แม้จะเป็นที่นิยมมาพักใหญ่ ที่อาหารและเครื่องดื่มหลากเมนู หันมาเพิ่มตัวเลือกที่แฟนตาซีมากขึ้นด้วยการทำให้มีสีดำ แต่ร้านอาหาร 2 แห่งในนิวยอร์กเพิ่งถูกสั่งห้ามใช้ชาร์โคลผสมลงไปในอาหาร ท่ามกลางความสงสัยของร้านค้า เพราะไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าผงชาร์โคลอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร

ผงชาร์โคล หรือผงถ่านสีดำ คือผงที่ทำจากกากมะพร้าวเผา หรือผงถ่านไม้ไผ่ ซึ่งปัจจุบันมักนิยมใส่ในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อทำให้มีสีดำ เช่น ในไอศกรีม แป้งพิซซ่า ค็อกเทล คนมักถ่ายรูปแล้วแชร์บนอินสตาแกรม

ปลายเดือนพฤษภาคม ร้านไอศกรีม Morganstern ในนิวยอร์กซึ่งขายไอศกรีมสีดำที่ทำมาจากถ่านของกากมะพร้าวตั้งแต่ปี 2015 เริ่มโพสต์ภาพในอินสตาแกรมทำนองว่า ไอศกรีมชาร์โคลกำลังจะหายไป

เจ้าของร้านไอศกรีม Morganstern ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Eater ว่า มีการตรวจสอบไอศกรีมชาร์โคลเมื่อเดือนพฤษภาคม จากนั้นสำนักอนามัยบอกให้เขาเอาออกจากเมนู ด้วยเหตุผลว่า เป็นสารปรุงแต่งในอาหารซึ่งถูกห้ามใช้โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือเอฟดีเอ

“ผมไม่เห็นหลักฐานใดๆ ที่บอกว่ามันอันตรายต่อสุขภาพ ผมขอท้าให้ให้คนมาทดสอบความเสี่ยงจากส่วนผสมนี้” ทางร้านได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์นี้อย่างรอบด้าน “ผู้ตรวจสอบสุขอนามัยที่มาตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้งก็ไม่ได้เคยกล่าวถึงกฎนี้มาก่อน ไม่มีการแจ้งเตือนให้เปลี่ยน แล้วก็ไม่มีการแจ้งเตือนเลยว่าสำนักอนามัยจะเริ่มบังคับใช้”

เช่นเดียวกับที่ร้านกาแฟ Round K ก็ถูกสำนักอนามัยตรวจสอบลาเต้ชาร์โคล จากนั้นก็ถูกสั่งห้ามขาย ทางร้านเริ่มขายลาเต้ชาร์โคลเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว และเคยผ่านการตรวจสอบในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งก็ไม่ได้มีการแจ้งความผิดปกติใดๆ เขาสับสนว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลง

สำนักอนามัยนิวยอร์กประกาศว่า ร้านอาหารในนิวยอร์กไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ชาร์โคลลงในอาหารเพราะว่าอ.ย.ห้าม เพราะเป็นวัตถุเจือปนในอาหารหรือสีผสมอาหาร คาโรไลนา โรดิเกส (Carolina Rodriguez) โฆษกของสำนักอนามัยนิวยอร์กกล่าวว่านี่ไม่ใช่กฎใหม่ โดยอ้างกฎของอ.ย.และระบุว่าสำนักอนามัยได้ออก ‘คำสั่งคณะกรรมการ’ ที่ให้ร้านอาหารให้ยุติการใส่ชาร์โคลลงไปในอาหารมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่มีนาคม 2016 เพียงแต่เพิ่งมาเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้

ขณะที่อ.ย.ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Eater ว่ายังไม่มีกฎห้ามการใช้ชาร์โคลซึ่งเป็นสารเจือปนในอาหารหรือเติมสี อย่างไรก็ตามบริษัทอาจตัดสินใจว่าการใช้ชาร์โคลของตนเองปลอดภัยได้หลังจากที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายจากอ.ย.แล้ว

นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยคำกล่าวอ้างถึงประโยชน์ของชาร์โคล เช่น กำจัดสารเคมีในร่างกาย แต่ด้วยปริมาณน้อย ชาร์โคลก็ไม่น่าจะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน

 

ที่มา:

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/morgensternsnyc

Tags: , ,