ผมน่าจะลองถามพ่อแม่ผู้ปกครองของคนไข้เด็กที่นอนโรงพยาบาลดูบ้างว่าเห็นด้วยกับผมหรือเปล่า
กว่าที่อาการของเด็กจะดีขึ้น ไม่รู้ว่าเวลาของพวกเขาหรือของผมที่เดินช้ากว่ากัน
เด็กชายอายุ 3 ขวบ ได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เด็กชายมีอาการไอมาก่อนหน้านี้ 2 วัน
“พ่นยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น” เป็นเหตุผลของการนอนโรงพยาบาลที่หมอเวรบันทึกไว้
วันที่ 1
ผมรับผิดชอบตรวจคนไข้บนหอผู้ป่วยในเลยเจอน้องตอนเช้าของวันถัดมา นอนแบบอยู่กับเตียง มือข้างขวามีสายน้ำเกลือห้อยอยู่ ผมจึงถามแม่ที่นั่งเฝ้าไข้อยู่ข้างเตียงว่า “น้องกินได้เท่าเดิมมั้ย” เพราะเวลาเด็กไอเยอะๆ แล้วมักจะมีอาการอาเจียนตามมา ทำให้กินไม่ค่อยได้
“กินได้แต่นม ข้าวไม่ยอมกินเลย”
ผมให้เด็กชายลุกขึ้นมานั่งแล้วใช้หูฟังทาบที่หน้าอก พร้อมกับสั่งว่า “สูดอากาศให้เต็มปอด” เขาทำตาม แต่ก็ไอโขลกๆ ออกมาก่อน ก่อนหน้านั้นผมได้ยินเสียงวี้ดๆ ของอากาศที่ไหลผ่านช่องแคบๆ
คล้ายว่าปอดของเด็กชายกำลังเป่านกหวีด
อากาศก็เหมือนกับน้ำ นึกถึงเวลาสายยางตีบ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านก็ลดลง หากเด็กชายต้องการอากาศหายใจเท่าเดิม ย่อมต้องหายใจถี่ขึ้น หรือออกแรงที่ใช้ในการหายใจเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง
ผมสั่งยาพ่นขยายหลอดลมทุก 4 ชั่วโมง และน้ำเกลือต่ออีก 1 ขวด สำหรับการรักษาใน 1 วัน
ส่วนการรักษาต่อเนื่อง หมอเวรได้สั่งยาลดไข้ (เผื่อไว้ เด็กชายยังไม่มีไข้เลยตั้งแต่ป่วย) ยาแก้ไอ และยาลดน้ำมูกชนิดน้ำเชื่อมไว้แล้ว
…
หมอเวรเมื่อคืนยังบันทึกไว้อีกว่าเอกซเรย์ปอดแล้วไม่พบฝ้าขาว แสดงว่าไม่มีปอดอักเสบติดเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องกินหรือฉีดยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งร่างกายกำจัดเชื้อได้เอง แต่ต้องให้เวลาในการต่อสู้และคอยอยู่เคียงข้างร่างกาย หากขาดเหลืออะไรก็จะแสดงอาการออกมา เช่น ปากแห้งและตาโหลลึกเป็นอาการขาดน้ำ
ทั้งนี้เชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจตัวเดียวที่มียารักษาคือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งต้องมีไข้สูงและอาการปวดหัวหรือปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย
วันที่ 2
ออกซิเจนแรงดันสูงดันของเหลวในกระบอกแตกตัวเป็นละอองฝอย
หมอกสีขาวกำลังพวยพุ่งออกมาจากหน้ากากพ่นยา ถ้าเป็นที่โรงเรียนแพทย์ที่ผมเคยฝึกจะมีรูปสัตว์ให้เลือกว่าอยากได้หน้ากากอะไร เด็กชายดูสดชื่นกว่าเมื่อวาน ผมถามคำถามเดิมกับคนเฝ้าไข้
“กินได้เท่าเดิมแล้ว” คนเป็นแม่ยิ้มดีใจ
ผมสังเกตเห็นตัวต่อชิ้นใหญ่ต่อกันเป็นรูปทรงบางอย่างวางอยู่ปลายเตียงเลยถามเด็กชายว่า “ของใครเอ่ย” เขารีบเอื้อมมือไปหยิบ เด็กป่วยน้อยหรือมากเห็นได้ชัดจากการกินและการเล่นนี่เอง แต่อย่างไรเสียก็ต้องตรวจร่างกายเพิ่มเติม
“ไหน หมอขอฟังปอดหน่อยครับ” ผมเอื้อมไปแตะหูฟังที่ด้านหลัง เพราะถ้าเข้าด้านหน้าเหมือนเมื่อวานจะเกะกะกับหน้ากากและสายออกซิเจน “สูดอากาศให้เต็มปอดเลย” เขาทำตาม ผมได้ยินเสียงวี้ดๆ ของอากาศที่ไหลผ่านช่องแคบๆ
คล้ายว่าปอดของเด็กชายกำลังเป่านกหวีด
อากาศก็เหมือนกับน้ำ นึกถึงเวลาบีบสายยางแน่นแล้วคลายมือออก ปริมาณน้ำไหลมากขึ้น หากเด็กชายต้องการอากาศหายใจเท่าเดิม ก็ไม่ต้องหายใจเร็วและแรงเท่าเมื่อวานแล้ว
ผมสั่งยาพ่นขยายหลอดลมทุก 4 ชั่วโมง สำหรับการรักษาใน 1 วัน
ส่วนสายน้ำเกลือเอาออกได้
มือจะได้ว่างทั้ง 2 มือ
วันที่ 3
ผมไม่ต้องถามคำถามเดิมแล้ว เพราะตัวต่อกองเกลื่อนบนเตียง
เด็กชายกำลังเล่นสนุก
ผมกลายเป็นคนขัดจังหวะ
“ไหนเล่าให้ฟังหน่อยว่าต่อเป็นรูปอะไร” ผมเดาว่าจะต้องต่อเป็นรูปบ้านแน่นอน เพราะเห็นประกอบประตูบ้านสำเร็จรูปเข้ากับตัวต่อที่เรียงกันเหมือนกับกำแพง แต่ผิดถนัด!
“รถ” เขาตอบ
“ไม่ใช่บ้านหรอ” ผมยังไม่ยอมแพ้ แต่เขายืนยันคำเดิม
“วันนี้ขอกลับบ้านได้ไหมคะ” แม่ของน้องบอกหลังจากผมหันไปสบสายตา
ผมก้มลงเปิดแฟ้มคนไข้บนชั้นวาง พลิกไปหน้าฟอร์มปรอท พยาบาลจะบันทึกสัญญาณชีพตลอดทั้งวันไว้ในหน้านี้ กราฟอุณหภูมิร่างกายแกว่งอยู่ในช่วงปกติ ไม่มีไข้ตั้งแต่แรก ส่วนกราฟชีพจรลดฮวบมาอยู่ในระดับปกติตั้งแต่เมื่อวาน ความดันโลหิตและอัตราการหายใจก็เช่นกัน ดูแล้วน่าจะกลับบ้านได้ไม่มีปัญหา แต่ต้องขอตรวจร่างกายก่อนเหมือนเดิม
ผิดคาด! ผมยังได้ยินเสียงวี้ดๆ ของอากาศที่ไหลผ่านช่องแคบๆ อยู่อย่างไม่เชื่อหู
“สูดหายใจเข้าลึกๆ อีกทีสิครับ” ผมย้ายตำแหน่งฟังเสียงปอดอีก 2-3 จุดก็ยังได้ยินเสียงชัดเจนเหมือนเดิม เพราะถ้าเป็นเสียงวี้ดที่เป็นๆ หายๆ ผมก็ยังพอวางใจให้กลับบ้านได้อยู่หรอก
“พรุ่งนี้นะแม่นะ” ผมให้ความหวัง “ปอดน่าจะดี”
ผมสั่งยาพ่นขยายหลอดลมทุก 4 ชั่วโมง ต่ออีก 1 วัน
วันที่ 4
วันนี้ตัวต่อฉวัดเฉวียนอยู่กลางอากาศ ผมเดาว่าจะต้องเป็นจรวดหรือไม่ก็ยานอวกาศ
แต่ผิดถนัด! เขาต่อเป็นรูปเรือต่างหาก
“วันนี้อยากกลับบ้านรึเปล่าครับ” ผมหยั่งความคิดเด็กชาย
“ไม่” คำตอบของเขาทำเอาทุกคนรอบเตียงฮาครืน
“อ้าว ทำไมล่ะ ไม่อยากกลับบ้านแล้วหรอ” ผมถามย้ำ เขาส่ายหน้า ขณะที่สายตายังจับจ้องไปที่ของเล่น
ผมทาบหูฟังไปที่หน้าอก พร้อมกับสั่งว่า “สูดอากาศเข้าลึกๆ ครับ” เขาทำตาม ได้ยินเสียงหัวใจของผมตื่นเต้นว่าวันนี้จะเป็นไปตามคาดหรือไม่ ผมทดลองเปลี่ยนตำแหน่งฟังอีกทีก็ได้ยินตรงกันว่า “วันนี้ปอดโล่งแล้ว”
“หมอให้กลับบ้านนะ” คนที่ดีใจกลับเป็นพ่อกับแม่
ส่วนคนไข้เริ่มงอแงไม่อยากกลับ
…
เวลาเยียวยาทุกสิ่ง
4 วัน 4 คืน คือเวลาที่เด็กชายใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคจนชนะ ส่วนคนอื่นเป็นแค่โค้ชอยู่ข้างสนาม แม้กระทั่งผมเองก็ทำหน้าที่เพียงสั่งยารักษาตามอาการเท่านั้น
ผมน่าจะลองถามพ่อแม่ของเด็กชายดูบ้างว่าเห็นด้วยกับผมหรือเปล่าว่า “การให้เวลากับร่างกายเป็นการรักษาอย่างหนึ่ง”
หมายเหตุ:
บทความนี้เขียนขึ้นก่อนที่จะเกิดปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงกลางเดือนมกราคม 2562
Tags: สุขภาพ, การแพทย์, Acute bronchitis, ทางเดินหายใจ