หลังจากกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบโซเชียลเรียลลิสม์ในอเมริกาเสื่อมความนิยมลง กระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะอีกขบวนการหนึ่งก็ถือกำเนิดขึ้น มีชื่อเรียกว่า Abstract Expressionism (แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์) หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า ศิลปะแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (ซึ่งออกจะยาวเกินไป เลยขอใช้ชื่อภาษาอังกฤษก็แล้วกัน)
Abstract Expressionism เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในนิวยอร์ก ในช่วงปี 1940-1950 ได้รับอิทธิพลจากกระแสศิลปะนามธรรม (Abstract) ในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึกผ่านการทำงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับความเป็นจริง เน้นการสำแดงความเคลื่อนไหวแบบฉับพลันและรุนแรงตามสัญชาตญาณของศิลปะเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) รวมถึงใช้ประโยชน์จากการทำงานโดยอัตโนมัติของจิตไร้สำนึกของศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism)
โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1930 เหล่าศิลปินหัวหอกของกลุ่มหัวก้าวหน้าหรือ อาว็อง-การ์ดจากยุโรป ต่างลี้ภัยสงครามมายังสหรัฐอเมริกา ทำให้ศิลปินอเมริกันได้รับอิทธิพลทางความคิดจากศิลปินเหล่านั้นอย่างมาก และนำมาปรับเปลี่ยนสไตล์ให้เข้ากับอารมณ์ความรู้สึกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อเมริกาเพิ่งบอบช้ำจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและการถูกโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรม
ศิลปิน Abstract Expressionism ได้รับการยอมรับในฐานะผู้บุกเบิกงานศิลปะแบบหัวก้าวหน้าของอเมริกาอย่างแท้จริง ผลงานของพวกเขาได้รับการยกย่องว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแบบอเมริกัน ด้วยขนาดของผลงานอันใหญ่โตมโหฬาร เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกอันท่วมท้นล้นหลั่ง และการแสดงออกอันห้าวหาญรุนแรงจากจิตวิญญาณแห่งเสรีภาพของปัจเจกชน
ถึงแม้ว่า Abstract Expressionism จะได้รับการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นกระแสศิลปะที่ถือครองโดยศิลปินเพศชายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีศิลปินเพศหญิงหลายคนที่มีบทบาทโดดเด่นและได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกคนสำคัญผู้มีส่วนผลักดันกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวนี้ให้ขับเคลื่อนไปอย่างมาก
ศิลปะ Abstract Expressionism แบ่งย่อยๆ ออกเป็นสองประเภท
ประเภทแรกคือ แอ็กชัน เพนติง (Action Painting) เป็นชื่อที่บัญญัติโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะและภัณฑารักษ์ชื่อดังอย่าง แฮโรลด์ โรเซนเบิร์ก (Harold Rosenberg) ในปี 1952 โดยนิยามการทำงานจิตรกรรมที่ใช้วิธีการวาดภาพที่แตกต่างจากการจับพู่กันวาดภาพตามปกติ หากแต่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น แขน ไหล่ ขา ฯลฯ สำแดงท่วงทีในการใช้สีสร้างภาพให้ปรากฏขึ้นมา
ศิลปินที่โด่งดังในแนวทางนี้ ก็มี แจ็กสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) ฟรันซ์ ไคลน์ (Franz Kline) ฟิลลิป กัสตัน (Philip Guston) ลี เครสเนอร์ (Lee Krasner) และ วิลเลียม เดอ คูนนิง (Willem de Kooning) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินอย่าง แจ็คสัน พอลล็อค ผู้เป็นที่รู้จักอย่างโดดเด่นในการวาดภาพด้วยการวางผืนผ้าใบลงบนพื้นแล้วเยื้องย่างร่างกายไปรอบๆ และตวัด สะบัด สาด เทสี จากกระป๋องสี (ทาบ้าน) ลงบนผืนผ้าใบ จนกลายเป็นภาพวาดอันเลื่องชื่อ (ศิลปินแอ็กชัน เพนติงบางคน เอาสีใส่ลูกโป่งแล้วปาใส่ผ้าใบ หรือเทสีใส่ตัวแล้วไถลตัวใส่หรือวิ่งชนผืนผ้าใบก็ยังมี)
ด้วยวิธีการเช่นนี้ ศิลปินเหล่านี้เชื่อว่า มันจะเป็นหนทางถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและแรงกระตุ้นภายในของพวกเขาลงบนผืนผ้าใบได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
ประเภทที่สองคือ คัลเลอร์-ฟิลด์ เพนติง (Color Field painting) ชื่อของมันถูกตั้งขึ้นมาจากงานจิตรกรรมที่มีลักษณะพื้นที่ของสีกว้างใหญ่ หนาแน่น แบนราบ แผ่กระจายเป็นคราบบนผืนผ้าใบ สร้างพื้นที่ต่อเนื่องกว้างไกลจนดูคล้ายกับท้องทุ่งของสีตามชื่อของมัน
การทำงานศิลปะลักษณะนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวและเนื้อหา หากแต่เน้นไปที่รูปทรงและร่องรอยของสีสัน และปฏิเสธการใช้ฝีแปรงแบบการวาดภาพทั่วไป ศิลปินมักจะใช้วิธีการเท ราด หรือหยอดสีลงบนผืนผ้าใบให้ไหลจนเกิดเป็นร่องรอยและรูปทรงมากกว่าจะใช้พู่กัน ในภาพวาดประเภทนี้ สีสันเป็นอิสระจากเนื้อหา เรื่องราว หรือวัตถุประสงค์ใดๆ หากแต่เป็นสาระสำคัญ เป็นความงาม และความจริงแท้ด้วยตัวของมันเอง
ศิลปินที่โดดเด่นในแนวทางนี้ก็มี มาร์ก รอธโก (Mark Rothko) บาร์เน็ตต์ นิวแมน (Barnett Newman) คลิฟฟอร์ต สติลล์ (Clyfford Still) โรเบิร์ต มาเธอร์เวล (Robert Motherwell) และ เฮเลน แฟรงเคนเธลเลอร์ (Helen Frankenthaler) ฯลฯ
นอกจากงานจิตรกรรมแล้ว ศิลปิน Abstract Expressionism ยังทำงานศิลปะในรูปแบบประติมากรรม เช่น ศิลปินอย่างริชาร์ด สแตนเควิตซ์ (Richard Stankiewicz) อิซามุ โนงุจิ (Isamu Noguchi) และ หลุยส์ บูร์ชัวร์ (Louise Bourgeois)
ความโดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะประเภทนี้ คือการที่มันประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกศิลปะในเวลาอันสั้น ศิลปิน Abstract Expressionism แห่งนิวยอร์ก หรือที่รู้จักกันในชื่อ New York school เหล่านี้ เป็นผู้ช่วงชิงสถานภาพความเป็นผู้นำของวงการศิลปะสมัยใหม่มาจากยุโรป นอกจากนั้น มันยังสร้างรากฐานใหม่ให้กับพัฒนาการของศิลปะอเมริกัน และทำให้อเมริกากลายเป็นศูนย์กลางของวงการศิลปะโลก หลังจากที่มันถือกำเนิดในเวลาไม่นานนัก
สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ ทั้งๆ ที่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เหล่าศิลปินในนิวยอร์กผู้ที่ก่อนหน้านี้ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเผชิญกับความลำบากยากจนแร้นแค้น แต่จู่ๆ พวกเขาก็ลุกขึ้นมารวมตัวกันก่อตั้งกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ประสบความสำเร็จและทรงอำนาจที่สุดในโลกขึ้นมาได้สำเร็จในเวลาแสนสั้น และจัดแสดงนิทรรศการสำคัญๆ ไม่เพียงแต่ในนิวยอร์ก แต่ยังมีขึ้นทั่วโลก
นักประวัติศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ มีทฤษฎีสมคบคิดอันหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นี้ บางคนกล่าวว่า ศิลปิน Abstract Expressionism ได้รับการสนับสนุนลับๆ จากองค์กรที่ทรงอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างสำนักข่าวกรองกลาง หรือ ซีไอเอ (CIA) ในฐานะอาวุธลับที่ใช้ต่อสู้ในสงครามเย็นนั่นเอง
มีผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างความสำเร็จของศิลปิน Abstract Expressionism และสงครามเย็น ปรากฏชัดในโครงการระดับชาติของสถาบันทางศิลปะที่ทรงอำนาจที่สุดของอเมริกาอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art / MoMA) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของกระแสศิลปะ Abstract Expressionism ซึ่งมีตระกูลที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลมากที่สุดของอเมริกาอย่าง ร็อกกี้เฟลเลอร์ อยู่เบื้องหลัง (ถ้ายังจำกันได้ คนในตระกูลร็อกกี้เฟลเลอร์นี่แหละที่สั่งให้ทำลายภาพจิตรกรรมฝาผนังของ ดิเอโก ริเวรา ก่อนที่จะวาดเสร็จ เพราะเขาดันวาดภาพของผู้นำคอมมิวนิสต์อย่างเลนินลงไปนั่นแหละ) รวมถึงตระกูลผู้ทรงอำนาจระดับรองๆ ลงมาอย่าง วิทนีย์ (ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Whitney) พาเลย์ (Paley) และ วาร์เบิร์ก (Warburg) เป็นต้น
ในปี 1941 สำนักข่าวอเมริกันอย่าง Central Press กล่าวว่า MoMA เป็นแนวรบด่านหน้าแนวใหม่ล่าสุดในการปกป้องอเมริกา และกล่าวอ้างคำพูดของ จอห์น เฮย์ วิทนีย์ (John Hay Whitney) หนึ่งในคณะกรรมการของ MoMA ว่า พิพิธภัณฑ์สามารถมีบทบาทในฐานะอาวุธสำหรับการปกป้องประเทศชาติ ด้วยการให้การศึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจและเจตจำนงอันเสรีของประชาชน ในการปกป้องเสรีภาพของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าศัตรูร้ายที่จะมาคุกความเสรีภาพที่ว่านั้น ก็คือลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อนหน้านั้น จอห์น เฮย์ วิทนีย์ เองก็เคยทำงานให้กับหน่วยสืบราชการลับโอเอสเอส (OSS) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของซีไอเอนั่นเอง
ในปี 1950 มีข้อสังเกตว่า ซีไอเอใช้งานศิลปะสมัยใหม่ในฐานะเครื่องมือต่อต้านกระแสศิลปะสัจสังคมนิยม หรือ โซเชียลลิสต์ เรียลลิสม์ ที่แพร่หลายในประเทศคอมมิวนิสต์ รวมถึงช่วงชิงความเป็นผู้นำของวงการศิลปะโลกมาจากยุโรป
ฟรานเซส สโตเนอร์ ชอนเดอร์ส (Frances Stonor Saunders) สื่อมวลชนและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ เขียนในหนังสือ The Cultural Cold War: The CIA and the World of Arts and Letters ของเธอว่า ซีไอเอแอบให้การสนับสนุนทางการเงินและชื่อเสียงให้แก่ศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อเมริกัน ในรูปแบบของโครงการขยายอำนาจทางวัฒนธรรม (Cultural Imperialism) ของอเมริกา ผ่านสภาแห่งอิสรภาพทางวัฒนธรรม (Congress for Cultural Freedom / CCF) ตั้งแต่ปี 1950-1967
ว่ากันว่า หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การขยายอำนาจทางวัฒนธรรมอีกคนก็คือ พอร์เตอร์ เอ. แมคเครย์ (Porter A. McCray) ผู้อำนวยการของ ของ MoMA ในช่วงทศวรรษ 1940s – 1950s ที่จัดตั้งโครงการระดับนานาชาติในการจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของอเมริกันในหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ปารีส เซาเปาโล และโตเกียว (รวมถึงนำนิทรรศการจากต่างประเทศมาแสดงในสหรัฐอเมริกาด้วย) ซึ่งแน่นอนว่า โดยส่วนใหญ่ก็เป็นนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปิน Abstract Expressionism นั่นแล
อย่างไรก็ดี ในการสนับสนุนศิลปินและกิจกรรมทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติของซีไอเอ ดูจะไม่ได้มีเป้าหมายในการสอดแนมหรือดึงตัวศิลปินและชนชั้นปัญญาชนระดับแนวหน้าของต่างชาติมาเป็นของตนแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องการโน้มน้าวและโฆษณาอวดอ้างต่อชุมชนศิลปินและปัญญาชนต่างชาติ ถึงภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาในฐานะสังคมอันเปี่ยมเสรีภาพ ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบการปกครอบแบบคอมมิวนิสต์อันขาดไร้เสรีภาพ ซึ่งดูๆ ไปก็ไม่ต่างอะไรกับโครงการขายฝันอันเลิศหรูของลัทธิทุนนิยมดีๆ นี่เอง
ตัวอย่างอันดีของการ “เจาะม่านเหล็ก” ที่ว่าก็คือ ในปี 1956 ธาดิอุส คานธอร์ (Tadeusz Kantor) ศิลปินโปแลนด์ (ในยุคที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์) ผู้เป็นปลื้มกับผลงานของแจ็กสัน พอลล็อค และเหล่าบรรดาศิลปินแอ็บสแตร็กต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ที่เขาได้ดูชมในระหว่างการท่องเที่ยวปารีส ก็กลับไปริเริ่มกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่หันเหจากแนวทางเหมือนจริงของศิลปะสัจสังคมนิยมที่เป็นที่นิยมในโปแลนด์ยุคนั้นอย่างมาก และในปี 1961 คานธอร์ และศิลปินแนว Nonobjective* 14 คน ก็เดินทางไปแสดงนิทรรศการใน MoMA นี่นับเป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จในเชิงการเมืองศิลปะในโครงการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติของรัฐบาลอเมริกันนั่นเอง
ในโลกศิลปะ Abstract Expressionism เองก็มีองค์ประกอบที่สอดคล้องกับกิจกรรมการขายฝันของโลกเสรีนิยมเป็นอย่างดี ด้วยความที่มันมีคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกับงานศิลปะแบบสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) ที่ยึดโยงกับแบบแผนประเพณีและความเหมือนจริง ศิลปะ Abstract Expressionism เต็มไปด้วยความสดใหม่ สร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับรูปแบบประเพณีความเป็นจริง ที่สำคัญ ศิลปิน Abstract Expressionism ไม่ฝักใฝ่การเมือง พวกเขาสนใจในคุณค่าทางสุนทรียะมากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง กิจกรรมทางการเมืองของศิลปิน Abstract Expressionism บางคน ก็มีเพียงแค่การเรียกร้องให้รัฐสภาอนุมัติให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการทางวัฒนธรรมเท่านั้น
ถึงแม้ในช่วงแรก ศิลปิน Abstract Expressionism ได้รับอิทธิพลทางความคิดทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายมาจากลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ แต่ก็มีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่สืบทอดแนวคิดทางการเมืองเอาไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง ในขณะที่ศิลปินส่วนใหญ่รับมาแค่แนวคิดและกลวิธีในการทำงานศิลปะ
ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้ Abstract Expressionism ประสบความสำเร็จในการสร้างกระแสเคลื่อนไหวใหม่ทางศิลปะขึ้นมา ด้วยการแยกศิลปะออกจากการเมือง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลอเมริกันในช่วงสงครามเย็นพอดิบพอดี
ในทางตรงกันข้าม ข้อสมมติฐานเหล่านี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ศิลปิน Abstract Expressionism ระดับหัวหอกส่วนใหญ่เป็นคนนอกคอกของสังคม เช่น แจ็กสัน พอลล็อค ที่ติดสุราเรื้อรังและมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม เขาเคยถูกเพื่อนมัธยมเรียกขานว่า ‘ไอ้กบฏเน่าจากรัสเซีย’ มาร์ก รอธโก เคยบอกว่า ตัวเองเป็นผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย เช่นเดียวกับ บาร์เน็ตต์ นิวแมน ที่เคยเขียนคำนิยมในหนังสือของโครพอตกิน (Peter Kropotkin) นักเคลื่อนไหวจากรัสเซีย ผู้สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยด้วยซ้ำไป ศิลปินที่ดูนอกรีตนอกรอยเหล่านี้ ช่างดูห่างไกลจากอุดมคติแบบอเมริกันชนจนไม่น่าเชื่อว่า จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อได้เลย
หรือแม้แต่นักวิจารณ์ศิลปะและนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลอย่าง เออร์วิง แชนด์เลอร์ (Irving Sandler) ก็ยังยืนยันว่า ไม่มีทางที่หน่วยงานรัฐบาลไหนๆ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง เขาไม่เคยพบเห็นหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดนี้เลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำ รัฐบาลกลางอเมริกาในยุคนั้น ยังมองกระแสศิลปะ Abstract Expressionism ว่าเป็นแผนการของคอมมิวนิสต์ในการล้มล้างสังคมอเมริกันด้วยซ้ำไป
ท้ายที่สุด ทฤษฎีสมคบคิดมันก็เป็นทฤษฎีสมคบคิดอยู่วันยังค่ำ มันไม่มีบทสรุปอะไรแน่ชัดตายตัว และปล่อยให้คนขบคิดตีความและถกเถียงโต้แย้งกันไปไม่รู้จบ อย่างไรก็ดี ถ้าซีไอเอหรือหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐจะสนับสนุนศิลปะและศิลปิน Abstract Expressionism ก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นเรื่องแปลกหรือน่าตื่นตระหนกตกใจแต่อย่างใด เพราะปัจจุบัน เรื่องแบบนี้ก็มีให้เห็นกันเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ ที่ใช้ศิลปะเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจวัฒนธรรมอันดับต้นๆ ของโลก หรือประเทศสิงคโปร์ที่ใช้หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สร้างชุมชนทางศิลปะอันแข็งแกร่งจนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของโลกศิลปะในเอเชียอาคเนย์ หรือแม้แต่ประเทศไทยของเราเอง ที่ทุ่มทุนมหาศาล จัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ และเชิญศิลปินชื่อดังระดับโลกมาร่วมงาน และล่าสุด ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ร้อยกว่าล้านบาทให้มิชลิน ไกด์ มาติดดาวมิชลินสตาร์ ให้ร้านอาหารในประเทศไทย ก็เป็นการประกาศศักดาทางศิลปวัฒนธรรมดีๆ นั่นเอง
หมายเหตุ:
*Nonobjective art คือ งานศิลปะแบบนามธรรมที่ไม่นำเสนอรูปทรงของคน สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของในธรรมชาติ หรือเรื่องราวที่สื่อความหมายใดๆ ให้รับรู้ หากแต่นำเสนอแต่เพียงการประกอบกันของสีสันเส้นสายและพื้นผิวของภาพเท่านั้น
อ้างอิง
ข้อมูล บทความ Abstract Expressionism Weapon of the Cold War โดย Eva Cockcroft https://goo.gl/HCYMdy
http://www.bbc.com/culture/story/20161004-was-modern-art-a-weapon-of-the-cia
http://www.independent.co.uk/news/world/modern-art-was-cia-weapon-1578808.html
http://www.tate.org.uk/art/art-terms/a/abstract-expressionism
http://www.theartstory.org/movement-abstract-expressionism.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Abstract_expressionism