมาทำสตาร์ตอัพก็เท่ากับต้องนับหนึ่งใหม่ ทั้งยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกหลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้เรียนรู้จากการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ DVA ซึ่งเป็นโครงการที่ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เฟ้นหาสตาร์ตอัพไทยให้มาเข้าร่วมหลักสูตรเตรียมความพร้อม จัดคอร์สให้องค์ความรู้ ในเรื่องหลักๆ ที่คนทำสตาร์ตอัพต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เรื่องกฎหมาย และการคุยกับนักลงทุน

แต่ในมุมมองของคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มตัวแบบแนนแล้ว สิ่งที่ทำให้สตาร์ตอัพแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปไม่ใช่แค่เรื่องพื้นฐานเหล่านี้เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญยังอยู่ที่การทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจากตัวธุรกิจนั้นๆ

“สตาร์ตอัพหลักๆ คือต้องเป็นอะไรที่มี big impact เหมือนกับว่าเราเห็นปัญหาแล้วเราอยากจะสร้าง solution อะไรขึ้นมาที่จะช่วยแก้ปัญหาคนได้ในวงกว้างจริงๆ นอกจากนี้ คีย์อีกอย่างที่ทำให้ต่างจากธุรกิจทั่วไปก็คือมันมีความสามารถในการสเกลได้ อย่างเช่นถ้าเราจะขยายโมเดลของเรา หรือขยายธุรกิจ 10 เท่า เราก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องเพิ่มคนแบบคูณสิบเข้าไป”

ทุกวันนี้ สตาร์ตอัพอายุขวบกว่ารายนี้มีมูลค่างานที่เกิดจากแพลตฟอร์มของพวกเขาประมาณ 37 ล้านบาทต่อเดือน หลายคนจึงมองว่าการตัดสินใจลาออกจากงานของแนนครั้งนั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูก แต่เจ้าตัวกลับมองว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรถูกหรือผิด

“แนนว่ามันไม่อะไรผิด อะไรถูก เพราะมันอาจจะไปได้ดีมากๆ ไปได้ดีกลางๆ หรือไปได้ไม่ดีก็ได้ เราไม่รู้อนาคตหรอกตอนที่ตัดสินใจลาออก แต่สุดท้ายแล้วเราเลือกทำในสิ่งที่เราอยากทำ และคิดว่ามันเกิด impact กับคนได้ในวงกว้างจริงๆ เพราะเรื่อง real estate มันน่าสนใจ แพลตฟอร์มในการหาบ้าน หาคอนโดฯ ปล่อยเช่ามันมีอยู่แล้ว แต่แพลตฟอร์มสำหรับการหาพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ มันยังขาดอยู่ ทั้งที่มูลค่าของมันสูงมาก ซึ่งถ้าใครมีสถานที่แล้วมาลิสต์ไว้กับเรา เราก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนเห็นสถานที่ของเขามาก ช่วยให้เขาปล่อยเช่าได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมีเวลาดูแลหรือหาลูกค้าเองก็มีรายได้เพิ่มได้ ส่วนในแง่ผู้ใช้ก็มีทางเลือกมากขึ้น”

เพราะเคยอยู่ในจุดที่มีความลังเลมาก่อน แต่ก็ก้าวข้ามความไม่แน่ใจนั้นมาได้ในที่สุด แนนเลยมีคำแนะนำถึงคนที่อยากทำสตาร์ตอัพว่า “ต้องกล้าที่จะลงมือทำ เราจะได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่า เฮ้ย อันนี้ฉันก็เคยคิด เฮ้ย อันนี้เป็นปัญหาฉันเลย แต่ถ้าหยุดอยู่แค่ที่คิดว่าไอเดียนี้ดี ฉันก็คิดออก ฉันก็อยากทำ มันก็จะอยู่แค่นั้น”

“เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องคิด ใครๆ ก็คิดได้ แต่มันมีกระบวนการในการทำอีกยาวไกลมาก สำหรับทุกคนที่คิดแล้วก็อยากจะให้เริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง หา value จริงๆ ของเราที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายของเราได้”

 

หมายเหตุ: เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2018