กรณี อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาไทยในดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอนประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2563 ที่มีข้อกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยจะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันได้ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ หากพบว่าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานดังกล่าวได้ ให้ปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดออกบัตรขึ้นเครื่อง โดยคำฟ้องระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวกระทบสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อภาระในการดำเนินการทั้งค่าใช้จ่าย เวลา รวมถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 เมษายน ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดของข้อกำหนดหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว จะมีลักษณะเดียวกันกับข้อ 3 วรรคหนึ่ง (6) และวรรคสอง ของข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยมาตรา 16 ของพระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวนี้ ได้บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง การกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กรณีตามคำฟ้องในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ทั้งนี้ คำสั่งศาลปกครองระบุด้วยว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายมีสิทธิที่จะนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมได้ตามมาตรา 194 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2560
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มที่ https://drive.google.com/file/d/17eUQlX6mpvh8qKNzLeRFo7Sui-1SCl93
ภาพ: REUTERS/Paul Childs
Tags: โควิด-19, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน