“ทำไมคุณถึงมองเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ นานาของเด็กจบใหม่ แต่กลับมองไม่ค่อยเห็นอะไรในคนสูงวัย”

คำถามหนึ่งจากงานสัมมนา ‘Active Ageing : Learning from Our Friends’ ที่ชวนให้เราต้องถามต่ออีกหลายเรื่อง อาทิ ถ้อยคำชวนหดหู่ที่เราชอบต่อสร้อยให้กับความสูงวัย ทัศนะว่าแก่แล้วไม่มีอะไรดี วัยที่เพิ่มขึ้นจะมาพร้อมกับชีวิตขาลง ไปจนถึงคำถามเรื่องบทบาทของผู้สูงวัย

รายงานเกี่ยวกับประชากรโลกปี 2560 ของสหประชาชาติ ระบุว่า ปัจจุบันโลกมีคนอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 962 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมด ทั้งคาดการณ์ว่าในปี 2592 หนึ่งในสี่ของประชากรทุกภูมิภาคยกเว้นแอฟริกาจะเป็นคนสูงวัย

สำหรับ ‘Active Ageing’ หรือ ‘สูงวัยอย่างมีคุณภาพ’ นั้นถูกบัญญัติขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2533 มันคือกระบวนการที่เหมาะสมและเอื้อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม ความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนเมื่อสูงวัย ช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ในบริบทเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และสมาชิกในครอบครัว

ชาวออสเตรเลียนเข้าใจดีว่าทำไมเราไม่ควรเหยียดเพศหรือเหยียดผิว ทว่ายังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ควรเหยียดวัย

เจน มูสซาเรด (Jane Mussared) ผู้บริหารสูงสุดของสภาการเข้าสู่วัยคนสูงอายุ รัฐเซาธ์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย พูดถึงสิ่งที่เกี่ยวโยงกับแนวคิด ‘สูงวัยอย่างมีคุณภาพ’ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. ชาวออสเตรเลียนเข้าใจดีว่าทำไมเราไม่ควรเหยียดเพศหรือเหยียดผิว ทว่ายังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ควรเหยียดวัยหรือเลี่ยงภาษาที่ตอกย้ำว่าชีวิตปั้นปลายนั้นไร้คุณภาพ จัดเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่งในสังคมที่คนอยากมีชีวิตยืนยาว แต่พออายุมากขึ้นกลับถูกล้อเลียนจากความคิดที่ว่าแก่แล้วไม่มีประโยชน์

2. แม้กฎหมายของออสเตรเลียได้ยกเลิกการเกษียณชีวิตทำงานไปตั้งแต่ปี 2542 แต่คนอายุมากก็ยังหางานยาก ทำให้คนสูงวัยถูกกีดกันออกจากงานและบางอาชีพ ทั้งที่ชีวิตการทำงานเป็นสิ่งสำคัญต่อศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจและเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับการเลี้ยงดูตนเองในปัจจุบันและอนาคต

3. สัดส่วนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของแต่ละช่วงวัยนั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นมีความจำเป็นในการพาชาวออสเตรเลียนเข้าสู่ยุคดิจิทัลโดยพร้อมเพรียงกัน

4. กระบอกเสียงที่จะทำให้สังคมได้รับรู้ว่าคนสูงวัยต้องการอะไรถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ออสเตรเลียมี ‘The Plug-in’ เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งเข้ามาช่วยให้คนสูงวัยเข้าถึงนวัตกรรม นโยบาย และบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขา

เจน มูสซาเรด (Jane Mussared)

5. ออสเตรเลียมีอาสาสมัครประมาณ 6 ล้านคนและมากกว่าร้อยละ 30 เป็นคนอายุมากกว่า 65 ปี กลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นคนสูงวัยมักหันมาสอนคนสูงวัยด้วยกันเอง เช่น ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ การตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตบั้นปลาย ความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน และการเดินทางไกล

6. ในออสเตรเลียมีคอร์สให้ความรู้สำหรับคนสูงวัยมากมาย เช่น จะกินยาอย่างไร จะพูดคุยกับแพทย์และเภสัชกรอย่างไรเพื่อให้เข้าใจอาการของตนเองมากที่สุด หรือมีวิธีใดบ้างที่จะป้องกันไม่ให้หกล้มในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

7. ชาวออสเตรเลียนออกกำลังกายลดลงตามอายุที่สูงขึ้น จึงต้องมีโครงการชวนคนสูงวัยมาเรียนรู้วิธีสร้างกำลังให้กับร่างกายของตนเอง มีโรงยิมจำนวนหนึ่งร่วมให้บริการในโครงการดังกล่าวและได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนสูงวัย

แม้ยังตอบคำถามแรกได้ไม่ชัด แต่เชื่อว่าหลายคนยังจำคำตอบของตนเองในอดีตได้ดีเมื่อถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แล้วเมื่อถึงวันที่เป็นได้ หรือเป็นสิ่งอื่นที่พอใจ เคยนึกวางแผนชีวิตหลังเลิกเป็นสิ่งนั้นหรืออยู่ในบทบาทหน้าที่นั้นกันบ้างหรือไม่

คนส่วนมากอาจใช้ชีวิตไปตามเส้นทางมั่นๆ ที่คล้ายกัน เรียนหนังสือ-ทำงาน-หาเงิน-แต่งงาน-ซื้อรถ-ซื้อบ้าน-ผ่อนหนี้สิน ระหว่างทางนั้นหลายคนอาจไม่เคยนั่งทบทวนหรือวางแผนชีวิตหลังเกษียณเลย แต่คนสูงวัยในออสเตรเลียไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ดร.ไมค์ รังกี (Dr.Mike Rungie)

ดร.ไมค์ รังกี (Dr.Mike Rungie) สมาชิกคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งรัฐเซาธ์ออสเตรเลีย หน่วยงานเงินทุนสำหรับการดูแลคนสูงอายุของเครือรัฐ บอกว่า ชาวออสเตรเลียนมีบทบาทชัดเจนที่ตนเองจะเป็นเมื่อพวกเขาถึงวัย 60 ปี 70 ปี และ 80 ปี

1. คนมีงานทำ : พวกเขาอยากทำงานไปจนหลังอายุ 70 ปี เพราะยังต้องการมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอย ถึงอย่างนั้นบางคนก็เลือกทำงานที่ไม่มีค่าตอบแทน เพราะมีเกียรติ ได้ร่วมกิจกรรม พูดคุยกับคนอื่น และได้รับสวัสดิการบางอย่างจากงานนั้นๆ

2. อาสาสมัคร : คนสูงวัยในปัจจุบันเบื่องานอาสาสมัครที่ล้าสมัย หรือการไปนั่งแช่อยู่กับที่เฉยๆ จึงมองหางานอาสมัครรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความสนใจ ยืดหยุ่นสูง เช่นว่าวันไหนหากไม่อยู่ในอารมณ์ก็ไม่จำเป็นต้องไป

3. นักเรียน : ช่วงหลังเริ่มเห็นว่าคนสูงวัยจำนวนหนึ่งเลือกลงเรียนในหลักสูตรหรือสถาบันต่างๆ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แต่ก็มีคนสูงวัยที่กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งอย่างจริงจัง เพราะมุ่งมั่นอยากแสวงหาความรู้ในวิชานั้นๆ

4. ผู้นำของสังคมหรือมีบทบาทบางอย่างในสังคม: คนสูงวัยสมัยก่อนคงหนีไม่พ้นการนั่งวิพากษ์วิจารณ์สังคม หากทุกวันนี้พวกเขาพากันเคลื่อนไหวเพื่อจัดการปัญหาสังคม นำประเด็นต่างๆ ไปพูดคุยกับลูก หลาน เพื่อนฝูง ทำให้มีคนสูงวัยจำนวนหนึ่งเปิดธุรกิจเป็นของตนเอง เน้นประโยชน์สังคมมากกว่าผลกำไร บนพื้นฐานว่าอยากมีผลิตผลของตนเองออกมา หรือบางคนก็ตั้งบริษัทโดยให้เหตุผลว่าไม่มีประเภทงานที่อยากทำ จึงต้องสร้างงานใหม่ขึ้นมา

หลายคนยังจำคำตอบของตนเองในอดีตได้ดีเมื่อถูกถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แล้วเคยนึกวางแผนชีวิตหลัง ‘เลิก’ เป็นสิ่งนั้นกันบ้างหรือไม่

5. ดูแลครอบครัว : เป็นเรื่องปกติที่ปู่ย่าตายายจะถูกลูกขอร้องให้ดูแลหลาน แต่น่ากังวลไม่น้อยสำหรับครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านกันทั้งพ่อและแม่ นั่นก็หมายความว่าผู้สูงวัยอาจต้องรับหน้าที่ดูแลหลานๆ ตามลำพังตลอดทั้งวัน จนไม่มีเวลาดูแลตนเอง

6. แม่บ้าน : ถือเป็นโอกาสดีที่คนสูงวัยจะได้ทำความสะอาด ทำสวน ทำกับข้าว ชวนแขกมาเยี่ยมเยียนบ้าน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับบ้านของพวกเขา ที่ออสเตรเลียเมื่อคนอายุมากขึ้นก็มักลดขนาดของบ้านลง จากหลายห้องนอนเป็นห้องเดียว แต่อาจลืมไปว่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับเก็บข้าวของที่อาจสั่งสมมาทั้งชีวิต

7. เว้นวรรค (Gap Year) : เราทุกคนมีช่วงเวลาที่เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ 4-5 ครั้ง ระยะเปลี่ยนผ่านของช่วงอายุ การทำงาน หรือสภาพร่างกายนี้ คนสูงวัยก็ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อพัฒนาตนเอง ทำสิ่งที่อาจไม่เคยคิดว่าจะทำ ออกเดินทาง รวมถึงเรียนรู้จักตนเองอีกครั้ง เพื่อก้าวไปสู่อีกบทตอนของชีวิต

8. ศิลปิน : หลายคนคงมองว่าศิลปะสำคัญมากสำหรับคนหนุ่มสาว เป็นงานสนุกที่ทำให้ใครหลายคนพบเจอตนเอง คนสูงวัยเองก็ต้องการพบเจอตนเองด้วยเช่นกัน และศิลปะก็เป็นทางเลือกที่ดี

9. นักกีฬา : การออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ คนสูงวัยไม่น้อยเลือกเข้าฟิตเนส ซึ่งทำให้การเล่นกีฬาเป็นทีมนั้นหายไป จึงควรสนับสนุนให้มีชมรมกีฬาที่คนสูงวัยจะได้มาพบปะกัน ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นทีมกันอีกครั้ง

ดร.ไมค์บอกว่า ทุกคนจำเป็นต้องจินตนาการถึงบทบาทของคนสูงวัย นอกจากเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตัวเอง หากตระหนักเห็นความสำคัญ เราก็อาจมีบทบาทในการสนับสนุนให้ผู้อื่นสูงวัยอย่างมีคุณภาพ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้สังคมในวงกว้างขบคิดกับเกี่ยวบทบาทของคนสูงวัยมากขึ้น

 

เครดิตรูป : งานสัมมนาเชิงวิชาการ ‘Active Ageing : Learning from Our Friends’

FACT BOX:

  • ชาวออสเตรเลียนจะได้รับเงินบำนาญประมาณร้อยละ 25 ของรายได้เฉลี่ยก่อนเกษียณ หากเงินบำนาญที่ได้รับสูงกว่าเส้นรายได้ขั้นต่ำก็จะได้รับเพียงเงินบำนาญ แต่หากเงินบำนาญน้อยกว่าเส้นความยากจน คนสูงอายุเหล่านี้จะมีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมให้เท่ากับอัตรารายได้ต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนด
  • ‘Active Ageing: Learning from Our Friends’ เป็นสัมมนาเชิงวิชาการที่มุ่งนำร่องแนวทางทุกมิติ สร้างสังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ จัดโดยมูลนิธิบ้านสุทธาวาส ร่วมกับองค์กรดูแลคนสูงวัยชั้นนำจากออสเตรเลีย ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 มีผู้ร่วมสัมมนากว่า 500 คน จาก 150 หน่วยงาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามกิจกรรมของบ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ ได้ที่ www.sudthavas.or.th
Tags: , , , , , , , , , , ,