ฟุตบอลนับได้ว่าเป็นกีฬาที่มนุษย์สัมพันธ์ด้วยมากที่สุด แต่มนุษย์ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับฟุตบอลแบบไหนกันแน่ เราเตะฟุตบอลกันด้วยตัวเองมากแค่ไหน เราดูฟุตบอลที่สนามกันบ่อยแค่ไหน เอาเข้าจริงแล้วมนุษย์น่าจะสัมพันธ์กับฟุตบอลด้วยการดูผ่านโทรทัศน์เป็นหลักเสียมากกว่า

อภิมหามหกรรมกีฬาอย่างฟุตบอลโลกเป็นภาพแทนของความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ดีที่สุด ฟุตบอลโลก 2014 มีนักฟุตบอลเข้าร่วมแข่ง 736 คน มีผู้ชมในสนาม 3,386,810 คน ขณะที่มีคนดูผ่านจอทีวีในครัวเรือนมากถึง 2,100 ล้านคน (ตัวเลขนี้มาจากคนที่ดูอย่างต่อเนื่องเกิน 20 นาที ยิ่งถ้าคิดเกณฑ์ที่แค่ได้ดูเกิน 1 นาทีขึ้นไปก็จะยิ่งมากถึง 3,200 ล้านคน) น่าจะพูดได้ว่าตัวตนที่แท้จริงของฟุตบอลโลกก็คือภาพจำลองการแข่งขันฟุตบอลที่คนทั่วโลกดูผ่านทีวี

ลูกบอลที่ใช้แข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียชื่อว่า Adidas Telstar 18 ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากลูกบอลรุ่น Adidas Telstar ที่เคยใช้เมื่อฟุตบอลโลก 1970 ซึ่งความเชื่อมโยงระหว่าง Telstar กับ Telstar 18 นั้นมีนัยที่แสดงให้เห็นถึงก้าวย่างสำคัญของฟุตบอลโลกที่น่าสนใจ นั่นคือการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

ฟุตบอลโลกเริ่มแข่งมาตั้งแต่ปี 1930 แต่กว่าที่จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกก็เมื่อฟุตบอลโลก 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์ การเกิดขึ้นของ Eurovision เครือข่ายโทรทัศน์ของยุโรปทำให้การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางโทรทัศน์สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ (ซึ่ง Eurovision ที่ว่านี้ก็คือที่มาของการแข่งขันร้องเพลงชิงแชมป์ยุโรปที่รู้จักกันนั่นแหละ เริ่มแข่งกันมาตั้งแต่ปี 1956 แล้ว)

แต่ถึงอย่างนั้นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1954 ก็ยังดูทุลักทุเล เพราะมันยังไม่ใช่ฟุตบอลโลกที่ถ่ายทอดไปทั่วโลกจริงๆ มีเพียงบางประเทศในยุโรปเท่านั้นที่รับสัญญาณได้ และก็เลือกถ่ายทอดแค่บางนัด ซ้ำร้ายกว่านั้น บางนัดยังถ่ายแค่เฉพาะครึ่งหลัง

มาถึงฟุตบอลโลก 1958 ที่สวีเดน โครงสร้างพื้นฐานของการถ่ายทอดก็ยังไม่ดีมากนัก มีเพียงแค่นัดเดียวเท่านั้นที่ถ่ายได้ตามเวลาจนสามารถเรียกว่าถ่ายทอดสดได้จริงๆ

ยิ่งฟุตบอลโลก 1962 ที่ชิลีก็ยิ่งหนักไปใหญ่ เพราะความไม่พร้อมของอเมริกาใต้ทำให้การถ่ายทอดย้อนกลับไปยังยุคเทปแห้งๆ อีกครั้ง นักข่าวของบีบีซีที่ไปบันทึกการแข่งขันเล่าว่า กว่าที่ชาวอังกฤษจะได้ดูฟุตบอลโลกก็ต้องรอสองวันหลังแข่งจริง เพราะหลังจากที่ถ่ายการแข่งขันจบแล้ว เขาจะต้องส่งฟิล์มขึ้นเครื่องบินจากชิลีไปเปรู แล้วส่งต่อไปปานามา ส่งต่อไปไมอามี่ ส่งต่อไปนิวยอร์ก แล้วสุดท้ายก็ส่งกลับไปที่อังกฤษ ทั้งหมดกินเวลา 48 ชั่วโมง (ถ้าไม่มีหมอกลงจนเครื่องดีเลย์เสียก่อน)

จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญตรงฟุตบอลโลก 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นโครงสร้างพื้นฐานของการถ่ายทอดสดทั้งในยุโรปและหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเข้าที่เข้าทางดีแล้ว ประกอบกับเจ้าภาพที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ทำให้การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางโทรทัศน์เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี slow motion ที่น่าตื่นตาตื่นใจ กระทั่งการรับชมผ่านจอโทรทัศน์กลายเป็นวิถีการบริโภคฟุตบอลโลกแบบใหม่ขึ้นมา

การเกิดขึ้นของการถ่ายทอดสดทำให้แฟนบอลทั่วโลกสามารถเข้าถึงฟุตบอลโลกได้มากขึ้นแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ลองจินตนาการถึงโลกที่ยังไม่มีการถ่ายทอดสด ตั้งแต่ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ถึงครั้งที่เจ็ดเมื่อปี 1962 มีคนที่ได้ไปดูการแข่งขันในสนามทั้งหมดรวมกันประมาณ 5.2 ล้านคน แต่ฟุตบอลโลก 1966 ที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เต็มรูปแบบเพียงครั้งเดียวทำให้มีคนทั่วโลกได้ดูฟุตบอลโลกมากถึงประมาณ 400 ล้านคนจาก 75 ประเทศ (ตอนนั้นประชากรโลกมีประมาณ 3,400 ล้านคน)

การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 1966 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลโลกกลายเป็นอภิมหามหกรรมกีฬาของชาวโลกอย่างแท้จริง และยิ่งเมื่อ João Havelange ขึ้นเป็นประธานฟีฟ่าเมื่อปี 1974 เขาก็ยิ่งผสานความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลโลกกับโทรทัศน์และผลักดันให้ฟุตบอลโลกสามารถหาประโยชน์ทางธุรกิจได้มากขึ้นอย่างมหาศาลจนทุกวันนี้ฟีฟ่าเป็นองค์กรที่มีชาติสมาชิกมากกว่าองค์การสหประชาชาติไปแล้ว (Pierre Bourdieu นักสังคมวิทยาที่ไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไรก็มักจะพบว่าเขาเคยพูดถึงมาแล้วเสมอก็เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกีฬากับโทรทัศน์ไว้ว่า โทรทัศน์เป็นเหมือนม้าโทรจันหรือม้าไม้เมืองทรอยที่บรรทุกเอาตรรกะแบบธุรกิจเข้ามาในวงการกีฬา)

เพราะอะไรโทรทัศน์กับฟุตบอลถึงไปกันได้ดีนัก? (ฟีฟ่าถึงกับเรียกความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลกับโทรทัศน์ว่าเป็น a natural partnership) เหตุผลหลักๆ น่าจะมีอยู่สองข้อ คือการผลิตซ้ำกีฬาและความสดของมัน

ถ้ามองกีฬาเป็นอุตสาหกรรมอันหนึ่งที่การผลิตซ้ำหรือการผลิตแบบมวลชนเป็นกลไกสำคัญ สำหรับอุตสาหกรรมที่มีสินค้าหลักเป็นการแข่งขันกีฬาแล้วคงไม่มีกลไกการผลิตซ้ำอันไหนที่ดีไปกว่าการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ยิ่งไปกว่านั้น มันยังมีความพิเศษที่สามารถผลิตซ้ำได้ภายใต้วัตถุดิบที่แทบจะคงที่ ลองนึกถึงการผลิตซ้ำเสื้อหนึ่งหมื่นตัวที่ต้องใช้ผ้าหนึ่งหมื่นเท่าของเสื้อหนึ่งตัว เทียบกับการผลิตซ้ำการแข่งขันฟุตบอลที่แค่แข่งหนึ่งนัดเท่าเดิมแล้วถ่ายทอดส่งสัญญาณไปในอากาศ การแข่งขันฟุตบอลนั้นจะถูกผลิตซ้ำได้มากเท่ากับจอโทรทัศน์ที่ผู้บริโภคมี (แถมภาระค่าไฟ-ค่าโทรทัศน์ก็ตกที่ผู้บริโภคอีกต่างหาก)

นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือความสด เพราะแม้ในแง่หนึ่งกีฬาจะเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งแบบเดียวกับละครหรือภาพยนตร์ แต่ความบันเทิงของกีฬาจะครบถ้วนองค์ประกอบได้มันต้องมีความสด คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกว่าการสปอยล์ผลกีฬาเป็นเรื่องเลวร้ายแบบเดียวกับการสปอยล์ภาพยนตร์ (ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีใครที่สปอยล์ผลการแข่งขันกีฬาได้จริงคงถูกยกให้เป็นกูรูเสียด้วยซ้ำ)

ความพยายามผลิตซ้ำกีฬา ‘สดๆ’ ในวันที่โลกยังไม่มีโทรทัศน์นั้นเป็นอะไรที่ยากจะจินตนาการ แต่อันที่จริงมันก็เคยมีเรื่องเล่าถึงความพยายามนี้อยู่ ในการแข่งอเมริกันฟุตบอลระหว่างทีม Missouri Tigers กับ Kansas Jayhawks เมื่อปี 1911 สมัยที่การสื่อสารทางไกลที่ดีที่สุดคือโทรเลข สนามแข่งจริงอยู่ที่รัฐมิสซูรี่ แต่ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีคนดูกว่าพันคนมารวมตัวกันรอชมการ “ถ่ายทอด” ที่รัฐแคนซัสซึ่งมีสนามจำลองและหุ่นจำลองไว้ รอให้ทีมงานจากมิสซูรี่ส่งโทรเลขรายงานสถานการณ์มาแบบ ‘สดๆ’ แล้วก็จัดวางหุ่นในสนามให้คนดูได้เห็นด้วยตาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำแบบนี้ไปจนจบเกม ยิ่งไปกว่านั้นในบันทึกได้ระบุไว้ว่าผู้ชมก็มันไปกับเกมและส่งเสียงเชียร์เป็นจังหวะด้วย

แม้จะไม่เท่ากับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ แต่ความพยายามเมื่อปี 1911 ก็แสดงให้เห็นว่าการผลิตซ้ำการแข่งขันก็น่าจะเป็นสิ่งที่วงการกีฬาใฝ่ฝันถึงมาอย่างยาวนาน ซึ่งในที่สุดความฝันนั้นก็เป็นจริงได้ในยุคสมัยของการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ด้วยเหตุนี้การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์จึงเป็น Natural Partnership ของฟุตบอลโลกอย่างแท้จริง

กลับมาที่เรื่องของลูกฟุตบอล Telstar เดิมทีถูกผลิตขึ้นมาโดย Adidas ใช้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลยูโร 1968 และถูกนำมาใช้เป็นลูกฟุตบอลสำหรับแข่งฟุตบอลโลก 1970 อย่างเป็นทางการ ความน่าสนใจของ Adidas Telstar คือเป็นลูกฟุตบอลที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ ชื่อและดีไซน์ของ Telstar อ้างอิงมาจากดาวเทียมสื่อสารดวงแรกๆ ที่ทำหน้าที่กระจายสัญญาณโทรทัศน์ไปทั่วโลก

เดิมทีนั้นลูกบอลที่ใช้ในฟุตบอลโลกจะเป็นลูกบอลสีพื้นสีเดียวมาตลอด ซึ่งมองเห็นได้ไม่ชัดนักเมื่อดูทางจอโทรทัศน์ Adidas Telstar จึงออกแบบมาให้มีสีขาวสลับดำ ประกอบขึ้นจากแผ่นหนังห้าเหลี่ยมสีขาวกับดำรวม 32 แผ่น (อันที่จริงแล้วตอนปี 1970 ฟุตบอลโลกก็ถ่ายทอดสดด้วยสัญญาณภาพสีแล้ว แต่เครื่องรับโทรทัศน์จำนวนมากในโลกยังเป็นขาวดำอยู่ สีขาวดำจึงช่วยให้มองเห็นลูกฟุตบอลได้ง่ายที่สุด) หรือจะว่าไปแล้วมันก็คือรูปลักษณ์ของลูกฟุตบอลแบบมาตรฐานอย่างที่คนยุคปัจจุบันส่วนมากจินตนาการถึงกันนั่นแหละ ลูกฟุตบอลที่น่าจะถูกผลิตซ้ำมากที่สุดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีที่มาที่ไป มันเกิดขึ้นมาเพราะโทรทัศน์

การถือกำเนิดขึ้นมาของลูกฟุตบอลขาวดำอย่าง Adidas Telstar จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งอนาคตที่ฟุตบอลโลกจะจับมือกับโทรทัศน์และรุ่งเรืองขึ้นจนกลายเป็นอภิมหามหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกติดตามมากที่สุด

แล้วในสมัยที่น่าจะนับได้ว่ายุคอัสดงของโทรทัศน์อย่างทุกวันนี้ ฟุตบอลโลกจะยืนอยู่ตรงไหน ฟีฟ่าก็น่าจะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่พอสมควร ลูกบอลสำหรับฟุตบอลโลก 2018 จึงถูกออกแบบขึ้นมาโดยอ้างอิงจาก Adidas Telstar อีกทีหนึ่ง เป็น Adidas Telstar 18 ที่มีลวดลายสีขาวสลับกับสีอื่นๆ (โดยไม่จำเป็นต้องสีดำเท่านั้นอีกต่อไป) ด้วยลวดลายแบบพิกเซลที่สื่อถึงยุคสมัยแห่งดิจิทัล พร้อมทั้งฝังชิพที่ทำให้ลูกฟุตบอลทำงานได้แบบ Internet of Things

ย่างก้าวจาก Telstar ถึง Telstar 18 จึงสื่อนัยที่น่าสนใจถึงอนาคตเก่าที่กำลังจะกลายเป็นอดีตอย่างโทรทัศน์ และอนาคตใหม่อย่างเทคโนโลยีดิจิทัลที่ฟุตบอลโลกเองก็ต้องปรับตัวตาม  

Tags: , , , ,