วันนี้ (9 เมษายน 2562) กลุ่มนักกิจกรรมกว่า 20 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานทูตบรูไน ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือถึง ฮาจี อิชมาอิล บิน อับดุล มานับ เอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลามประจำประเทศไทยถึงข้อกังวลว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างสมบูรณ์ในประเทศบรูไนดารุสซาลาม โดยมีนายประเสริฐ แวดือราแม เจ้าหน้าที่กองรองรับ สถานทูตบรูไนมาเป็นผู้รับหนังสือแทน

ทั้งนี้ มีการอ่านแถลงความใจความสำคัญว่า “บทลงโทษที่กำหนดโดยกฎหมายนี้ ซึ่งอนุญาตให้มีการเฆี่ยนตี และการประหารชีวิต ถือเป็นการทรมาน การปฏิบัติที่ไม่สมควร และเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จึงขอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว” พร้อมทั้งมีการส่งมอบแถลงการณ์ร่วมภาคประชาคมอาเซียนโดยมีการลงนาม 132 รายชื่อเพื่อส่งต่อความห่วงใยนี้ไปยังรัฐบาลประเทศบรูไนอีกด้วย

 

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในระดับโลกคือ ข่าวการบังคับใช้กฎหมายปาหินประหารชีวิตคนรักเพศเดียวกันหรือกฎหมายชารีอะห์ในประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ซึ่งนอกจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว ผู้มีชื่อเสียงอย่าง จอร์จ คลูนีย์, เอลเลน ดีเจนเนอริส, เอลตัน จอห์น ฯลฯ ยังเป็นผู้นำเรียกร้องให้คว่ำบาตรธุรกิจของสุลต่านบรูไนในต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะโรงแรมหรูระดับโลกซึ่งเป็นที่โปรดปรานของคนฮอลลีวูดทั้งหลายจำนวน 9 แห่ง รวมไปองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรด้านสิทธิต่างๆ อีกด้วยที่ออกมาเรียกร้องให้บรูไนยุติการใช้กฎหมายนี้

ในขณะเดียวกันก็มีหลายเสียงออกมาให้ความเห็นถึงกฎหมายชารีอะห์ที่ประกาศใช้อย่างสมบูรณ์ในครั้งนี้ว่า การประกาศใช้กฎหมายเป็นการเดินตามรอยของหลักการศาสนา แต่ในทางปฏิบัติจริง เหล่าคนรักเพศเดียวกันยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ การวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอของสื่อในประเด็นนี้ขาดความเข้าใจจนสร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกฎหมายในประเทศบรูไน

 

 

Tags: , , , ,